ระวี กังสนารักษ์: ผู้ทำเพลง ‘จีนี่ จ๋า’ ที่ครั้งหนึ่งเกือบจะกลายเป็นเพลงของ ‘พี่เบิร์ด’

ระวี กังสนารักษ์: ผู้ทำเพลง ‘จีนี่ จ๋า’ ที่ครั้งหนึ่งเกือบจะกลายเป็นเพลงของ ‘พี่เบิร์ด’
"เฮฮัลเล ฮัลเลวังกา เฮฮัลเล ฮัลเลวังกา Genie นะจ๊ะ มานะ ฮะฮา ฮะฮา..." “หากยอมเป็นคู่ใจ เอาอะไรก็ว่ามา จะขี่ไม้กวาดไปหาพาบินไปด้วยกัน” "แมงมุม แมงมุม แมงมุม ขยุ้มหัวใจ" "บอกซิเออเธอจะเอาเท่าไหร่ เอาเท่าไรไม่อ้วนเอาเท่าไร" “ถอยดีกว่า ไม่เอา ดีกว่า ไม่อยากต่อคิวหัวใจกับเธอ ไม่รู้จะได้เบอร์อะไร” “หัวก็ยังไม่ล้าน ก็ยังไม่โล้น ก็ยังไม่เหน่ง แต่ว่าใจน้อยเก่งก็ดูแล้วไม่เข้าใจ” “บ๊ะ บ๊ะ บ๊ะ บ้านเธอสิ...โอ๊ย ใครบอก มะ มะ มะ ไม่จริงหรอก...อุ๊ย โกหก” “เจ็บนี้รสปูอัด (รสปูอัด) เธอคงไม่รู้ เป็นยังไง เธอคงไม่รู้” “วี้ด...บูม บูม บูม เรามาบูม บูม บูม ให้มันตูม ตูม ตูม รวมเป็นใจเดียวกัน” สำหรับคนที่โตมากับยุค 90 คาบเกี่ยวมาถึงยุค 2000s ท่อนฮุกของเพลงข้างต้นหากดังขึ้นมา เชื่ออย่างแน่นอนว่า ถ้าไม่ร้องก็ต้องเต้นกันไปข้างหนึ่งกับเพลงแดนซ์ที่เป็นหลักจำของยุคสมัยนั้น เพลงที่หยิบยกมาดังกล่าว คือเพลงที่แต่งโดยคนเดียวกัน บางเพลงเขาแต่งทำนอง บางทีเขาแต่งเนื้อร้อง ซึ่งไม่เพียงแต่ป๊อปแดนซ์เท่านั้น เพลงหนัก ๆ ที่เป็นเพลงชาติคนอกหักอย่าง “ใจนักเลง” ของพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ก็เป็นหนึ่งในงานของเขาเหมือนกัน คีตาฯ-อาร์เอส-แกรมมี่ นี่คือสามเสาหลักแห่งปราณเพลงป๊อปแห่งยุค 90 (คาบเกี่ยวมาถึงยุค 2000s) ที่เขาเคยร่วมงานด้วย และรังสรรค์ผลงานประดับจักรวาลเพลงป๊อปแดนซ์แบบไทย ๆ ที่เอาไว้เปิดในวาระปาร์ตี้ งานปีใหม่ วันเด็ก สงกรานต์ กีฬาสีโรงเรียน เข้าค่ายลูกเสือ ไปจนถึงคาบวิชาเต้นรำในโรงเรียน จะต้องมีเสียงเพลงจากปลายปากกาของคน ๆ นี้สอดแทรกเข้าไปในบางจังหวะชีวิต เขาคือ...ระวี กังสนารักษ์  นี่คือเรื่องราวของเขา ชายที่เหล่าพี่น้องในวงการทำเพลงต่างเรียกเขาว่า “พี่ซุป” (ต่อไปขอเรียกเขาในชื่อนี้) ผู้มีมาสเตอร์พีซคือการแต่งทำนองดนตรีเพลงปลุกใจ LGBTQ อย่าง “จีนี่ จ๋า” ปี 2002 เป็นปีที่พวกเราได้รู้จักกับการรวมตัวเฉพาะกิจของ 5 สาว แคทรียา, ญาญ่า ญิ๋ง, เจนนิเฟอร์, และเบล กับหว่าหวา ในนาม “2002 ราตรี” การรวมตัวกันเพื่อออกอัลบั้มนี้ ถือได้ว่าเป็นการรวมเอาตัวแม่ขาแดนซ์ในยุคนั้นมาไว้ด้วยกัน เพลงต่าง ๆ ที่ออกมาในอัลบั้มจึงออกมาในแนวเต้นรำสนุกสนาน จนมีหลายเพลงที่เป็นเพลงระดับตำนานที่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงตอนนี้ (ปี 2021) ก็เกือบ 20 ปีแล้ว ยังมีการหยิบยกเพลงในอัลบั้มนี้อย่าง “จีนี่ จ๋า” กลับขึ้นมาทำใหม่อีกครั้ง “จีนี่ จ๋า” เป็นเพลงที่เหล่าชาว LGBTQ หลายคนเคยนิยามไว้ว่าเป็นเพลงที่สามารถ “ปลุกความเป็น LGBTQ ในตัวคุณออกมา” ยิ่งถ้าได้ยินเพลงนี้เมื่ออยู่ด้วยกัน แต่ละคนจะมีการแบ่งพาร์ตกันว่าใครเป็นแคทลียา ใครเป็นญาญ่า ญิ๋ง ใครเป็นเจนนิเฟอร์ และใครเป็นเบลกับหว่าหวา เรื่องเปลี่ยนบล็อกกิ้งไม่ต้องพูดถึง ขอแค่แบ่งให้ชัดว่าใครเป็นใคร บล็อกกิ้งเป๊ะเหมือน 5 สาวมาเต้นเองแน่นอน ระวี กังสนารักษ์: ผู้ทำเพลง ‘จีนี่ จ๋า’ ที่ครั้งหนึ่งเกือบจะกลายเป็นเพลงของ ‘พี่เบิร์ด’ แต่ไม่ใช่แค่เพลงจีนี่ จ๋า ยังมีเพลงอื่นอีกมากมายที่พี่ซุป ได้ฝากไว้ในใจและเป็นมุดหมายเพลงฮิตในช่วงปี 1990 - 2000s  “ไม่เคยนับนะครับ ก็น่าจะหลายร้อยเพลงอยู่” นี่คือคำตอบของพี่ซุป เมื่อถามว่าที่ผ่านมาในชีวิตเขียนงานไปกี่ร้อยเพลงแล้ว แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาเขาคือขุนศึกแห่งการทำเพลงที่ผ่านสมรภูมิทำเพลงมาอย่างโชกโชน  ปัจจุบัน เขาอายุ 54 ปีแล้ว แต่ยังนั่งทำเพลงที่บ้านที่จังหวัดสมุทรสาครอยู่ เรียกได้ว่า มือยังไม่ตกแต่อย่างใด  พักมือจากกีตาร์ เลยหันมาคุยกันกับ The People   จากนักศึกษาวิศวะ สู่นักทำเพลง จุดเริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีของพี่ซุป ก็เหมือนกับเด็กหนุ่มวัยรุ่นทั่วไปที่รักในเสียงเพลง นั่นคือการเป็นนักดนตรีในชมรมดนตรีของมหาวิทยาลัย เขาเริ่มเข้าชมรมดนตรีตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  “ผมก็ไม่ค่อยเรียนหรอกนะ เอาแต่เล่นดนตรี” เพราะใจที่รักจะเล่นดนตรีทำให้เขาไม่ได้สนใจเรื่องเรียนมากนัก จึงจำต้องย้ายที่เรียนครั้งแล้วครั้งเล่าจนสุดท้ายไปสอบเอนทรานซ์ติดที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  แต่ใจมันรัก จะไปห้ามยังไงไหว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนพี่ซุปก็ยังตั้งวงเล่นดนตรีกับเพื่อนอยู่ แต่ทว่าเวลามันก็ผ่านไปหลายปีแล้ว เพื่อน ๆ ที่เรียนรุ่นเดียวกันที่คณะวิศวะฯ ก็ทยอยเรียนจบกันแล้ว จุดนี้เองที่พี่ซุปเริ่มฉุกคิดได้ว่า ต้องทำอะไรสักอย่างให้เป็นชิ้นเป็นอัน และไหน ๆ ใจก็ใฝ่การเล่นดนตรี ถ้าอย่างนั้นจะลองเปลี่ยนความรักในดนตรีนี้ให้กลายเป็นอาชีพได้ไหม? พี่ซุปเลยออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน เพื่อเดินตามความฝัน   