พระสุวัฒน์: พระสัสสุในพระธรรมราชา ไส้ศึกหงสาในกรุงศรีฯ

พระสุวัฒน์: พระสัสสุในพระธรรมราชา ไส้ศึกหงสาในกรุงศรีฯ
“ออกญาจักรี” ถือเป็นตัวร้ายซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นที่จงเกลียดจงชังมากที่สุดคนหนึ่งตามธรรมเนียมการเล่าประวัติศาสตร์เชิงชาตินิยม เนื่องจากออกญาจักรีนี้คือผู้ทรยศไปเข้ากับฝ่ายกรุงหงสาวดี และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องเสียเอกราชเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดี แนวทางการเล่าประวัติศาสตร์เช่นนั้น เหมือนเป็นการโยนบาปให้คนคนเดียว ทั้ง ๆ ที่ ณ ช่วงเวลานั้น กรุงศรีฯ ได้อ่อนแอลงมาก อีกทั้งขุนนาง และชนชั้นสูงที่หันไปเข้าหาฝ่ายพม่าก็มิได้มีแต่ออกญาจักรี หากยังมี “ออกญาพิษณุโลก” หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ราชบุตรเขยในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือพระเทียรราชารวมอยู่ด้วย และจากบันทึกของ ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) หรือ “วัน วลิต” พ่อค้าชาวดัตช์ที่มาประจำการที่สถานีการค้าในกรุงศรีฯ ช่วงศตวรรษที่ 17 (ตรงกับรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง) เขาให้เครดิตการเสียกรุงครั้งแรก (ที่เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะเขียนบันทึกนี้ราว 70 ปี) ไปที่เครือข่ายของออกญาพิษณุโลกเป็นสำคัญ ทั้งในฐานะผู้ยุยงให้เกิดสงคราม และการมี “ไส้ศึก” คนสำคัญในราชสำนักกรุงศรีฯ นั่นก็คือ “พระสุวัฒน์” (Suwat หรือ Souwat) ผู้มีฐานะเป็นพระสัสสุ (แม่ยาย) ของพระองค์ ตามบันทึกของพ่อค้าดัตช์ ความขัดแย้งคราวนั้นเริ่มขึ้นจาก “รักขม” ระหว่างออกญาพิษณุโลก กับพระชายา คือพระสวัสดิ์ (หรือ พระวิสุทธิกษัตรีย์) พระธิดาในพระเทียรราชา ทั้งคู่ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ ครั้งหนึ่ง ออกญาพิษณุโลกลงไม้ลงมือรุนแรง จนพระสวัสดิ์ได้แผลเลือดออกที่ศีรษะ จึงใช้ผ้าเช็ดเลือดนั้น แล้วจึงเอาผ้าที่เปื้อนเลือดบรรจุถ้วยทองคำส่งถึงพระเทียรราชาที่กรุงศรีอยุธยา พระเทียรราชาทรงทราบเรื่องก็โกรธมาก สั่งให้เตรียมทัพเพื่อยกไปตีเมืองพิษณุโลก ออกญาพิษณุโลกรู้เข้าจึงรีบหนีไปเข้ากับกรุงหงสาวดีแห่งพระเจ้าบุเรงนอง และพยายามยุยงให้พระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพไปตีกรุงศรีฯ เพื่อชำระแค้น โดยได้กราบทูลว่า พระเทียรราชาจับช้างเผือกได้ 7 ช้าง บางตัวถูกจับได้ในขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงหงสา พระเจ้าบุเรงนองจึงเป็นผู้ทรงสิทธิในช้างเหล่านั้น ควรที่จะส่งสาส์นไปขอให้อยุธยาส่งช้างเผือกมาให้พระองค์สัก 2-3 ช้าง  พระเจ้ากรุงหงสาเห็นดีเห็นงามจึงส่งหนังสือไปถึงอยุธยา แต่อยุธยาปฏิเสธคำขอ จึงเกิดเป็นสงครามยกแรกขึ้นมา