ผู้ใหญ่บ้านเด่นณรงศ์ ธรรมมา ช่างก่อสร้างที่จบปริญญาเอกแล้วสร้างธนาคารชุมชน
หากย้อนกลับไปหลายสิบปีที่แล้ว อาชีพแรก ๆ ของ เด่นณรงศ์ ธรรมมา ชายหนุ่มจากตำบลชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เรียนจบแค่ ม.3 คือการเป็นกรรมกรแบกหามในไซต์งานก่อสร้าง เป็นพ่อค้าขายผัดไทย ปิ้งข้าวโพดขาย ไปจนถึงคนขับรถแท็กซี่มิเตอร์รับส่งคนในกรุงเทพมหานคร แต่ด้วยเสียงปืนที่ดังขึ้นในวันนั้น ทำให้เส้นทางชีวิตเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล จากผู้ใช้แรงงานกลายมาเป็นผู้นำชุมชน
“สมัยที่ผมเรียนจบ ม.ต้น ผมไม่อยากเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านเลย เพราะมีพ่อเป็นกำนัน เราเห็นภาระของพ่อว่ามันเหนื่อย ทุกอย่างต้องอุทิศให้กับตำบลก่อน ให้กับพี่น้องประชาชนทั้งหมดเลย พ่อผมมีเงิน 100 เชื่อไหมครับ ชาวบ้านเดินมาขอ 50 บาทก็ให้ อีกคนเดินมาขอ 30 บาทยังให้ เหลือ 20 บาทตกถึงผม บางทีเหลือแค่ 5 บาท ที่จะถึงผม ประกอบกับตัวพ่อเองก็ไม่เคยอยากให้ผมเป็น เพราะรู้ว่าเป็นแล้วไม่ได้สุขสบาย ต้องแบกภาระคนเป็นหมื่นทั้งตำบล ทำงานหนัก 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ตี 3 ตี 4 ชาวบ้านเดือดร้อนมาเคาะประตูก็ต้องทำ นี่คือสิ่งที่ผมเองไม่อยากเป็น”
นั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ต้องหนีออกจากบ้านหลังใหญ่ที่ ตำบลชนแดน ชายแดนของจังหวัดเพชรบูรณ์ ไปยังกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศเพื่อหางานเอาดาบหน้า แน่นอนว่าอาชีพสำหรับคนไม่มีวุฒิการศึกษาหนีไม่พ้นงานหนักที่ต้องใช้หยาดเหงื่อแรงกายแลกเงิน เช่นกรรมกรก่อสร้าง พ่อค้าหาบเร่แผงลอย ในตอนนั้นเขากับภรรยาช่วยกันขายผัดไทยห่อละสิบบาท แม้จะเป็นงานที่เหนื่อยกาย แต่ลึก ๆ เขาอาจเชื่อว่ามันไม่เหนื่อยใจเท่ากับการเป็นผู้นำชุมชนดูแลชาวบ้านหลายชีวิตเหมือนอย่างที่พ่อเขาเป็น
หลังผ่านการทำงานมาแล้วหลายอย่างนับไม่ถ้วน อาชีพที่หนุ่มจากชนแดนใช้เลี้ยงชีพนานถึง 6-7 ปี คือการเป็นคนขับรถแท็กซี่มิเตอร์ อาชีพที่เขาต้องบริการรับส่งคนหลายสิบคนต่อวัน อาจเป็นโชคชะตาเล่นตลก ที่สุดท้ายแล้วแม้จะหนีจากบ้านมาไกลหลายร้อยกิโลเมตร แต่เขายังไม่พ้นงานที่ต้องช่วยเหลือคอยดูแลผู้คน
จริง ๆ เส้นทางชีวิตของผู้ใหญ่บ้านอายุ 47 ปีคนนี้ที่ต้องคอยช่วยเหลือผู้อื่น อาจถูกกำหนดมาครั้งเมื่อสมัยบรรพบุรุษ ด้วยครอบครัวที่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านมานาน ตั้งแต่สมัยตาทวดที่เป็นผู้นำชุมชน มีปู่เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของที่นี่ และพ่อที่ได้รับเลือกเป็นกำนันตำบลพุทธบาทคนแรก ซึ่งมีส่วนเป็นแรงบันดาลใจลึก ๆ ที่หล่อหลอมให้เขามีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติโดยที่เขายังไม่รู้ตัว
