โจว ต้ากวน ทูตจีนผู้อ้างว่า ช่างไม้ชาวจีนเป็นคนสร้างนครวัด

โจว ต้ากวน ทูตจีนผู้อ้างว่า ช่างไม้ชาวจีนเป็นคนสร้างนครวัด
เคยได้ยินทฤษฎีที่คนไทยกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันกันว่า "คนไทยเป็นคนสร้างนครวัด" กันมั้ย? (แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่มีนักประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ไหนให้การยอมรับ) พวกเขาได้อ้างหลักฐานชิ้นหนึ่งขึ้นมายืนยัน แถมเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ผู้บันทึกได้ไปเห็น "ยโสธรปุระ" หรือเมืองพระนครอันยิ่งใหญ่แห่งกัมพูชาในยุคที่ยังเรืองรองมั่งคั่งมาด้วยตาตัวเอง นั่นก็คือบันทึกของ โจว ต้ากวน (หรือ โจว ต้ากวาน หรือ  周達觀 - Zhou Daguan) หนึ่งในคณะทูตของเตมูร์ข่าน หรือฮ่องเต้เฉินจงแห่งราชวงศ์หยวน ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในอาณาจักรกัมพูชานานราว 11 เดือนหลังเดินทางมาถึงดินแดนแห่งนี้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1296 ผู้เสนอทฤษฎีนี้อ้างเอาจากการที่โจวได้บันทึกไว้ว่า คนพื้นเมืองกัมพูชานิยมใช้บริการแรงงาน "ชาวเสียน" (ที่เชื่อกันว่าเป็นชาวสยามบรรพบุรุษของคนไทย) ในเรื่องการเย็บปักถักร้อย คนกลุ่มนี้ก็เลยสรุป (เอาดื้อ ๆ ) ว่า ถ้าคนกัมพูชายังเย็บปักถักร้อยไม่เอาไหน แล้วจะสร้างปราสาทหลังใหญ่ได้อย่างไรกัน? ถ้าเช่นนั้นปราสาทเหล่านี้ก็คงเป็นชาวเสียนนั่นแหละเป็นผู้สร้าง ข้อสรุปดังกล่าวต้องบอกก่อนว่า มาจากชาวไทยในยุคปัจจุบันกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ โจว ต้ากวน บันทึกเอาไว้ (โจวเองยังบอกเลยว่าชาวเสียนเพิ่งจะอพยพมาขายแรงงานในนครนานาชาติแห่งนี้เพียงไม่นาน)  แต่สิ่งที่โจวบันทึกเอาไว้จริง ๆ ก็คือ ชื่อของเจ้าของผู้สร้าง "นครวัด" ที่เขาระบุไว้ชัด ๆ เลยว่าชื่อ "หลู่ปัน" (Lu Ban) ช่างไม้ชื่อดังชาวจีนในยุคชุนชิวต่างหาก!  ที่เขียนมานี่ไม่ได้จะมาสร้างทฤษฎีพิลึกกว่าขึ้นมาสู้กับทฤษฎีที่พิลึกอยู่แล้วแต่อย่างใด แต่นี่คือสิ่งที่โจวได้บันทึกไว้จริง ๆ อย่างไรก็ดี นั่นไม่ได้แปลว่า สิ่งที่โจวได้บันทึกไว้นั้นสื่อถึงความพยายามที่จะ "เคลม" ว่า นครวัดถูกสร้างด้วยชาวจีนแต่อย่างใด หากน่าจะเป็นด้วยข้อจำกัดทางภาษาและวัฒนธรรมในการสื่อไปถึงผู้อ่านที่เป็นชาวจีนต่างหาก ทำให้เขาต้องอ้างชื่อของ "หลู่ปัน" ขึ้นมา ตรงไหนในบันทึกของ โจว ต้ากวน ที่ระบุว่า ช่างไม้ชาวจีนเป็นผู้สร้างนครวัด? ในบันทึกของโจวนั้นกล่าวถึง "นครวัด" ปราสาทที่ใหญ่โตที่สุดในหมู่ปราสาทเขมรเพียงสั้น ๆ เท่านั้น (อาจจะเขียนไว้ยาวกว่านั้นแต่หลักฐานที่เหลือมามีแค่นี้) โดยมีความตามสำนวนแปลของ เฉลิม ยงบุญเกิด ว่า "ปราสาทหินที่อยู่นอกทวารด้านใต้ไปประมาณครึ่งลี้เศษนั้น เล่ากันว่า หลู่ปัน เป็นผู้สร้างในราตรีเดียว สุสานของหลู่ปันอยู่นอกทวารด้านใต้ไปประมาณ 1 ลี้เศษ มีบริเวณโดยรอบประมาณ 10 ลี้ และมีห้องกุฏิหินหลายร้อยห้อง" ซึ่งปราสาทหินที่อยู่ด้านใต้นครหลวงยโสธรปุระ (หรือที่ปัจจุบันเรียกกันติดปากว่านครธม) ราวครึ่งลี้ก็คือ ปราสาทพนมบาเค็ง ที่ตั้งอยู่ระหว่างนครวัดและนครธม และ "สุสานของหลู่ปัน" ตามคำบรรยายของโจวข้างต้นก็คงหนีไม่พ้นปราสาทนครวัดนั่นเอง