“ซูเปอร์เอเยนต์” ถือเป็นคำที่ไว้ใช้เรียกนายหน้าหรือนักเจรจามือทอง ที่เก่งในเรื่องการดูแลผลประโยชน์ของนักกีฬาที่เป็นลูกจ้าง ซึ่งในแวดวงกีฬาหลาย ๆ ประเภทก็มักจะมีเอเยนต์ในลักษณะนี้อยู่หลายคน เช่นในกีฬาอเมริกันเกม หลายคนอาจจะนึกถึง สก็อตต์ โบราส หรือ ร็อบ เพลินก้า แต่ถ้าพูดถึงกีฬาอันดับหนึ่งของโลกอย่าง “ฟุตบอล” ชื่อของเอเยนต์คนดังอย่าง ฮอร์เก้ เมนเดส, โจนาธาน บาร์เน็ต และโดยเฉพาะ มิโน่ ไรโอล่า น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูกันอยู่ตลอดตอนที่คุณเสพข่าวช่วงตลาดซื้อขายนักเตะ
อาชีพ เอเยนต์ มีหน้าที่สำคัญเพียงอย่างเดียว คือการทำให้ลูกจ้างได้รับผลประโยชน์มากที่สุด นั่นทำให้ภาพลักษณ์ของอาชีพนี้ถูกมองว่าเป็น “พวกเขี้ยวลากดินหรือตัวแสบ” และถ้าให้พูดถึงคนที่ผู้จัดการทีมดัง ๆ หรือสโมสรต่าง ๆ เห็นพ้องต้องกันว่า “ไอ้คนนี้เนี่ยแหละตัวแสบที่สุด” สุดท้ายแล้วก็คงหนีไม่พ้นชายที่ชื่อว่า “มิโน่ ไรโอล่า”
ไรโอล่า เป็นเอเยนต์ให้กับนักฟุตบอลดัง ๆ หลายคน ไม่ว่าจะเป็น ปอล ป็อกบา, มัทไธจ์ส เดอ ลิกต์, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช, จานลุยจิ ดอนนารุมม่า หรือ มาริโอ บาโลเตลลี และด้วยความเป็นสาริกาลิ้นทองของ ไรโอล่า ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในสามเอเยนต์นักฟุตบอลที่มีรายได้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นนักเจรจาที่เขี้ยวสุด ๆ แล้ว เขายังเป็นพวกสร้างข่าวได้เก่งสุด ๆ อีกด้วย ถ้าคุณนึกไม่ออกว่า ไรโอล่า แสบขนาดไหนก็ลองคิดดูว่าขนาด เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยอดบรมกุนซือยังเคยด่า ไรโอล่า มาแล้วว่า “ไอ้กากเอ๊ย!”
[caption id="attachment_10071" align="aligncenter" width="561"]
มิโน่ ไรโอล่า[/caption]
ไรโอล่า เกิดที่เมืองซาแลร์โน่ ประเทศอิตาลี ในปี 1967 ซึ่งหนึ่งปีให้หลัง ไรโอล่า และครอบครัวก็ต้องอพยพออกจากอิตาลีไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองเล็ก ๆ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ อย่าง ฮาร์เล็ม แทน ซึ่งที่นั่นกลายเป็นสถานที่แรกที่ทำให้ ไรโอล่า รู้จักกับการทำธุรกิจ
ครอบครัวไรโอล่า เริ่มต้นสร้างเนื้อสร้างตัวจากการเปิดร้านพิซซ่าใจกลางตลาดในเมืองโดยใช้ชื่อว่า “นาโปลี” ซึ่งสุดท้ายร้านพิซซ่าของครอบครัวไรโอล่าแห่งนี้ ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนสามารถขยายสาขาออกไปได้ถึง 11 สาขา และทำให้ครอบครัวผู้อพยพบ้านนี้กลายเป็นเศรษฐี
ไรโอล่า เริ่มต้นจากการเป็นเด็กล้างจานจนไปถึงเด็กเสิร์ฟอาหาร เขาค่อย ๆ เรียนรู้งานต่าง ๆ จากธุรกิจสายนี้ และการที่เขาพูดได้ทั้งดัตช์, เฟรนช์, อิงลิช, โปรตุกีส, เยอรมัน, สแปนิช และอิตาเลียน ก็ยิ่งทำให้ ไรโอล่า สนทนากับลูกค้าได้ทุกรูปแบบ จนทำให้เขากลายเป็นยอดนักคุยประจำร้าน
