เช็ท เบเกอร์ นักทรัมเป็ตที่สูญเสียฟันหน้าจากยาเสพติด
ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Born To Be Blue (2016) นักแสดง อีธาน ฮอว์ค (Ethan Hawke) ในบทของ เช็ท เบเกอร์ (Chet Baker 1929-1988) กำลังเริ่มต้นหัดซ้อมเป่าทรัมเป็ตอีกครั้งในอ่างอาบน้ำ โดยมีเลือดซึมออกมากลบปากจนแทบจะเป็นลม นั่นคือภาพจำลองชีวิตอันสุดรันทดของนักทรัมเป็ตชาวอเมริกันผู้นี้
ก่อนหน้านั้น ในปี ค.ศ. 1966 เขาถูกมาเฟียยาเสพติดทวงถามเงินที่ติดค้าง และถูกรุมซ้อมจนฟันหน้าร่วงหลุดจากปาก เขาเข้ารับการรักษา แก้ไขด้วยการใส่ฟันปลอม และทดลองเป่าทรัมเป็ตกับฟันใหม่อีกครั้ง
ราวกับนิยาย แต่นั่นเป็นชีวิตจริงของ เช็ท ที่ต้องฝ่าไป แม้จะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวเพียงใดก็ตาม อย่างที่นักทรัมเป็ตด้วยกันทราบดีว่า “ฟันหน้า” มีความสำคัญเพียงใดในการบรรเลงเครื่องเป่า ทั้งระบบกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปากที่สุดแสนจะอ่อนไหวในการควบคุม เจ้าตัวเองเคยบอกไว้ว่า การสูญเสียฟันหน้าให้ความรู้สึกไม่ต่างจากนักเปียโนที่ต้องมาสูญเสียนิ้วมือเท่าใดนัก
ไม่มีทางเลือกสำหรับ เช็ท เบเกอร์ เจ้าของฉายา “เจมส์ ดีน แห่งวงการแจ๊ส” คนหนุ่มผิวขาว หน้าตาดี ร้องเพลงเพราะ เล่นทรัมเป็ตเก่ง ผู้โด่งดังมาตั้งแต่ยุคฟิฟตีส์ ชีวิตของเขาคือเสียงดนตรี เขาค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจากก้นเหวอีกครั้งเพื่อซ้อมทรัมเป็ต ทำความคุ้นเคยกับฟันปลอมหน้า จรดริมฝีปากกับกำพวด (Mouthpiece) แล้วเป่าออกมาเรื่อย ๆ จนได้เสียงสวรรค์ที่ต้องการ !
"เขารู้เสมอว่าที่ใดจะหาโน้ตแสนหวานเหล่านั้นได้?"
ครั้งหนึ่ง เฮิร์บ เอลลิส นักกีตาร์ชั้นแนวหน้าพูดกับ ทัล ฟาร์โลว์ เพื่อนนักกีตาร์ด้วยกัน ระหว่างฟังการบรรเลงของ เช็ท เบเกอร์ ที่ไนท์คลับแห่งหนึ่งในแคนาดา เมื่อ ค.ศ. 1982 ก่อนที่ เช็ท จะเจ็บป่วยลงด้วยโรคที่สืบเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติดเป็นระยะเวลายาวนาน และการทดลองชีวิตอย่างสมบุกสมบัน
นักทรัมเป็ตและฟลูเกิลฮอร์นที่มีลีลาการเป่าอันละเมียดละไม และเริ่มต้นการเรียนรู้วิธีอิมโพรไวเซชั่นด้วยตนเองคนนี้ ได้รับการกล่าวขานว่า สัมผัสอันนุ่มนวลที่เขามีต่อโน้ตแต่ละตัวนั้นราวกับจุมพิตอันฉ่ำหวานจริง ๆ เขาเป็นดาวเด่นในแวดวง เวสต์ โคสต์ แจ๊ส อย่างไม่ต้องสงสัย และมิได้มีเพียงแฟนดนตรีแจ๊สเท่านั้นที่คลั่งไคล้เขา หากยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ฟังทั่วไปอีกด้วย
"คุณเคยฟังใครสักคนที่ไม่สามารถร้องเพลงได้ แต่เสียงร้องของเขาสั่นไหวอารมณ์ความรู้สึกคุณได้บ้างไหม?" นั่นเป็นคำกล่าวของ ออร์เน็ท โคลแมน นักเทเนอร์ แซ็กโซโฟน แนวฟรีแจ๊ส ที่มีต่อลีลาการร้องของ เช็ท เบเกอร์ ซึ่งฝากแนวเสียงร้องเฉพาะตัว ที่ให้ความรู้สึกเหงาเศร้าไว้ในเพลงอย่าง My Funny Valentine, I Fall In Love Too Easily, But Not For Me etc.