จนกระทั่งเสียงปืนที่ดังขึ้น พร้อมคมกระสุนที่ฝังร่างของพ่อเขา สมเดช ธรรมมา ที่ตอนนั้นเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพุทธบาท โชคดีที่ไม่โดนจุดสำคัญ แต่นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่า ถึงเวลาหรือยังที่ต้องกลับบ้านเพื่อดูแลคนที่เขารักมากที่สุดในโลก
“ถ้าเกิดพ่อพลาดโดนยิงตาย ผมอาจไม่มีโอกาสได้กลับมาแม้กระทั่งงานศพ ด้วยความกังวลหลาย ๆ เรื่องเลยตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน กลับมาอยู่กับพ่อโดยที่ไม่ได้คิดว่ากลับมาเพื่อตัวเองจะต้องเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน เป็นอะไรเลย คิดแค่กลับมาเพื่อปกป้องชีวิตพ่อเท่านั้นเอง ทำยังไงก็ได้ให้พ่อตายทีหลังเรา อย่าให้พ่อตายก่อนเรา แต่ด้วยความที่กลับมาแล้วต้องอยู่คอยปกป้องพ่อตลอดเวลา มันเลยกลายเป็นเรียนรู้ไปในตัว เหมือนได้เข้าโรงเรียนการเป็นนักปกครองท้องถิ่น”
ช่วงที่เป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพุทธบาท พ่อได้สอนงานทางอ้อมให้กับเขา ด้วยการหลอกให้ขับรถขนมะขามหวานไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมกับให้การบ้าน 7-8 ข้อ เพื่อให้ไปถามหาคำตอบ ซึ่งแต่ละข้อช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ให้เขาทีละนิด ๆ จนทำให้จากคนที่เรียนจบแค่ชั้นมัธยมต้นอย่างเขา กลับมาสนใจเดินหน้าหาความรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการลงเรียน กศน. แล้วเรียนต่อ ปริญญาตรี ศิลปศาสตร์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ แล้วปริญญาโท ในสาขาเดียวกัน ก่อนจะได้ปริญญาเอก รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เท่านั้นยังไม่พอ ล่าสุดเขายังแอบไปเรียนปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต เพิ่มอีกใบหนึ่ง
“ผมอยากเรียนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารงานบุคคล เรียนเทคนิคการใช้คนว่ามีเทคนิคยังไง ต้องใช้ยังไง เรียนให้ลึกซึ้ง ให้รู้จริง ๆ ถึงจะทำ เพราะผมถือว่าถ้าเราไม่มีความรู้แล้วเราไปบริหารหรือไปใช้คนผิด มันเหมือนกับครูที่ไม่มีความรู้ไปสอนเด็ก ที่ในหลวงเคยพูดว่าติดกระดุมเม็ดแรกผิด มันก็ผิดตลอด เพราะงั้นเราต้องรู้วิธีการติดเม็ดแรกให้ได้ก่อนถูกไหม”
พอมีโอกาสได้รับทำงานรับใช้ประชาชนในตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน เด่นณรงศ์ใช้ความรู้จากหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ ในเรื่องการบริหารงานภาครัฐ การบริหารคนการบริหารงบประมาณแผ่นดิน ร่วมกับการดำเนินนโยบายตามผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่งเสริมการสร้างธนาคารในชุมชน ทั้ง ธนาคารน้ำใต้ดินแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและภัยแล้ง ธนาคารขยะสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและช่วยให้ขยะในชุมชนเหลือแค่ศูนย์ และธนาคารปุ๋ย จากการทำบ่อบำบัดขยะเปียกคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับชุมชน ซึ่งทั้งหมดเขาเน้นหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการให้ชุมชนร่วมมือกันทำเอง ไม่ใช้งบประมาณของราชการ
