ชื่อของโรงหนังแบบสแตนด์ อโลน ที่หลายคนนึกถึง น่าจะมี “ลิโด” หรือ “สกาลา” อยู่ในอันดับต้น ๆ สำหรับชื่อแรกนั้นกลายเป็นตำนานไปแล้ว เพราะหลังจากยืนหยัดคู่สยามสแควร์มา 50 ปี ก็มีอันต้องปิดตัว แต่ในเดือนสิงหาคมปี 2562 ลิโดก็ฟื้นลมหายใจกลับมาอีกครั้ง ในชื่อ “ลิโด้ คอนเนค” (Lido Connect) ภายใต้การบริหารของกลุ่มทุนรายใหม่ ที่ยังคงโรงหนังไว้ฉายหนังเช่นเดิม เพิ่มเติมคือการเป็นพื้นที่สำหรับรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ส่วน สกาลา ยังคงยืนเด่นเป็นสง่า รอต้อนรับคอหนังที่แวะไปเยี่ยมไปเยือน
นั่งไทม์แมชีนกลับไป เบื้องหลังของ ลิโด และ สกาลา โรงหนังขวัญใจคนรักหนังนอกกระแส คือ พิสิฐ ตันสัจจา หรือ “เสี่ยซัว โชว์แมน” บุรุษที่เป็นอีกหนึ่งตำนานวงการโรงหนังเมืองไทย ผู้ปลุกปั้นเครือเอเพ็กซ์ให้ครองใจคนทุกวัยมาถึงทุกวันนี้
ชีวิตของพิสิฐโลดแล่นในวงการศิลปะบันเทิงมาก่อนหน้านั้น ในปี 2492 บริษัทศิลป์ไทย ที่พิสิฐในวัย 25 ปี เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นได้ขอเช่า “ศาลาเฉลิมไทย” ตั้งอยู่หัวมุมถนนราชดำเนิน ที่ถูกใช้เป็นโกดังเก็บผ้าของรัฐบาลมาปรับปรุงใหม่เป็นโรงละครเวที บริษัทลงทุนไปถึง 1 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามากโขในสมัยนั้น เพื่อเนรมิตให้ศาลาเฉลิมไทยกลายเป็นโรงละครที่ใหญ่ที่สุด จุคนได้ 1,500 ที่นั่ง ตกแต่งแบบผสมผสานระหว่างโรงละครตะวันตกกับศิลปะไทย และมีระบบไฮดรอลิกทำให้เวทีเลื่อนขึ้นลงได้
แต่เพียง 4 ปีจากนั้น ละครเวทีเกิดเสื่อมความนิยมลง พิสิฐ หรือที่คนรู้จักเรียกกันว่า “เสี่ยซัว” จึงหันมาปรับศาลาเฉลิมไทยให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์ และได้รับความนิยมอย่างมากจากความหรูหราของสถานที่ ผสานกับการนำเทคโนโลยีแปลกใหม่มาใช้ฉายหนังอย่างระบบซีเนรามาที่ทำให้ฉายจอกว้างเป็นพิเศษได้เต็มตา อีกทั้งโรงหนังเฉลิมไทยยังเป็นต้นแบบวัฒนธรรมการนำ “ป๊อปคอร์น” มาขายหน้าโรงเหมือนในต่างประเทศด้วย
ความสำเร็จของโรงหนังเฉลิมไทย (ซึ่งท้ายสุดปิดตัวและมีการรื้อถอนไปในปี 2532) ทำให้ กอบชัย ซอโสตถิกุล แห่ง บริษัท เซาท์อีสต์เอเชียก่อสร้าง จำกัด ซึ่งกำลังพัฒนาโครงการก่อสร้างบนที่ดินถนนพระราม 1 สนใจให้พิสิฐมาช่วยเสริมส่วนที่เป็นโรงหนัง โดยบริษัทจะสร้างตึกแถวชั้นล่างเป็นพื้นที่ขายสินค้าและให้มีโรงหนังด้านบน แต่เดิมนั้นพิสิฐตั้งใจจะใช้ชื่อโรงหนัง “จุฬาฯ” แต่เนื่องจากถูกท้วงติงถึงความเหมาะสมจึงเปลี่ยนเป็น “สยาม” โดยฉายหนังเรื่องแรกคือ รถถังประจัญบาน (Battle of the Bulge) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2509
[caption id="attachment_10637" align="aligncenter" width="640"]
โรงหนังสยามที่มีบันไดเลื่อนเป็นอีกหนึ่งตัวชูโรง (ภาพจาก Facebook: Apex Scala)[/caption]
โรงหนังสยามที่มีความจุ 800 ที่นั่ง แม้จะทันสมัยมากในยุคนั้น เพราะเป็นโรงหนังแห่งแรกและเป็นอาคารแห่งที่สองของไทยที่มีบันไดเลื่อน (อาคารแรกคือห้างไทยไดมารู เปิดปี 2507) แต่ก็ตั้งอยู่ในย่านการค้าใหม่ รอบข้างยังเป็นชุมชนแออัด ฝั่งตรงข้ามเป็นสวนฝรั่งและโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ทั้งยังมีรถเมล์สายเดียวที่วิ่งผ่าน พิสิฐจึงต้องออกแรงในการโปรโมตอย่างหนัก
[caption id="attachment_10639" align="aligncenter" width="640"]
โรงหนังสยามในอดีต (ภาพจาก Facebook: Apex Scala)[/caption]
เขาใช้วิธีผลิตสูจิบัตรเกี่ยวกับโรงหนังสยาม นอกจากบอกตารางฉายหนังแล้วยังให้คอลัมนิสต์ชื่อดังมาเขียนเรื่องราวต่าง ๆ โดยหนึ่งในคอลัมน์ใช้ชื่อว่า “สยามสแควร์” ที่ฉายภาพลักษณ์ความทันสมัยและแฟชั่นของคนย่านนี้ แล้วนำสูจิบัตรไปแจกจ่ายที่ศาลาเฉลิมไทยเพื่อดึงดูดให้หนุ่มสาวยุคนั้นทยอยกันมาอุดหนุนโรงหนังสยาม สร้างความมีชีวิตชีวาให้เกิดขึ้น
[caption id="attachment_10638" align="aligncenter" width="640"]
โรงภาพยนตร์ลิโด (ภาพจาก Facebook: Apex Scala)[/caption]
ความนิยมที่เพิ่มพูน ทำให้พิสิฐตัดสินใจขยายโรงหนังแห่งที่สองคือ “ลิโด” ความจุ 1,000 ที่นั่ง โดยตั้งชื่อโรงหนังตามสถานที่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เริ่มฉายหนังครั้งแรกในวันสิ้นปี 2511 ตามด้วยการสร้างโรงหนัง “สกาลา” ความจุ 1,000 ที่นั่งเช่นเดียวกัน และเริ่มฉายหนังครั้งแรกในวันสิ้นปี 2512
[caption id="attachment_10640" align="aligncenter" width="640"]
โรงหนังสกาลา (ภาพจาก Facebook: Apex Scala)[/caption]
อาจนับได้ว่า สกาลา เป็นโรงหนังที่พิสิฐใส่ใจกับการสร้างมากที่สุด เพราะเขาเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ต้องการจะสร้างโรงหนังที่สวยที่สุดในไทย สไตล์การตกแต่งจึงออกมาในรูปแบบอาร์ต เดโค ดูสง่างาม คลาสสิก หรูหรา มีแชนเดอเลียร์หนัก 3 ตันจากอิตาลีโรยตัวโดดเด่นจากเพดานตรงใจกลางโถงทางขึ้นโรงหนัง ส่วนผนังรายรอบก็ประดับตกแต่งด้วยศิลปะงานปูนปั้น
[caption id="attachment_10641" align="aligncenter" width="640"]
แชนเดอเลียร์ขนาดใหญ่คืออีกหนึ่งเอกลักษณ์ของโรงหนังสกาลา (ภาพจาก Facebook: Apex Scala)[/caption]
“สิ่งที่ท่านสร้างไว้มันเป็นความลงตัวพอดิบพอดี เป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมของตะวันออกกับตะวันตก” นันทา ตันสัจจา ลูกสาวของพิสิฐ และทายาทผู้รับช่วงต่อการบริหารเครือเอเพ็กซ์ เคยกล่าวไว้
นันทายังเล่าถึงความใส่ใจของพิสิฐซึ่งกลายเป็นเจตนารมณ์ที่สืบทอดต่อกันมา นั่นคือพิสิฐจะคัดเลือกหนังที่เข้ามาฉายด้วยตนเอง โดยยุคแรก ๆ ต้องรอให้ผู้ชมรอบสุดท้ายกลับก่อนจึงจะได้เปิดหนังชมกันเพื่อคัดเลือก และพิสิฐยังดูแลตรวจตราทั้งเครื่องฉายหนัง เครื่องเสียง เครื่องทำความเย็นด้วยตนเองเสมอ