“พ่อของผมทำงาน 18-20 ชั่วโมงต่อวัน เขาทำงานหนักมากจนเราแทบไม่ได้เจอกัน และตอนผมอายุ 11-12 เนี่ยแหละ ผมไปช่วยงานพ่อเพราะอยากจะรู้จักเขา พ่อทำงานในครัว ผมก็ช่วยอะไรได้ไม่มากนอกจากล้างจาน เขาทำอะไรผมก็ทำอย่างนั้น” ไรโอล่า เล่าย้อนความหลัง
แต่ใครจะไปรู้กันล่ะว่าทักษะการเสิร์ฟอาหารรับลูกค้าที่ได้จากร้านอาหารแห่งนี้ จะเป็นทักษะที่ติดตัวจนต่อยอดทำเงินให้แก่เขาได้มหาศาล
พอตั้งตัวได้ ไรโอล่า ในวัย 19 ปี ก็หันมาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว เขาเริ่มก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า อินเตอร์เมซโซ่ บริษัทที่ช่วยหาช่องทางให้บริษัทจากเนเธอร์แลนเข้าไปทำธุรกิจในอิตาลีได้ ต่อมา ไรโอล่า ขยับกลายเป็นเศรษฐีอีกขั้นโดยการทุ่มเงินซื้อร้านแมคโดนัลด์ในพื้นที่ และขายให้กับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินก้อนโต
ไรโอล่า ดูเหมือนจะทำอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเงินได้ดี แต่จริง ๆ แล้วมันหาใช่สิ่งที่เขาหลงใหลไม่ คำตอบในใจหนึ่งเดียวของ ไรโอล่า คือเรื่องของ “ฟุตบอล” มันเป็นสิ่งที่เขาถวิลหามันเสมอ เขาหลงใหลฟุตบอลถึงขั้นพักเรียนกฏหมายเพื่อมารับตำแหน่งประธานฝ่ายเทคนิคของทีมเอฟซี ฮาร์เล็ม ทีมเล็ก ๆ ในบ้านเกิด โดยปราศจากความรู้ด้านธุรกิจฟุตบอลเชิงลึก
"ผมบอกพวกเขาตลอดว่าผมไม่รู้เรื่องฟุตบอลเลย และวันหนึ่งเขา (ประธานสโมสร) มาข้างผมและพูดว่า 'ฟังนะ คุณลองเหอะ'" และจากเหตุการณ์นั้น ทำให้ ไรโอล่า ได้ก้าวเท้าเข้ามาอยู่ในวงการฟุตบอลอย่างเต็มตัวครั้งแรก แต่ด้วยบุคลิกของ ไรโอล่า ที่ดูจะไม่เข้ากับตำแหน่งระดับสูงแบบนี้จึงทำให้เขาต้องก้าวเท้าลงจากตำแหน่งอย่างรวดเร็ว แต่ข้อดีของการออกจากตำแหน่งดังกล่าว คือการที่ ไรโอล่า มีเวลาให้กับบริษัทของเขามากขึ้น
ในปี 1992 ไรโอล่า และบริษัท อินเตอร์เมซโซ่ ของเขา เบนเข็มหันมาทำงานด้านฟุตบอลมากขึ้นในฐานะตัวแทนของนักฟุตบอล โดยงานแรกของ ไรโอล่า คือการเข้ามาช่วย ไบรอัน รอย อดีตปีกดัตช์ดาวรุ่งของอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ให้ย้ายไปร่วมทีม ฟอจจา ในลีกกัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ซึ่งนอกจากจะเป็นนักเจรจาที่ดีแล้ว ไรโอล่า ยังมีความเต็มที่กับลูกค้าของตัวเองอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นเขาถึงขั้นเข้าไปช่วยดาวเตะคนนี้ทาสีบ้านมาแล้ว รวมถึงใช้ชีวิตที่ฟอจจากับ รอย ถึง 7 เดือน
