เรย์ แอนเดอร์สัน มหาเศรษฐีที่เก็บอวนเก่ากว่าสองร้อยตัน มาทำพรมขายใหม่

เรย์ แอนเดอร์สัน มหาเศรษฐีที่เก็บอวนเก่ากว่าสองร้อยตัน มาทำพรมขายใหม่
“การขโมยนั้นเป็นอาชญากรรม และการขโมยโลกอนาคตของเด็กๆ วันหนึ่งก็จะเป็นอาชญากรรม” มหาเศรษฐีคนหนึ่งเคยพูดประโยคนี้ในงาน TED ปี 2009 และประโยคเดียวกันนี่เองเป็นจุดเริ่มเล็กๆ ให้หลายคนช่วยกันเก็บอวนหาปลาเก่าๆ  ไม่ใช้แล้วจากท้องทะเลและแม่น้ำ เพื่อมารีไซเคิลเป็นพรมผืนใหม่ขายอีกครั้ง เจ้าของประโยคนี้คือ เรย์ แอนเดอร์สัน (Ray Anderson) คนขายพรมที่อาจเรียกได้ว่ามีหัวใจสีเขียวที่สุดในโลกคนหนึ่ง เรย์ แอนเดอร์สัน เข้ามาเกี่ยวข้องกับพรมตั้งแต่ทำงานที่ Milliken & Company และ บริษัท Callaway Mills เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในธุรกิจค้าขายพรมนานกว่า 14 ปี ก่อนที่ในปี 1973 จะกระโดดมาเริ่มทำธุรกิจของตัวเองคือ บริษัท Interface ที่ผลิตและจัดจำหน่ายพรม ผ่านมาไม่กี่สิบปีบริษัทของเขาได้เติบโตจนกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตพรมรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยการเป็นบริษัทอันดับแรกในอุตสาหกรรมพรม ทำให้ระหว่างเส้นทางสร้างความมั่งคั่ง บริษัท Interface ของเขาได้สร้างมลภาวะให้กับโลกใบนี้เป็นจำนวนมากเช่นกัน จากการดำเนินธุรกิจที่ใช้ปิโตรเลียมปริมาณมหาศาลในการผลิตพรมปูพื้นแต่ละผืน จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นวันหนึ่งในฤดูร้อนปี 1994 จากการที่แอนเดอร์สันได้อ่านหนังสือ นิเวศวิทยาของการพาณิชย์ (Ecology of Commerce) ที่เขียนโดย พอล ฮอว์เคน “พอล ฮอว์เคน บอกว่าธุรกิจกับอุตสาหกรรมคือตัวการหมายเลขหนึ่งที่ทำให้โลกชีวมณฑลเสื่อมโทรม และสอง เขาบอกว่ามันเป็นสถาบันเดียวที่ใหญ่พอ แพร่หลายมากพอ และมีอิทธิพลมากพอ ที่จะนำมนุษยชาติออกจากปัญหานี้จริงๆ” แอนเดอร์สัน ซึ่งเขาเรียกตัวเองว่า "โจรกลับใจ" ได้หันมารณรงค์ให้พนักงานทั้งหมดในบริษัทของเขาหาวิธีการอะไรก็ได้เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบจากปิโตรเลียม พลังงานที่ใช้ในการผลิต รวมไปถึงการระดมความคิดเพื่อปฏิรูปวิธีการและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพรม ที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด "ธุรกิจกับอุตสาหกรรมจะต้องนำจริงๆ แล้วใครจะนำธุรกิจกับอุตสาหกรรมล่ะ? ถ้าไม่มีคนเริ่มก่อน ก็จะไม่มีใครทำ เป็นสัจพจน์เลยครับ แล้วทำไมเราไม่นำล่ะ?” จากปี 1994-2006 Interface ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 82% ใช้พลังงานฟอสซิลน้อยลง 60% เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 27% ลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ 75% มีการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เป็น 25% กู้คืนพรมใช้แล้วกว่า 74,000 ตัน ที่น่าทึ่งคือกลับกันบริษัทของเขาสามารถมียอดขายเพิ่มขึ้นถึงสองในสาม และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นสองเท่า !! คนขายพรมหัวใจสีเขียวคนนี้ ตั้งเป้าว่าจะลดผลกระทบให้เหลือศูนย์ภายในปี 2020 ด้วยการสร้างระบบที่ทำให้พรมของเขาหมุนเวียนกลับมารีไซเคิลใหม่หลังการบริโภค ซึ่งเขาเรียกว่า "ปฏิบัติการศูนย์" (Mission Zero) “เราพยายามจริงๆ ครับที่จะนำบริษัทต้นแบบ บริษัทอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน มีรอยเท้าเท่ากับศูนย์ ทำให้มันเกิดขึ้นจริงภายในปี 2020 เรามองเห็นเส้นทางของเราแล้วครับ มองเห็นชัดไปถึงยอดเขาลูกนั้น ตอนนี้ความท้าทายอยู่ที่การลงมือทำ อย่างที่ เอมอรี ลอวินส์ เพื่อนและที่ปรึกษาของผม พูดว่า 'ถ้าอะไรมีอยู่จริง มันก็ต้องเป็นไปได้จริง' ถ้าเราทำได้จริงๆ มันก็ย่อมเป็นไปได้ ถ้าเรา-บริษัทที่ใช้ปิโตรเลียมมหาศาล ทำได้ ใครคนอื่นก็ทำได้ และถ้าใครคนอื่นทำได้ ก็แปลว่าทุกคนต้องทำได้” นอกจากปฏิบัติการศูนย์ที่ปฏิวัติกรรมวิธีการผลิตแบบคิดใหม่ทำใหม่เพื่อทุกคน เพื่อให้ทรัพยากรทั้งหมดหมุนเวียนอยู่ภายในระบบแล้ว แอนเดอร์สันยังผลักดันให้บริษัท Interface ของเขา และองค์กร ZSL (Zoological Society of London) ก่อตั้ง "โครงการ Net-Works" เพื่อเปลี่ยนอวนขยะให้เป็นพรมแผ่นใหม่ Net-Works เป็นโมเดลธุรกิจยั่งยืนที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว รวมถึงยังมีส่วนสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนนั้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย โดยให้คนในชุมชนช่วยกันเก็บรวบรวมอวนเก่าที่ใช้งานไม่ได้และอวนที่ถูกทิ้งในทะเล มาเป็นวัตถุดิบรีไซเคิล 100% ในการผลิตพรมไนลอนลดการพึ่งพาวัตถุดิบต่างๆ ได้ อวนไนลอนสำหรับจับปลา ถือเป็นสัดส่วนขยะพลาสติกที่มีจำนวนมากที่สุดชนิดหนึ่ง ที่ใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย นอกจากสร้างปัญหาเรื่องขยะไมโครพลาสติกแล้ว อวนร้ายเหล่านี้ยังคร่าชีวิตสัตว์ทะเลไปเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ลอยไปติดสัตว์ทะเลที่โชคร้ายเท่านั้น ที่ผ่านมา โครงการนี้ได้รวบรวมอวนเก่าได้มากกว่า 208 ตัน ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนกว่า 2,200 ครอบครัว ซึ่งจากจุดแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ตอนนี้โครงการนี้ได้ขยายตัวไปยังประเทศแคเมอรูน และจะกระจายออกไปอีกหลายๆ แห่งทั่วโลก น่าเสียดายที่เจ้าของไอเดียผู้ริเริ่มโครงการอย่าง เรย์ แอนเดอร์สัน ไม่ได้เห็นความสำเร็จในวันนี้ เพราะเขาได้จากไปอย่างสงบเมื่อ 8 สิงหาคม ปี 2011 แต่เชื่อว่าด้วยวิสัยทัศน์ผู้นำและความมุ่งมั่นพยายามที่คนขายพรมคนนี้ได้เริ่มต้นเอาไว้ จะช่วยจุดประกายความหวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายคนทั่วโลกในการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างที่ไม่เพียงแต่เพื่อตัวเอง แต่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงโลกใบนี้ที่เราทุกคนต่างอาศัยอยู่ด้วยกัน   ที่มา https://www.ted.com https://thaipublica.org http://net-works.com