บ้านแห่งห้องเสียงแห่งแรก คีตาเรคคอร์ดส ประภาส ชลศรานนท์ และฉัตรชัย ดุริยประณีต ก็คือผู้ให้กำเนิดพี่ซุปในวงการเพลงไทย หลังจากที่มานั่งครุ่นคิดหาทางทำให้ความรักกลับกลายเป็นอาชีพ พี่ซุปตัดสินใจลองใช้เครื่องอัดเทปคาสเซ็ทอัดเพลงที่ตัวเองลองแต่งเอง เล่นกีตาร์เองแล้วผนึกใส่ซองส่งไปรษณีย์ไปที่บริษัทคีตา เรคคอร์ดส จ่าหน้าซองถึง ประภาส ชลศรานนท์ ผู้บริหารคีตาฯ ในขณะนั้น แล้วประภาสก็น่าจะเห็นอะไรบางอย่างในตัวนักศึกษาเภสัชฯ หนุ่มคนนี้จึงส่งเรื่องให้ ฉัตรชัย ดุริยประณีต ผู้ดูแลอัลบั้มที่ชื่อยาวมาก 'ดวงตาข้างขวาของฉันคล้ายเป็นเนื้อเยื่อพิเศษ' (2533) หรืออัลบั้มที่มีเพลง “เสือ” ของ ฮันนี่ ภัสสร บุณยเกียรติ ในขณะนั้น ฉัตรชัยในฐานะผู้ดูแลอัลบั้มของฮันนี่ จึงให้โอกาสนักศึกษาเภสัชฯ หนุ่มหน้าใหม่คนนี้ลองเขียนเนื้อร้องดูและเพลงนั้นก็ได้ปรากฏอยู่ในเทปหน้า B ในอัลบั้มของฮันนี่ชื่อว่าเพลง “แค่ขัดใจ”  หลังจากได้มีโอกาสแต่งเพลงแรกในชีวิต จากนั้นพี่ซุปก็ได้รับความไว้วางใจให้แต่งเพลงอีกมากมายหลายเพลงในบริษัทคีตา เรคคอร์ดส ซึ่งเป็นเพลงฮิตในขณะนั้น และกลายเป็นเพลงประจำตัวศิลปินหลายคนจนถึงขณะนี้ เช่น เพลง “แมงมุม” (เนื้อร้อง-ทำนอง) (2534), “แม่มด” (เนื้อร้อง)(2534)- แสงระวี อัศวรักษ์, “ถอยดีกว่า” (เนื้อร้อง-ทำนอง)(2533), “หน่อไม้” (เนื้อร้อง)(2533)- อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์ , “ไม่อ้วนเอาเท่าไหร่” (เนื้อร้อง)(2535)- มะ-ลิ-ลา บราซิลเลี่ยน การแต่งเนื้อร้องมีทั้งลูกหวานลูกดุดันสลับกันไป แต่หลายทีพี่ซุป “กล้า” ที่จะใส่ความครีเอทีฟลงไปด้วย การจะใส่คำว่า “...มีจรวดมิไซล์...มีมอเตอร์ไซด์...มีรถตุ๊กตุ๊ก...มีซามูไร...มีไก่กุ๊กกุ๊ก” (เนื้อร้องจากเพลงหน่อไม้ – อ้อม สุนิสา) เข้าไปในเพลงนอกจากต้องอาศัยความกล้าคิด กล้าเขียนแล้ว พี่ซุปเล่าว่า "เราคงต้องให้เครดิตกับผู้บริหารคีตาฯ ในขณะนั้นที่เปิดใจและให้โอกาสความคิดสร้างสรรค์นี้ได้มีโอกาสมาอยู่ในเพลง" และเมื่อประภาส มีแนวคิดเปิดค่ายเพลงใหม่ “มูเซอร์ เรคคอร์ดส” (MUSER ซึ่งย่อมาจาก Music Service) พี่ซุปก็ตามประภาสออกมาร่วมทีมที่บ้านหลังใหม่แห่งนี้พร้อมทำเพลงฮิตอีกหลายเพลงเช่นเคย เช่น “มีอะไรอ๊ะเปล่า” (เนื้อร้อง-ทำนอง-เรียบเรียง)(2535)- กษาปณ์ จำปาดิบ, “ควายเท่านั้น” (เนื้อร้อง)(2535) –มาม่าบลูส์, “คนหน้าลิง” (เนื้อร้อง-ทำนอง-เรียบเรียง)(2535)-ที-โบน, “อย่างนี้ต้องตีเข่า” (เนื้อร้อง-ทำนอง) (2536)-ทอม ดันดี