รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก: ตุลาการสูงสุดสหรัฐฯ ผู้อุทิศชีวิตแก้ไขกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ

รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก: ตุลาการสูงสุดสหรัฐฯ ผู้อุทิศชีวิตแก้ไขกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ
“ฉันไม่ได้ขอให้เพศของฉันมีสิทธิพิเศษ ฉันขอแค่ให้พี่น้องผู้ชายของเรา ยกเท้าของเขาออกไปจากหัวเราสักที”
ถ้อยคำซึ่งเดิมเป็นคำพูดของ ซาร่า กริมกี้ ผู้สนับสนุนการเลิกทาส และสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศ กล่าวไว้ในปี 1837 ถูก 'รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก' (Ruth Bader Ginsburg) ทนายความอเมริกัน ซึ่งไต่เต้าขึ้นมาถึงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด ยกมากล่าวถึงในการว่าความคดี Frontiero v. Richardson ซึ่งเป็นคดีของนักบินหญิงจากกองทัพอากาศ ที่ไม่สามารถขอรับสวัสดิการค่าเช่าบ้านได้เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานเพศชาย คดีดังกล่าวแพ้การตัดสินในศาลชั้นต้นเขตแอละแบมา แต่เมื่อถูกนำมาไต่สวนอีกครั้งในศาลฎีกา กินส์เบิร์ก กลับว่าความให้ฝ่ายโจทก์ชนะได้ด้วยข้อเท็จจริง และถ้อยแถลงอันทรงพลัง ชัยชนะจากการว่าความครั้งแรกในปี 1973 ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะทนายความหญิงที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิมนุษยชน “ฉันเกิดมาในยุคที่ความเป็นผู้หญิงคืออุปสรรค” กินส์เบิร์ก กล่าวในสารคดี RBG ช่วงปี 60s-70s คือยุคที่สหรัฐอเมริกามีการเลือกปฏิบัติทางเพศให้เห็นในทุก ๆ แง่มุมของชีวิต เป็นช่วงเวลาที่ทั้งสิทธิอันเท่าเทียม และการยอมรับอย่างเสมอภาคตามกฎหมาย ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตอนนั้นมีกฎหมายที่ไม่ใช่เพียงหลักร้อยแต่เป็นหลักพันข้อ ที่ระบุให้มีการเลือกปฏิบัติโดยใช้ข้ออ้างในเรื่อง 'เพศ' เป็นเกณฑ์ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก: ตุลาการสูงสุดสหรัฐฯ ผู้อุทิศชีวิตแก้ไขกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ “กฎหมายทั่วไปในยุคนั้นก็เช่น “สามีคือผู้นำ เขาสามารถเลือกได้ว่าครอบครัวจะใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน ภรรยามีหน้าที่ตามไปเท่านั้น” เพราะพวกเขามองว่าผู้ชายคือคนหารายได้ซึ่งสำคัญกว่าผู้หญิงที่ไม่ใช่ฝ่ายดูแลครอบครัว” กฎหมายอื่น ๆ ที่มีการบังคับใช้ก็เช่น นายจ้างสามารถไล่พนักงานหญิงออกได้ หากเธอตั้งครรภ์ หรือ ธนาคารจะอนุมัติเงินกู้แก่ผู้หญิงได้ ก็ต่อเมื่อมีสามีเป็นผู้ร่วมลงนามด้วย ช่วงเวลานั้นเองที่ผู้หญิงอเมริกันตัดสินใจออกมาเดินขบวนประท้วง เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติ พวกเธอเรียกร้องโดยสำนึกได้ว่า ตัวเองไม่ได้กำลังบ้า สิ่งที่บ้าน่ะคือระบบต่างหาก ช่วงเวลานั้น กินส์เบิร์ก ทำงานเป็นศาสตราจารย์สอนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส สาเหตุที่เธอมาเป็นอาจารย์ เพราะแม้จะเคยมีผลการเรียนโดดเด่นในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือแม้แต่จบการศึกษาระดับสูงจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่เธอก็ไม่มีโอกาสได้เป็นทนาย เพียงเพราะเกิดมาเป็นผู้หญิง เธอถูกปฏิเสธงานหลายต่อหลายที่ จนตัดสินใจเบนสายมาทำงานเป็นครูสอนวิชากฎหมาย แต่ก็ใช่ว่าเธอจะทิ้งอุดมการณ์ที่เคยมีไปอย่างง่ายดาย เพียงเพราะไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสให้ สมัยเป็นอาจารย์ กินส์เบิร์ก ได้มีโอกาสสอนวิชาที่ว่าด้วยเรื่องเพศกับกฎหมาย ซึ่งเป็นวิชาใหม่ เธอตั้งใจศึกษาค้นคว้าคดีความเก่า ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยนอกจากจะเพื่อนำมาสอนเด็ก ๆ เธอก็ยังนำมันมาเป็นตัวอย่างในการร่างสำนวนเพื่อว่าความในคดีที่กำลังจะทำให้เธอมีชื่อเสียงขึ้นมาอีกด้วย รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก: ตุลาการสูงสุดสหรัฐฯ ผู้อุทิศชีวิตแก้ไขกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ สำนวนที่เธอเขียนเพื่อว่าความในคดี Frontiero v. Richardson นอกจากจะยกตัวอย่างคดีความในอดีต ที่ตอกย้ำว่าสังคมมีการเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างไร เธอก็ยังใส่เนื้อความที่กล่าวถึงสิ่งที่ผู้หญิงอเมริกันต้องเผชิญมาตลอดหลายทศวรรษ ทั้งคำว่า ถูกตีตราว่าด้อยกว่า, เป็นผู้ตาม, ทรัพยากรบุคคลอันเสียเปล่า, ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ และอ่อนแอเกินกว่าจะโหวต เธอสรุปเรื่องราวเหล่านี้เพื่อให้สมาชิกในศาลเห็นว่าการเป็นพลเมืองชั้นสองนั้นเป็นอย่างไร “วันนั้นฉันต้องว่าความตอนบ่าย แต่ตอนเช้ากลับกินอะไรไม่ลงเลย” ทั้งบรรยากาศจริงจัง ตึงเครียด และใบหน้าเรียบเฉยของผู้ฟัง ทำให้การว่าความครั้งแรกของเธอเต็มไปด้วยความประหม่า “พอมองขึ้นไป ฉันเห็นเหล่าผู้พิพากษาผู้ชาย ที่คงคิดว่าสังคมเราไม่มีอะไรที่เรียกว่า “การเลือกปฏิบัติ” เกิดขึ้นหรอก และฉันก็ต้องทำให้พวกเขารู้ว่ามันมีจริง” เธอเริ่มว่าความโดยยกเอาประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของคดี อย่างการถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานขึ้นมาพูด ก่อนจะลากยาวไปถึงประเด็นปัญหาที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในหลายแง่มุมของสังคมอเมริกามาเสริม โดยระหว่างที่กินส์เบิร์กพูด คณะผู้พิพากษาต่างก็ฟังเธออย่างนิ่งเงียบ “ฉันก็ไม่รู้ว่าพวกเขาปล่อยให้ฉันพูดไปโดยไม่สนใจจะฟัง หรือกำลังรับรู้ในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยคิดว่ามีมาก่อนกันแน่” ดูเหมือนกินส์เบิร์กจะดูถูกตัวเองเกินไป เพราะเธอคาดไม่ถึงว่าเหล่าผู้พิพากษาจะลงความเห็นให้ชัยชนะเป็นทางฝั่งเธอ เพราะนั่นก็หมายถึงจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ที่สังคมอเมริกาจะจดจำไปตลอดกาล คดีต่อมาที่ทำให้เธอยิ่งมีชื่อเสียงคือ Weinberger v. Wiesenfeld ในปี 1975 ที่มีชายผู้สูญเสียภรรยาระหว่างคลอดลูก พยายามเรียกร้องสิทธิในการรับสวัสดิการที่เขาคิดว่าชายหรือหญิงที่เป็นม่ายพึงจะได้รับเพื่อนำมาดูแลบุตร แต่หลังจากเขาไปสอบถามที่สำนักงานประกันสังคม เขากลับได้คำตอบว่า “สวัสดิการนี้ชื่อสวัสดิการมารดา” ซึ่งเขาไม่เข้าเกณฑ์จึงไม่มีสิทธิรับ ตอนนั้นเองที่กินส์เบิร์กไม่ลังเลที่จะเข้าไปช่วยว่าความในคดีของเขา รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก: ตุลาการสูงสุดสหรัฐฯ ผู้อุทิศชีวิตแก้ไขกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ กินส์เบิร์กพา นายไวเซนเฟลด์ ฝ่ายโจทย์ เข้าไปนั่งร่วมโต๊ะขณะกำลังว่าความในชั้นศาล เพราะเธอหวังว่าผู้พิพากษาจะมีความรู้สึกร่วม และเห็นด้วยกับเธอว่า ปัญหาการเลือกปฏิบัติ ทำร้ายทุกเพศได้มากเพียงใด แน่นอนว่ากินสเบิร์กได้รับชัยชนะในคดีดังกล่าวมาสมใจ และนั่นก็เป็นเหตุที่ทำให้เธอต้องว่าความในคดีเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมมาตลอด 2 ทศวรรษ กินส์เบิร์กค่อย ๆ ใช้แต่ละคดี แต่ละเคส เป็นตัวถักทอพื้นฐานความเท่าเทียมในสังคม พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า ตัวบทกฎหมายที่ถูกยึดถือมาเป็นร้อยปี มีความเว้าแหว่ง และไม่เข้ากับบริบทของสังคมมากเพียงใด ผลงานของเธอทำให้ทั้งกฎหมายรัฐ และกฎหมายกลางของสหรัฐอเมริกาต้องถึงคราวเปลี่ยน ตัวอย่างผลงานเด่น ๆ ในการยื่นคำร้องให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายของเธอ เช่น เพิ่มให้มีสัดส่วนคณะลูกขุนเป็นผู้หญิงมากขึ้น และทำให้เกิดความเท่าเทียมในกฎหมายหย่าร้างของสามีภรรยา ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพวกเขาได้รับเงินไม่เท่ากัน