ซาร์นิโคลัสที่ 2 สั่งแบนวอดก้า ต้นเหตุสำคัญทำให้ราชวงศ์ล่มสลาย
ซาร์นิโคลัสที่ 2 คือ ซาร์คนสุดท้ายของรัสเซีย พระองค์ทรงดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดหลายประการ แม้จะริเริ่มด้วยเจตนาที่ดี แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นไปตามประสงค์ เช่นการสั่งห้ามผลิตและจำหน่าย "วอดก้า" เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยมของชาวรัสเซีย ซึ่งหากมองในแง่ศีลธรรมคงดีแน่
แต่ในแง่การปกครอง การใช้ "อำนาจเด็ดขาด" เพียงอย่างเดียวเพื่อเชิดชูศีลธรรม หรือเพื่อสร้างวินัยให้กับสังคมได้รับการพิสูจน์ในแผ่นดินของพระองค์แล้วว่า ผลดีที่ได้ "ไม่ได้สัดส่วน" กับผลเสียที่ตามมา และเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แผ่นดินระส่ำระสาย จนทำให้ราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองรัสเซียมานานเกือบ 3 ศตวรรษต้องล่มสลาย
ซาร์นิโคลัสขึ้นครองราชย์ต่อจากซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระบิดาที่เสียชีวิตเมื่อปี 1894 ซึ่งตลอดการครองราชย์ซาร์อเล็กซานเดอร์ไม่เคยเข้าร่วมกับสงครามระหว่างประเทศเลยและยังได้รับฉายาว่าเป็น "ผู้รักษาสันติภาพ" แต่ซาร์นิโคลัสดำเนินนโยบายต่างออกไป พระองค์ต้องการขยายอิทธิพลของรัสเซียไปยังประเทศรอบข้าง เช่น เกาหลี ที่ญี่ปุ่นเองก็มีอิทธิพลครอบงำอยู่ ผลที่ตามมาก็คือ สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (1904-1905) ซึ่งชัยชนะตกเป็นของญี่ปุ่นและยังสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างรุนแรงจนเกิดการจลาจลนำไปสู่การปฏิวัติและการจัดตั้งระบอบรัฐสภาขึ้นมา
แต่ซาร์นิโคลัสก็ยังมิได้หมดความทะเยอทะยานเมื่อไปตะวันออกไม่ได้ผล จึงมองมาที่คาบสมุทรบอลข่านแทน พระองค์แสดงท่าทีสนับสนุนกระแสชาตินิยมของชาวสลาฟในพื้นที่ และเมื่ออาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรียถูกลอบสังหารในซาราเยโว เมืองเอกของบอสเนีย โดยนักชาตินิยมชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บที่ต้องการปลดแอกแคว้นของชาวสลาฟใต้ออกจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบีย (ซึ่งให้การสนับสนุนขบวนการชาตินิยมชาวเซิร์บอีกต่อหนึ่ง) ซาร์นิโคลัสในฐานะสปอนเซอร์ของเซอร์เบียจึงต้องเข้าร่วมสงครามคราวนี้อย่างเลี่ยงมิได้
แน่นอนว่าคราวนี้ ซาร์นิโคลัสทราบดีถึงหนึ่งในปัญหาที่ทำให้รัสเซียพ่ายแพ้ให้กับญี่ปุ่น นั่นก็คือเรื่องของวินัยทหาร หนังสือเรื่อง Russian Prohibition (โดย Ernest Barron Gordon) บรรยายภาพการรบระหว่างกองทัพรัสเซียกับกองทัพญี่ปุ่นว่าไม่ต่างไปจากยามขี้เมาปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สร่างเหล้าตาสว่างแล้ว ด้วยทหารรัสเซียมีพฤติกรรมติดเหล้าค่อนข้างสูงเมื่อไปรบก็ยังพกเหล้าติดตัว หรือยังไปแสวงหามาดื่มจนขาดสติอยู่เสมอ
เมื่อประเทศต้องเตรียมรับมือกับสงครามใหญ่ที่อยู่ตรงหน้า ในเดือนกรกฎาคม 1914 ซาร์นิโคลัสจึงออกพระราชกฤษฎีกาสั่งห้ามการจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยตรง
แต่นั่นถือเป็นมาตรการที่สุดขั้วมาก เพราะรายได้จากการขายวอดก้าคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของงบประมาณประเทศในแต่ละปี (ว่ากันว่า ด้วยการผูกขาดรายได้จากการขายเหล้าโดยรัฐ น่าจะทำให้รายได้ส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำในช่วงศตวรรษที่ 19) แม้ซาร์จะแจ้งกระทรวงการคลังให้หารายได้เสริมด้านอื่นไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี แต่มันก็ยังเป็นมาตรการที่กระทันหัน แล้วยังเป็นภาวะสงคราม คำสั่งดังกล่าวจึงกระทบต่อสภาวะทางการคลังของรัสเซียอย่างรุนแรง
ในด้านหนึ่ง ข้อมูลของ Russia Beyond หนึ่งในสื่อของรัฐบาลรัสเซียอ้างว่า เบื้องต้นมาตรการดังกล่าวส่งผลเชิงบวกอยู่พอสมควร ทั้งอาชญากรรมที่ลดลง ผู้ป่วยทางจิตก็ลดลง คุณภาพชีวิตของครอบครัวในชนบทดีขึ้น มีการลงเอาเงินไปลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตเชิงเกษตรหรือหัตถกรรมมากขึ้น และมีประชาชนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการแบนเหล้า และพร้อมที่จะจ่ายภาษีในรูปแบบอื่นเพียงให้ยืดระยะเวลาการแบนเหล้าออกไป
ขณะเดียวกัน การบังคับแบบหักดิบก็ไม่สามารถหยุดยั้งประชาชนที่ต้องการดื่มเหล้าได้อย่างสิ้นเชิง มันจึงนำไปสู่ปัญหาการต้มเหล้าเถื่อน ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันเกิดจลาจลไปทั่วแผ่นดิน ร้านเหล้ากว่า 200 แห่งถูกบุกรุกเนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่สามารถอยู่โดยขาดวอดก้าได้ ผู้ว่าบางเมืองจึงยื่นฎีกาถึงซาร์ขอให้เปิดขายเหล้าได้สักวันละ 2 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจลาจลที่ตามมา
ส่วนวินัยกองทัพก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่คาด ทหารขี้เมาแทนที่จะสร่างเมากลับพากันก่อหวอดบุกโกดังเก็บเหล้าเสียเอง ยิ่งทำให้สถานการณ์ยุ่งยาก การสั่งห้ามขายวอดก้าก็ทำให้ชาวบ้านเอาข้าวสาลีมาทำเหล้าเถื่อน ทำให้ปัญหาข้าวยากหมากแพงหนักขึ้นไป ผสมโรงกับภาวะสงคราม แผ่นดินรัสเซียจึงระส่ำระสายหนัก
หลังสงครามและมาตรการแบนเหล้ามีผลได้ราว 3 ปี สังคมรัสเซียก็ถึงจุดแตกหัก รัฐบาลซาร์ที่ถังแตกต้องตัดงบประมาณลงทุกส่วน รวมถึงกองทัพ (ที่กระสุนจะใช้ในสงครามยังขาดแคลน) ทำให้ซาร์ไม่อาจคุมกองทัพได้อยู่อีกต่อไป
เมื่อเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ขึ้น กองทัพจึงใส่เกียร์ว่างปล่อยให้การจลาจลขยายตัวจนยากจะควบคุม ไม่เหมือนสมัยที่รัสเซียแพ้สงครามให้ญี่ปุ่นใหม่ ๆ เมื่อเกิดจลาจลกองทัพก็ยังพร้อมจะลั่นไกสังหารหมู่ประชาชนเพื่อพระองค์อยู่ (เหตุการณ์ Bloody Sunday ในปี 1905 มีผู้ประท้วงถูกสังหารกว่า 130 ราย - Britannica)
ซาร์นิโคลัสจึงต้องสละบัลลังก์และถูกควบคุมตัวก่อนถูกสังหารหมู่ทั้งครอบครัว (ส่วน "รัสปูติน" ที่ปรึกษาด้านจิตวิญญาณที่มีอำนาจครอบงำพระองค์และราชินีเป็นอย่างสูงได้ถูกสังหารไปก่อนแล้ว) รัสเซียต้องออกจากสงครามโลก และเข้าสู่สงครามกลางเมืองก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จะสามารถขึ้นมาครองอำนาจได้อย่างเด็ดขาด และสั่งยกเลิกการแบนเหล้าไปในปี 1925 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับรัฐคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งเกิดใหม่