เมียเดียวหลายผัว ธรรมเนียมการครองเรือนของมนุษย์แบบดั้งเดิม
ผัวเดียวเมียเดียว เป็นธรรมเนียมการแต่งงานที่สังคม "ส่วนใหญ่" ยอมรับ หลักฐานคือ "กฎหมาย" ที่รับรองสิทธิให้แต่เฉพาะคู่สมรสที่มีการจดทะเบียนเท่านั้น และจะไปจดซ้ำจดซ้อนก็ไม่ได้ แต่นี่เป็นเพียงธรรมเนียมที่เพิ่งสร้างเมื่อราวพันปีก่อนเท่านั้น (ซึ่งไม่ได้แปลว่าผิดธรรมชาติหรือไม่ใช่สิ่งที่ดี)
อย่างสังคมไทยสมัยก่อนก็มิได้เป็นสังคมแบบผัวเดียวเมียเดียว หากเป็นแบบผัวเดียวหลายเมีย เมื่อฝรั่งเข้ามาค่านิยมของการครองเรือนลักษณะนี้ก็เริ่มสั่นคลอน หมอบรัดเลย์ หมอสอนศาสนาอเมริกันที่เดินทางมาเมืองไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้เห็นธรรมเนียมการครองเรือนของไทยก็ได้วิจารณ์เอาไว้ว่า
"การที่มีพระสนมหลาย 10 หลาย 100 คน นั้นเปนการถับถมเมืองสยามเหมือนต้นหญ้าขึ้นทับต้นเข้าในนา ต้นเข้าไม่งอกงามบริบูรณได้...เพราะอย่างในหลวงทั้งสองพระองค (พระจอมเกล้า - พระปิ่นเกล้า) เจ้านายขุนนางทั้งปวงจึ่งเอาธรรมเนียมนั้นเปนอย่างจึ่งได้เลี้ยงภรรยามากตามมั่งมีธรรมเนียมนั้นเปนที่ให้บังเกิดความอัปยศในกรุงสยามมีความชั่วหลายอย่างนัก เปรียบเหมือนแวมไปยะ (vampire) คือสัตวอย่างหนึ่งที่มีเรื่องแต่บูราณว่า ดูดเอาโลหิตรเจ้านายขุนนางไพรพลทั้งปวงในกลางคืนให้อ่อนกำลังลงนักให้ความดีของคอเวอแมนต (government) นั้นเสื่อมลงทุกอย่าง" (รัฐศาสตร์สาร)
หลังถูกกดดันจากสังคมโลก บวกกับความประสงค์ที่จะแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต รัฐบาลใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงปรับกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับสากล เพื่อที่ฝรั่งมังค่าจะได้หมดข้ออ้างว่ากฎหมายไทยยังป่าเถื่อน ไม่ยอมให้พลเรือนขึ้นศาลไทย จึงต้องแก้กฎหมายไทยที่ยอมรับระบบผัวเดียวหลายเมียมาตลอดให้กลายเป็นระบบผัวเดียวเมียเดียว เหมือนคู่รักอุดมคติ "อดัมกับอีฟ" มนุษย์คู่แรกของโลกตามฐานความเชื่อของชาวคริสต์
แต่นอกจากการครองเรือนที่เราคุ้นเคยทั้งแบบผัวเดียวเมียเดียว หรือผัวเดียวหลายเมียแล้ว อีกระบบหนึ่งซึ่งเป็นที่แพร่หลายในหลายพื้นที่และยังคงถือปฏิบัติอยู่ในหลายวัฒนธรรม (แต่แน่นอนว่าไม่แพร่หลายเท่ากับสองระบบที่กล่าวก่อนหน้า) นั่นก็คือการครองเรือนแบบ "เมียเดียวหลายผัว"
ตัวอย่างของการครองเรือนแบบนี้ที่ดังหน่อยก็คือ “เทราปตี” ผู้มีสามี 5 คน คือเหล่าพี่น้องปาณฑพ ในมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งในเรื่องอธิบายเหมือนไม่ได้ตั้งใจ แต่จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ระบบเมียเดียวหลายผัวเป็นที่แพร่หลายมากในแถบเทือกเขาหิมาลัย ครอบคลุมทั้งตอนเหนือของอินเดีย เนปาล และทิเบต ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่ทำกันจนเป็นจารีตประเพณี และอาจเป็นรูปแบบการครองเรือนที่เก่าแก่มาตั้งแต่ดั้งเดิม
จากการศึกษา (ในช่วงทศวรรษ 1970) ของบาร์บารา อาซิซ (Barbara Aziz) ในชุมชนชาวทิเบตแถบชายแดนจีน-เนปาลจำนวน 430 ครัวเรือน พบว่ามี 122 ครัวเรือน (28.4 เปอร์เซ็นต์) ที่มีการครองเรือนแบบ เมียเดียวหลายผัว หรือ ผัวเดียวหลายเมีย ในกลุ่มเมียเดียวหลายผัวจำแนกได้เป็นกลุ่มของหญิงหนึ่งคนอยู่กินกับชายหลายคนที่เป็นพี่น้องกันจำนวน 80 ครัวเรือน, เป็นแบบหญิงหนึ่งคนอยู่กินกับชายที่เป็นพ่อลูกกัน 8 ครัวเรือน และเป็นแบบหญิงหนึ่งคนอยู่กินกับชายหลายคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด 2 ครัวเรือน