ความเปลี่ยนแปลงในระบบตุลาการโดยรวมตลอดการทำงานของกินส์เบิร์ก มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่เห็นได้ชัดที่สุดเมื่อ จิมมี คาร์เตอร์ ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี “ตอนนั้นเขาบอกว่าแทบไม่มีผู้หญิง หรือคนแอฟริกันอเมริกันได้ขึ้นมานั่งบนบัลลังก์ศาลกลางเลย และเขาจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้” และนั่นก็เป็นตอนที่ชื่อของ รูธ กินส์เบิร์ก ถูกเสนอให้มีโอกาสได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาลกลาง "ตอนนั้นฉันทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เขตกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หลายคนพูดกับฉันว่า มันคงลำบากมากใช่ไหมที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างที่นี่กับนิวยอร์ก พวกเขาคงคิดไม่ถึง ว่าจะมีผู้ชายคนหนึ่ง ยอมลาออกเพื่อย้ายติดตามภรรยามาถึงนี่" รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก: ตุลาการสูงสุดสหรัฐฯ ผู้อุทิศชีวิตแก้ไขกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ แน่ล่ะ คงไม่มีใครอยากเชื่อว่า มาร์ติน กินสเบิร์ก ทนายความด้านภาษี ที่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของนิวยอร์ก จะตัดสินใจลาออกและย้ายที่ทำงานตามภรรยา เขาชอบเล่นมุกว่า “ผมย้ายมาเพราะภรรยากำลังมีความก้าวหน้าที่ดี” ซึ่งมันสะท้อนว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ที่รักและให้เกียรติกันมากเพียงใด"เขาเป็นผู้ชายคนแรกที่แคร์ว่าฉันมีสมอง" กินส์เบิร์กเล่า นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาสามารถครองชีวิตคู่กันมาอย่างแน่นแฟ้นเกือบ 60 ปี ช่วงกลางปี 1993 หลังประธานาธิบดี บิล คลินตัน ชนะการเลือกตั้ง เขาก็ต้องการให้มีผู้พิพากษาของศาลสูงสุดคนใหม่ คลินตันมีเกณฑ์ในใจว่า เขาอยากได้ผู้พิพากษาผู้หญิง เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของพรรคเดโมแครตว่าให้ความความสำคัญกับสิทธิสตรี แต่ผู้พิพากษาคนใหม่ก็ต้องมีแนวคิดแบบซ้ายกลาง ไม่สุดโต่งเกินไป ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุให้ รูธ กินส์เบิร์ก กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอีกครั้ง แม้จะมีกระแสต่อต้านบ้าง แต่ชื่อของก็เธอผ่านการรับรองจากวุฒิสภาด้วยเสียงท่วมท้นถึง 96 จาก 100 เสียง กินสเบิร์ก ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดอย่างเต็มที่ตลอดมา ยิ่งระยะหลังที่เธอเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน และความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนอื่น ๆ ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิสตรีและสิทธิของคนผิวสี ก็ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่รักเธอมากยิ่งขึ้น รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก: ตุลาการสูงสุดสหรัฐฯ ผู้อุทิศชีวิตแก้ไขกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ เส้นทางสู่ความเท่าเทียมของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ต่อสู้เพื่อคนชายขอบ ชนกลุ่มน้อย ผู้หญิง หรือใครก็ตามที่ถูกเลือกปฏิบัติของกินส์เบิร์ก ทำให้ภาพลักษณ์ของเธอกลายเป็นหนึ่งบุคคลทรงพลัง ที่คนรุ่นใหม่ยกเป็น 'ไอคอน' ของฝ่ายเสรีนิยม และแม้เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา เธอจะเสียชีวิตแล้วในวัย 87 ปี เพราะป่วยด้วยโรคมะเร็ง แต่ปณิธานที่อยากจะเห็นความเท่าเทียมอย่างแท้จริงในสังคมอเมริกัน ก็จะมีคนรุ่นหลังสืบทอดมันจากเธอต่อไป   ที่มา สารคดี RBG (2018) https://www.bbc.com/news/world-us-canada-54214729 https://www.aljazeera.com/…/supreme-court-justice-ruth-bade… https://www.biography.com/law-figure/ruth-bader-ginsburg https://edition.cnn.com/shows/rbg-ruth-bader-ginsburg-film