เช็ท เบเกอร์ เกิดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1929 ที่เมืองเยล โอคลาโฮมา ต่อมาเขาและครอบครัวย้ายไปอยู่แคลิฟอร์เนียในปี ค.ศ. 1940 เขาเริ่มต้นเรียนทรัมเป็ตในชั้นมัธยมต้น ฝึกฝนวิทยายุทธ์แจ๊สระหว่างรับราชการในกองทัพสหรัฐ ที่ฐานปฏิบัติการนครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จากนั้นค่อยกลับมาศึกษาต่อที่ เอล คามิโน คอลเลจ ในปี 1950 ระหว่างประจำการอยู่ที่เพรซิดิโอ ในซานฟรานซิสโก เขาเล่นประจำที่บ็อพซิตี้ อีก 2 ปีต่อมา เขาชนะการออดิชั่นเพื่อเล่นในวงของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ที่อยู่ระหว่างการทัวร์เวสต์โคสต์ ก่อนจะย้ายไปเล่นในวงควอร์เททที่ไม่ใช้เปียโน (Pianoless Quartet) ของนักบาริโทนแซ็กโซโฟน เจอร์รี มัลลิแกน
การแสดงของวงเจอร์รี มัลลิแกน และ เช็ท เบเกอร์ ที่คลับชื่อ "เฮก" ในฮอลลีวูดนั้น มีผลผลิตออกมาเป็นงานบันทึกเสียงจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงระดับประวัติศาสตร์ให้แก่ เช็ท โดยปริยาย จากนั้น เช็ท ออกมาเป็นศิลปินเดี่ยวช่วงสั้น ๆ และกลับไปเล่นให้กับ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ก่อนออกมาตั้งวงดนตรีของตนเองในปี 1953 โดยแรกสุดประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะศิลปินเดี่ยวในสหรัฐ และในยุโรปนับจากปี 1955 เป็นต้นมา ช่วงเดือนกันยายน ค.ศ. 1955 ถึงเมษายน ค.ศ. 1956 เช็ท ทัวร์แสดงดนตรีในไอซ์แลนด์ อังกฤษ และประเทศอื่น ๆ ใกล้เคียง ระหว่างนั้นมือเปียโนของเขา ดิค วาร์ดซิก (Dick Twardzik) เสียชีวิตลงในฝรั่งเศสจากการเสพเฮโรอีนเกินขนาด
เมื่อ เช็ท เบเกอร์ กลับมาสหรัฐอเมริกา เขาให้สัมภาษณ์ ไอรา กิทเลอร์ นักวิจารณ์ดนตรีว่า "เมื่อผมกลับบ้าน ผมเริ่มใช้ยาอีก ผมถูกจับหลายครั้ง ไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เล็กซิงตัน แล้วก็มาถูกจับที่นิวยอร์ก ผมเล่นดนตรี 4 เดือนที่ (คลับ) ไอส์แลนด์ของไรเกอร์ และตัดสินใจออกจากสหรัฐสักช่วงหนึ่ง"
ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1959 เช็ท เบเกอร์ เดินทางไปอิตาลีคนเดียว เขาตั้งวงควอร์เททกับนักดนตรีในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม หากเขาคาดหวังว่าอิตาลีจะผ่อนปรนกับพฤติกรรมเสพยาของเขา เขาคิดผิดเสียแล้ว ระหว่างถูกขังในคุกอิตาเลียนนานถึง 17 เดือน (ค.ศ. 1960-1961) ด้วยข้อหายาเสพติด บริษัทภาพยนตร์แห่งหนึ่งในกรุงโรม ได้ติดต่อขอถ่ายทำเรื่องราวในชีวิตของเขาเพื่อนำออกเผยแพร่ เช็ทเขียนบทด้วยตัวเอง และมีการแก้ไขอีกหลายครั้ง ทว่า ไม่สามารถหาข้อสรุปกับทีมงานผู้สร้างได้