แต่เนื่องจากอยุธยาเกิดกบฏภายใน เมื่อทัพปัตตานีที่เบื้องต้นยกกำลังขึ้นมาเพื่อต้านทัพหงสา เกิดอยากยึดกรุงศรีฯ ขึ้น จึงเกิดความวุ่นวายภายใน และพระเทียรราชาก็เสียชีวิตลงไม่นานหลังการปราบกบฏ พระเจ้ากรุงหงสารู้แล้วเกิดสลดจึงตัดสินใจถอยทัพ [ฟาน ฟลีตยังอ้างว่าเมื่อพระเจ้ากรุงหงสาตัดสินใจยกทัพกลับนั้น พระองค์ก็เกิดประชวรและเสียชีวิตลง แต่ในความเป็นจริง พระเจ้าบุเรงนองหาได้สวรรคต ณ เวลานั้นไม่ และในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เล่าว่าที่ทัพหงสายอมถอยก็เพราะทางกรุงศรีฯ ขอสงบศึก เนื่องจากทัพหงสาจับตัวพระราชโอรสสองพระองค์ของพระเทียรราชาเอาไว้ได้ พระเทียรราชาจึงขอแลกพระราชโอรสกับช้างเผือกและสานสัมพันธไมตรีของทั้งสองอาณาจักร] ฝ่ายออกญาพิษณุโลกเมื่อเห็นว่าทัพหงสาตีกรุงศรีฯ ไม่แตกก็ยังไม่หายแค้น (ขอย้ำว่านี่คือคำบรรยายตามสำนวนของฟาน ฟลีต) จึงยุยงให้พระเจ้ากรุงหงสาวดีเคลื่อนทัพอีกครั้ง ซึ่งก็สำเร็จตามประสงค์ ทัพหงสายกมาล้อมอยุธยาได้พักหนึ่งก็ต้องถอยอีกครั้งไปยังพิษณุโลกเพราะต้องหนีน้ำ เมื่อน้ำลดจึงยกทัพลงมาอีกรอบ แต่รบพุ่งอยู่นานก็ตีอยุธยาไม่แตก ทำให้สถานะของออกญาพิษณุโลกในราชสำนักหงสาวดีเริ่มสั่นคลอน เพราะออกญาพิษณุโลกคือผู้ยุยงให้ยกทัพมาโดยอ้างว่าจะยึดอยุธยาได้โดยง่าย เนื่องจากพระมหินทร์กษัตริย์อยุธยาองค์ใหม่ มิได้เก่งเรื่องการบริหารบ้านเมืองหรือการสงคราม เมื่อเป็นดังนี้ ออกญาพิษณุโลกจึงต้องหาทางใหม่ด้วยการหาช่องทางติดต่อกับ “พระสุวัฒน์” ซึ่งฟาน ฟลีต ระบุว่าเป็นพระสัสสุของพระองค์ (ฟาน ฟลีตมิได้กล่าวถึงเหตุการณ์พระสุริโยทัยขาดคอช้างเลย) โดยได้ลอบส่งจดหมายระบายถึงปัญหาชีวิตคู่อ้างว่า พระสวัสดิ์เป็นคนขาดความยั้งคิดจึงทำให้เกิดเรื่องมากมาย (จากการตบตีในครอบครัวกลายเป็นสงครามระหว่างอาณาจักร?) จึงอยากจะขอให้พระสุวัฒน์เห็นใจและหันมาเข้าข้างตนช่วยสืบเสาะความเป็นไปภายในของกรุงศรีฯ เพื่อประโยชน์แก่ทัพหงสา และชีวิตของบุตรเขยผู้นี้ ฟาน ฟลีต บรรยายถึงพระสุวัฒน์ว่า “หญิงผู้นี้เป็นผู้ที่ปราดเปรื่องและกล้าหาญ เธอรู้สึกเห็นใจออกญาพิษณุโลกผู้เป็นบุตรเขยเป็นอย่างยิ่ง เธอจึงแนะนำให้ลูกสาวกลับไปคืนดีกับสามี ซึ่งสุดท้ายลูกสาวของเธอก็เห็นชอบ ในขณะเดียวกันนั้นเองก็มีการส่งสาส์นไปมาจากออกญาพิษณุโลกเข้าถึงราชสำนัก และจากแม่ยายของเขาในราชสำนักมาถึงเขาที่อยู่ข้างนอก ด้วยการนี้เขาจึงเข้าถึงข้อมูลกิจการภายในนครเป็นอย่างดี” ไม่เพียงเท่านั้น ทัพหงสาวดีที่ล้อมกรุงศรีฯ อยู่นานก็เริ่มหมดดินปืน พระเจ้ากรุงหงสาจึงดำริที่จะถอนทัพกลับ ออกญาพิษณุโลกพยายามกราบทูลโน้มน้าวให้พระองค์ “อยู่ต่อ” พระเจ้ากรุงหงสาก็ทรงลังเล ฝ่ายพระสุวัฒน์ทราบเรื่องจึงคิดอุบายส่งดินปืนใส่โลงศพลอบนำดินปืนของกรุงศรีฯ ส่งไปถึงทัพหงสาเพื่อช่วยราชบุตรเขย เมื่อพระเจ้ากรุงหงสาทราบก็ดีใจยิ่ง