ทำไมโจวถึงอ้างว่า นครวัดคือสุสานของหลู่ปัน? การที่ โจวอ้างว่านครวัดเป็นสุสานของหลู่ปันนั้น ปีเตอร์ แฮร์ริส (Peter Harris) นักเขียนและนักแปลชาวอังกฤษซึ่งเคยทำงานให้กับบีบีซีในประเทศจีนเป็นเวลาหลายปี และเป็นผู้แปลบันทึกของโจวจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ ได้ให้คำอธิบายเอาไว้ว่า "การอ้างชื่อของหลู่ปันเป็นอะไรที่น่าสงสัยมาก ในประวัติศาสตร์หรือตำนานของจีนนั้น หลู่ปันคือช่างไม้จากนครหลู่เมืองที่ถือขนบขงจื๊อทางตอนเหนือของจีน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างศตวรรษที่แปดถึงศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล การที่หลู่ปันมามีความเกี่ยวพันกับอารยธรรมอังกอร์เป็นสิ่งที่เหลือจะเชื่อได้ ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและช่วงเวลา คำอธิบายเดียวที่ฟังได้กับการอ้างชื่อหลู่ปันของโจวที่ออกจะประหลาดอยู่นั้นก็คือ ในยุคของโจว หลู่ปันน่าจะได้รับการยกย่องเป็นดั่งเทพ เทวดา แล้ว โจวหรือคนอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นคนนำทางชาวจีนในพื้นที่เกิดสับสนระหว่างหลู่ปันกับพระวิศวกรรม เทพของทางฮินดูซึ่งเป็นเทพแห่งช่างไม้ ช่างก่อสร้างเช่นกัน ตามคำอธิบายนี้ โจวจึงคิดว่าหลู่ปันก็คงเหมือนกับพระวิศวกรรม และคงจะไปเข้าใจผิดว่าพระวิศวกรรมคือกษัตริย์สุริยวรมันที่ 2 กษัตริย์ผู้สร้างนครวัดซึ่งน่าจะต้องการใช้มันเป็นสุสานของตนเอง"  ส่วนเหตุที่โจวไปสับสนระหว่างกษัตริย์สุริยวรมันที่ 2 กับพระวิศวกรรมนั้น แฮร์ริส บอกว่า "พระวิศวกรรมเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในกัมพูชาว่า พระพิษณุกรรม ซึ่งใกล้เคียงกับชื่อของ พระพิษณุโลก ซึ่งเป็นพระนามของกษัตริย์สุริยวรมันที่ 2 ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางหลังสิ้นพระชนม์ คำอธิบายนี้ถูกนำเสนอโดย หลุยส์ ฟิโนต์ (Louis Finot) ในบทความเรื่อง 'The Temple of Angkor' เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1929" ตามคำอธิบายนี้ ก็เท่ากับว่า โจวหลงผิดสองรอบคือ รอบแรกคิดว่า พระวิศวกรรมกับพระพิษณุโลก คือเทพองค์เดียวกัน แต่จริง ๆ เป็นเทพคนละองค์ เพราะกษัตริย์สุริยวรมันที่ 2 ถือลัทธิไวษณพ คือถือว่าพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นใหญ่ และถือว่าพระองค์เป็นอวตารของพระวิษณุ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วก็กลับไปเป็นพระวิษณุดังเดิมจึงมีการถวายพระนามให้พระองค์ว่า “พระพิษณุโลก” และอีกรอบเมื่อเข้าใจผิดว่า พระวิศวกรรมเทพแห่งการก่อสร้างของฮินดูนั้นก็คงเหมือน ๆ กับ “หลู่ปัน” ที่ได้รับการเคารพนับถือดั่งเทพเจ้าของช่างไม้ของชาวจีน  หรือไม่โจวก็แค่พยายาม "เทียบเคียง" สิ่งที่ตนพบในที่ที่เป็นเหมือนโลกใหม่ที่ตนไม่รู้จักมาก่อนกับสิ่งที่มีอยู่ในวัฒนธรรมจีนอยู่แล้ว เช่น เปรียบพวกนักบวชพราหมณ์หรือ "ป๊ะซือเหวย" (ตามสำนวนแปลของ เฉลิม ซึ่งเฉลิมใส่เชิงอรรถอธิบายว่าน่าจะตรงกับคำว่า ตปสวี หรือดาบส) ว่าเป็น "นักพรตเต๋า" เพื่อให้คนจีนที่ไม่เคยพบเคยเห็นสิ่งที่อยู่ในดินแดนที่ต่างวัฒนธรรมสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน