“การได้เล่นกีฬาขี่ม้าโปโล คือ การได้ใช้เวลาอยู่ท่ามกลางบุคคลอันเป็นที่รัก”
ครั้งหนึ่ง วิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้ก่อตั้งอาณาจักร คิง เพาเวอร์ กรุ๊ป ผู้ก่อตั้งและอดีตนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย เคยฝากคำกล่าวที่มีความหมายลุ่มลึกเอาไว้
ด้วยความรักและความผูกพันที่มีต่อ วิชัย ศรีวัฒนประภา (ค.ศ.1958-2018) บุคคลผู้มีความสุขในการให้มาตลอดชีวิต จึงเป็นที่มาของงาน The King Power Royal Charity Polo Cup 2019 for The Vichai Srivaddhanaprabha Memorial Trophy ซึ่งนับเป็นการแข่งขันโปโลการกุศลครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนทรัพย์ (โดยไม่หักค่าใช้จ่าย) เป็นเงิน 1 ล้านปอนด์ มอบให้องค์กรการกุศลในประเทศอังกฤษ 15 แห่ง และเพื่อร่วมรำลึกถึง วิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้มีคุณูปการต่อวงการกีฬาขี่ม้าโปโล
[caption id="attachment_10290" align="aligncenter" width="1200"]
ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และดยุกแห่งซัสเซกส์ในการแข่งขันโปโลครั้งนี้[/caption]
งานจัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ณ บิลลิ่งแบร์ เอสเตท ประเทศอังกฤษ โดยมีแขกผู้มีเกียรติทั้งจากประเทศไทยและประเทศอังกฤษ เดินทางมาร่วมงานอย่างอบอุ่น เพื่อรอชมการแข่งขันโปโลนัดประวัติศาสตร์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากราชวงศ์วินเซอร์ นำโดย เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และ เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกส์ ทรงร่วมลงแข่งขันกีฬาโปโลการกุศลครั้งนี้ พร้อมผู้บริหารจาก คิง เพาเวอร์ กรุ๊ป นำโดย ต๊อบ อัยยวัฒน์ และ ต้อล อภิเชษฐ์ สองทายาทแห่งศรีวัฒนประภา ซึ่งเมื่อการแข่งขันจบลง เอมอร ศรีวัฒนประภา ได้มอบถ้วยรางวัลให้กับทีม “คิง เพาเวอร์” นำโดยเจ้าชายวิลเลียม ซึ่งเป็นทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขัน รวมถึงถวายของที่ระลึกให้กับเจ้าชายทั้งสองพระองค์
เมื่อพูดถึง โปโล สุดยอดกีฬาประเภทนี้สามารถสืบสานเรื่องราวไปได้นานถึง 600 ปีก่อนคริสตกาล ว่ากันว่าเริ่มต้นการละเล่นโดยชาวเปอร์เซีย แล้วค่อย ๆ พัฒนาเรื่อยมา กระทั่งกลายเป็นกีฬาที่แพร่หลายไปยังดินแดนตะวันออก โดยเฉพาะชาวมองโกลที่สามารถเล่นกีฬานี้ได้ดี เพราะปกติพวกเขาใช้ชีวิตอยู่บนหลังม้าอยู่แล้ว เพียงทว่าในช่วงยุคสงครามแต่เก่าก่อนนั้น โปโลในแบบฉบับของมองโกล จะดูดุดันและน่าเกรงขามกว่าเพื่อน เพราะพวกเขาเปลี่ยนจากการตีลูกหนังมาเป็นหัวกะโหลกของเชลยศึกแทน
ต่อมาเมื่อถึงยุคอาณานิคม ชาวอังกฤษในอินเดียได้รู้จักเกมกีฬาประเภทนี้ จึงนำมาเล่นพร้อมกับพัฒนากติกาให้มีมาตรฐาน และก่อตั้งเป็นสโมสรขึ้นมา จนกีฬาโปโลถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก เช่นเดียวกันกับในประเทศไทย โปโลเริ่มเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ยังจำกัดอยู่ในแวดวงชนชั้นสูงและชาวต่างประเทศ เพราะกีฬาชนิดนี้มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งในการซื้อและการดูแลม้า การใช้สนามแข่งขัน ตลอดจนการตระเตรียมทักษะความพร้อมของร่างกาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ความนิยมในกีฬาประเภทนี้จะค่อย ๆ เงียบหายไป
