แจกมีต ซิงห์ ชนกลุ่มน้อยถูกรังแกสมัยเรียน ผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกแคนาดา
"อะไรคือสิ่งที่เราเชื่อ? เราเชื่อในความรักและความกล้าหาญใช่มั้ย? แน่นอนเราเชื่อในความรักและความกล้าหาญ เราเชื่อในแคนาดาที่ทุกคนมีส่วนร่วมไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เราเชื่อในการสร้างแคนาดาให้มีความยุติธรรมทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน
"ทุกคนเชื่อในความหลากหลายมั้ย? ถ้าเชื่อขอเสียงปรบมือด้วยครับ" แจกมีต ซิงห์ (Jagmeet Singh) นักการเมืองหนุ่มชาวซิกข์กล่าวกับผู้สนับสนุน ขณะที่ถูกขัดจังหวะอย่างต่อเนื่องจากผู้ประท้วงที่กล่าวหาว่าเขาเป็นพวก "ภราดรภาพมุสลิม" (Muslim Brotherhood) และต้องการเอากฎหมายอิสลามมาบังคับใช้ในแคนาดา ซึ่งเป็นข้อหาที่มาจากอคติโดยขาดความเข้าใจอย่างรุนแรง (Brampton Focus)
การ "โพกผ้า" เป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ที่แตกต่างทางศาสนาอย่างหนึ่งที่ชาวตะวันตกจำนวนมากเห็นแล้ว "ไม่สบายใจ" รัฐโลกวิสัย (secular state) บางแห่งถึงกับสั่งแบนไม่ให้สวมผ้าโพกศีรษะ ที่แคนาดาประเทศที่เต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลายวัฒนธรรมแม้จะไม่มีการห้าม แต่การโพกศีรษะก็เป็นเรื่องที่คนเห็นแย้งอยู่มาก
แจกมีต ซิงห์ วัย 38 ปี ประสบกับการต่อต้านจากคนที่อพยพมาก่อนหน้าตั้งแต่ครั้งยังเด็กเมื่อตัดสินใจโพกผ้าเพื่อแสดงออกถึงพื้นเพและวัฒนธรรมที่เขาภาคภูมิใจซึ่งทำให้เขาถูก "รังแก" แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ยังคงถือธรรมเนียมปฏิบัตินั้นสืบมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความเข้าใจผิด
แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักการเมืองที่แต่งกายมีสไตล์ที่สุดในแคนาดา และยังเป็นผู้นำจากชนกลุ่มน้อย 2 เปอร์เซ็นต์ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคการเมืองใหญ่อันดับสามของประเทศ ที่เตรียมจะลงแข่งขันในเวทีใหญ่ การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคม 2019 นี้
ตระกูลของซิงห์เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมานานตั้งแต่รุ่นทวดที่เป็นผู้นำต่อต้านการปกครองของอังกฤษในปัญจาบของอินเดีย ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการอดอาหารประท้วงการปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อปี 1935 (Straight)
พ่อแม่ของซิงห์อพยพจากปัญจาบมาอยู่ที่ออนแทรีโอ ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่ได้ราบรื่นเท่าใดนัก เนื่องจากพ่อที่เป็นหมอนั้นทั้งติดเหล้าและติดหนี้ นอกจากนี้เขายังมีปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ ตอนเด็ก ๆ เขาใช้ชื่อว่า "จิมมี" (Jimmy) เพื่อให้เข้ากับคนส่วนใหญ่ แต่เมื่ออายุได้ 8 ขวบ เขารู้สึกว่า "จิมมี" ไม่ใช่ชื่อที่บ่งบอกตัวตนของเขาจริง ๆ เขาจึงเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนการแต่งกายให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่ตกทอดในครอบครัวซึ่งทำให้เขาถูกนักเรียนด้วยกันรังแก
"จากที่ค่อนข้างได้รับการยอมรับ อาจจะมีการพูดถึงสีผิวของผมอยู่บ้าง กลายมาเป็นถูกล้อเลียนทุกวี่ทุกวันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไปจนถึงมีการชกต่อย " ซิงห์กล่าว (CBC News)
ด้วยประสบการณ์เช่นนั้นทำให้ซิงห์ไปเรียนเทควันโดตอนอายุได้ 10 ขวบ แต่เขาก็ต้องเจอปัญหาใหม่เมื่อเขาถูกครูฝึกล่วงละเมิดทางเพศ มันเป็นประสบการณ์ที่เขาเก็บงำมานานนับสิบ ๆ ปี ก่อนเผยในหนังสือ "Love and Courage" ที่เพิ่งวางแผงได้ไม่นาน และได้รับการชื่นชมอย่างมากมาย รวมถึงจากคู่แข่งทางการเมืองอย่าง จัสติน ทรูโด
ซิงห์เรียนจบด้านชีววิทยาก่อนเรียนต่อด้านกฎหมาย และมาเป็นทนายความคดีอาญา ด้วยความที่อาชีพของเขาผูกพันกับปัญหาสังคมอยู่แล้ว ประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัวที่ถูกเลือกปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง เช่น การถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกสุ่มตรวจเป็นประจำทำให้เขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม และความอยุติธรรมในสังคมแคนาดา
"ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่หล่อหลอมสำนึกทางการเมืองของผม มันทำให้ผมเกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการท้าทายกับความอยุติธรรมเพื่อสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคยิ่งขึ้น" ซิงห์กล่าวกับ Times of India
พรรคประชาธิปไตยใหม่ (New Democratic Party) พรรคสีส้มที่ซิงห์สังกัด เป็นพรรคที่ก่อตั้งเมื่อ 1961 ถ้าเทียบกับสองพรรคหลักของประเทศคือ อนุรักษนิยม และเสรีนิยมแล้ว ประชาธิปไตยใหม่คือพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่ซ้ายสุด แม้จะเป็นพรรคที่ก่อตั้งมานาน แต่ก็เป็นพรรคเล็กที่ไม่เคยได้เป็นรัฐบาลในระดับชาติ (ดีที่สุดคือการเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านในฐานะพรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งปี 2011)
ซิงห์ลงเลือกตั้งระดับชาติเป็นครั้งแรกในปี 2011 แต่ต้องสอบตกผ่านให้กับผู้แทนจากพรรคอนุรักษนิยมไปด้วยคะแนนหลักร้อย เขาจึงหันมาลงเลือกตั้งในระดับรัฐของออนแทรีโอ และสามารถชนะเลือกตั้งได้สำเร็จ กลายเป็นผู้แทนคนแรกที่โพกผ้าแบบชาวซิกข์เข้าสู่สภาออนแทรีโอ
หลังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการเลือกตั้งปี 2011 แจ็ค เลตัน (Jack Layton) ก็มาด่วนจากไป ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 พรรคประชาธิปไตยใหม่ภายใต้การนำของ ทอม มัลแคร์ (Tom Mulcair) ประสบความล้มเหลวกลายไปเป็นพรรคอันดับ 3 พ่ายให้กับพรรคเสรีนิยม และอนุรักษนิยม ทำให้มัลแคร์ตัดสินใจวางมือทางการเมือง และจัดการสรรหาผู้นำพรรคคนใหม่
ซิงห์กลายเป็นผู้ชนะในกระบวนการสรรหา นับเป็นผู้นำพรรคการเมืองหลักคนแรกที่ไม่ใช่คนผิวขาว แม้ว่าชาวซิกข์ที่มีจำนวนราว 5 แสนคน จะมีจำนวนไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ แต่ก็นับว่าเป็นกลุ่มที่มีพลังทางการเมืองไม่น้อย นอกจากซิงห์แล้ว ในรัฐบาลของทรูโดก็ยังมีชาวซิกข์รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีอีก 4 คน และยังมีชาวซิกข์เป็นผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎรอีก 18 คน
นโยบายของประชาธิปไตยใหม่มีหลายส่วนที่สอดคล้องกับนโยบายของพรรคเสรีนิยม เพื่อสร้างความแตกต่างในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2019 ซิงห์จึงยกเรื่องระบบประกันสุขภาพขึ้นมา เขาบอกว่าระบบนี้เกิดขึ้นได้เพราะการผลักดันของพรรคประชาธิปไตยใหม่ตั้งแต่ 75 ปีก่อน แต่ถูกรัฐบาลอนุรักษนิยมตัดงบจนง่อยเปลี้ย เมื่อพรรคเสรีนิยมขึ้นมามีอำนาจก็ได้แต่แก้ไขเพียงผิวเผิน หากพรรคของเขาขึ้นมาเป็นรัฐบาลเขาให้สัญญาว่า ระบบประกันสุขภาพจะครอบคลุมชาวชาวแคนาดาทุกคน และต่อไปไม่เพียงจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหมอเท่านั้น ค่ายาก็ไม่ต้องเสีย ครอบคลุมการรักษาไปถึงโรคตา โรคฟัน สุขภาพจิต และการรักษาสุขภาพระยะยาว
หลายฝ่าย (โดยเฉพาะพรรคเสรีนิยม) มองว่านโยบายของซิงห์เป็นเพียงการขายฝันที่ทำจริงไม่ได้ และหากพิจารณาถึงโอกาสที่เขาจะได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีแคนาดาคนแรกที่ไม่ใช่คนผิวขาวก็ยังห่างไกลจากความจริงพอสมควร แม้ทรูโดจะไม่ร้อนแรงเหมือนเก่า แต่ซิงห์ก็ยังมีคะแนนนิยมตามหลังสองพรรคใหญ่อยู่ไกล ๆ โดยในการสำรวจของ ABACUS DATA (เผยแพร่เมื่อ มิถุนายน 2019) คะแนนนิยมของพรรคเสรีนิยมและอนุรักษนิยมอยู่ที่ 33 และ 32 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่วนประชาธิปไตยใหม่อยู่ที่ 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากผลการเลือกตั้งออกมาคะแนนเสียงของสองพรรคใหญ่ออกมาขี่กันมากเหมือนผลสำรวจข้างต้น แม้ซิงห์จะไม่ได้เป็นนายกฯ แต่พรรคประชาธิปไตยใหม่ก็อาจมีส่วนสำคัญในการกำหนดตัวผู้นำแคนาดาคนต่อไป