ซึ่งแม้ว่าแนวเพลงจะเข้มข้นกว่าเดิม แต่ทุกเพลงที่ว่ามา ต้องมีสักเพลงนั่นแหละที่ผ่านเข้าหูคนที่โตมากับยุคนั้น   กลับคืนบ้านหลังเดิมเพิ่มเติมคือเปลี่ยนชื่อ เมื่อคีตาฯ มีการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนชื่อใหม่จากคีตา เรคคอร์ดส สู่ คีตา เอนเตอร์เทนเมนท์ พี่ซุปได้มีโอกาสกลับมาที่บ้านหลังแรกที่ให้โอกาสเขาในวงการเพลงไทยอีกครั้ง พี่ซุปยังคงทำเพลงฮิตให้กับคีตาฯ เช่นเคย เช่น “ใจนักเลง” (เนื้อร้อง)(2537)– พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, “หัวไม่เหน่ง” (เนื้อร้อง)(2537)-ฝันดี ฝันเด่น, “บ้านเธอสิ” (ทำนอง-เรียบเรียง)(2538)- แอนเดรีย สวอเรซ, “หลอกเด็ก” (เนื้อร้อง-ทำนอง-เรียบเรียง)(2537) ปัทมวรรณ เค้ามูลคดี, “มีแฟนรึยังจ๊ะ” (ทำนอง-เรียบเรียง)(2537) – ตรีรัก รักการดี, “วอนซะแล้ว” (เรียบเรียง)(2538)- สุรวุฑ ไหมกัน เหล่านี้ก็เป็นงานของเขา เหมือนเส้นทางงานเพลงจะไปด้วยดี เพียงแต่ว่า... “ผมก็คิดว่าบางทีก็ไปล้วงลูกเกินไปนะ ควบคุมทิศทางมากเกินไป ไปทำให้เขาอึดอัดใจ” ด้วยประสบการณ์การทำเพลงฮิตมามากมาย พี่ซุปจึงมีโอกาสเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำอัลบั้มแทบจะทุกอัลบั้มในคีตา เอนเตอร์เทนเมนท์ เป็นการทำงานในฐานะ "พี่" และ Supervisor พี่ซุปเล่าย้อนถึงความหลังในอดีตเมื่อ 20 กว่าปีก่อน แล้วมีความรู้สึกผิดต่อความคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบของตนเองในสมัยนั้น ถึงวันนี้ตัวพี่ซุปเองได้ยอมรับว่า ในขณะนั้นเขาคงจะเผลอทำให้ใครหลายคนต้องลำบากใจไม่น้อยอยู่เหมือนกัน จนในที่สุด ด้วยสถานการณ์และเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้ค่ายคีตา เอนเตอร์เทนเมนท์ต้องปิดตัวลง พี่ซุปเล่าให้ฟังว่า “พี่อยู่จนวันสุดท้ายที่ปิดบริษัทคีตาฯ”  ระวี กังสนารักษ์: ผู้ทำเพลง ‘จีนี่ จ๋า’ ที่ครั้งหนึ่งเกือบจะกลายเป็นเพลงของ ‘พี่เบิร์ด’ จากคีตาสู่อาร์เอส หลังจากที่คีตาฯ ปิดตัวลง เฮียฮ้อ (สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์) ผู้บริหารค่ายเพลงใหญ่อย่าง อาร์เอส โปรโมชัน (ชื่อในขณะนั้น) ให้คนมาติดต่อตามให้พี่ซุปไปพูดคุยด้วย และพี่ซุปก็ตกลงทำงานที่อาร์ เอสฯ เมื่อเจ้าพ่อเพลงป็อปแดนซ์มาอยู่ที่อาร์เอสฯ พี่ซุปก็ไว้ลายคนทำเพลงป็อปแดนซ์ ด้วยการทำเพลงอยู่หลายเพลงให้กับอาร์เอสฯ เช่น “DING DONG” (เนื้อร้อง)(2542), เล่นอะไรก็ไม่รู้...