อย่างไรก็ดี ด้วยความรักและด้วยสายตาที่เล็งเห็นถึงคุณค่าของกีฬาโปโล ซึ่งเป็นเสมือนการฝึกเตรียมความพร้อมสำหรับชนชั้นนำ วิชัย ศรีวัฒนประภา ได้ผลักดันและสนับสนุนให้กีฬาโปโลกลับมาสู่สังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง โดยจัดตั้งเป็น "สมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย” ที่ได้รับการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และบรรจุเป็นรายการแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ณ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ ค.ศ. 2007
งาน The King Power Royal Charity Polo Cup 2019 for The Vichai Srivaddhanaprabha Memorial Trophy ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากดยุกแห่งเคมบริดจ์เป็นประธานเปิดงาน โดยมีครอบครัวศรีวัฒนประภา ได้แก่ เอมอร ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์, วรมาศ ศรีวัฒนประภา รองประธานกรรมการ, อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา และอรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา พร้อมด้วยผู้บริหารกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ให้การต้อนรับ
การแข่งขันมีขึ้นระหว่าง ทีม คิง เพาเวอร์ และ ทีม ทาร์แมค (Tarmac) กำหนดไว้ 4 เกม (4 Chukkas) โดยแต่ละเกมจะมีความยาว 7 นาที ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอังกฤษอย่างท่วมท้น โดย ทีม คิง เพาเวอร์ ประกอบด้วย นักเล่นหมายเลข 1 อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา หมายเลข 2 Amr Zedan หมายเลข 3 Polito Pieres และ หมายเลข 4 เจ้าชายวิลเลียม ส่วนทีม ทาร์แมค ประกอบด้วย นักเล่นหมายเลข 1 อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา หมายเลข 2 เจ้าชายแฮร์รี หมายเลข 3 Henry Porter และ หมายเลข 4 Marcos Di Paola
[caption id="attachment_10291" align="aligncenter" width="1200"]
สองพี่น้อง อภิเชษฐ์–อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา[/caption]
ผู้ชนะได้แก่ ทีม คิง เพาเวอร์ ด้วยคะแนน 7 ต่อ 6 และได้ครองถ้วย The Vichai Srivaddhanaprabha Memorial Trophy 2019 ไปในที่สุด
ครอบครัวศรีวัฒนประภา, ธราภุช คูหาเปรมกิจ และนิษฐา จิรยั่งยืน
[caption id="attachment_10293" align="aligncenter" width="640"]
ชลีกร สุรพงษ์ชัย , วิชิต สุรพงษ์ชัย , วรพนิต รวยรุ่งเรือง[/caption]
ส่วนแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน มีอาทิ รวิ อิทธิระวิวงศ์, มิว นิษฐา จิรยั่งยืน, ธราภุช คูหาเปรมกิจ, พลอยนภัส เรืองศิริวรากุล, นันทณัฐ เอื้อศิริทรัพย์, ชุติมา เปรื่องเมธางกูร, แพรสลิน เชาวลิต, พงษ์ชัย จินดาสุข, พีรวัชร์ เหราบัตย์, ดิสพล จันศิริ, รักพงศ์ จันทรมังกร, ชลรัศมี งาทวีสุข, หม่อมหลวงบวรนวเทพ เทวกุล, วิชิต–ชลีกร สุรพงษ์ชัย, เจษฎาภรณ์ ผลดี, อภินรา ศรีกาญจนา, นาตาลี เจียรวนนท์, พรฤดี เติมไทยมงคล, พลอย ปิ่นแสง, พิมลพร พัฒนวิมล, ปรีชา ถิรกิจพงศ์, กนกศักดิ์–จันทมาศ ปิ่นแสง, ทรงชัย อัจฉริยหิรัญชัย, ธวัชชัย-เนตรชนก ทวีศรี, เอนเทอเรส เชง, วรพนิต รวยรุ่งเรือง,สมยศ-พจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นต้น
