แม้จะเพิ่งเข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์เมื่อสิบปีก่อน แต่ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ก็สามารถสร้างการเติบโตแบบพุ่งทะยาน กระทั่งก้าวเข้าสู่รายได้กว่า 16,000 ล้านบาท ด้วยผลิตภัณฑ์เด่นอย่าง คอนโดมิเนียม ที่ครอบครองทำเลทองตามแนวรถไฟฟ้า มีการออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
นี่คือพล็อตเรื่องที่น่าจะแฮปปี้ดีสำหรับบริษัทอสังหาฯ ที่พลิกจากรายเล็กมาเป็นหนึ่งในรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของธุรกิจ แต่การย้ำความสำเร็จเดิมอาจไม่เพียงพอต่อการตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนยุคนี้ กลายเป็นความท้าทายใหม่ของ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ในการสร้างแบรนด์ ‘Britania’ โครงการอสังหาฯ แนวราบ ที่ได้ ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจโครงการบ้านจัดสรร มาเสริมทัพในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด ปั้นบ้านจัดสรรแบรนด์ใหม่บนทำเลศรีนครินทร์, วงแหวน-หทัยราษฎร์ ย่านลำลูกกา และบางนา ให้ครองใจตลาดให้ได้
ออกแบบบ้าน ออกแบบชีวิต
ย้อนไปที่โปรไฟล์ชีวิต ศุภลักษณ์จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นชีวิตการทำงานบนเส้นทาง ‘สถาปนิก’ ในบริษัทรับเหมาก่อสร้าง “ตอนแรกที่เริ่มทำงานนี่เป็นของแปลกเลย เพราะส่วนมากสถาปนิกก็จะไปทำงานในบริษัทด้านสถาปัตย์โดยตรง” เธอเล่าพลางยิ้มนิด ๆ
ศุภลักษณ์ลุยงานในบริษัทรับเหมาก่อสร้างอยู่ถึง 20 กว่าปี จากนั้นเมื่อมีครอบครัว มีลูก ก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งหมด เพราะการทำงานรับเหมาก่อสร้างต้องทุ่มเทเวลาค่อนข้างมาก กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ศุภลักษณ์เข้าสู่วงการอสังหาฯ ซึ่งแม้จะมีความเชื่อมโยงอยู่บ้างระหว่างธุรกิจรับเหมาก่อสร้างกับอสังหาฯ แต่เมื่อศุภลักษณ์ตัดสินใจเข้ามาเต็มตัวแล้ว อสังหาฯ กลับเป็นเหมือนอีกโลกหนึ่งที่มีความท้าทายไม่สิ้นสุด
หลังออกจาก comfort zone ศุภลักษณ์ผสานความรู้ด้านสถาปัตย์เข้ากับประสบการณ์ในสายงานรับเหมาก่อสร้างมาเริ่มต้นในโลกอสังหาฯ เริ่มตั้งแต่หาที่ดิน ออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งาน ดูจุดขาย ทำแพ็คเกจการขาย รวมถึงดูแลเรื่องบริการหลังการขาย ขณะเดียวกันก็ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำอย่างไรผลิตภัณฑ์นั้นถึงจะเป็นที่ยอมรับในตลาด และทำให้สิ่งที่นำเสนอสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าในระยะยาว ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อเท่านั้น
“ตอนเปลี่ยนสายงาน รู้ทันทีเลยว่าชีวิตไม่เหมือนเดิมที่เคยทำแล้ว ไม่ใช่แค่เปิด contract แล้วดูว่าสิ้นสุดสัญญาเมื่อไหร่ งบประมาณมีเท่าไหร่ แต่โปรเจกต์ที่เราต้องรับผิดชอบคือทำอย่างไรให้ลูกค้าซื้อ ทำอย่างไรให้ต้นทุนได้ และทำอย่างไรให้การส่งมอบเป็นไปตามสัญญาที่ทำกันไว้