ความสำเร็จในดีลของรอย สร้างความประทับใจให้กับ ร็อบ แยนเซ่น หนึ่งในเอเยนต์ชั้นนำของเนเธอร์แลนด์ เป็นอย่างมาก แยนเซ่น ถึงขั้นหยิบยื่นโอกาสงานในบริษัทโปรโมเตอร์ของเขาให้กับ ไรโอล่า โดยงานแรกที่ ไรโอล่า ได้รับคือการเป็นนักแปลและหนึ่งในทีมงานของ แยนเซ่น ระหว่างช่วงดีลการย้ายทีมของ เดนนิส เบิร์กแคมป์ ไปอินเตอร์ มิลาน เมื่อปี 1993 แต่ด้วยการเป็นคนชอบทำงานคนเดียว นั่นจึงทำให้ ไรโอล่า ตัดสินใจลาออกจากทีมและหันมาทำบริษัทของตัวเองต่อ แต่สิ่งที่ทำเอา แยนเซ่น โมโหควันออกหูและถึงขั้นหาว่า ไรโอล่า เป็นพวกเนรคุณคน เพราะมารู้ทีหลังว่า ไรโอล่า แอบนำเอกสารในดีลดังกล่าวมาก็อปปี้และศึกษาเพื่อไว้ใช้เองในอนาคต แต่คำด่าเหล่านั้นก็ไม่ได้กระทบผิวของ ไรโอล่า แม้แต่นิดเดียว เขารู้ว่าการจะเป็นซูเปอร์เอเยนต์ได้ มันต้องมีความหน้าด้านเข้าไว้
การใช้ชีวิตที่ฟอกเจียของ ไรโอล่า กว่า 7 เดือน นอกจากจะทำให้เขาได้เจอกับภรรยาในอนาคตแล้ว มันยังทำให้เขาได้รู้จักกับ ซเดเน็ค เซแมน โค้ชชาวเช็ก ที่กลายมาเป็นเพื่อนซี้ของเขาในเวลาต่อมา บทสนทนาของทั้งคู่มักจะเป็นการเถียงกันเรื่อง “ยอดนักเตะ” สักคน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ ไรโอล่า ไม่เคยเชื่อมาตลอดว่ามันจะมีจริง
“นักฟุตบอลที่คุณต้องการมันไม่มีจริงหรอก นักบอลที่เพอร์เฟ็กต์แบบนั้น คนที่จะวิ่งได้สิบเจ็ดกิโลต่อเกม หรือเคลื่อนที่อย่างมาราโดน่า และฝึกหนักเกินที่คุณจะจินตนาการได้” นี่คือสิ่งที่เขาพูดกับ เซแมน ก่อนที่จะต้องเปลี่ยนความคิดเมื่อได้เจอกับนักเตะที่ชื่อว่า “พาเวล เน็ดเวด”
เน็ดเวด เข้ามาเป็นลูกค้ารายใหญ่เบอร์แรกของ ไรโอล่า และงานแรกของ ไรโอล่า คือการพาลูกค้ารายนี้ไปเล่นกับทีมที่ใหญ่กว่าสปาร์ตา ปราก อย่าง ลาซิโอ “สิ่งที่พาเวลคิดในหัวเสมอคือ เขาไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้ แต่เขาคือคนที่ทำงานหนักกว่าคนที่เหลือในทีมอีก” ไรโอล่า กล่าวถึงลูกค้าคนเก่งของเขา
[caption id="attachment_10070" align="aligncenter" width="598"]
ไรโอล่า และ พาเวล เน็ดเวด[/caption]
ในขณะนั้นชื่อเสียงของ ไรโอล่า ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่ผู้บริหารของสโมสรต่าง ๆ เขามักจะเจอคำถามตอกกลับมาเสมอ เวลาติดต่อเข้าไปขายนักเตะว่า “คุณเป็นใครเนี่ย” แต่ด้วยวิธีการเข้าหาแบบตีหัวเข้าบ้านในแบบฉบับของเขาทำให้ ไรโอล่า สามารถสร้างตัวตนขึ้นมาในวงการนี้ได้สำเร็จ
ตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของ ไรโอล่า คือการที่เขาได้เจอกับ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช กองหน้าดาวรุ่งของอาแจ็กซ์ในขณะนั้น ทั้งสองพบกันที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงอัมสเตอร์ดัมชื่อยามาซาโตะ วันนั้น อิบราฮิโมวิช มาในชุดสูทเต็มยศ ส่วน ไรโอล่า มาพร้อมเสื้อยืดไนกี้กางเกงยีนส์ แถมยังมาในสภาพพุงพลุ้ยอีกต่างหาก นั่นจึงทำให้ อิบราฮิโมวิช ออกตัวสบประมาทว่าที่เอเยนต์ของเขาอย่างเต็มที่ แต่หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วนี่คือจิตวิทยาของ ไรโอล่า ต่างหาก
ไรโอล่า มาเผยเรื่องภายหลังว่า เขารู้ว่าการแต่งตัวแบบนี้จะทำให้คนมักประเมินเขาต่ำเกินไป เขายังรู้อีกว่าจะทำยังไงให้คนอย่าง อิบราฮิโมวิช นับถือเขา ในวันนั้นระหว่างการสนทนา ไรโอล่า ได้ยิงหมัดฮุกใส่ อิบราฮิโมวิช ด้วยคำถามง่าย ๆ ว่า “แกอยากเป็นนักบอลที่เก่งที่สุดหรือจะเป็นนักบอลที่เอาแต่ทำเงินและได้โชว์ของมากที่สุด” ประโยคดังกล่าวประทับใจดาวเตะจอมหยิ่งยโสเป็นอย่างมาก ถึงขนาดไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อิบราฮิโมวิช ได้ต่อสายตรงขอให้ ไรโอล่า มาเป็นเอเยนต์ส่วนตัวของเขาในทันที
“ไรโอล่า: ได้ ฉันจะเป็นเอเยนต์นาย แต่นายต้องทำไปทำตามที่ฉันบอก. อิบราฮิโมวิช: แน่นอนเลย. ไรโอล่า: โอเค ไปขายรถ ขายนาฬิกา และเริ่มซ้อมสามเวลาอย่างหนัก เพราะสถิติของนายมันทุเรศมาก”
[caption id="attachment_10075" align="aligncenter" width="1200"]
ซลาตัน อิบราฮิโมวิช และ ไรโอล่า[/caption]
ในเวลาเดียวกัน ลูชาโน่ มอจจี้ อดีตบอร์ดบริหารของโตริโน่ ที่เคยเป็นอริของ ไรโอล่า ได้รับตำแหน่งใหม่ที่ ยูเวนตุส ซึ่งวันหนึ่ง มอจจี้ ได้ต่อสายตรงหา ไรโอล่า เพื่อหวังจะเซ็นสัญญากับ เน็ดเวด
ย้อนกลับไปสั้น ๆ ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยมีปัญหากันเพราะว่า มอจจี้ เบี้ยวนัดของ ไรโอล่า และดันไปนั่งชิลล์กินข้าวอย่างสบายใจ ปล่อยให้ ไรโอล่า นั่งรอในห้องประชุมหลายชั่วโมง สุดท้ายเอเยนต์ดังทนไม่ไหวตามหา มอจจี้ จนเจอและเดินเข้าไปหาพร้อมกับพูดว่า “คุณทำตัวไม่สุภาพเลยรู้ไหมที่ปล่อยให้คนอื่นเขารอแบบนั้น” ส่วน มอจจี้ ก็ตอบโต้อย่างรุนแรงกลับไปเช่นกันว่า “คุณเป็นใคร รู้ไหมว่าถ้าคุณทำตัวให้ผมไม่พอใจ คุณจะไม่มีวันขายนักเตะคนไหนในอิตาลีได้อีกเลย”
งานนี้คงไม่ต้องบอกว่า ไรโอล่า สะใจขนาดไหนที่ มอจจี้ ต้องโทรตามง้อเขา แต่นี่คือธุรกิจ ไรโอล่า ทิ้งเรื่องส่วนตัวไว้ข้างหลังและเดินหน้าผลักดันให้ดีลนี้เกิดขึ้น ในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะปี 2001 ไรโอล่า และ เน็ดเวด นั่งเจ็ทส่วนตัวบินตรงถึงตูรินเพื่อเจรจาดีลดังกล่าว แต่แล้วทั้งคู่ก็ต้องหัวเสียกลับกรุงโรม เพราะ มอจจี้ มาไม่ตรงเวลา
“ไรโอล่า: นี่นายมีนาฬิกาไหมเนี่ย. มอจจี้: ใช่ฉันมี อย่าทำให้เสียบรรยากาศเลย. ไรโอล่า: เรานัดกันกี่โมง. มอจจี้: เที่ยงตรงที่ฟลอเรนซ์. ไรโอล่า: ผมจะไปที่นั่นตอน 11.50 และอีกยี่สิบนาทีผมจะไปทันที จากนั้นราคาก็จะขึ้นไปอีกครึ่งหนึ่ง”
สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือ เน็ดเวด ไว้ใจ ไรโอล่า มากถึงขนาดเซ็นสัญญาในช่องว่างให้เอเยนต์คนดังไปจัดการต่อได้เลย “มิโน่ ตอนนี้ฉันจะกลับบ้านแล้ว และพรุ่งนี้เช้านายมาบอกฉันละกันว่าต้องเล่นให้ลาซิโอหรือยูเวนตุส นายเป็นเอเยนต์ของฉัน”
แม้การนัดดังกล่าวจะล่มไม่เป็นท่า แต่สุดท้าย ไรโอล่า ก็ทำให้ มอจจี้ และทีมเบียงโคเนรี ยอมรับข้อเสนอของเขาจนได้ “ผมต้องการให้ พาเวล ได้รับเงินมากกว่าที่ ซีดาน ได้จากมาดริด” นี่คือสิ่งที่ ไรโอล่า บอกกับประธานของทีมเบียงโคเนรี “มอจจี้: ได้ ๆ เราจะให้ตามที่คุณขอ. ไรโอล่า: ผมเปลี่ยนใจแล้ว ผมไม่เอาอันนี้แล้ว ผมจะเอาอีกอันหนึ่ง. มอจจี้: คุณเป็นบ้าหรือยังไง” และจากนั้นสงครามน้ำลายก็เริ่มขึ้น ไรโอล่า ปิดท้ายวันนั้นด้วยการยื่นสัญญาที่เขาต้องการในมือของ มอจจี้ ก่อนในวันรุ่งขึ้น ยูเวนตุส ก็ตอบรับกับสัญญาดังกล่าว
หลายปีต่อมา ไรโอล่า ได้เข้ามาเป็นเอเยนต์ให้กับนักเตะดาวรุ่งอย่าง ปอล ป็อกบา ที่สมัยนั้นกำลังถูกจับตามองว่าน่าจะก้าวขึ้นมาเป็นยอดผู้เล่นในถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ดภายใต้การคุมทีมของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก่อนหน้าการมาของ ไรโอล่า ความสัมพันธ์ระหว่างทีมปีศาจแดงและมิดฟิลด์รายนี้กำลังเป็นไปได้สวย เขาถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งแดนกลางของทีมต่อจาก พอล สโคลส์ ที่ขณะนั้นมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกอย่างดูจะเป็นไปตามที่เซอร์อเล็กซ์และยูไนเต็ดวางแผนไว้ จนกระทั่งการมาของ ไรโอล่า ก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
ป็อกบา มีสัญญากับยูไนเต็ดด้วยกันสามปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2009 จนถึง 2012 ซึ่งในช่วงการเจรจาสัญญาฉบับใหม่ ไรโอล่า ก็ได้ออกแนวกระซิบข้าง ๆ หู ป็อกบา ทำนองว่า “นายรู้ตัวไหมว่าพวกเขาจ่ายเงินนายต่ำเกินจริง นายควรได้มากกว่านี้” โดยต่อมา ไรโอล่า ก็ได้ทำสิ่งที่เขาถนัดก็คือ “การขอสัญญาที่ดีกว่านี้” ให้กับลูกค้าของเขา
นี่คือบทสนทนาระหว่างเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กับ ไรโอล่า ในวันนั้น “เซอร์อเล็กซ์: ฉันจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ (การต่อสัญญา) ถ้านักเตะไม่อยู่ตรงนี้. ไรโอล่า: เดี๋ยวผมจะพาเขามาจากล็อกเกอร์รูมและให้เขานั่งตรงนี้เลย (หลังจากนั้นไม่นาน ป็อกบา ก็เข้ามา). เซอร์อเล็กซ์: ปอล นายไม่อยากเซ็นสัญญาฉบับนี้เหรอ? ป็อกบา: ผมจะไม่เซ็นสัญญาฉบับนี้ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้.”