[caption id="attachment_10294" align="aligncenter" width="1200"]
อภินรา ศรีกาญจนา, นาตาลี เจียรวนนท์, พรฤดี เติมไทยมงคล, พลอย ปิ่นแสง, พิมลพร พัฒนวิมล[/caption]
การชมการแข่งขันกีฬาโปโลให้สนุก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาชมกันถึงขอบสนาม โดยผู้ชมจะได้สัมผัสถึงบรรยากาศที่รื่นรมย์ ตั้งแต่สนามหญ้าสีเขียวขจี เสียงพากย์อันเร้าใจ เปี่ยมด้วยอรรถรส สอดแทรกเกร็ดข้อมูลที่น่าสนใจ เรื่อยไปจนถึงสีสันของการแต่งกายด้วยแพรพรรณอันงดงามของผู้คนที่มาร่วมงาน ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยอดีต โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่นิยมสวมหมวกปีกกว้างสไตล์อังกฤษ ซึ่งนอกจากจะใช้สำหรับกันแดดแล้ว ยังกลายเป็นแฟชั่นแสดงออกถึงความโดดเด่นได้อย่างมีสัน
สำหรับรายการแข่งขันครั้งนี้ เมื่อเจ้าชายทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จลงแข่งขันโปโล ดัชเชสเคท และดัชเชสเมแกน ได้เสด็จมาให้กำลังใจพระสวามี โดย ดัชเชสเคท เสด็จพร้อมด้วยเจ้าชายจอร์จ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ และเจ้าชายหลุยส์ ทรงมีพระเกษมสำราญ และมีพระจริยวัตรเรียบง่าย เหมือนสามัญชนทั่วไป พระองค์ทรงนั่งบนพื้นสนามหญ้า พร้อมด้วยพระกระยาหารสำหรับปิกนิก ขณะทรงรอเจ้าชายวิลเลียมบริเวณด้านข้างสนามแข่งขัน
เหนืออื่นใด คือการได้ชมความสามารถของนักโปโลแต่ละคน ที่จะต้องควบคุมม้าได้อย่างสมดุล ทั้งเกมรุกและเกมรับ การเลือกใช้ไม้ตี (mallets) ให้เหมาะกับสัดส่วนของร่างกาย ความสันทัดจัดเจนบนหลังม้า ทั้งการประชิดลูก การไล่กวด และการสกัดป้องกัน ในห้วงเวลาสั้น ๆ ที่ต้องเร่งทำความเร็วให้ได้อย่างพอเหมาะ ทั้งหมดนี้ วางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกติกา เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เล่นและม้าต้องประสบอุบัติเหตุ กระทั่งเกิดอาการบาดเจ็บ
“กีฬาโปโลน่าจะเป็นกีฬาที่เหนื่อยที่สุด มีความยากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสนาม ม้า ลูก ไม้ เราต้องมีสมาธิในการเล่นมาก ๆ ไม่อย่างนั้นมีโอกาสเจ็บตัว การควบม้าตีโปโล ดูเหมือนง่าย ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว จัดเป็นเกมที่มีความเร็วอย่างมาก แทบไม่ต่างจากการขี่มอเตอร์ไซค์...” ต๊อบ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา กล่าวกับ The People ภายหลังเสร็จสิ้นเกมการแข่งขัน
[caption id="attachment_10295" align="aligncenter" width="640"]
สองพี่น้อง อภิเชษฐ์-อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา[/caption]