สิ่งเหล่านี้ทำให้โรงหนังทั้งสามคือ สยาม ลิโด และสกาลา ที่พิสิฐสร้างขึ้น กลายเป็นแหล่งพบปะที่นิยมของหนุ่มสาวมารุ่นต่อรุ่น แต่พิสิฐไม่ได้อยู่มองเห็นและชื่นชมความรุ่งเรืองเหล่านี้นานนัก เพราะเขาจากไปเร็วเกินคาดในปี 2514 โดยมี นันทา ลูกสาวผู้คลุกคลีและผูกพันกับธุรกิจโรงหนังเป็นผู้รับช่วงต่อ
เครือเอเพ็กซ์ภายใต้การบริหารของนันทา เธอยังคงคัดเลือกหนังที่เข้ามาฉายเองเหมือนผู้เป็นบิดา แต่ในยุคของเธอก็ต้องเผชิญความท้าทายที่มีต่อโรงภาพยนตร์สแตนด์ อโลน อย่างเข้มข้น ได้แก่การมาถึงของเทคโนโลยีวิดีโอช่วงทศวรรษ 2530s ต่อด้วยธุรกิจโรงหนังที่กระจายสาขาอย่างรวดเร็ว อาทิ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่ก่อตั้งในปี 2537 มีสาขาแรกที่ปิ่นเกล้า (และยังคงอยู่มาถึงตอนนี้) และ เอส เอฟ ซีเนม่า ที่เปิดสาขาแรกบนห้างมาบุญครอง ในปี 2542
ทั้งสองเครือใหญ่เป็นนิยามใหม่ของโรงหนัง นั่นคือการจัดโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์ที่ซอยย่อยหลาย ๆ โรงอยู่รวมกันในพื้นที่เดียว พร้อมกับพ่วงสิ่งบันเทิง เช่น ลู่โบว์ลิ่ง ห้องคาราโอเกะ ที่เป็นหมัดเด็ดมัดใจวัยรุ่น และทั้งสองบริษัทยังขยายสาขาพ่วงไปกับศูนย์การค้าในหลายจุดของเมือง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และเอส เอฟ ซีเนม่า จึงกลายเป็นคู่แข่งที่ดึงลูกค้าไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม จิตวิญญาณความใส่ใจต่อผู้ชมและงานศิลปะบันเทิงที่ถูกถ่ายทอดต่อให้กับนันทา กลายเป็นจุดเด่นให้เครือเอเพ็กซ์ ยังประคองตัวมาได้ในช่วงที่โรงหนังสแตนด์ อโลน ของไทยทยอยปิดตัว โดยพื้นที่ใต้ถุนโรงหนังทั้งสามนั้น เครือเอเพ็กซ์เปิดให้เช่าเพื่อดึงรายได้ ส่วนมากเป็นร้านค้าเช่าเล็ก ๆ ของคนรุ่นใหม่ที่ยังมีทุนน้อยได้ทดลองทำกิจการต่าง ๆ ส่วนในโรงหนังก็เปิดให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เช่าพื้นที่จัดกิจกรรมทั้งอีเวนต์ คอนเสิร์ต ไปจนถึงละครเวที
ตัวภาพยนตร์ที่นำมาฉายเอง นันทาก็รับฟังเสียงแนะนำจากลูกค้า และเริ่มปรับจากการฉายหนังกระแสหลักอย่างเดียว มาฉายหนังนอกกระแสควบคู่กันไป ตามเสียงเรียกร้องตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นทั้งการตอบสนองคนดูและการหาจุดยืนของตัวเองเพื่อสู้กับค่ายโรงหนังยักษ์ใหญ่
นอกจากนี้ โรงหนังทั้งสามยังมีเสน่ห์แบบวันวานที่กลายเป็นซิกเนเจอร์ให้ลูกค้าประจำจำนวนหนึ่งยังแวะกลับมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นระบบจองที่นั่งในกระดาษ ตั๋วหนังที่ฉีกจากต้นขั้ว พนักงานฉีกตั๋วในชุดสูทสีเหลือง และถ้าใครไม่รู้จะวางแผนชีวิตการดูหนังของตัวเองอย่างไร แค่ยกหูโทรศัพท์หาพนักงานจองตั๋ว ก็จะได้รับคำตอบทั้งรายละเอียดหนัง คำแนะนำในการจองรอบหากต้องการดูติดต่อกัน 2 เรื่อง แถมยังมีบัตรสะสมแต้มแบบไม่มีวันหมดอายุ แสตมป์ครบ 10 ดวงเมื่อไหร่ ดูหนังฟรีทันที 1 ที่นั่ง เรียกว่าได้ใจคอหนังทุกเพศทุกวัยไปแบบเต็ม ๆ
ปี 2553 เครือเอเพ็กซ์เหลือโรงภาพยนตร์ 2 แห่งคือลิโดและสกาลา เพราะโรงหนังสยามเกิดเพลิงไหม้ในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ถึงอย่างนั้น นันทาก็ยังคงเดินหน้ากิจการโรงหนัง และพยายามตรึงราคาตั๋วไว้ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งที่โลเคชันโรงหนังตั้งอยู่ใจกลางย่านการค้าสุดหรูของกรุงเทพฯ และค่าเช่าพื้นที่ทำโรงหนังก็นับว่าสูงเอาการ ถ้าเทียบกับรายได้ที่เครือเอเพ็กซ์ได้จากการปล่อยให้ร้านค้าเช่าพื้นที่และค่าตั๋วหนัง ซึ่งฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ปี 2560 บริษัท สยามมหรสพ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเครือเอเพ็กซ์ มีรายได้รวม 96.14 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6.96 ล้านบาท ส่วนปี 2561 มีรายได้รวม 50.59 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 19.40 ล้านบาท
[caption id="attachment_10642" align="aligncenter" width="640"]
ผู้บริหารและพนักงานเครือเอเพ็กซ์ยืนส่งทุกคนที่มาดูหนังที่ลิโดในวันสุดท้าย (ภาพจาก Facebook: Apex Scala)[/caption]
ด้วยหลายปัจจัยที่ก่อตัวขึ้น ทำให้เครือเอเพ็กซ์ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่โรงหนังลิโดกับสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากที่มีข่าวแว่วมาหลายครั้งว่าจะปิด ในที่สุดก็ปิดตัวลงจริง ๆ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ปี 2561 ท่ามกลางความเสียดายและความอาลัยอาวรณ์ของคอหนังจำนวนมากที่ผูกพันกับลิโด แต่ให้หลังอีก 1 ปีนิด ๆ ลิโดก็มาในโฉมใหม่ “ลิโด้ คอนเนค” ภายใต้การบริหารของกลุ่มใหม่คือ บริษัท เลิฟ อิส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 สิงหาคม ปี 2562
ปัจจุบัน เครือเอเพ็กซ์จึงเหลือโรงภาพยนตร์เพียงแห่งเดียวคือ สกาลา ซึ่งหลังจากยืนราคาตั๋วร้อยต้น ๆ มาหลายปีดีดัก ก็เพิ่งจะขอปรับราคาขึ้นเป็น 120-160 บาท ไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ปี 2562 เทียบกับเครือโรงหนังมัลติเพล็กซ์แห่งอื่นที่ดันราคาไปที่ 200 บาทขึ้นไป มาตั้งแต่ราวปี 2557 แล้ว
เครือเอเพ็กซ์จะหมดสัญญาเช่าพื้นที่โรงหนังสกาลากับสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2563 ถึงตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าชะตาของ “สกาลา” โรงหนังที่พิสิฐตั้งใจสร้างขึ้นมากที่สุดและเป็นแห่งสุดท้ายที่เขาฝากใจรักในธุรกิจนี้ไว้จะเป็นเช่นไร จะถูกทุบทิ้งเหลือเพียงชื่อไว้เป็นตำนาน หรือยังคงยืนเด่นภายใต้การบริหารของกลุ่มใหม่ ก็สุดแท้จะคาดเดาในจังหวะนี้
ที่มา
https://www.thairath.co.th/content/623311
http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=87640
นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2553
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เรื่อง: Synthia Wong