สถานการณ์ในห้องยิ่งร้อนระอุขึ้นเมื่อ ไรโอล่า พูดโพล่งใส่ยอดกุนซือว่า “ข้อเสนอแบบนี้มันซื้อได้แค่หมาชิวาว่าเท่านั้นแหละ ซึ่งผมมีอยู่สองตัวที่บ้าน ผมก็ยังไม่เซ็นเลย" ขนาดที่ เซอร์อเล็กซ์ ก็สวนและสบถใส่ ไรโอล่า กลับไปว่า “แล้วแบบไหนล่ะที่เขาอยากได้" ไรโอล่า ตอบ “ไม่ใช่แบบนี้ละกัน” ทันใดนั้นเอง เซอร์อเล็กซ์ ก็หันไปพูดกับ ไรโอล่า ทันทีว่า “แกมันไอหน้า...!" (อวัยวะเพศของผู้หญิง)”
[caption id="attachment_10074" align="aligncenter" width="767"]
เฮนริกห์ มคิทาร์ยาน, ไรโอล่า และ ปอล ป็อกบา[/caption]
สุดท้าย ป็อกบา ปฏิเสธสัญญาฉบับใหม่ที่ยูไนเต็ดยื่นให้ก่อนจะย้ายซบยูเวนตุสในเวลาต่อมา ซึ่งเรื่องนี้ทำเอา เซอร์อเล็กซ์ แค้นฝั่งหุ่น ไรโอล่า อย่างมาก “ทั้งโลกนี้มีเอเยนต์ที่ผมเกลียดอยู่สามคน ซึ่ง ไรโอล่า เป็นหนึ่งในนั้น ผมไม่เชื่อใจเขาตั้งแต่วินาทีแรกที่ผมเจอเขาแล้ว”
แต่ในท้ายที่สุด ป็อกบา ก็ได้กลับเข้ารัง ปีศาจแดง อย่างยิ่งใหญ่ด้วยค่าตัวเป็นสถิติโลกถึง 89 ล้านปอนด์ ซึ่งมีข่าวว่า ไรโอล่า ได้ส่วนแบ่งการดีลนี้ถึง 20 ล้านปอนด์ ซึ่งเหตุการณ์นี้คงไม่เกิดขึ้นแน่หาก เซอร์อเล็กซ์ ยังคุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยู่ ไรโอล่า เรียกกระบวนการเจรจาซื้อขายของเขาว่า “my matchday”
แม้จะเป็นแค่นายหน้าแต่ ไรโอล่า ก็มีบทบาทไม่ต่างกับแมวมองขั้นเทพคนหนึ่ง และด้วยการที่เขาเป็นนักลงทุนตัวยงด้วยนั้น จะเห็นได้ว่า ไรโอล่า ลงทุนลงแรงกับการเฟ้นหานักฟุตบอลดาวรุ่งเก่ง ๆ เป็นลูกค้าเสมอ เขาเชื่อว่าเด็กในวันนี้จะกลายเป็นยอดนักเตะในวันข้างหน้า ตัวอย่างสำคัญในชั่วโมงนี้คงหนีไม้พ้น มัทไธจ์ส เดอ ลิกต์ กองหลังเนื้อหอม และผู้รักษาประตูดาวรุ่งอย่าง จานลุยจิ ดอนนารุมม่า
“สิ่งที่ผมเรียนรู้จาก พาเวล เน็ดเวด ผมโอนมันต่อให้ ซลาตัน และสิ่งที่ผมเรียนรู้จาก ซลาตัน ผมก็สอนให้กับ ปอล ป็อกบา. ปอล เห็น ซลาตัน ในตัวเอง จากเด็กผู้ชายที่มาจากข้างถนน ร่างกายสูงใหญ่กำยำแต่เปี่ยมด้วยเทคนิคและทัศนคติที่มีแต่คำว่า ชนะ ชนะ ชนะ ”
ในสายตาของคนที่ต้องมาเผชิญหน้ากับ ไรโอล่า เขามักถูกมองว่าเป็นพวก “จอมสูบ” หรือเป็น ไอ้ตัวแสบ อยู่เสมอ แต่กลับกันในสายตาของนักเตะที่เป็นลูกค้าของเขา ไรโอล่า ไม่ต่างกับ “เทวดา” ที่มาจากฟ้า
แม้มันจะเป็นอาชีพที่ทำเงินจากเขาได้มาก แต่ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีในฐานะเอเยนต์สิ่งเดียวที่ ไรโอล่า รู้สึกเกลียดเกี่ยวกับอาชีพนี้ก็คือการที่เขาไม่เคยได้เห็นลูกโต
“มันคือราคาที่ผมต้องจ่าย ผมไม่เคยได้เห็นลูก ๆ โต”
ปัจจุบัน ไรโอล่า มีลูกค้าเกือบ 70 ราย โดยตลอดอาชีพเขาผ่านการทำสัญญามูลค่ารวมสูงกว่า 629 ล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นค่านายหน้าเข้าตัวเขาเต็ม ๆ ที่ 62.9 ล้านดอลลาร์ และยังเป็นหนึ่งในห้าเอเยนต์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในวงการกีฬาโลก
ที่มา :
https://thesefootballtimes.co/2017/07/31/21785mino-raiola-the-super-agent-who-changed-the-face-of-modern-football/
https://www.ft.com/content/548155cc-9bcf-11e6-b8c6-568a43813464
https://www.theguardian.com/football/2019/jun/24/super-agent-mino-raiola-player-manager-football-deals
https://www.forbes.com/profile/mino-raiola/#73deeaad608d