ตัดสินใจอยู่ต่อตามคำขอของออกญาพิษณุโลก และตามคำบอกเล่าของฟาน ฟลีต ออกญาจักรีตัวร้ายในประวัติศาสตร์ไทยนั้นย้ายข้างมาอยู่ฝั่งหงสาก็ด้วยการชักจูงของพระสุวัฒน์นี่เอง โดยออกญาจักรีทำทีออกไปรบแล้วถูกจับตัว จากนั้นจึงกลับกรุงศรีฯ โดยมีโซ่ตรวนพันธนาการเหมือนหนีจากการกักขังมาได้ ฝ่ายพระมหินทร์กษัตริย์อยุธยาทรงเห็นก็ดีใจที่ได้นายทหารคนสำคัญกลับมาได้ จึงสอบถามสถานการณ์ของทัพหงสา ออกญาจักรีจึงแกล้งบอกว่าหงสาแย่แล้วตั้งทัพอยู่ได้อีกไม่นานหรอก พระมหินทร์ทราบก็สบายพระทัย ปล่อยให้ทัพหงสาเตรียมตัวบุกกรุงศรีฯ ที่มัวชะล่าใจ ออกญาจักรีก็แกล้งจัดทัพต้านหงสาแต่จงใจไม่ให้ทัพหงสาได้รับความเสียหาย เมื่อทัพหงสาเข้าใกล้ประตูเมืองก็ยังเปิดประตูให้ทัพหงสาบุกรุกเข้ามาได้โดยง่าย  “กษัตริย์สยามทรงประมาทอย่างที่สุด ถึงขนาดไปยืนดูไก่ชนขณะที่ทัพหงสายึดราชสำนักเอาไว้ได้ อย่างไรก็ดี พระองค์ถูกพาตัวไปยังห้องพักห้องหนึ่งในพระราชวังโดยพระสุวัฒน์ (ผู้ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้) ก่อนจะถูกวางยาพิษ พระองค์มีอายุได้สามสิบสี่ปี และครองราชย์มาแล้วเป็นเวลาเจ็ดปี” ฟาน ฟลีต กล่าว จะเห็นได้ว่า ถ้าเชื่อความตามสำนวนของ ฟาน ฟลีต แล้ว การเสียกรุงในคราวนั้น ผู้ที่มีบทบาทมากกว่าใครน่าจะเป็นออกญาพิษณุโลก และโดยเฉพาะพระสุวัฒน์ ผู้ที่ฟาน ฟลีตอ้างว่าเป็นพระสัสสุที่ยังอยู่ในราชสำนักอยุธยา ซึ่งไม่เพียงส่งข่าวภายในแต่ยังส่งดินปืนไปให้ และเป็นผู้ชักจูงออกญาจักรีให้ไปเข้าข้างหงสา แล้วยังเป็นผู้วางยาพระมหินทร์อีกด้วย  อย่างไรก็ดี บันทึกประวัติศาสตร์ก็มักจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้างด้วยเหตุหลายประการ เหมือนการตายของพระมหินทร์ ที่ฟาน ฟลีต บอกว่าถูกวางยาโดยพระสุวัฒน์ แต่ในฉบับของพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้นเล่าว่า พระองค์ประชวรหนักระหว่างถูกจับตัวไปหงสา พระเจ้ากรุงหงสารับสั่งให้รักษาเต็มที่แต่ก็ไม่อาจช่วยได้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าประชวรด้วยเหตุใด เป็นการวางยาหรือไม่?  หรือเรื่องของ “พระสุวัฒน์” ที่ว่าเป็นพระสัสสุของออกญาพิษณุโลกนั้น ก็น่าสงสัยว่าเป็นพระองค์เดียวกันกับ “พระสวัสดิ์” ที่เป็นพระชายาของออกญาพิษณุโลกเองหรือไม่? เพราะชื่อออกจะคล้ายกัน ความต่างทางวัฒนธรรมและภาษาก็อาจเป็นผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนนั้นก็ได้ เพราะในฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีการกล่าวถึงหญิงสูงศักดิ์ที่ให้ความช่วยเหลือออกญาพิษณุโลกอยู่เช่นกัน แต่เรียกว่า “พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน” ซึ่งได้สมคบคิดกับออกญาพิษณุโลกส่งตัวพระยารามทหารกรุงศรีที่สู้รบอย่างแข็งขันให้กับฝ่ายหงสา  