“เมื่อคลุกคลีกับธุรกิจอสังหาฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่เราต้องรู้คือความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจตลาด คุณจะเข้าใจตลาดได้ คุณต้องเข้าใจว่าลูกค้าคุณคือใคร คุณกำลังอยู่ในอุตสาหกรรมซึ่งมีใครบ้างที่เป็นสแตนดาร์ด รู้จักผู้เล่นร่วมตลาดว่ามีใครบ้าง ต้องศึกษาว่าเราแตกต่างจากคนอื่นตรงไหน จะโฟกัสตัวเองอย่างไร”
ความที่เป็นคนเปิดกว้างพร้อมรับสิ่งใหม่ พอเปลี่ยนที่ทำงาน เปลี่ยนสายงาน ศุภลักษณ์จึงเอาทักษะดังกล่าวมาใช้ เพราะฉะนั้นผู้ที่สอนงานเธอจึงไม่ได้มีเพียงแต่เจ้านาย แต่เป็นเพื่อน พี่ น้อง ที่ร่วมงาน แม้กระทั่งลูกค้า ศุภลักษณ์ก็ถือว่าเป็นคนสอนงานเธอด้วยเช่นกัน
“เนื่องจากพื้นฐานเรียนมาทางด้านสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมคือการออกแบบบ้าน สำหรับเราแล้ว เสน่ห์ของธุรกิจนี้จึงเป็นการออกแบบชีวิต ออกแบบสิ่งที่เราอยากให้เป็น” ศุภลักษณ์กล่าวถึงโลกใบใหม่ในวันนั้น ที่วันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอไปแล้ว
เจ้าแม่ set up นักบุกเบิกอสังหาฯ แนวราบ
บุคลิกกล้าลุย กล้าเสี่ยง ถึงไหนถึงกัน และการเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ แบบไม่ยึดตัวเองเป็นหลัก ทำให้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีในการทำงาน ศุภลักษณ์มักได้รับมอบหมายให้บุกเบิกโปรเจกต์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ อย่างสมัยทำรับเหมาก่อสร้างก็ได้ไปดูงานต่างประเทศ เพื่อกลับมา set up ทีมงาน จนเมื่อมาทำสายอสังหาฯ ซึ่งช่วงนั้นมีเทคนิคก่อสร้างใหม่ ๆ ที่เรียกว่า Prefabrication (วิธีการผลิตชิ้นส่วนประกอบเป็นจำนวนมาก) ศุภลักษณ์ก็เป็นคน set up ทีม ทั้งทีมออกแบบ การประสานงานระหว่างหน้างานกับโรงงาน ทำการตลาด และสร้างความเข้าใจกับลูกค้าเพื่อให้ยอมรับเทคนิคใหม่ ๆ เหล่านี้
“แต่ละบริษัทที่ร่วมงานด้วยก็ชอบที่จะให้เราไปรับงานใหม่ ๆ บางองค์กรไม่มีสินค้าตัวนี้ก็อยากให้เราไปเริ่ม ที่ชัดมาก ๆ คือ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ส่วนใหญ่ก็จะทราบดีว่าพวกเราชำนาญเรื่องคอนโดฯ มีคอนโดฯ ตลอดแนวรถไฟฟ้าค่อนข้างเยอะ แต่ออริจิ้นยังไม่เคยทำอสังหาฯ แนวราบเลย จึงเป็นที่มาที่คุณโด่ง (พีระพงศ์ จรูญเอก ซีอีโอ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้) มักจะไปแนะนำว่า ‘วางใจได้นะครับ เราไปได้เจ้าแม่ set up มา’ เราก็เขินมากนะ เราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแบบนั้น แต่จังหวะของประสบการณ์แต่ละช่วงที่ผ่านมา มักได้รับมอบหมายให้ไปดูงานบุกเบิกทั้งนั้น”
set up ครั้งใหม่ กับความท้าทายในการสร้างแบรนด์ ‘Britania’
การออกแบบชีวิตและบ้านที่ดี ไม่ใช่แค่การมีนวัตกรรมการก่อสร้างที่ทันสมัยและสวยงามเพียงเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การคำนึงถึงส่วนผสมอันลงตัวเพื่อทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข
แม่ทัพหญิงแห่ง ‘Britania’ ยกตัวอย่างว่า ลูกค้าเจเนอเรชั่นใหม่ที่เคยอยู่คอนโดฯ พอมีครอบครัวก็อยากขยับขยายมาอยู่บ้าน ดังนั้นสิ่งที่คิดและทำออกมาจึงไม่ได้คิดแค่ฟังก์ชั่น จำนวนห้องนอน ห้องน้ำ แต่คิดไปถึงขั้นที่ว่าจะนำเสนออะไร เพื่อสะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัยมากที่สุด เกิดเป็น tagline ของ ‘Britania’ ที่ว่า ‘A Life You Love’ หมายความว่า โครงการที่ทำให้ลูกค้าได้ใช้ชีวิตแบบที่เขารัก
