โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง (2562) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของครอบครัวจุฑานุกาล กับเส้นทางชีวิตนักกอล์ฟระดับโลก เม – เอรียา จุฑานุกาล และพี่สาว โม – โมรียา จุฑานุกาล ที่ต้องทิ้งโลกวัยเด็กไว้เบื้องหลัง และเริ่มต้นเล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุ 5-7 ขวบ ภายใต้การควบคุมของคุณพ่อที่วางแผนฝึกฝนอย่างเข้มงวด ด้วยความฝันว่าจะปั้นลูก ๆ เป็นนักกอล์ฟอันดับ 1 ของโลก
ภาพยนตร์ได้สองนักแสดงหน้าใหม่ คริสซี่ – กฤษณ์สิรี สุขสวัสดิ์ (รับบท โปรเม) และ ปริม – อัจฉรียา โพธิพิพิธธนากร (รับบท โปรโม) มาร่วมแสดงนำ โดยทั้งสองกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังเรื่องนี้จะปลุกความฝัน และสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนทำตามความฝันนั้น ๆ ไม่ต่างจากชีวิตจริงของพวกเธอที่กำลังทำตามความฝันเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์ชอบไขว่คว้าความฝัน แต่สิ่งที่มนุษย์ต้องอยู่กับมันให้ได้นั้นคือความจริง เส้นทางความฝันของครอบครัวจุฑานุกาลกลับเต็มไปด้วยอุปสรรค ก่อเกิดเป็นแรงกดดันมหาศาลที่อาจทำให้พวกเขาค้นพบความจริงว่า ความฝันนั้นอาจต้องแลกด้วยคำว่า “ครอบครัว”
[caption id="attachment_10833" align="alignnone" width="1200"]
ปริม – อัจฉรียา โพธิพิพิธธนากร และ คริสซี่ – กฤษณ์สิรี สุขสวัสดิ์[/caption]
The People: โปรเมจับไม้เหล็กหวดสวิงตั้งแต่ 5 ขวบ แล้วคุณในวัย 5 ขวบกำลังทำอะไรกันอยู่
กฤษณ์สิรี: เต้นบัลเลต์ค่ะ บ้านคริสซี่เป็นนักเต้นหมดทั้งบ้าน ยกเว้นคุณพ่อเป็นนักกีฬา มีพี่ชายเป็นนักเต้นฮิปฮอปและนักกีฬา โดยคุณแม่เป็นนักเต้นกลุ่มแรก ๆ ในประเทศไทยที่เต้นแจ๊ส แรปปอร์ หรือเต้น Charleston คุณแม่เป็นนักเต้นบัลเลต์แบบ Ballerina ซี่ก็จะซึมซับการเต้นมาตั้งแต่เกิด เหมือนโปรเมที่โตมากับกอล์ฟ
อัจฉรียา: ถ้าซี่โตมากับการเต้น หนูก็โตมากับการร้องเพลง เพราะตั้งแต่จำความได้ก็เรียนร้องเพลงแล้ว ซึ่งจำไม่ได้ด้วยว่าไปเรียนได้อย่างไร รู้ตัวอีกทีตอนอนุบาล 3 ก็อยู่บ้านครูสอนร้องเพลงแล้ว ตอนนั้นเราเรียนเพลงลูกทุ่ง แม่คงเห็นว่าเราชอบร้องเพลงมาก ชอบยืนหน้าลำโพงแล้วก็ร้อง ทั้ง ๆ ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกนะ จำเนื้อเพลงเอา คุณแม่ก็เลยพาไปเรียนร้องเพลง
The People: แล้วแต่ละคนเข้าวงการบันเทิงมาได้อย่างไรบ้าง
อัจฉรียา: เรื่องหนูยาวมาก พี่พร้อมฟังไหม (หัวเราะ) มันเริ่มจากการชอบดูละครตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าเรา relate กับมันได้ง่าย ตอนอายุประมาณ 9 ขวบ หนูคิดอะไรก็ไม่รู้แต่ตัดสินใจแล้วว่าจะเป็นนักแสดง อาจฟังดูเพ้อเจ้อนะ แต่หนูเดินไปพูดกับทีวี ทำอย่างนั้นจริง ๆ (หัวเราะ) ชี้ด้วยนะว่า “สักวันหนึ่ง ฉันจะเข้าไปอยู่ในนี้ให้ได้” พูดเสร็จก็เดินไปหน้ากระจกแล้วคิดกับตัวเองว่า เกิดมาเป็นคนมันยากนะ ถ้าชาติหน้าไม่ได้เป็นคนแล้วเราจะทำอย่างไร ในเมื่อรู้ว่าอยากทำอะไรแล้วทำไมเราไม่ทำ หนูก็เลยวางแผนชีวิตตั้งแต่ตอนนั้นเลย