ช่วงออกจากคุก ความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับตัวเขา โดยผู้กำกับชื่อก้อง ดิโน เดอลอเรนติส ได้ล้มเลิกไป แต่ เช็ท มีข่าวดีเมื่อเพื่อนคนหนึ่งได้ก้าวมาเป็นเจ้าของ "โอลิมเปีย" ไนท์คลับที่ใหญ่ที่สุดในมิลาน และชักชวนให้เขาไปแสดงดนตรีที่นั่น เขาแสดงที่โอลิมเปียช่วงสั้น ๆ ก่อนย้ายไปแสดงที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี
“ผมมีปัญหาที่นั่น"
นักทรัมเป็ต กล่าวถึงประสบการณ์ที่มิวนิค "ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และเมื่อผมกลับมาที่พรมแดนประเทศอิตาลี เขาไม่ยอมให้ผมเข้าประเทศ ผมได้เซ็นสัญญาฉบับหนึ่งกับสังกัดอาร์ซีเออิตาเลียนมาก่อนหน้านี้ ผมจึงสูญเสียโอกาสนั้น แถมเขายังฟ้องผมเป็นเงินราว 3 ล้านลีอาร์อีกด้วย"
เช็ท เบเกอร์ ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางไปปารีส และได้งานเล่นที่ไนท์คลับบลูโน้ตเป็นเวลา 3 เดือน ต่อมาเขาได้รับข้อเสนอให้ร่วมงานถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ในอังกฤษ โดยมี ซูซาน เฮย์เวิร์ด แสดงนำ โดย เช็ท เบเกอร์ รับบทเป็นนักดนตรีในฉากงานเลี้ยงปาร์ตี้ พร้อมกับทำเพลงประกอบบางส่วนให้แก่หนังเรื่องนี้ (เรื่อง Summer Flight ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Stolen Hours) เขาใช้เวลาอยู่ในอังกฤษราว ๆ 9 เดือน แล้วจึงเดินทางกลับคืนนครปารีส ฝรั่งเศส อีกครั้ง โดยมีงานแสดงที่ Paris Chat Qui Peche เป็นเวลา 8 เดือน
ช่วงนี้เขาได้พบกับ มิลิห์ กูเรล นักเฟรนช์ฮอร์นเชื้อสายตุรกี-ฝรั่งเศส ซึ่งจบการศึกษาจากสถาบันดนตรีแองการา (Ankara Music Conservatory) จากนั้น เช็ท เบเกอร์ เดินทางคนเดียวไปแสดงที่คลับแจมโบรี ในนครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน แต่ เช็ท อยู่สเปนได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น เขาก็กลับฝรั่งเศส และได้งานเล่นที่บลูโน้ตในนครเบอร์ลิน เยอรมนี ทว่า เช็ทแสดงดนตรีที่นั่นได้เพียง 1 คืนก็ถูกจับกุม เขาถูกควบคุมตัวเพื่อไปบำบัดอาการในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเยอรมนีเป็นเวลา 40 วัน ก่อนถูกปล่อยตัวออกมา และคราวนี้ เช็ท เบเกอร์ มุ่งหน้ากลับบ้านสู่สหรัฐอเมริกาในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1964
ในบทความ Chet Baker ‘s Tale of Woe ไอรา กิทเลอร์ ถามถึงสาเหตุที่ เช็ท เบเกอร์ ถูกไล่ติดตามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจตามประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งที่ในความจริงนั้น มีนักดนตรีที่ใช้ยาเสพติดในยุโรปอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
“ผมไม่ทราบเหมือนกัน" เขาบอก "มันเหมือนกับเป็นวันขยันของตำรวจ เมื่อไหร่ก็ตามที่ เช็ท เบเกอร์ เดินทางมาถึง มันเหมือนความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างตำรวจกับหนังสือพิมพ์ เมื่อตกเป็นข่าว เพราะผมเป็นที่สนใจเสมอ ผมไม่เคยยุ่งกับใคร ผมไม่เคยขายยาให้ใคร ทุกอย่างผมทำกับตัวเองทั้งนั้น
“จริง ๆ แล้ว ผมเชื่อว่ามันเป็นความผิดของนักข่าวและหนังสือพิมพ์ในประเทศเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะอ่านพบว่าพวกเขาเจอผมในสถานีเติมน้ำมัน ทั้งที่เรื่องจริงก็คือผมกำลังรักษาตัวกับคลินิกแห่งหนึ่งในเมืองลุคคา (อิตาลี) และผมกำลังเล่นอยู่ในเวียเรกจิโอ หมอจะเป็นคนพาผมไปทำงานและพาผมกลับ
"วันนั้น ผมบังเอิญต้องไปเวียเรกจิโอตอนบ่าย เพื่อเซ็นสัญญาหรือถ่ายรูป เขา (หมอ) จึงให้ยาผมจำนวนหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องกิน ผมมีรถเฟียตเล็ก ๆ ที่เช่ามา และเริ่มขับจากออโตสตราดา ซึ่งใช้เวลาขับราว ๆ 30 นาที
"ผมรู้สึกไม่ค่อยสบายนัก จึงหยุดที่ปั๊มน้ำมันแห่งนั้น และเข้าห้องน้ำ เพราะระหว่างทางไม่มีที่จอดพัก ผมหยุดพักที่นี่ และเคยมาที่นี่หลายครั้งแล้ว ผมเข้าห้องน้ำ และถ่ายท้องอย่างลำบาก ผมอยู่ในนั้น 35 นาที แล้วก็มีเสียงเคาะประตู ผมเสร็จพอดี เปิดออกไปก็เจอตำรวจ พวกเขาบอกว่า ‘มากับพวกเรา’ ผมไปที่สถานีตำรวจ แล้วเขาโทรเรียกหมอของผม อีก 15 นาที เขาก็ปล่อยตัวออก"
แต่ข่าวที่ออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์ ระบุว่า เช็ท เบเกอร์ หมดสติในห้องน้ำของปั๊มน้ำมัน คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวเลือด จนตำรวจต้องพังประตูเข้าไป ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามที่อ่านข่าวนี้ ย่อมคิดว่าผู้ชายคนนี้ท่าจะบ้าไปเสียแล้ว เช็ท เบเกอร์ เล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกเสมียนร้านขายยาในอังกฤษ ซักทอดว่าเป็นผู้ซื้อหายาเสพติด (ยาประเภทควบคุมพิเศษซึ่งมีอยู่ในร้าน) ทั้งที่เสมียนคนนี้เป็นผู้เสนอขายเขาแต่เบื้องแรก ด้วยการให้ไปทดลองใช้ก่อนฟรี แต่ เช็ท เบเกอร์ กำลังอยู่ในความดูแลของแพทย์ จึงไม่ได้ลองใช้ แล้ววันหนึ่ง เสมียนคนนั้นก็ถูกจับ
"ตำรวจบอกเขาว่า..." นักทรัมเป็ตเล่า "... แกไม่มีประวัติ เราจะทำให้เรื่องนี้ง่ายเข้า ถ้าแกบอกเราว่าแกขายให้ใคร จากนั้นเขาไม่ได้ติดคุก แต่ผมต้องเข้าไปอยู่ 40 วัน และถูกขับออกมาจากอังกฤษ"
แม้จะต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้ายในชีวิต แต่ เช็ท เบเกอร์ ก็ยังเป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอ และมุ่งมั่นที่จะเล่นดนตรีอยู่ตลอดเวลา "นั่นเป็นสิ่งเดียวที่เขาแตะต้องผมไม่ได้" เจ้าตัวบอก "ผมสูญสิ้นความนับถือที่มีต่อตำรวจ และวิธีที่เขาจัดการกับยาเสพติด ผมทุกข์ทรมานในน้ำมือของพวกเขา ...หลายครั้งที่ผมต้องทำใจเพื่อไม่ให้มันมีผลกระทบต่อการเล่นดนตรีของผม เพราะเหนืออื่นใด นั่นคือสิ่งที่ผมรู้ดีว่าควรทำอย่างไร"
"ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอ" เขาพูดด้วยน้ำเสียงกึ่ง ๆ หัวเราะกับ ไอรา กิทเลอร์ ใน ค.ศ. 1964 "มันก็สนุกดี แต่ผมก็ยังเป็นส่วนผสมของหลาย ๆ สิ่ง โดยปกติ ถ้าผมไม่ได้เล่นดนตรี ผมค่อนข้างซึมเศร้ายังไงชอบกล แต่ถ้าผมเล่นดนตรีล่ะก็ มันดูเหมือนจะเปลี่ยนไป ตอนนี้ผมเล่นดนตรีหนักขึ้นมาก"
เนื่องจาก เช็ท เบเกอร์ เป็นนักดนตรีคนหนึ่งที่มีงานบันทึกเสียงจำนวนมาก และมีชีวิตที่ดำเนินไปบนพรมแดนของความมีสติและความบ้าระห่ำ จึงน่าติดตามว่าอัลบั้มชุดไหนที่อยู่ในเกณฑ์คุณภาพ?
หากย้อนมองผลงานของ เช็ท ผ่านชีวิตของเขา เราพบว่า เช็ท มีงานอัดแผ่นในฐานะไซด์แมนมาตั้งแต่ยุคสมัยที่เขาร่วมงานกับ เจอร์รี มัลลิแกน นักบาริโทนแซ็กโซโฟน ในช่วงยุคต้นทศวรรษ 1950s ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของแจ๊สในซาวนด์แบบ "เวสต์ โคสต์" (ในหนังเรื่อง L.A.Confidential มีการเนรมิตฉากของคลับแห่งหนึ่งชื่อว่า เฮก ซึ่ง เช็ทกับเจอร์รี บรรเลงอยู่ และในซาวนด์แทร็คหนัง มีการบรรจุเพลงของพวกเขาไว้ด้วยเช่นกัน)
จนกระทั่งเขาก่อตั้งวงดนตรีของตนเองในปี 1953 โดยมี รัสส์ ฟรีแมน เป็นมือเปียโน ซึ่งนับว่า เช็ท เริ่มประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะศิลปินเดี่ยวแล้ว ผลงานในช่วงกลางทศวรรษ 1950s ซึ่งอัดกับสังกัดแปซิฟิคแจ๊ส จัดอยู่ในระดับคลาสสิกทีเดียว เช่นเดียวกับยุคต้นทศวรรษ 1960s ซึ่งอัดกับสังกัดเพรสทิจ ที่ เช็ท ได้พัฒนาการเล่นของตัวเองได้อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น ทว่าในความเห็นของนักวิจารณ์บางรายวิเคราะห์ว่า ผลงานในยุคปลายทศวรรษ 1960s ของเขามีคุณภาพด้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นไปในชีวิตส่วนตัวของ เช็ท เบเกอร์ ในระยะนี้ ซึ่งดิ่งลงต่ำอย่างน่ากลัว
โดยเฉพาะเมื่อเขามีเรื่องชกต่อยกับมาเฟียที่มาทวงค่ายาเสพติด ทำให้ต้องสูญเสียฟันหน้าไปอย่างน่าเสียดาย
ฟันเป็นอวัยวะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักดนตรีประเภทเครื่องเป่าทั้งหลาย เมื่อไม่มีฟัน เช็ท ก็ต้องเลิกเป่าทรัมเป็ตไปโดยปริยาย จนนักดนตรีเจ้าของเสียงร้องโรแมนติคคนนี้กลับคืนวงการดนตรีอีกครั้ง หลังจากฝึกฝนการเป่าเครื่องลมทองเหลืองด้วยฟันปลอมจนได้ที่ โดยมีอัลบั้ม She Was Too Good To Me ที่ออกกับสังกัดซีบีเอส ในปี 1974 เป็นเสมือนสัญลักษณ์การกลับมาของ เช็ท เบเกอร์ ที่แฟนเพลงต้องร่ำไห้ให้ด้วยความยินดี