ที่ผ่านมา ต๊อบ และ ต้อล อภิเชษฐ์ เล่นกีฬาโปโลด้วยกันมาเป็นเวลานาน มีประสบการณ์การแข่งขันในหลาย ๆ สนามแข่งขันหลัก พวกเขาเคยเป็นตัวแทนนักกีฬาทีมชาติไทย ตั้งแต่มหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในสมัยนั้น ทั้งคู่พาทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จ และยังนำทีมขี่ม้าโปโล คิง เพาเวอร์ ฟ็อกซ์เซส (King Power Foxes) คว้าแชมป์รายการ Jaeger–LeCoultre Gold Cup ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลที่สำคัญที่สุดรายการหนึ่งของประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ต๊อบ ยังเคยทำหน้าที่เป็นกัปตันทีมชาติไทย แชมป์ไทยแลนด์ โปโล คิงส์คัพ ครั้งที่ 6 มาแล้ว ซึ่งบ่งบอกถึงความรักความหลงใหลในเกมตีคลีนี้ได้เป็นอย่างดี
เป็นที่ทราบกันว่า นักธุรกิจอย่าง วิชัย ศรีวัฒนประภา มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์อังกฤษผ่านความชื่นชอบในกีฬาโปโลมานาน โดยในปี ค.ศ. 2005 วิชัย พร้อมด้วย เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์, เจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ และ อัลดองโฟ แคมเปียโซ (มือหนึ่งโปโลชาวอาร์เจนตินา) เคยจัดทีมออกแข่งขันในรายการ จักรวรรดิคัพ ระหว่างทีมประเทศไทย กับทีมดูไบ ที่ริชมอนด์ในลอนดอนมาแล้ว
อัยยวัฒน์ ย้อนความทรงจำว่า เจ้าสัววิชัยโปรดปรานการเล่นโปโลเป็นอย่างยิ่ง และได้เล่นกีฬาชนิดนี้กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์มานาน แต่หลังจากนั้น เมื่อเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีพระชนมายุเพิ่มขึ้น ทางสำนักพระราชวังได้ขอให้พระองค์ทรงหยุดเล่น ท่านจึงทรงโปรดให้พระโอรสมาเล่นแทน อันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ของเจเนอเรชั่นที่สอง ระหว่างราชวงศ์วินเซอร์ แห่งประเทศอังกฤษ กับตระกูลศรีวัฒนประภา แห่งประเทศไทย ที่มีความใกล้ชิดแนบแน่นมาจนถึงวันนี้
“พอเริ่มแข่งกันบ่อย เราก็เริ่มศึกษาลักษณะของเกม มีการวางกลยุทธ์ มีการเอาเทปวิดีโอการแข่งขันโปโลครั้งก่อน ๆ มาวิเคราะห์ดูว่าแมทช์หน้าจะเล่นอย่างไร ซึ่งวิธีการแบบนี้ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่ด้วยพื้นฐานที่เรารักกีฬา และสนใจฟุตบอล เราได้นำเอาวิธีการเดียวกันกับการวางกลยุทธ์ฟุตบอลมาใช้ ซึ่งได้ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ” อัยยวัฒน์ ในฐานะนักกีฬาและผู้บริหารทีมฟุตบอลระดับโลก เล่าถึงแนวทางการพัฒนาการเล่นโปโลให้ดียิ่งขึ้น
จากความรักมาสู่ความตั้งใจและความมุ่งหวังให้กีฬาประเภทนี้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้นักกีฬาไทยมีโอกาสพัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมกับสากล นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก
ที่ผ่านมา นักกีฬาขี่ม้าโปโลทีมชาติไทย เคยได้รับเหรียญและถ้วยรางวัลจากการแข่งขันหลายรายการ อาทิ Thailand Polo King’s Cup ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, Cartier Queen’s Cup ที่ได้รับจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ, Jaeger-LeCoultre Gold Cup, การแข่งขันซีเกมส์ เป็นต้น
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเหล่านี้ บ่งบงอกถึงความตั้งใจของ วิชัย ศรีวัฒนประภา ได้เป็นอย่างดี โดย อัยยวัฒน์ ในฐานะทายาท ประกาศเดินหน้าสานต่อเจตนารมณ์ของคุณพ่อ สนับสนุนนักกีฬาและกีฬาขี่ม้าโปโลไทยในทุกมิติ ให้ก้าวไกลสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืนต่อไป
ภาพ: King Power