ตอนเด็กเราอ้วนมาก ไม่มีทางที่ใครมองเห็นแล้วอยากพาเราเข้าวงการ ก็เลยคิดว่าต้องพาตัวเองไปประกวดหรือทำอะไรสักอย่าง เราจึงไปประกวดเวทีมิสทีนไทยแลนด์ ได้ออกทีวีแต่ไม่ได้ตำแหน่งอะไร ตอนนั้นเราก็ท้อ แต่ก็บอกตัวเองว่ายังไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับการแสดงเลย เวทีต่อไปที่อยากไปก็คือ THE STAR พอถึง ม.5 เราก็ไป THE STAR 9 แต่ก็ตกรอบ ม.6 ไป THE STAR 10 อีกทีก็ตกรอบเท่าเดิมเลย กลับมาวันนั้นร้องไห้เลย ไม่อยากอ่านหนังสือสอบทั้ง ๆ ที่อยู่ในช่วงสอบ แต่หลังจากตกรอบมาหนึ่งอาทิตย์ พี่ที่ช่อง one ก็โทรมาชวนให้ไปออดิชันเป็นนักแสดง มันเป็นความรู้สึกที่มหัศจรรย์มาก เป็นครั้งแรกที่เราได้ทำในสิ่งที่บอกกับตัวเองมาตลอดว่าอยากเป็นนักแสดง และเราก็ได้ทำจริง ๆ ตอนอายุ 18 ปี
กฤษณ์สิรี: เริ่มจากเข้ามาอยู่ในโมเดลลิงนางแบบก่อน โดยพี่พอลล่า เทเลอร์ เดินเจอเราที่สยามสแควร์ เขาเดินสวนกับซี่แล้วให้ผู้จัดการวิ่งตามมาขอเบอร์/อีเมล์ ช่วงแรกเริ่มแคสติงงานโฆษณาตั้งแต่อายุ 13 แต่ความที่ซี่ไม่อิน แคสต์ไปสองสามงานแล้วรู้สึกไม่สนุก เราเลยไม่อยากเป็นดารา ไม่อยากถ่ายโฆษณา อารมณ์แบบ... อย่ายุ่งกับฉัน (หัวเราะ) ช่วงหลังซี่ก็เลยไม่ไป โดดอยู่หลายงาน กระทั่งมีงานละครเข้ามาให้แคสตอนอายุ 15
จำได้ว่าวันนั้นคุณแม่มารับที่โรงเรียน เราใส่ชุดพละ หัวฟู หลับในรถเพราะเพิ่งเล่นกีฬาเสร็จ เหงื่อแตกเต็มตัว เน่ามาก พอไปถึงก็เจอนักแสดงคนอื่นที่แต่งตัวมาสวย เราเป็นเด็กเซอร์ ๆ อยู่คนเดียว ความที่ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลยก็จำบทไม่ได้ เราเลยขอด้นสดละกัน แต่ด้วยสภาพเราตอนนั้นมันคงเหมาะกับบทเด็กกะโปโล เราก็เลยได้บทนั้นมาทั้ง ๆ ที่ไม่อยากได้ แถมวันเทสต์หน้ากล้องเราก็ดื้อไม่ยอมไป จนผู้จัดต้องโทรมาหาคุณแม่เพื่อรบเร้าให้มาเถอะ เพราะตอนนั้นซี่ยังไม่อยากเป็นนักแสดงเลย อยากเป็นแค่เด็กธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้อยากอยู่ในสปอตไลท์ ไม่ได้อยากมีชื่อเสียง ไม่อยากให้คนรู้จัก สุดท้ายเขาก็เคาะเลือกเราซะงั้น อ้าว! เราต้องเล่นสินะ (หัวเราะ) ก็เลยได้เล่นละครมาถึงวันนี้
The People: จนถึงตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรกับการแสดง รู้สึกดีหรือยังรู้สึกขบถนิด ๆ กับการเป็นนักแสดงอยู่
กฤษณ์สิรี: โอเคในระดับหนึ่ง เริ่มสบายใจในการทำงาน แต่เราก็มีสิ่งอื่นที่อยากทำ มีความฝันที่อยากเป็นนักเดินทางรอบโลก อยากเป็นครูสอนดำน้ำ อยากเดินทางด้วยตัวเอง นี่คือความฝันของซี่ เพราะเราเป็นคนชีพจรลงเท้า เวลาซี่อยู่ที่เดิมจะหดหู่ เครียด ไม่แฮปปี้ ต้องเดินทางตลอดเวลา