เรื่องนี้ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นว่า พระสุวัฒน์ กับ พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในนั้นน่าจะเป็นคนเดียวกันแน่ โดยได้ให้ความเห็นว่า  “บทบาทของพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในในครั้งนี้ ได้รับการเล่าสืบต่อมาอีก 70 กว่าปีอย่างกระจ่างแจ้งกว่าที่บันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดาร โดยกล่าวถึงพระนามของพระสวัสดิ์ ซึ่งเรียกสั้นลงมาจากพระสวัสดิราช อันเป็นพระนามเดิมของพระวิสุทธิกษัตรี และเมื่อเข้าหูฝรั่งของวัน วลิต ได้ยินเป็นพระสุ หวัด วัน วลิตจึงเล่าเรื่องไว้ในหนังสือพงศาวดารของเขา โดยระบุชื่อของพระนางด้วยอักษรโรมัน เขียนอย่างฮอลันดาว่า Prae Souwat อีกทั้งวัน วลิตคงสับสน (หรือผู้ที่ถ่ายทอดให้วัน วลิตฟังสับสนก็ได้) ในอํานาจอันสูงศักดิ์ของพระนาง จึงเข้าใจว่าพระนางเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการปริวรรตชื่อนี้มาเป็นภาษาไทย ผู้แปลพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต จึงสมมติชื่อที่ใกล้เคียงที่สุดว่า พระสุวัฒน์ เพราะย่อมไม่คิดที่จะเอาชื่อที่ถูกต้องคือ พระสุหวัด-พระสวัสดิ์ มาใช้ ด้วยชื่อนี้เป็นชื่อพระราชธิดาของพระมหาจักรพรรดิ มิใช่ชื่อของผู้ที่วัน วลิตสับสนว่าเป็นมเหสี” (Silpa-Mag) ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าสองสำนวนเห็นตรงกันเรื่องบทบาทของออกญาพิษณุโลก ที่เมื่อย้ายไปอยู่ข้างหงสาแล้วก็รับใช้ราชสำนักหงสาอย่างเต็มความสามารถ แม้เหตุเบื้องต้นจะต่างกัน กล่าวคือ ฉบับของฟาน ฟลีต ระบุว่าเริ่มจากความขัดแย้งของออกญาพิษณุโลกกับพระชายา ขณะที่ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ชี้ว่า เป็นเพราะพิษณุโลกถูกล้อม แต่กรุงศรีฯ ไม่ยกทัพขึ้นมาช่วย แต่หลังจากนั้นเรื่องเล่าทั้งสองสำนวนก็เป็นไปในทางเดียวกัน กล่าวคือ ออกญาพิษณุโลกได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ช่วยให้ทัพหงสายึดกรุงศรีฯ ได้สำเร็จ และมีบทบาทมากกว่าออกญาจักรียิ่งนัก (ในฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ออกญาพิษณุโลกคือผู้แจ้งกรุงหงสาวดีว่า กรุงศรีอยุธยาได้ส่งตัวพระเทพกษัตรี พระธิดาในพระเทียรราชา และพระสุริโยทัย ไปเป็นพระชายากษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตเพื่อผูกมิตร ทางหงสาวดีจึงได้ส่งกำลังมาสกัดขบวนจับตัวพระเทพกษัตรีไปกรุงหงสาวดีแทน และยังเป็นผู้ออกอุบายให้กรุงศรีฯ ส่งตัวพระยารามนายทหารผู้เก่งกล้ามาให้กรุงหงสาวดีด้วย) ทั้งนี้ ภายหลังออกญาพิษณุโลกได้รับการสถาปนาให้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาที่มีฐานะประเทศราชของกรุงหงสาวดี และ “พระนเรศ” (พระนเรศวร) พระราชโอรสองค์โตก็ถูกส่งไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี