เรย์ ดาลิโอ: หนังสือ Principles ของเจ้าพ่อเฮดจ์ฟันด์ ผู้ได้รับฉายา ‘สตีฟ จอบส์แห่งโลกการลงทุน’

เรย์ ดาลิโอ: หนังสือ Principles ของเจ้าพ่อเฮดจ์ฟันด์ ผู้ได้รับฉายา ‘สตีฟ จอบส์แห่งโลกการลงทุน’

หนังสือ Principles ของเจ้าพ่อเฮดจ์ฟันด์ ผู้ได้รับฉายา ‘สตีฟ จอบส์แห่งโลกการลงทุน’

“ชีวิตก็เหมือนเกมที่คุณพยายามเอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมายของคุณ และคุณจะเก่งขึ้นในเกมนี้ผ่านการฝึกฝน” หากโลกเทคโนโลยีมีชื่อ สตีฟ จอบส์ ประทับเป็นบุคคลสำคัญ ผู้เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานในอุตสาหกรรมไปอย่างสิ้นเชิง โลกการลงทุนก็มีเรื่องราวที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน เมื่อนิตยสารการเงินชื่อดังอย่าง CIO ได้ขนานนามบุรุษชาวอเมริกันคนหนึ่งว่าเป็น ‘สตีฟ จอบส์แห่งโลกการลงทุน’ ด้วยวิธีการบริหารกองทุนที่แม่นยำและล้ำสมัยจนทำให้บริษัทของเขากลายเป็นบริษัท Hedge Fund (กองทุนบริหารความเสี่ยง) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของฉายานี้คือ เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัท Bridgewater Associates ที่ไม่เพียงแต่จะบริหารกองทุนได้ดีเยี่ยม แต่กลับคาดการณ์การเกิดวิกฤตการเงินปี 2008 ได้ถูกต้อง พร้อมด้วยบทบาทนักเขียน The New York Times Bestseller จากหนังสือ ‘Principles: Life & Work’ ที่ดังระเบิดในหมู่นักธุรกิจและนักลงทุน อะไรทำให้ชายอเมริกันวัย 71 ปีคนนี้วาดลวดลายในโลกการลงทุนที่น่าสนุกไม่แพ้วอร์เรน บัฟเฟตต์ และยังสร้างนวัตกรรมที่รับมือกับเศรษฐกิจอันผันผวนได้ ? เรื่องราวของเขาต่างเต็มไปด้วยบาดแผลจากความผิดพลาด… ซึ่งอาจไม่ต่างจากใครหลาย ๆ คน ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เรย์ไม่ใช่เด็กประเภทที่คุณแม่ปลื้มใจนัก เขาไม่ชอบไปโรงเรียนเพราะท่องจำไม่เก่ง และไม่เข้าใจว่าการเรียนได้ดีจะให้อะไรกับเขานอกจากการยอมรับจากแม่ แต่ถึงอย่างนั้น เขากลับไม่ใช่จอมขี้เกียจทั่วไป เพราะสิ่งที่ทำให้เขาสนุกได้กลับเป็นการรับทำงานพิเศษมากมายตั้งแต่ 8 ขวบเพื่อสะสมเงินให้มากพอที่จะซื้ออิสระแบบที่เรียนรู้ไม่ได้จากที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ คนกวาดหิมะบนถนน เด็กจัดของในห้างสรรพสินค้า หรืออาชีพที่พาเขาสู่เส้นทางการลงครั้งแรกในชีวิตอย่างแคดดี้ในสนามกอล์ฟด้วยการแบกถุงกอล์ฟถุงละ 5 เหรียญให้เหล่านักลงทุน เพราะในยุค 60’s ที่เศรษฐกิจเติบโตและตลาดหุ้นบูมไปทั่ว เหล่านักลงทุน Wall Street ต่างมาตีกอล์ฟและแลกเปลี่ยนเรื่องหุ้นกันเป็นประจำ   ประตูสู่หุ้นตัวแรก ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันกำลังวิ่งเล่น เด็กชายเรย์ในวัย 12 