The People: แล้วคุณอัจฉรียาล่ะ คุณเป็นคนที่อยากเข้าวงการมาตลอด พอเข้ามาทำงานจริงแล้วรู้สึกอย่างไร
อัจฉรียา: สำหรับหนูเหมือนเป็นการเริ่มต้นด้วยซ้ำ มันเหมือนภาพที่เราเคยคิดไว้จริง ๆ คือหนูเป็นคนเพ้อเจ้อมากกว่าที่คนอื่นคิดนะ (หัวเราะ) หนูพูดกับตัวเองหลายรอบมาก และคิดว่าสักวันหนึ่งจะเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟังว่าเราทำได้จริง ๆ นะ มันเป็นความฝันของเรา หนูไม่เคยเห็นตัวเองทำอย่างอื่นเลย (ร้องไห้) เราเห็นตัวเองที่พยายามมาก ๆ จนวันหนึ่งได้มาเป็นนักแสดงจริง ๆ ได้เจอนักแสดงที่เคยเห็นในจอ เหมือนเราทะลุกระจกเข้าไปอย่างที่เราคิดในวันนั้น มันยิ่งกว่าความฝัน กล้าพูดว่ายิ่งกว่าความฝันอีก ทำให้เรามีแต่คำขอบคุณในทุกวันของชีวิต
กฤษณ์สิรี: จริง ทุกวันใน Instagram ของปริมจะมีแต่คำว่า “ขอบคุณ”
อัจฉรียา: มันรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ นะ แค่วันนี้มานั่งอยู่ตรงนี้ก็ขอบคุณแล้ว
[caption id="attachment_10832" align="alignnone" width="1200"]
ปริม – อัจฉรียา โพธิพิพิธธนากร และ คริสซี่ – กฤษณ์สิรี สุขสวัสดิ์[/caption]
The People: ทั้งสองเริ่มจากการแสดงละคร พอมาแสดงภาพยนตร์แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
กฤษณ์สิรี: เปิดโลกใหม่เหมือน Stranger Things ที่มีอีกมิติซ่อนอยู่ (หัวเราะ) ซี่ต้องล้างอะไรที่เคยรู้ออกหมด เริ่มจากศูนย์เลยจริง ๆ แม้แต่การหายใจก็ต้องเปลี่ยน ครูร่ม (ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์ – ครูสอนการแสดง) เคยพูดว่า หนังกับละครหายใจกันคนละแบบ คนละจังหวะ ฉะนั้นแค่การหายใจก็ไม่เหมือนกันแล้ว
ก่อนเวิร์กช็อปเราคุยกับพี่เต้ย (จรินทร์พร จุนเกียรติ) ว่าชอบการแสดงแบบไหนมากกว่ากัน พี่เต้ยบอกว่าชอบการแสดงหนังมากกว่าเพราะมันเรียล ตอนแรกก็คิดว่าทำไมการแสดงหนังมันยากจัง ต้องมาเปลี่ยนการแสดงใหม่หมดเลย แต่พอเริ่มแสดงก็รู้สึกทันทีว่า การแสดงแต่ละครั้ง ไม่มีครั้งไหนเลยที่รู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ อย่างเวลาแสดงละครซี่มักจะถามตัวเองว่า คนเรามันพูดกันแบบนี้จริง ๆ เหรอ แต่พอเป็นหนังมันไม่มีคำถามแบบนั้นเลย ผู้กำกับพี่คิม (ธนวัฒน์ เอี่ยมจินดา) ก็ปล่อยให้เราเป็นธรรมชาติที่สุด สามารถแสดงได้ 360 องศา เช่น ไม่อยากพูดอะไรก็ปล่อย dead air ได้ ทำให้เรารู้สึกว่าได้เล่นเป็นชีวิตคนจริง ๆ ไม่ใช่การแสดง เหมือนพี่ซันนี่ (สุวรรณเมธานนท์) แสดง ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2558) แทบไม่มีพูดเลยนะ นั่งทำงาน เงียบ ๆ หรือ Mary is happy, Mary is happy (2556) แค่นั่งมองฟ้าก็มีความพิเศษ มันมี magical ของหนังบางอย่างที่ต่อให้ dead air ก็ยังดึงดูดให้คนดู พอได้แสดงเองก็รู้สึกว่าเจ๋งนะ บางซีนไม่พูดอะไรเลย แค่นั่งมองฟ้าอย่างเดียว แต่ข้างในตัวละครมีอะไรปุ๊ด ๆ อยู่ตลอดเวลา ต่างจากละครที่ทุกอย่างต้องเดินเรื่องด้วยความรวดเร็ว ตอนนี้ทำให้เราติดใจการแสดงหนังมากกว่า