บ้า (เนื้อร้อง)(2542), ตะลึง (ทำนอง-เรียบเรียง)(2543) – อนัน อันวา, รสปูอัด (เนื้อร้อง-ทำนอง-เรียบเรียง)(2541) –ไจแอนท์, “ZIGGAZA” (เนื้อร้อง-ทำนอง-เรียบเรียง)(2540)- JR-VOY และงานใหญ่อย่างอัลบั้ม "Mission 4 Project" (2543) ที่รวมศิลปินดังในยุคอย่าง เจมส์-โดม-วอย-จอนี มาทำโปรเจกต์พิเศษ แต่ก็อยู่ตรงนี้เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ (ก่อนที่จะกลับไปอีกครั้งภายหลัง) หลังจากบรรลุวิชาเพลงป๊อปแนวบับเบิลกัมแล้ว สถานีต่อไปคือ...แกรมมี่ กับที่มาของตำนาน "จีนี่ จ๋า"   จีนี่จ๋า เกือบจะกลายเป็นเพลงพี่เบิร์ด “ช่วงนั้นออกจากอาร์เอสฯ แล้วก็ได้มีโอกาสไปคุยกับพี่เล็ก บุษบา” พี่ซุปเล่า เมื่อออกจากอาร์เอสฯ พี่ซุปมีโอกาสทำทำนอง และเรียบเรียงเพลงหนึ่งขึ้นมาและนำไปเสนอให้กับพี่เล็ก บุษบา (หนึ่งในผู้บริหารค่ายเพลง "แกรมมี่") โดยความตั้งใจของพี่ซุปคือ เพลงนี้จะทำเพื่อไปเสนอให้เป็นเพลงของพี่เบิร์ด ธงไชย แต่เอาเป็นว่ารู้ตัวอีกทีเพลงนี้ก็ได้ถูกนำไปให้ 5 สาวเจ้าแม่ขาแดนซ์แห่งตึกจีเอ็มเอ็ม "2002 ราตรี" ซึ่งตอนที่พี่ซุปรู้ว่าเพลงนี้จะนำไปให้ 5 สาว 2002 ราตรีร้องก็คือ ตอนที่ทีมงานมาบอกให้แก้สัดส่วนเพลง ซึ่งเพลงนั้นคือเพลงที่ปลุกจีนี่ในตัวชาว LGBTQ ให้ออกมาเต้น  คือเพลงจีนี่ จ๋า นั่นเอง อันที่จริงแล้วไม่ได้มีเพียงแค่เพลง จีนี่ จ๋า เท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงจากต้นกำเนิดความตั้งใจเดิม จากจะทำให้พี่เบิร์ด มากลายเป็นเพลงของ 5 สาว 2002 ราตรี ก่อนหน้านี้ที่ค่ายเพลงอื่น ยังมีเพลงอีกหลายเพลงที่พวกเราได้ฟังกันทุกวันนี้มันต่างจากร่างแรกเดิม เช่น “เจ็บนี้รสปูอัด จริง ๆ ตอนแรกพี่คิดถึงรสไก่นะ...รสไก่ รสเบคอน ไม่ใช่รสปูอัด” เพลง รสปูอัด (ไจแอนท์) “ตอนแรกกะจะเขียนเพลงไม่อ้วนเอาเท่าไหร่ ให้กับพี่ตั๊ก มยุรานะ ตอนแรกเขียนไว้ว่า บอกหนูทีพี่จะเอาเท่าไหร่” – เพลง ไม่อ้วนเอาเท่าไหร่ (มะ-ลิ-ลา บราซิลเลี่ยน) “อย่างตอนแรกเพลง ถอยดีกว่า ของอ้อม สุนิสา พี่ทำเป็นจังหวะละตินนะ” เพลงถอยดีกว่า (อ้อม สุนิสา) นอกจากจีนี่ จ๋า และงานใหญ่อีกชิ้นของพี่ซุปใต้ชายคาตึกที่อโศก ก็คือการทำเพลง Boom ซึ่งเป็นเพลงรวมการเฉพาะกิจของศิลปินป๊อปทางฝั่งแกรมมี่ภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ว่า Cheer เป็นเพลงที่มีท่อนจำว่า “วี้ด...