ส่วนกลุ่มผัวเดียวหลายเมีย แยกย่อยเป็นแบบชายหนึ่งคนอยู่กินกับหญิงหลายคนที่เป็นพี่น้องกัน 14 ครัวเรือน ชายหนึ่งคนอยู่กินกับหญิงที่เป็นแม่ลูกกัน 10 ครัวเรือน และชายหนึ่งคนอยู่กินกับหญิงหลายคนที่มิได้มีสัมพันธ์ทางสายเลือด 8 ครัวเรือน
หรง หม่า (Rong Ma) ผู้เขียนเรื่อง Marriages and Spouse Selection in Tibet กล่าวเทียบเคียงธรรมเนียมการครองเรือนที่ต่างกันของชาวทิเบตกับชาวฮั่นว่า ชาวทิเบตจะไม่แต่งงานกันในหมู่เครือญาติ แต่ยอมรับการที่คนที่มีสายสัมพันธ์ทางสายเลือดจะไปมีสัมพันธ์ทางเพศกับคู่สมรสของญาติตัวเองได้ (เช่น น้องชายมีสัมพันธ์กับเมียของพี่ หรือลูกชายมีสัมพันธ์กับเมียของพ่อ [ซึ่งไม่ใช่แม่แท้ ๆ ของตัวเอง]) ในขณะที่ชาวฮั่นนิยมแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้อง แต่จะไม่ยอมรับการที่ญาติพี่น้องจะไปมีสัมพันธ์ทางเพศกับคู่สมรสของญาติตัวเอง (เช่น พี่จะไปมีสัมพันธ์กับเมียของน้องชายไม่ได้)
แต่นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นแต่ในที่ราบสูงทิเบตเท่านั้น ในรายงานเผยแพร่เมื่อปี 2012 (A Survey of Non-Classical Polyandry) โดยสองนักมานุษยวิทยา แคทริน สตาร์กเวเทอร์ (Kathrine Starkweather) และ เรมอนด์ เฮมส์ (Raymond Hames) ชี้ว่า แม้ระบบเมียเดียวหลายผัวจะพบน้อย แต่ก็ไม่ได้น้อยอย่างที่คนทั่วไปคิด พวกเขาทำการศึกษาการครองเรือนลักษณะนี้นอกที่ราบสูงทิเบต และพบว่ายังมีกลุ่มสังคมอีกกว่า 53 ชุมชนทั่วโลกที่ยอมรับการครองเรือนลักษณะนี้ นอกเหนือจากกลุ่มที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันก่อนหน้า พวกเขายังพบลักษณะที่สอดคล้องกันของชุมชนเหล่านี้ว่ามักจะเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียม (egalitarian - แม้ผู้หญิงจะเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์แต่ก็หาได้มีอำนาจเหนือผู้ชาย) และน่าจะมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของมนุษย์
ทฤษฎีความเป็นมาของระบบเมียเดียวหลายผัวมีอยู่หลายทฤษฎีด้วยกัน บ้างก็ว่าน่าจะเป็นเรื่องของการปรับตัวกับสภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจหรือสังคมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในสังคมเกษตรซึ่งที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่จำเป็นมาก หากครอบครัวที่มีลูกชายหลายคน แต่ละคนแต่งงานกับหญิงสาวเป็นคน ๆ ไป ย่อมทำให้ครอบครัวของฝ่ายชายต้องแบ่งซอยผืนดินที่ครอบครองออกไปเรื่อย ๆ จนทำให้กองทรัพย์สินเล็กลง ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวและลดสถานะทางสังคมของครอบครัวลง
การที่พี่น้องชายแต่งงานกับหญิงคนเดียวจึงทำให้ครอบครัวของพวกเขาเก็บทรัพย์สินทั้งหมดไว้ได้โดยไม่ต้องแบ่งแยกออกไป และยังเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในยุคที่มนุษย์ยังไม่มียาคุมกำเนิด เนื่องจากหญิงหนึ่งคนมีรอบการตั้งครรภ์จำกัด หรือจะเป็นเพราะชุมชนนั้น ๆ มีพื้นที่ทำกินที่จำกัดและให้ผลผลิตที่ต่ำ ประกอบกับการขาดแคลนแรงงาน หากหญิงหนึ่งคนมีสามีหลายคนก็จะช่วยทำมาหากินและเลี้ยงดูลูก ๆ ได้ดีกว่า
แต่ในขณะเดียวกัน สตาร์กเวเทอร์และเฮมส์ยังพบว่า เมียเดียวหลายผัวไม่ใช่ธรรมเนียมที่จำกัดอยู่แต่ในพื้นที่มีพื้นที่เพาะปลูกจำกัดและให้ผลผลิตต่ำ (เช่น เทือกเขาหิมาลัย) เท่านั้น แต่ยังพบในกลุ่มสังคมที่ยังชีพด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่หนาวสุดขั้วในแถบขั้วโลกเหนือ ลงไปถึงเขตร้อน หรือแม้กระทั่งในเขตทะเลทราย แล้วกลุ่มนักล่าสัตว์หาของป่าที่มีธรรมเนียมเมียเดียวหลายผัวก็มีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของกลุ่มที่มีธรรมเนียมนี้ทั้งหมดที่อยู่นอกเหนือกลุ่มคลาสสิก (กลุ่มที่มีธรรมเนียมนี้ซึ่งอยู่ในพื้นที่เป็นที่รู้จักอยู่ก่อนอย่างเช่นแถบเทือกเขาหิมาลัย หรือหมู่เกาะมาร์เคซาส์ [Marquesas] ในมหาสมุทรแปซิฟิก)
"ถ้าหากกลุ่มนักล่าสัตว์หาของป่าร่วมสมัยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งคล้ายกับกลุ่มนักล่าสัตว์หาของป่าภายใต้สภาวะแวดล้อมแห่งวัฒนาการการปรับตัว (EEA - Environment of Evolutionary Adaptedness) มันจึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เมียเดียวหลายผัว (polyandry) จะหยั่งลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ" สตาร์กเวเทอร์และเฮมส์กล่าว
หรือกล่าวง่าย ๆ ไม่ต้องใช้ภาษาวิชาการมากก็คือ ระบบเมียเดียวหลายผัวไม่น่าจะเพิ่งเกิดในยุคที่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกแล้วต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่บีบคั้นเท่านั้น แต่มันน่าจะเก่าแก่กว่านั้นเพราะนักล่าสัตว์หาของป่า (ซึ่งนับเป็นวิธีการหากินพื้นฐานของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปที่ไม่มีปัญญาเพิ่มพูนผลผลิตทางอาหารได้ตามประสงค์เหมือนมนุษย์) ในหลายพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่หลากหลายก็ยังมีธรรมเนียมนี้
ด้วย "ความริษยา" ทางเพศ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะเพศผู้ที่ฆ่ากันตายได้เพื่อแย่งคู่เพศเมีย ทำให้ระบบเมียเดียวหลายผัวฟังดูเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ แต่นั่นคือมุมมองของคนที่อยู่ในยุคสมัยที่ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ และสัดส่วนจำนวนประชากรหญิงชายไม่ได้หนีห่างกันมาก นั่นจึงทำให้ "ผัวเดียวเมียเดียว" คือระบบที่คนในยุคปัจจุบันคิดว่ามันเป็นระบบที่ดีที่สุดเป็นธรรมที่สุดกับทุกฝ่าย
แต่ในสังคมที่มนุษย์ต้องยังชีพโดยต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก และเพศชายคือแรงงานหลักที่เป็นคนหาอาหารให้กับครอบครัว เหมือนเช่นในกลุ่มชาวอินูอิต (หรือที่เคยรู้จักกันในชื่อเอสกิโม) เพศหญิงที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดน้อยกว่า จำนวนมากจึงถูกฆ่าตายตั้งแต่ยังเป็นทารก ทำให้สัดส่วนประชากรเพศชายมีจำนวนสูงกว่าเพศหญิงมาก แต่อัตราการตายของเพศชายในกลุ่มชาวอินูอิตก็มีสูงเนื่องจากความเสี่ยงในการดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์
การครองเรือนแบบผัวเดียวเมียเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลสำหรับครอบครัวของนักล่าสัตว์ ถ้านักล่าสัตว์เก่งมากก็อาจเลี้ยงลูกเมียด้วยตัวคนเดียวได้ แต่ธรรมชาติก็เป็นสิ่งที่คาดหมายได้ยาก หากนักล่าสัตว์เพศชายร่วมกันล่าสัตว์เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเดียวย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่า การที่ฝ่ายชายทิ้งบ้านเป็นเวลานานก็ย่อมทำให้ผู้หญิงและเด็กตกอยู่ในความเสี่ยง การมีผู้ชายอีกคนอยู่ที่บ้านจึงช่วยให้โอกาสรอดของทายาทและครอบครัวสูงยิ่งขึ้น และยังมีเพศชายที่จะเป็นแบบอย่างให้กับเด็กกำลังโตได้เรียนรู้ และดำเนินรอยตามอีกด้วย
เมียเดียวหลายผัวจึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งกับผู้ที่ดำรงชีพตามธรรมชาติ (คล้ายมนุษย์ดึกดำบรรพ์) ผู้หญิงในสังคมลักษณะนี้จึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพวก "มากชู้หลายผัว" เหมือนในสังคมไทย ที่แม้โดยกระแสหลักถือระบบผัวเดียวเมียเดียว แต่ถ้าผัวเดียวคิดอยากจะมีหลายเมียก็ไม่ได้ถูกประณามเหมือนฝ่ายหญิง (กลับจะชื่นชมเสียด้วยซ้ำไป)