บอริส จอห์นสัน อดีตนัก (ปั้น) ข่าว สู่เก้าอี้นายกฯ อังกฤษ

บอริส จอห์นสัน อดีตนัก (ปั้น) ข่าว สู่เก้าอี้นายกฯ อังกฤษ
"ถ้าคุณมองไปที่อียูในตอนนี้...มันทำให้ผมคิดถึงชุดชั้นในที่ออกแบบมาอย่างชุ่ย ๆ ซึ่งตอนนี้มันคับเกินไปในบางจุด เรียกว่าคับสุด ๆ บีบคั้นอย่างรุนแรง แต่กลับหลวมจนน่าเป็นห่วงในจุดอื่น" บอริส จอห์นสัน อดีตนายกเล็กกรุงลอนดอนจากพรรคอนุรักษนิยม (และนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน) กล่าวพลางก้มมองลงต่ำ ระหว่างรณรงค์หาเสียงกรณีถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษเมื่อปี 2016 (The Guardian คำปราศรัยของจอห์นสันสื่อถึงความเป็นคนที่ชอบสร้างสีสันดึงดูดผู้ฟังได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นนิสัยที่ติดมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักข่าว แม้กระทั่งตอนที่เขาขึ้นพูดรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมก็ยังพูดหยอก เจเรมี ฮันต์ (Jeremy Hunt) คู่แข่งว่า "ผมอยากจะเริ่มด้วยการขอบคุณเจเรมี คู่แข่งของผมที่เป็นทั้งนักหาเสียงผู้น่าเกรงขาม ยอดผู้นำ และนักการเมืองชั้นเยี่ยม ในงานปราศรัยหาเสียง 20 ครั้ง...คุณแสดงความเป็นมิตร วางตัวดี แถมยังมีไอเดียที่ปราดเปรื่องซึ่งผมเตรียมจะขโมยมาใช้" จอห์นสันเกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ปี 1964 เป็นชาวอังกฤษที่เกิดในนิวยอร์ก แม้ภาพลักษณ์ของเขาจะดูตลก ๆ ไม่จริงจัง แต่จริง ๆ เขาเป็นคนที่เรียนเก่งได้ทุนเรียนอีตัน ก่อนเรียนต่อด้านประวัติศาสตร์และปรัชญาคลาสสิคที่ออกซ์ฟอร์ด ได้เป็นประธานชมรมโต้วาทีของออกซ์ฟอร์ด จบแล้วทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการระยะสั้น ๆ ก่อนออกมาเป็นนักข่าวที่ The Times สื่อเก่าแก่ของอังกฤษ ก่อนถูกไล่ออกในปี 1987 ด้วยข้อกล่าวหาปั้นคำพูดเท็จ (Britannica) การที่เขาถูกไล่ออกสืบเนื่องมาจากการปั้นคำพูดเท็จให้กับนักประวัติศาสตร์ โคลิน ลูคัส (Colin Lucas) ซึ่งเป็นพ่อทูนหัวของเขาเอง (godfather - ในธรรมเนียมชาวคริสต์ พ่อทูนหัวคือคนที่เป็นสักขีพยานในการรับศีลจุ่มของเด็กเพื่อรับเข้าสู่อาณาจักรแห่งพระเจ้า และเป็นผู้รับหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนด้านศาสนาและศีลธรรมให้กับเด็ก) เพื่อเอาลงในบทความหน้าหนึ่ง ว่าด้วยการค้นพบโรส พาเลส (Rose Palace - ปราสาทดอกกุหลาบ) ของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 2 โดยเขาเคยกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้เมื่อปี 2002 ว่า "ผมอยากจะหาเรื่องราวของเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ให้มากกว่าที่รู้ ที่ผมรู้ก็แค่เขามีนายบำเรอที่ชื่อ เพียซ เกฟส์ตัน (Piers Gaveston) ซึ่งถูกฆ่าตายในปราสาทนี้ ผมดิ้นรนหานักประวัติศาสตร์สักคนที่จะช่วยผมได้ แต่คนเดียวที่ผมรู้จักก็คือโคลิน ลูคัส พ่อทูนหัวของผม เขาเป็นคนที่โดดเด่นมาก ๆ และตอนนี้ก็เป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 2004) จริง ๆ แล้วเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ยุคกลางของอังกฤษ แต่ผมก็โทรไปหาเขา เขาก็ใจดีให้ความเห็นเกี่ยวกับเอ็ดเวิร์ดที่ 2  "ปัญหาก็คือ บางจุดในงานชิ้นนี้ว่าด้วยเรื่องการนัวเนียกันของเอ็ดเวิร์ดที่ 2 กับเพียซ เกฟส์ตันในโรส พาเลส นั้น ผมไปใส่ว่ามันเป็นความเห็นของโคลิน แต่โชคร้ายอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดแห่งหนึ่งจับได้ว่า ตอนที่มีการสร้างโรส พาเลส นั้น เพียซ เกฟส์ตันถูกฆ่าตายไปก่อนนานแล้ว มันเป็นอะไรที่น่าชัง โคลินไม่ได้อะไรพูดทำนองนั้น" (The Independent) แม้จะทำผิดหลักจรรยาบรรณนักข่าวในข้อสำคัญ แต่ไม่นานเขาก็ได้งานใหม่ที่ Daily Telegraph โดยได้เป็นนักข่าวประจำบรัสเซลส์รายงานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรป ที่ที่เขาใช้เป็นฐานแสดงความเห็นต่อต้านอียู (หรืออีซี - European Conmission ในสมัยนั้น) ที่พยายามควบคุมมาตรฐานตลาดในทุกประเทศสมาชิก ด้วยการล้อเลียน เสียดสีแบบคลิกเบตเช่น "อิตาลีไม่ได้มาตรฐานในเรื่องถุงยาง" โดยล้อเลียนเรื่องขนาดอวัยวะเพศของชาวอิตาเลียน