บูม บูม บูม เรามาบูม บูม บูม ให้มันตูม ตูม ตูม รวมเป็นใจเดียวกัน” คงเหมือนกับพลุไฟ ที่จุดขึ้นฟ้าสวยงามในช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วงเวลาหอมหวานกับ "แกรมมี่" มีอยู่ไม่นาน เขาก็กลับไปที่บ้านเก่าย่านลาดพร้าวนั่นคือ อาร์เอสฯ  "เฮียเรียกกลับ ผมก็กลับมาหาเฮีย"   อาร์เอสภาคสอง อาจจะด้วยเคมีการทำงานที่เข้ากัน ทำให้พี่ซุปตัดสินใจกลับไปทำงานกับเฮียฮ้ออีกครั้ง และได้ทำงานในฐานะผู้บริหารค่าย AHA ซึ่งเป็นค่ายเพลงค่ายหนึ่งในอาร์เอสฯ ในตอนนั้นพี่ซุปปั้นเพลงฮิตเพลงเดียวที่เขาทำทั้งเนื้อร้อง-ทำนอง-เรียบเรียง และร้องเองด้วย นั่นคือ “โทรมาทำไม”- DDZ (2549) (ใช่แล้ว พี่ซุปร้องเพลงเป็นเสียงมนุษย์ต่างดาวในนาม DDZ) จากนั้นพี่ซุปก็ได้ไปเป็นโปรดิวเซอร์และ "เคาะ" งานอีกหลายงานให้กับอาร์เอสฯ เช่น เนโกะ จั๊มพ์, โบกี้ ดอดจ์, โฟร์-มด และกาลเวลาก็ผ่านไป จนกลายเป็นยุคกามิกาเซ่ แต่ในยุคที่เพลงจากค่ายกามิกาเซ่ เป็นตัวชูโรงของอาร์เอสฯ พี่ซุปก็ยังคงทำงานเพลงให้เราได้ฟังกัน หากเพียงแต่เปลี่ยนบทบาทจากผู้เขียนทำนองและเรียบเรียง เป็นคนที่ทำหน้าที่ฝั่ง Mixdown and Mastering (การบาลานซ์เสียงของเครื่องดนตรีชิ้นต่าง ๆ และเสียงร้องให้ฟังออกมารื่นหู และปรับแต่งความดัง-เบาให้เพลงนั้น ๆ ออกมาดี) ซึ่งเพลงเกือบทุกเพลงในกามิกาเซ่ก็น่าจะเรียกได้ว่าพี่ซุป Mixdown เกือบทุกเพลง นี่คือผลงานของเขาในอดีตที่ 10 กว่าปีนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนมาถึงวันนี้ “โลกตอนนี้มันต่างจากโลกใบที่พี่เคยอยู่แล้วนะ” พี่ซุปกล่าวขึ้นกับผู้เขียน โลกแห่งโอกาสในการเป็นศิลปินและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในตอนนี้เปิดกว้างมากขึ้นกว่าสมัยที่พี่ซุปเคยทำเพลง จนถึงตอนนี้ยังคงมีพี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการเพลงส่งเพลงมาให้พี่ซุป Mixdown และ Mastering อยู่เสมอ ทั้งนี้ก็รวมไปถึงเพลงจากค่ายที่พี่ซุปเคยร่วมงานด้วยและเพลงจากศิลปินอิสระที่ติดต่อพี่ซุปผ่านช่องทางต่าง ๆ และในโอกาสที่ปี 2021 เราได้เห็นการกลับคืนชีพของเพลง จีนี่ จ๋า อีกครั้งจาก 5 สาว 2021 ราตรี (แก้ม, MILLI, หวาย, บลอซซั่ม, และจิงจิง) ผู้เขียนจึงได้ถามคำถามสุดท้ายก่อนจบบทสนทนากับชายผู้ให้กำเนิดทำนองเพลงจีนี จ๋า คนนี้ว่า ได้ฟังเพลงจีนี่ จ๋า เวอร์ชัน 2021 ราตรี หรือยัง คิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง? “ฟังแล้ว ๆ พี่ว่าเวอร์ชันนี้ก็ดีเหมือนกันนะ ทำได้ดีเลย...” ผู้เขียน-ในฐานะคนเจนวาย พูดกับพี่ซุปทิ้งท้ายว่า ขอบคุณมากจริง ๆ ที่สร้างสนุกและความทรงจำในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ผ่านเสียงเพลงของเขา ขอบคุณค่ะ