Raya and the Last Dragon: โลกยูโทเปียของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Raya and the Last Dragon: โลกยูโทเปียของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง Raya and the Last Dragon*   โลกใบนี้แตกสลาย เราเชื่อใจใครไม่ได้ หรือเพราะเราไม่เชื่อใจใคร โลกจึงแตกสลาย ประโยคจากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง ‘Raya and the Last Dragon’ กระตุกความคิดของผู้เขียนให้ตั้งคำถามและหาคำตอบในใจไปพร้อมกับเรื่องราวในแอนิเมชันที่ดำเนินไปจนถึงฉากสุดท้าย  ‘Raya and the Last Dragon’ ผลงานเรื่องแรกของดิสนีย์ที่มีเจ้าหญิงจากฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตัวละครหลัก ทำให้ผู้ชมได้กลิ่นอายของวัฒนธรรมประเทศลาว อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยนำเสนอผ่านเรื่องราวของ ‘รายา’ เจ้าหญิงที่อาศัยอยู่ในคูมันตรา (Kumandra) ดินแดนที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนมังกร และตั้งชื่อ 5 ชนเผ่าตามส่วนต่าง ๆ ของมังกร ได้แก่ เผ่าหัวใจ (Heart) เผ่าเขี้ยว (Fang) เผ่ากรงเล็บ (Talon) เผ่าหาง (Tail) และเผ่าสันหลัง (Spine) ครั้งหนึ่ง คูมันตราคือดินแดนแสนสงบสุขที่มนุษย์อยู่ร่วมกับมังกร จนกระทั่ง ‘ดรูน’ ปีศาจลึกลับได้เข้ามารุกรานคูมันตรา จนที่สุดแล้วดรูนได้ถูกกำจัดพร้อมกับมังกรที่จากโลกใบนี้ไป เหลือทิ้งไว้เพียงอัญมณีสีฟ้า ส่วนผู้คนในคูมันตราแตกแยกและขัดแย้งกัน เว้นแต่ผู้นำเผ่าหัวใจ พ่อของรายา ที่เชื่อว่าเผ่าทั้ง 5 จะกลับมารวมกันเป็น ‘คูมันตรา’ ได้อีกครั้ง หากต่างฝ่ายต่างเชื่อใจและพร้อมพึ่งพาอาศัยกัน  แต่แล้วเรื่องราวที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้น เมื่อดรูนกลับมาทำลายโลกอีกครั้ง ผู้คนจำนวนมากได้กลายเป็นหินรวมทั้งผู้นำเผ่าหัวใจ ‘รายา’ จึงต้องออกตามหามังกรตัวสุดท้าย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวเปี่ยมความหวังระคนกับความสูญเสียในแอนิเมชันเรื่องนี้   ดรูน มังกร และพลังของความไว้ใจ “อย่าหมดหวังในตัวพวกเขา” คำสั่งเสียสุดท้ายก่อนที่พ่อของรายาจะถูกดรูนเปลี่ยนให้กลายเป็นหิน และฝากให้ลูกทำตามอุดมการณ์เดิม คือการกำจัดดรูนด้วยการมอบ ‘ความเชื่อใจ’ ให้กับผู้อื่น และ ‘รวมทุกชนเผ่า’ ให้กลับมาเป็นคูมันตราอีกครั้ง  แต่ภารกิจครั้งนี้ สิ่งที่ก้าวข้ามได้ยากที่สุดและต้องอาศัยความกล้าหาญที่สุดสำหรับรายา คือการยอม ‘เสี่ยง’ ที่จะมีความหวังและเชื่อใจเพื่อนที่เคยหักหลัง แต่รายาก็ได้เรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในด้านที่ดีงามของผู้คนอย่างไม่มีเงื่อนไข จาก ‘ซีซู’ มังกรตัวสุดท้ายที่เธอพบ จนในที่สุดพลังของความเชื่อใจ การร่วมมือกันและกัน ทำให้สามารถกำจัดดรูน และพามังกรที่หายไปกลับมาอยู่ร่วมกับมนุษย์ในดินแดนคูมันตราได้อีกครั้ง แม้จะเป็นเรื่องในจินตนาการที่มีวัตถุดิบจากตำนานพื้นบ้านของบางประเทศ แต่หากย้อนมองความเป็นจริง ‘ดรูน’ ที่ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาชัดเจน แต่เป็นกลุ่มหมอกควันสีทึบ อาจเป็นสัญลักษณ์ของความบาดหมาง ความขัดแย้ง ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำไปสู่ความแห้งแล้งของดินแดนคูมันตรา และผู้คนที่กลายเป็นหินขาดไร้ชีวิต ขณะที่ ‘มังกร’ อาจสื่อถึงช่วงเวลาที่ทุกคนร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นตัวแทนของความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น มังกรตัวสุดท้ายที่รายาพบอาจหมายความถึง ‘ความหวังสุดท้าย’ ที่จะกอบกู้ทุกอย่างให้กลับมาอุดมสมบูรณ์และเป็นผืนดินเดียวกันดังเดิม    วัฒนธรรมแห่งความเชื่อใจ  อาจเพราะการนำวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นวัตถุดิบสร้างสรรค์เรื่องราวใหม่และไม่ได้เจาะจงไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษ ทำให้กระแสตอบรับของ ‘Raya and the Last Dragon’ มีทั้งเสียงชื่นชมในกลิ่นอายความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้เกิดความสับสน เพราะไม่สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ออกมาได้อย่างชัดเจน  หากส่วนตัวผู้เขียนมองว่าวัฒนธรรมในเชิงวัตถุเหล่านี้อาจเป็นเพียงองค์ประกอบที่ผู้สร้างนำมาเสริมเติมแต่งให้เรื่องราวกลมกล่อมเท่านั้น เพราะหลักใหญ่ใจความที่ดิสนีย์ดึงออกมาเป็นธีมหลักของเรื่อง คือ วัฒนธรรมในเชิงความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ และ ‘ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน’ ซึ่งเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ผนึกทุกชนเผ่าอยู่ร่วมกันเป็นคูมันตรา  ผู้เขียนคาดว่าอาจมาจากวัฒนธรรมร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่ ‘มองโลกแบบองค์รวม’ (Holistic) ว่าทุกสิ่งล้วนมีความสัมพันธ์ และมีอิทธิพลต่อกันเสมอ หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น การพูดว่า “ไม่เป็นไร” ของคนไทยที่ต้องตีความทั้งสีหน้า น้ำเสียง และบริบทรอบข้าง ต่างจากคำว่า “ไม่เป็นไร” ของบางประเทศที่ตีความตามประโยคที่พูดออกมาเท่านั้น แม้แต่ทางการแพทย์ การมองโลกแบบองค์รวมยังสะท้อนผ่านการรักษาแบบฝังเข็ม เพราะเชื่อว่าส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ต่างจากแพทย์แผนปัจจุบันที่รักษาเฉพาะจุดแยกจากกัน  แนวคิดแบบองค์รวมในภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนผ่านดินแดน ‘คูมันตรา’ ที่มีรูปร่างเป็นมังกร และแต่ละเผ่าเปรียบเสมือนส่วนต่าง ๆ ของมังกรที่ไม่อาจสมบูรณ์พร้อมได้ หากขาดเผ่าใดเผ่าหนึ่งไป ดังนั้นการพามังกรกลับมาอีกครั้งจึงต้องอาศัยความร่วมมือและการพึ่งพากันและกัน อย่างฉากหนึ่งที่พ่อของรายาเล่าถึงการรวมคูมันตราว่าไม่ได้มาจากวิธีการสู้รบ หากแต่เป็นการร่วมมือกัน คล้ายกับการปรุงอาหารรสอร่อยที่มาจากส่วนผสมของวัตถุดิบหลากหลายจากชนเผ่าต่าง ๆ อีกทั้งการนำเสนอตัวละครที่นับว่าเป็น ‘ฮีโร’ ในเรื่องนั้นไม่ได้มี ‘รายา’ เพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือกันของทุกคน แม้กระทั่งคนที่เคยทรยศหักหลังรายาก็ตาม ส่วนตัวละครที่เห็นภาพการมองโลกแบบองค์รวมได้แจ่มชัด คือเจ้ามังกร ‘ซีซู’ ตัวแทนของพลังและความหวังที่สามารถกำจัดดรูนได้ ทั้งยังรวมคูมันตราให้กลับมาเป็นหนึ่ง จาก ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ ที่มอบให้ทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข  นอกจากการมองโลกแบบองค์รวมแล้ว แอนิเมชันเรื่องนี้ยังสะท้อนวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ (Collectivism) ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเป้าหมายของกลุ่ม การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม รวมทั้งให้คุณค่าหรือมองว่า ‘คนที่ดี’ คือ คนที่มีน้ำใจ ช่วยเหลือ และเป็นที่พึ่งพาอาศัยของผู้อื่น ต่างจากวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยม (Individualism) ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายส่วนบุคคล อิสระ และเป็นตัวของตัวเองมากกว่า ซึ่งวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่เห็นได้ชัดจากการนิยามตัวตนของแต่ละตัวละครในเรื่องว่าเป็นคนชนเผ่าไหน การพยายามปกป้องชนเผ่าตัวเอง แม้กระทั่งการต่อสู้เพื่อให้คูมันตรากลับมาเป็นแบบเดิมอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มากกว่าวัฒนธรรมเชิงวัตถุ แต่เป็นวัฒนธรรมด้านความเชื่อและค่านิยมเรื่องการมีน้ำใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือพึ่งพากัน เพราะมองว่าทุกสิ่งบนโลกไม่อาจดำเนินไปได้หากแยกขาดจากกัน เช่นเดียวกับการรวมกลุ่มของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสมาคมอาเซียน หรือวิถีชีวิตที่เน้นการพึ่งพาอาศัยกัน อย่างไรก็ตาม ‘การไม่เชื่อใจ’ นั้นก็นับเป็นธรรมชาติและกลไกการป้องกันตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์ ผู้เขียนจึงมองว่า ‘พลังของความเชื่อใจ’ ที่ทำให้คูมันตรากลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในตอนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจเปรียบเสมือนภาพของโลกยูโทเปียของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียมากกว่า เพราะท้ายที่สุดแล้วแต่ละประเทศอาจมีอุดมการณ์ แนวคิด และความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะ ‘รวมกันเป็นหนึ่ง’ ได้อย่างในแอนิเมชันเรื่องนี้   โลกใบนี้แตกสลาย เราเชื่อใจใครไม่ได้ หรือเพราะเราไม่เชื่อใจใครโลกจึงแตกสลาย   เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงฉากสุดท้าย ผู้เขียนยังคงไม่ได้คำตอบที่แน่นอนนัก เพราะในความเป็นจริงนั้น ‘ความเชื่อใจ’ สามารถเป็นได้ทั้งความขลาดเขลาในบางสถานการณ์ ขณะเดียวกัน ‘ความเชื่อใจ’ ก็สามารถเป็นความหวังอันเปี่ยมพลังที่เปลี่ยนให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้เช่นกัน