ขณะที่ยุโรปกำลังพูดคุยกันถึงเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย  หรือการขึ้นพาดหัวว่าด้วยสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพยุโรปในปี 1992 ว่า "เดลอร์ (ฌัก เดลอร์, Jacques Delors - ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป หรืออีซีในขณะนั้น) วางแผนปกครองยุโรป" ก็ทำให้ผู้อ่านหวาดวิตกเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์กสมัยนั้นเชื่อว่า สื่อเดนมาร์กคงไปเห็นรายงานของจอห์นสันเข้าจึงเอาไปรายงานต่อ และมีส่วนอย่างแน่นอนต่อการลงประชามติของประชาชน โดยผลที่ออกมาเป็นฝ่ายไม่เอาอียูชนะไปด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิว 50.7 เปอร์เซ็นต์ (The Guardian) การแต่งเติมสีสันของข่าวสารจนเกินจริง หรือบางทีก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักกลายเป็นจุดขายที่คนอ่านชอบมาก เขาทำให้คนหันมาสนใจการเมืองในยุโรปกันมากขึ้น มีสื่อหลายหัวหันมาเอาเยี่ยงอย่างจนเกิดเป็นกระแสตั้งข้อสงสัยไปจนถึงต่อต้านการทำงานของสหภาพยุโรป ซึ่งมีส่วนอย่างมากต่อการก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในพรรคอนุรักษนิยมในอีกเกือบสามสิบปีต่อมา จอห์นสันลงเลือกตั้งครั้งแรกในนามพรรคอนุรักษนิยมเมื่อปี 1997 แต่สอบตกได้เข้าสภาครั้งแรกในปี 2001 ในขณะที่ยังคงทำงานสื่อควบคู่เรื่อยมา การคุ้นเคยกับสื่อทำให้เขารู้ดีว่าจะสามารถทำตัวให้เป็นข่าวได้อย่างไร ตั้งแต่การพูด การแต่งตัว ทรงผมทำให้เขาได้ปรากฏตัวอยู่ในสื่อตลอดเวลา จนกลายเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ประชาชนคุ้นหูคุ้นตามากที่สุด  นอกจากเรื่องการพูดจาและการแสดงความเห็นแบบเอามัน (จนหลายครั้งต้องออกมาขอโทษเหมือนในปี 2004 ที่เขียนบทความกล่าวหาว่าชาวลิเวอร์พูลชอบทำตัวเหมือนตัวเองตกเป็นเหยื่ออยู่ตลอดเวลา เช่น เหตุการณ์สนามฮิลส์โบโรถล่ม ที่โยนบาปไปให้ตำรวจ โดยไม่ได้สนใจว่าแฟนบอลขี้เมาของตัวเองนั่นแหละที่พยายามแหวกเข้าไปในสนาม) เขายังมีประเด็นเรื่องชู้สาวจนถูกไล่ออกจากตำแหน่งรองประธานพรรคและรัฐมนตรีเงากระทรวงศิลปะในปี 2004 หลังมีข้อครหาว่าเขาซึ่งเป็นบรรณาธิการของ Spectator ไปมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับคอลัมนิสต์ในสังกัดเข้า ซึ่งแม้ว่าเขาจะปฏิเสธ แต่แม่ของฝ่ายหญิงยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง แต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็กลับเข้าสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้ง สามารถเอาชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนในปี 2008 ได้อย่างพลิกความคาดหมายท่ามกลางเสียงปรามาส ก่อนรักษาเก้าอี้ไว้ได้ในอีกสี่ปีต่อมา ซึ่งในสมัยหลังเขาหันไปทุ่มเทเรื่องการรณรงค์หาเสียงเพื่อพาอังกฤษออกจากอียูตั้งแต่ยังไม่ได้ประกาศว่าจะไม่ลงเลือกตั้งสมัยต่อไป ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าเขาละทิ้งหน้าที่หลักเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัวทางการเมืองซึ่งก็ไม่ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะกระแส Brexit นี่เองที่ทำให้เขากลายเป็นผู้นำที่โดดเด่นที่สุดในฝ่ายขวาด้วยการประกาศว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องออกจากอียูให้ได้ไม่ว่าจะได้ข้อตกลง หรือไม่ได้ข้อตกลงใด ๆ กับทางอียูก็ตาม อย่างไรก็ดี ด้วยแนวทางการทำงานที่ผ่านมาของจอห์นสัน ทำให้หลายคนเห็นว่า เขาดีแต่พูดหรือไม่? เขาจะทำให้อังกฤษได้ข้อตกลงกับอียูได้อย่างไรในระยะเวลาเพียง 3 เดือน ทั้ง ๆ ที่ เทรีซา เมย์ เจรจาต่อรองมาสองปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ และถ้าเขาจะออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงทางการค้าใหม่จริง ๆ นักวิเคราะห์ต่างมองว่านั่นจะสร้างความวุ่นวายทั้งการค้า เศรษฐกิจ และอาจกระทบต่อความมั่นคงเรื่องชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และไอร์แลนด์เป็นอย่างมาก คำพูดของจอห์นสันจึงถูกตั้งข้อสงสัยว่าเขาจริงจังกับสิ่งที่พูดแค่ไหนกัน?