ดังนั้น ศุภลักษณ์จึงตีความออกมาเป็นโครงการบ้านจัดสรรที่มี ‘Smart Products’ นำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย ที่พัฒนาขึ้นให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตในบ้านได้ง่ายขึ้น อย่าง ประตู Digital Door Lock สัญญาณเตือนภัยต่าง ๆ รวมทั้งการมี USB Port ในพื้นที่ที่ไม่คิดว่าจะมีอย่าง ห้องครัวและห้องน้ำ
“ลองมองง่าย ๆ ว่า ผู้คนสมัยนี้เปิดรับสื่อทุกเวลา เช่นเปิด YouTube ไปด้วย ทำกับข้าวไปด้วย ก็ต้องใช้ device ต่าง ๆ หรือในห้องน้ำที่เขาอาจจะอยากฟังเพลงจากมือถือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เราก็มีช่องเสียบ USB Port ไว้ให้” ผู้บริหารหญิงแห่ง ‘Britania’ ให้เหตุผล
จุดแข็งอีกอย่างคือบริการที่เรียกว่า ‘Service on Demand’ มีบริการแม่บ้าน คนทำสวน และช่าง ให้ตามความต้องการ เป็นการตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยวัยทำงานที่ไม่มีเวลาทำงานบ้าน หรือดูแลความเรียบร้อยต่าง ๆ เองภายในบ้าน
“ในวงการอสังหาฯ เราทุกคนมักจะตระหนักกันว่าผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปได้เสมอ หากสุดท้ายเราต้องตีโจทย์ให้แตก มองการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ได้ เพื่อหาว่าความต้องการของลูกค้าคืออะไร”
แต่กว่าจะรู้ความต้องการเหล่านั้นได้ ซีอีโอหญิงแห่ง ‘Britania’ ก็บอกว่า ต้องรู้ pain point ของโปรดักท์ที่มีเสียก่อน และมองความต้องการของลูกค้าให้ขาด อย่างตอนเปิดโครงการก็พบว่าผู้สนใจเป็น ‘แก๊งค์รถเข็น’ เยอะมาก เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่เพิ่งสร้างครอบครัว เป็นคู่รักซึ่งมีลูกเล็ก ๆ เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คิดต่อไปว่า ควรแบ่งพื้นที่ใน Club Britania เป็นเนิร์สเซอรี่ดีไหม นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ลูกบ้านมาใช้พื้นที่ร่วมกัน มีพื้นที่ co-working space ให้นั่งทำงาน และยังมี co-living space ให้ลูกบ้านใช้รับรองแขก เพื่อให้บ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัวอย่างแท้จริง
แม้จะตระเตรียมทุกอย่างไว้รองรับไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยเจนฯ ใหม่ แต่ศุภลักษณ์ก็ยอมรับว่า การเป็นแบรนด์ใหม่ในธุรกิจอสังหาฯ แนวราบ ทำให้ ‘Britania’ อาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
“จริง ๆ งานแนวราบก็ผ่านมาเยอะ แต่สำหรับออริจิ้น เนื่องจากออริจิ้นยังไม่เคยทำ ตลาดไม่รู้จัก...ไม่รู้จักเลย”
สำหรับศุภลักษณ์ เธอไม่ได้มองเรื่องดังกล่าวเป็นอุปสรรค แต่มองว่าเป็นความท้าทายที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าแบรนด์ที่เธอกุมบังเหียนดูแลอยู่นั้นก็มีคุณภาพไม่แพ้ใครเหมือนกัน
“มีคำอยู่คำหนึ่งที่ชาวออริจิ้นใช้กัน นั่นคือคำว่า ‘empathy’ คือความเอาใจใส่ เข้าใจลูกค้าจริง ๆ เราคิดว่าสิ่งนี้คือจุดเด่นที่ทำให้โปรดักท์ต่าง ๆ ออกมาตรงใจทุกคน”
[caption id="attachment_10205" align="aligncenter" width="640"]