นับจากนั้นเป็นต้นมา เช็ท กลายเป็นนักดนตรียอดนิยมในยุโรปอีกครั้ง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเขาสามารถเอาชนะอุปสรรคของชีวิต ทั้งเรื่องยาเสพติด การสูญเสียฟันแท้ รวมทั้งวัยที่กำลังเพิ่มขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษ 1980s ผลงานบันทึกเสียงของ เช็ท เบเกอร์ (ซึ่งรวมถึงการแสดงสด) ไม่อยู่กับร่องกับรอยนัก กล่าวคือบางครั้งออกมาดีมาก หรีอไม่บางคราวก็แย่ไปเลย
จนถึงช่วง 2 ปีหลังในวาระสุดท้ายของชีวิต เช็ท กลับมาสร้างสรรค์งานได้อย่างยอดเยี่ยมอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัลบั้ม As Time Goes By ซึ่งอัดที่ฮอลแลนด์ ในปี 1986 และ Chet Baker in Tokyo บันทึกการแสดงสดที่โตเกียวในปี 1987 เป็นผลงานในยุคหลังที่แฟนเพลงของ เช็ท เบเกอร์ ต่างพยายามสรรหามาครอบครองไว้ นอกจากนี้ ยังมีอัลบั้ม The Last Great Concert : My Favourite Songs Vol 1&2 ที่ออกกับค่าย Enja ซึ่งเป็นบันทึกการแสดงสดครั้งสุดท้ายเพียง 2 สัปดาห์ก่อน เช็ท เบกอร์ เสียชีวิต
สำหรับนักฟังทั่วไป ผู้เริ่มต้นทำความรู้จักผลงานของ เช็ท เบเกอร์ สามารถเริ่มได้จากอัลบั้มรวมเพลงที่คัดสรรจากผลงานสังกัดแปซิฟิคแจ๊ส ชุด The Best of Chet Baker Sings เป็นผลงานเดี่ยวในยุคแรกของเขา ในรูปแบบวงควอร์เทท (ทรัมเป็ต-เบส-กลอง-เปียโน) บันทึกเสียงระหว่างปี 1953-1956 ที่ลอสแอนเจลิส โดยซีดีที่ผลิตออกมาในยุคหลัง ๆ บรรจุเพลงไว้มากถึง 20 เพลง
เคยมีคำกล่าวว่า เช็ท เบเกอร์ เป็นศิลปินแจ๊สที่ร้องและบรรเลงทรัมเป็ตเพลง My Funny Valentine เพลงเก่าของ ริชาร์ด ร้อดเจอร์ส และ ลอเรนซ์ ฮาร์ท ได้เหงาที่สุดในโลก นอกจากเวอร์ชั่นที่เขาทำร่วมกับ เจอร์รี มัลลิแกน แล้ว เวอร์ชั่นที่อัดกับแปซิฟิคแจ๊สชุดนี้ ซึ่งมี ดิค บ็อค เป็นผู้อำนวยการผลิต ก็มีเพลงนี้บรรจุให้คอเพลงแจ๊สได้ละเมียดละไมกับอารมณ์สุขุมโรแมนติคของเขาเช่นกัน
เช็ท เบเกอร์ เสียชีวิตอย่างมีปริศนา ด้วยการพลัดตกจากหน้าต่างของโรงแรมแห่งหนึ่ง ใจกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1988 เมื่อตรวจชันสูตรร่างกาย พบว่ามียาเสพติดอยู่เต็มกระแสเลือด
ทุก ๆ ปีของวันครบรอบการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ มีมิตรรักแฟนเพลงไปวางดอกไม้เพื่อแสดงความอาลัยต่อการจากไปของศิลปินเพลงคนนี้ ผู้เลือกทำลายชีวิตตัวเองลงด้วยยาเสพติด แต่ได้สร้างสรรค์ผลงานคีตศิลป์ที่มีความบริสุทธิ์งดงามอย่างไม่น่าเชื่อ