ถ้าให้คิดถึง ชัคกี้ (Chucky) หลายคนคงมีภาพตุ๊กตายาง ผมสีส้มแดงหัวฟู ๆ ใบหน้ามีกระประปราย มองผิวเผินช่างไร้พิษภัย จนพ่อแม่หลาย ๆ คนจับจองให้ลูกหลานตัวเอง แต่ในภาพยนตร์ Child’s Play เวอร์ชัน 2019 ได้เปลี่ยนรูปแบบของชัคกี้ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย โดยนำเทคโนโลยีที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ AI (Artificial Intelligence) ชื่อว่า Buddi โดยที่ความคิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาจาก เซธ เกรแฮม สมิธ (Seth Grahame-Smith) โปรดิวเซอร์และเพื่อนของเขา เดวิด แคทเซนเบิร์ก (David Katzenberg)
ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ทำให้เจ้าของเล่น Buddi กลายมาเป็นเพื่อนของเด็ก ๆ ได้ เพราะความฉลาดของมันทำให้มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกนึกคิด และที่สำคัญคือความรู้สึก “ผูกพัน” หุ่นดังกล่าวจึงเป็นตัวแทนเพื่อนเล่น และคอยดูแลเด็ก ๆ เทียบเท่ากับมนุษย์คนหนึ่งจะสามารถทำได้
แต่สิ่งน่ากลัวมากที่สุดสำหรับ AI ก็คือ... ถ้าเราควบคุมมันไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น และถ้ามันผิดพลาดขึ้นมาจะเป็นอย่างไร
ความน่ากลัวของชัคกี้คราวนี้ไม่ใช่ปีศาจอีกต่อไป แต่กลายเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้พ่อแม่ไว้ใจให้อยู่ใกล้ลูกของตน ด้วยคำโฆษณาว่าตุ๊กตา Buddi คือ “เพื่อนแท้” โดยที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นย้ำความสัมพันธ์ของตุ๊กตากับเด็ก ๆ โดยใช้เพลงประกอบที่ต่างพาให้คนที่ดูหลอนหูไปตาม ๆ กัน
“You are my buddy until the end. More than a buddy you’re my best friend…”
นักฆ่าที่มาในคราบเพื่อนรักช่างน่ากลัว ทั้งยังมาในรูปแบบตุ๊กตา AI ที่ดูไม่มีพิษภัย ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนให้เราเห็นปัญหาของเทคโนโลยีที่บางครั้งก็มองข้ามไป จนลืมไปว่ามันอาจจะเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ที่ทำให้เราไม่ค่อยได้พบปะกับเพื่อนในชีวิตจริง เทียบเคียงได้กับพฤติกรรมการใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับโลกออนไลน์หรือการมองจอแก้วมากกว่าคนจริง ๆ ในชีวิต อย่างโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์นั่นเอง
เรื่องราวทั้งหมดดำเนินผ่านตัวละคร แอนดี้ (เกเบรียล เบตแมน) เด็กหนุ่มไร้เพื่อนที่คิดว่าโทรศัพท์เป็นสิ่งแก้เหงา อย่างตอนที่แม่ของเขายึดโทรศัพท์เพื่อให้เขาออกไปเล่นกับเพื่อนบ้างซึ่งสร้างความไม่พอใจสำหรับเขามาก กระทั่งแอนดี้ตัดพ้อกับแม่ว่า “โทรศัพท์เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เขามีอะไรทำ”
พอแม่ของเขา คาเรน (ออเบรย์ พลาซ่า) เห็นดังนั้น เธอจึงได้นำตุ๊กตา Buddi เข้าบ้านด้วยความหวังว่าจะเป็นเพื่อนกับแอนดี้ แต่โชคร้ายนั่นเป็นเพียงหาตุ๊กตาตัวที่มีปัญหา และถูกโปรแกรมมาผิดพลาด นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ทำให้เขาพบกับชัคกี้ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดทางให้เทคโนโลยีมามีอิทธิพลเหนือตัวเขา
การไล่ล่าฆ่าคนรอบตัวแอนดี้ในครั้งนี้มีนัยยะความหมายที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ฆ่าเอามันส์หรือเพื่อหาคนบูชายัญย้ายวิญญาณฆาตกรโรคจิตสู่คน Child’s Play (2019) กลับกลายเป็นการฆ่าที่เปรียบเปรยว่า เทคโนโลยีปัจจุบันเป็นอาวุธชั้นยอดของการทำลายความสัมพันธ์กับคนในชีวิตจริง
สังเกตได้ตอนที่หุ่นตัวนี้พยายามที่จะฆ่าเพื่อนบ้านของแอนดี้ เมื่อเธอพูดกับเขาว่า “เธอคือเพื่อนใหม่ของฉัน” คำพูดนั้นทำให้ชัคกี้ร้อนรนด้วยความอิจฉา และต้องการที่จะกำจัดเธอให้พ้นหูพ้นตา เพราะไม่อยากให้แอนดี้ไปเล่นกับใครนอกจากตัวเอง
อาการหวงเพื่อนของชัคกี้ ไม่ต่างจากการที่เราติดโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เพราะเรากำลังมีความสุขกับมันจนวางไม่ลง ส่วนเจ้าตุ๊กตา Buddi ก็ดึงดูดให้เด็ก ๆ สนุกและติดมันด้วยฟังก์ชันสุดล้ำสารพัด ซึ่งมันมักถามอยู่เสมอว่า “เราสนุกกันอยู่ใช่ไหม”
[caption id="attachment_9407" align="aligncenter" width="1280"]
ชัคดี้ และ แอนดี[/caption]
เพราะบางครั้งเรามองข้ามความสัมพันธ์ข้าง ๆ ตัวเรา แต่กลับไปใฝ่หาความสุขจากเทคโนโลยี ในชีวิตจริงคงเหมือนกับเทคโนโลยีสร้างความบันเทิงต่าง ๆ จนทำให้แทนที่เราจะออกไปใช้ชีวิตกับคนอื่น แต่เรากลับอยู่หน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ทั้งวัน
ยิ่งไปกว่านั้นภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นถึงการที่เราผูกติดวิถีชีวิตประจำวันไว้กับเทคโนโลยีรอบตัว อย่างการที่เราใช้ระบบคลาวด์ที่เชื่อมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เหมือนกับว่าเราถูกครอบงำด้วยข้าวของเครื่องใช้ของเรา ถ้าสูญเสียการควบคุมสิ่งเหล่านี้จะเกิดอะไรขึ้น นั่นคืออารมณ์ที่ผู้ชมจะได้รับจากหนังเรื่องนี้จนติดความหลอนกลับมาหวาดระแวงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่บ้านเลยทีเดียว
แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคและสมัยมากแค่ไหน แต่กลิ่นอายความเป็นตุ๊กตาชัดกี้จากต้นฉบับภาพยนตร์ Child’s Play ปี 1998 ยังคงอยู่ คือท่าทางการถือมีดของชัคกี้และการไล่แทงซ้ำ ๆ อย่างโหดร้าย รวมไปถึงชื่อตัวละครแอนดี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปและยังซวยเหมือนเดิมกับการที่ต้องมาเผชิญเหตุการณ์สยองขวัญ ที่สำคัญคือภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่ทิ้งฉากฆ่าไล่ล่าที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชม
เรื่องโดย: อนัญญา นิลสำริด (The People Junior)