“มันเป็นผลดีในอนาคต คือเรื่องสุขภาพอนามัย แล้วขยะสามารถแยกนำไปแลกขายมีรายได้เพิ่ม แม้ตอนนี้ยังไม่มากต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ส่วนธนาคารน้ำใต้ดินมันเป็นภาพรวมของหมู่บ้าน ถ้าทุกครัวเรือนทำแล้ว น้ำใต้ดินจะอุดมสมบูรณ์ แก้ปัญหาภัยแล้งได้ส่วนหนึ่ง”
นอกจากนี้ผู้ใหญ่บ้านเด่นณรงศ์ยังมีส่วนในการตั้งศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างชาวบ้านในตำบลพุทธบาททั้ง 28 หมู่บ้าน กับทางราชการ สามารถลดระยะเวลาการเดินทางมายังตัวอำเภอ ที่บางพื้นที่ต้องเดินทางไปกลับไกลถึง 40 กิโลเมตร นอกจากช่วยชาวบ้านประหยัดเวลา ยังช่วยทางราชการประหยัดงบประมาณ
โดยศูนย์ดำรงธรรมหมู่บ้านนี้เป็นเซ็นเตอร์ที่ช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งของลูกบ้านได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกันแนวคิดการมีศูนย์ดำรงธรรมอยู่ในทุกหมู่บ้าน ทำให้ผู้ใหญ่บ้านเด่นณรงศ์ ต้องคอยทุ่มเทเวลาดูแลแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชนตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันไม่มีวันหยุด ไม่ต่างจากงานหนักที่พ่อของเขาเคยแบกรับเอาไว้จนเป็นสาเหตุให้เขาหนีออกจากบ้านในครั้งนั้น
“มันเป็นเรื่องปกติจนเหมือนชีวิตประจำวันไปแล้ว ตื่นมาก็ต้องเจอ ก่อนนอนก็ต้องเจอ บางทีนอนไปแล้วยังเจอ มีโทรศัพท์มาก็ต้องตื่นนอนไปทำ จริงๆ เรื่องนี้ผมก็คิดเหมือนพ่อนะ เป็นแล้วก็ไม่อยากให้ลูกเป็น ด้วยความที่เรามองแล้วมันเหนื่อย มันเป็นภาระเกินไป”
แม้งานกำนันผู้ใหญ่บ้านจะดูเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก เพราะมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลืองานนายอำเภอ แต่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า แต่ด้วยการที่ เด่นณรงศ์ คลุกคลีกับงานส่วนนี้มาตั้งแต่เกิด ได้สัมผัสมาโดยตลอด สมัยเด็ก ๆ เห็นพ่อที่เป็นผู้นำชุมชน ดูแลเรื่องงานเอกสารให้กับชาวบ้าน หลายครั้งเขาเองยังเป็นลูกมือมีส่วนช่วยจัดแจงเอกสารอีกด้วย นั่นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาซึมซับจิตวิญญาณการเป็นผู้นำชุมชนไปโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งปี 2547 ที่เขาได้โอกาสทำงานส่วนนี้ เลยได้เปลี่ยนความคิดจากมองว่ามันเป็นภาระที่ต้องหลีกหนี เป็น ภาระที่ต้องเผชิญ เพราะเขาเริ่มผูกพันกับพี่น้องประชาชนแล้ว
“ไม่ได้อยากทำก็ไม่ได้แล้ว มันกลายเป็นว่าเหมือนเราทำให้หมู่บ้านตำบลมันมีสีสัน มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นมามากมาย สุดท้ายเรากลายเป็นคนที่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ฝากความหวังไว้”