ศุภลักษณ์ และทีมงาน 'Britania' (ภาพ: ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้)[/caption]
‘บอสพี่จี๊ด’ ผู้มากับความเชื่อที่ว่า ‘ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้’
ลองจินตนาการถึงภาพผู้บริหารระดับสูงในวันเปิดตัวโครงการ เชื่อเถอะว่าใคร ๆ ก็คิดถึงภาพการแต่งตัวสุดเนี้ยบ ดูภูมิฐาน เพื่อไปตัดริบบิ้นมอบรางวัลให้ลูกค้าที่จับสลากได้บ้านแปลงโปรโมชั่น แต่ศุภลักษณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เธอแตกต่างกว่าใครเพราะเลือกจะอยู่ในโหมดช่างภาพ เดินถือกล้องถ่ายรูปไปทั่วโครงการ จากนั้นก็จะคอยเสิร์ฟน้ำและชวนลูกค้าพูดคุย เพื่อให้ทราบถึงฟีดแบคของบ้านที่นำเสนอ
“ตอนนั้นเหมือนเราอยากแทรกตัวไปให้ถึงลูกค้า เพราะการที่เราเป็นผู้บริหารแต่งตัวสวย ไปจับสลาก คงไม่ได้อะไรมาก สู้เราเป็นตากล้อง แล้วระหว่างที่ถ่ายรูปเราก็ถามว่า ‘ชอบบ้านไหมคะ’ หรือ ‘มีบริการอะไรที่ติดขัดบ้าง’ ก็น่าจะดีกว่า แถมยังได้ถ่ายรูปเอาใจน้อง ๆ ในทีมด้วย เพราะก็อยากให้น้อง ๆ รัก มันเป็นกำลังใจและความสุขในการทำงาน”
ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์ไหนหรือการทำงานขั้นตอนใด ถ้ามีผลตอบรับในแง่บวก ศุภลักษณ์ไม่เคยรีรอที่จะยกเครดิตการทำงานให้กับทุกคนในทีม เป็นที่มาของ ‘บอสพี่จี๊ด’ ที่น้อง ๆ ทุกคนรักและชื่นชม
“เวลาทำงาน หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจและสื่อสารกันรู้เรื่อง นี่เป็นเรื่องที่ฟังดูไม่ยาก แต่ทำจริง ๆ ยาก แล้วเราต้องทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าทำงานเป็นทีมให้ได้ เพราะหากทีมไม่เป็นทีมจะทำงานยากมากและจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง”
ซีอีโอหญิงแกร่งใช้ความเข้าใจและความรู้สึกเมื่อครั้งยังเป็นพนักงานมาบริหารใจคน เธอเล่าว่าโชคดีที่เริ่มต้นชีวิตมาจากการที่ต้องปรับตัว และเริ่มต้นจากการทำงานหนักมาก่อน จึงเข้าใจจิตใจคนทำงาน นอกจากนี้ยังมีโอกาสทำงานร่วมกับคนเก่ง ๆ ทำให้เห็นว่าการเป็นเจ้านายและการเป็น role model ที่ดีเป็นอย่างไร ดังนั้นเมื่อไปทำงานแต่ละที่ ศุภลักษณ์จึงไม่ทำงานแบบสั่ง แต่จะให้น้อง ๆ ในทีมมีความเข้าใจ มีส่วนร่วมในการวางแผน หากเกิดปัญหาจุดไหนก็จะเข้าไปรับฟัง ช่วยวิเคราะห์ และแนะนำแนวทางแก้ปัญหา
“เราจะบอกน้อง ๆ เสมอว่า ‘Nothing is impossible’ พอคิดแบบนี้ เราจะมองว่าทุกอย่างคือความท้าทาย สิ่งที่เราได้ทำคือการที่เราได้โอกาสในการพัฒนาศักยภาพตัวเรา มันไม่มีหรอก อะไรที่ทำไม่ได้ แก้ไม่ได้ อยู่ที่ว่าเรามองงานนั้นอย่างไร แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ามองทุกอย่างราบรื่นไปหมด เรามองเห็นปัญหาแล้ว แต่ปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหาที่เราจะแก้ไม่ได้ ในการทำงานเราจะไปให้สุด ไม่มีคำว่า give up ง่าย ๆ
“เราไม่ได้อยู่คนเดียว ถ้าเรามีทีมที่ดี มีความชัดเจน และที่สำคัญคือมีความหลงใหลในสิ่งที่ทำ เพราะถ้าเรามี passion ในการทำงาน มันก็จะสนุกและท้าทาย เราเหนื่อยแต่ก็แฮปปี้ที่จะทำ เราอาจจะเลือกงานไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะมีความสุขกับงานได้” ศุภลักษณ์ แม่ทัพหญิงแห่ง ‘Britania’ เอ่ยทิ้งท้าย