ปีกลับนำความรู้ที่ได้ยินจากนักลงทุนและค่าแรงรวม 300 ดอลลาร์ไปซื้อหุ้น Northeast Airlines เพียงเพราะมันเป็นหุ้นตัวเดียวที่เขารู้จักที่ขายในราคาต่ำกว่า 5 ดอลลาร์ต่อหุ้น  “ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าผมซื้อหุ้นมากขึ้นเท่าไร ผมก็จะทำเงินได้มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นกลยุทธ์ที่โง่มาก แต่ผมก็ได้ผลตอบแทนถึง 3 เท่าเพราะผมโชคดี” เรียกว่าเป็นการลงทุนแบบโชคช่วย เพราะตอนนั้นสายการบิน Northeast Airlines กำลังจะล้มละลาย แต่กลับถูกซื้อกิจการทั้งหมดพอดี ทำให้เรย์ที่ได้กำไรก้อนแรกตกหลุมรักการลงทุน ก่อนจะสมัครรับรายงานประจำปีฟรีจากบริษัทใน Fortune 500 และเริ่มตะลุยอ่านทุกเล่ม กระทั่งจบมัธยมฯ เขาก็มีพอร์ทหุ้นมูลค่าหลายพันดอลลาร์ ท่ามกลางความคิดว่าตลาดหุ้นช่างง่ายดายและเขารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับมันแล้ว หลังเรียนจบการเงินที่ C.W. Post College และมุ่งหน้าสู่วุฒิ MBA ที่ Harvard Business School ซึ่งเขาได้เรียนเกี่ยวกับ Futures (สัญญาซื้อขายล่วงหน้า) ของสินค้าโภคภัณฑ์ ก็ถึงเวลาเริ่มต้นทำงานและลงทุนอย่างจริงจัง เขาเริ่มจากการเป็นเสมียนที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ต่อด้วยตำแหน่ง ผอ. ฝ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ Dominick & Dominick (บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์) ก่อนจะย้ายไปทำที่ Shearson Hayden Stone (บริษัทหลักทรัพย์) ในฐานะเทรดเดอร์ และโดนไล่ออกเพราะพฤติกรรมสุดกู่ ทั้งต่อยหน้าบอส จ้างนักเต้นระบำเปลื้องผ้ามาระหว่างงานประชุม และเล่นมุกตลกที่ฝืดบรม ทว่าข่าวดีคือลูกค้าของ Shearson ที่เรย์ดูแลยังชอบและพร้อมจะจ่ายสำหรับคำแนะนำของเขา ดังนั้นเมื่อโอกาสและอิสระมาพร้อมหน้า ปี 1975 บริษัท Bridgewater ก็ถือกำเนิดขึ้นในอะพาร์ตเมนต์ 2 ห้องนอน เริ่มจากการเป็นบริษัทให้คำแนะนำการลงทุนกับลูกค้าและเก็บเงินค่านายหน้าจากการขายกองทุนเพียงเท่านั้น เขาไม่ได้มาพร้อมกลยุทธ์ที่ล้ำเลิศ ในทางกลับกัน เขาทุ่มเวลาส่วนใหญ่ไปกับการติดตามตลาดและเศรษฐกิจ ทำความเข้าใจกลไกเบื้องหลังพวกมัน และลงไปสวมรองเท้าของลูกค้าเพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่า เรย์จะจัดการกับความเสี่ยงยังไงหากเป็นธุรกิจของตัวเอง   ก่อร่างสร้างกลยุทธ์ วิธีการของเขาคือการเรียนรู้ระบบเบื้องหลังตลาดที่เกี่ยวข้องกัน เช่น การรู้ว่าต้องให้อาหารวัว หมูและไก่กี่ตัว นานแค่ไหนถึงจะกลายเป็นเนื้อสัตว์ไว้ขาย พล็อตแผนภูมิด้วยมือ รวมถึงการสร้างโมเดลวิเคราะห์ปริมาณน้ำฝนที่ส่งผลต่อผลผลิตบนคอมพิวเตอร์เพื่อให้การลงทุนสมบูรณ์มากขึ้น ตัวอย่างความสำเร็จปรากฏในเมนูแมคนักเก็ตไก่ เมื่อครั้งหนึ่ง McDonalds และบริษัทผู้เลี้ยงไก่รายยักษ์อย่าง Lane Processing กลายเป็นลูกค้าของเขา โดยมีโจทย์สำคัญคือ McDonalds อยากวางขายนักเก็ตไก่ แต่กลับไม่แน่ใจเพราะกลัวราคาไก่จะสูงขึ้นจนกำไรหด ในขณะที่ผู้ขายเนื้อไก่อย่าง Lane ก็ไม่ยอมรับข้อตกลงที่จะขายในราคาตายตัว เนื่องจากกลัวต้นทุนเลี้ยงไก่จะสูงขึ้นเช่นกัน ทางออกของปัญหาที่เรย์นำเสนอคือ การแสดงวิธีการใช้สัญญาซื้อขายข้าวโพดและถั่วเหลืองล่วงหน้าผ่านการคำนวณเพื่อกำหนดต้นทุนเลี้ยงไก่ให้ Lane จนท้ายที่สุด ชาวอเมริกันก็ได้ลิ้มรสแมคนักเก็ตเป็นครั้งแรกในปี 1983 เมื่อ Lane ยอมขายไก่ในราคาตายตัวใน McDonalds โดยไม่เสี่ยงขาดทุนอีกต่อไป แต่โมเดลและการเข้าใจปัจจัยเบื้องหลังตลาดก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่คาดฝัน เมื่อช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดเดินทางมาถึง… “มันไม่มีทางออกดี ๆ หรอก ผมสามารถพูดได้อย่างมั่นใจมากเลย เนื่องจากผมรู้ว่าตลาดนั้นทำงานอย่างไร” ถ้อยคำแสนมั่นใจข้างต้นปรากฏในรายการ Wall Street Week ที่เรย์ยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปี 1982 กำลังมุ่งสู่ภาวะถดถอยเพราะเมื่อเม็กซิโกผิดชำระหนี้ในปีนั้น ธุรกิจสินเชื่อในอเมริกาต่างหยุดชะงักจากการให้กู้จำนวนมาก แต่ความจริงต่างจากคำทำนายของเรย์ที่มองว่าธนาคารกลางจะแก้ปัญหาผิดนัดหนี้ด้วยการเพิ่มเงินในระบบซึ่งทำให้เงินเฟ้อพุ่ง เพราะเศรษฐกิจกลับดีขึ้นด้วยเงินเฟ้อที่ลดลง และตลาดหุ้นก็พุ่งทะยานสู่ภาวะกระทิงอย่างงดงาม “ประสบการณ์ของผมในช่วงเวลานั้นเหมือนการโดนไม้เบสบอลตีเป็นชุด การผิดพลาดมหันต์ โดยเฉพาะต่อหน้าสาธารณชนเป็นเรื่องอัปยศอย่างเหลือเชื่อ ผมเสียทุกอย่างที่ผมสร้างขึ้นที่ Bridgewater และผมได้เห็นว่าตัวเองเป็นคนยโสโอหังที่มั่นใจสุด ๆ ในมุมที่ไม่ถูกต้อง” ไม่ใช่แค่หน้าแตกต่อสาธารณะ แต่แผลที่ฝังลึกในใจจนเจ็บแสบต่อมาคือการสูญเสียเงินในบริษัทจนไม่สามารถจ่ายเงินพนักงานได้ จึงต้องปล่อยทุกคนไป จนท้ายที่สุดบริษัทก็เหลือพนักงานเพียงคนเดียว นั่นก็คือตัวเขาเอง แม้จะถังแตกจนต้องยืมเงินจากพ่อถึง 4,000 ดอลลาร์มาจ่ายบิลในครอบครัว แต่ความเจ็บปวดในครั้งนั้นก็สอนบทเรียนสำคัญให้เขาได้ลองตั้งโจทย์ใหม่ แทนที่จะเชื่อมั่นตนเองสุดใจ เรย์เรียนรู้ที่จะฟังคนอื่น “ความผิดพลาดของผมเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้น เพราะมันทำให้ผมมีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ผมต้องการให้สมดุลกับความก้าวร้าวของผม ผมรู้ซึ้งในความกลัวที่จะคิดผิด จนเปลี่ยนจากความคิดเดิมที่เชื่อเสมอว่าผมถูก เป็นผมจะรู้ได้อย่างไรว่าผมถูก?” คำตอบคือ การหาคนฉลาดที่สุดที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขามาถกเถียงโต้แย้ง เพื่อมองหาข้อบกพร่องในกระบวนการคิดของตัวเอง และเมื่อบวกกับการลงแรงทดสอบระบบอัลกอริทึมด้วยข้อมูลตลาดและวิกฤตการเงินย้อนไปไกลร่วมศตวรรษในทุกประเทศที่หาข้อมูลได้ จนเข้าใจกลไกเศรษฐกิจและกฎต่าง ๆ ที่ใช้ในการซื้อขายทุกรูปแบบลึกกว่าเดิม ระบบของเขาก็กลายเป็น Killer System ที่ช่วยให้เขาและเพื่อนร่วมงานวิเคราะห์ผ่านการถกเถียงได้ยอดเยี่ยม เอาชนะบริษัทใหญ่ที่มีอุปกรณ์ครบมือได้สบาย จุดเปลี่ยนสู่การเติบโตแวะมาเยือนในปี 1985 เพราะ Bridgewater ได้ธนาคารเป็นลูกค้าเจ้ายักษ์ ตามด้วยนักลงทุนสถาบันรายใหญ่มากมายที่ฝากเงินและฝากตัวให้เขาดูแล เช่นบริษัท Mobil Oil และ Kodak จนกระทั่งเรย์ตัดสินใจเปิดตัวกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Pure Alpha ของตัวเองในปี 1991 ซึ่งไม่ผันผวนตามราคาตลาดด้วยกลยุทธ์กระจายสินทรัพย์ (Asset Allocation) ลดความเสี่ยงได้ สิ่งเหล่านี้ทำเงินมหาศาลให้กับเขา   หมอดูแห่งโลกการลงทุน นอกจากกลยุทธ์ที่ดีแล้ว การเรียนรู้จากความผิดพลาดและพัฒนาระบบซ้ำ ๆ ก็ทำให้การทำนายวิกฤตแม่นยำขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในเช้าวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 1987 กับเหตุการณ์ Black Monday ที่ตลาดเละไม่มีชิ้นดีจากหุ้นที่ร่วงมากสุดในประวัติศาสตร์ Bridgewater เป็นหนึ่งในผู้จัดการการลงทุนไม่กี่เจ้าที่ชอร์ตหุ้นทัน (การทำกำไรด้วยการยืมหุ้นมาขายและซื้อกลับด้วยราคาต่ำกว่าเดิม) และทำกำไรได้ถึง 22% ทำให้พวกเขากลายเป็นที่รู้จักนอก Wall Street ทันที ยิ่งไปกว่านั้น! ‘มาตรวัดความตกต่ำทางเศรษฐกิจ’ ในระบบลงทุนที่เรย์พัฒนาเพื่อแสดงความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ก็แจ้งเตือนเขาในปี 2007 อีกครั้งว่าฟองสบู่ใกล้แตกแล้ว ขณะที่เขาร้อนใจและตัดสินใจเดินทางไปคุยกับคนในทำเนียบขาวและกระทรวงการคลัง แต่กลับไม่มีใครสนใจ ท่ามกลางโดมิโนที่ล้มลงอย่างต่อเนื่องจากสถาบันยักษ์ใหญ่ทั้ง Lehman Brothers, Bear Stearns และธุรกิจเล็กใหญ่เพราะไม่สามารถจำกัดความเสียหายได้ กองทุน Alpha Fund กลับสร้างผลตอบแทนมากกว่า 14% ขณะที่นักลงทุนรายอื่นนั้นติดลบกว่า 30% เพราะเรย์ปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนให้ตัวเองและลูกค้าได้ทัน รอดจากวิกฤตอย่างงดงามด้วยการคาดการณ์ที่ถูกเป๊ะ ดังนั้นหากเราเปรียบการลงทุนแบบเดิมเป็นเหมือนแผนที่ เรย์ก็เปลี่ยนวิธีคิดในอุตสาหกรรมด้วยการสร้าง GPS ที่แฮ็กวิธีการเดิมทิ้งอย่างสิ้นเชิง “แน่นอนว่าการสร้างระบบของเราเป็นการทำงานที่หนักหนามาก เราต้องใช้เวลากว่า 30 ปีในการทำมันขึ้นมา” เขากล่าว ยังมีอีกหลายนวัตกรรมกลยุทธ์การลงทุนที่เขาคิดค้นให้กับเหล่านักลงทุน เช่น  พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-Indexed Bonds) ที่ให้ผลตอบแทนเท่าหุ้นแต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ยามที่สหรัฐฯ ยังไม่มีพันธบัตรชนิดนี้เป็นของตัวเอง, กลยุทธ์ All Weather ที่ได้ผลดีในทุกสภาพเศรษฐกิจ และกองทุน Pure Alpha Major Markets ที่เปิดตัวในปี 2010 ให้ลูกค้าเข้ามาลงทุนทำกำไรกับผลตอบแทนที่เยี่ยมไม่แพ้ Pure Alpha Fund รู้อีกที…Bridgewater ก็ได้ชื่อว่าเป็น Hedge Fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2013 เสียแล้ว ทว่าทุกเกมมีวันจบลง เมื่อเรย์ตัดสินใจลงจากตำแหน่งซีอีโอในปี 2011 ก่อนจะเปลี่ยนเป้าจากการทำเงินเพื่อตนเองเป็นการช่วยเหลือคนอื่นมากยิ่งขึ้น เริ่มจากการช่วยให้คำแนะนำเหล่านักกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจจากหลายประเทศ และอัปโหลดวิดีโอความยาว 30 นาทีบนยูทูบในชื่อ ‘How the Economic Machine Works’ ที่มีผู้ชมกว่า 23 ล้านครั้ง อธิบายกลไกเศรษฐกิจให้คนได้เรียนรู้ รวมถึงหนังสือ Principles และแบบทดสอบบุคลิกภาพ Principles You ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจเกี่ยวกับตนเองและเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้นอีกด้วย “สำหรับผม ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือการที่คุณสามารถทำให้ผู้อื่นทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีโดยไม่จำเป็นต้องมีคุณอยู่เลย” มาถึงปัจจุบันที่เรย์ในวัย 71 ปีกลายเป็นทั้งมหาเศรษฐี ผู้มีทรัพย์สินกว่า 20.3 พันล้านดอลลาร์ เป็นเจ้าของอาณาจักร Bridgewater และเป็นนักเขียนชื่อดังที่หลายคนติดตาม เราเชื่อว่าอีกบทบาทสำคัญที่พาเขามาถึงวันนี้คือ การเป็นนักเรียนรู้ตัวยง และสิ่งที่เขาเรียนรู้มากที่สุดคือความผิดพลาดของตัวเอง ไม่ว่าจะเพื่อการพัฒนาระบบหรือพัฒนาองค์กร “แทนที่ผมจะรู้สึกเศร้าหรือผิดหวัง ผมมองความเจ็บปวดเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไว้คอยย้ำเตือนผมว่ามีสิ่งสำคัญที่ผมต้องเรียนรู้อีกมาก การรับมือกับความเจ็บปวดและหาทางเรียนรู้จากมันกลายเป็นเกมที่สนุกของผม” และหากชีวิตเป็นเหมือนเกมที่ต้องเอาชนะอุปสรรคตัวร้าย ชายหนุ่มคนนี้น่าจะยังสนุกกับเกมเทรดไม่ต่างจากครั้งแรกในวัย 12 ปี ใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดและรับมือได้ดีกว่าเดิม   ที่มา: หนังสือ ‘Principles: Life & Work’ เขียนโดย Ray Dalio, สำนักพิมพ์: Nsix Publishing https://achievement.org/achiever/ray-dalio/ https://www.forbes.com/profile/ray-dalio/?sh=4f89774c663a   ภาพ: Kimberly White/Getty Images for TechCrunch