อัจฉรียา: หนูว่ามันต่างกันตรงที่วิธีการเล่าเรื่อง ละครจะเล่าเรื่องด้วยเสียง เราสามารถเปิดทีวีทิ้งแต่ไม่ดูหน้าจอก็รู้เรื่องราวได้ เพราะไดอาล็อกของมันเล่าเรื่องทุกอย่างแล้ว แต่หนังหรือภาพยนตร์คือศิลปะที่เล่าเรื่องด้วยภาพ หนังสั้นเรื่องแรกที่เราแสดงในคณะก็เป็นหนังผีเงียบ เวลาเจอผีก็กรี๊ดไม่ได้ พูดไม่ได้ ทำให้เรารู้เลยว่าหนังเล่าเรื่องด้วยภาพจริง ๆ สัญญะในหนังเป็นตัวเล่าเรื่องมากกว่า ซึ่งถามว่าชอบอะไรมากกว่า คงตอบว่าชอบหนังมากกว่า
กฤษณ์สิรี: แต่ท้ายที่สุดมันอยู่กับบท ผู้กำกับ หรือทุก ๆ อย่างนะ เพราะละครที่เรียลมากก็มี อย่าง ท้องเนื้อเก้า กรงกรรม กาหลมหรทึก หรือ เลือดข้นคนจาง มันก็เป็นละครซีรีย์ที่เรียลมาก ๆ ซี่ว่าอยู่ที่หลาย ๆ องค์ประกอบ
The People: เมื่อหนังสร้างจากเรื่องจริง การสวมบทบาทคนที่มีอยู่จริงและยังมีชีวิตด้วย มันท้าทายขนาดไหน
กฤษณ์สิรี: เป็นการแบกความกดดันอย่างหนึ่ง แบกความหวังของเขาที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย แต่เขารับรู้ว่านี่คือการทำงานของเรา
เราสองคนมีโอกาสได้เจอโปรเม-โปรโมก่อนเปิดกล้องค่ะ มีการพูดคุยกับเขาว่าจะพยายามถ่ายทอดชีวิตและตัวตนของเขาออกมาให้ดีที่สุด แน่นอนเขาต้องตามดูว่าเราจะถ่ายทอดออกมาอย่างไร มันเป็นความกดดันที่เราอยากทำให้เขาภูมิใจ และอยากทำให้คนดูได้ภูมิใจในเขา ไม่ใช่ภูมิใจในตัวคริสซี่หรือปริม แต่ภูมิใจในตัวเมและโม
The People: ตอนได้คุยกับโปรเมและโปรโม คุณได้ศึกษาตัวตนเขามากน้อยแค่ไหน
อัจฉรียา: ก่อนไปเจอตัวจริง หนูอ่านบทสัมภาษณ์หรือตามดูรายการที่เขาสัมภาษณ์ ดูความต่างของอายุระหว่างตอน 13 ปีกับ 18 ปี ดูความมั่นใจในแววตา มันต่างกันจริง ๆ นะ พอโตขึ้นจะมั่นใจมากขึ้น เพราะในเรื่องเราต้องเล่นเป็นเขาตั้งแต่อายุ 13-14 14 แล้วโตมาเป็น 18 ปี เป็น 5 ปีที่ตัวละครเติบโตขึ้น แต่นักแสดงอย่างเราอายุเท่าเดิม มันยาก แต่คือความท้าทาย
กฤษณ์สิรี: ใช่ค่ะ มันยากตรงที่เราต้องเล่นอายุน้อยลงไปอีก 10 ปี จำได้ว่าตอนเล่นเป็นเด็ก เราจะนั่งเฉย ๆ ไม่ได้นะ ต้องกระดิกขา แกว่งขา ทำอะไรเร็วเป็นอัตโนมัติ จะไม่คิดมาก ได้ยินอะไรก็ตอบโต้ชัด ๆ ไม่ซับซ้อน เราต้องตัดความซับซ้อนในชีวิตของเราออกไป ทุกอย่างขาวดำ จะไม่มีสีสันอะไรมากมาย แต่พอมาถึงจุดหนึ่งในชีวิต เราจะคิดอะไรก่อนทำ ได้ยินอะไรก็จะคิดก่อนว่า... ใช่เหรอ?
อัจฉรียา: วันที่เจอโปรเม ตอนแรกก็เตรียมคำถามไปนะ คิดว่าจะไปถามแน่ ๆ แต่พอไปถึงไม่กล้าถามอะไรเลย (หัวเราะ) แต่ตอนกินข้าวด้วยกันทำให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งของเขา เราคิดว่าเขาจะเป็นนักกีฬาที่คร่ำเครียด จริงจัง เป็นถึงมือหนึ่งของโลกเลยนะ แต่จริง ๆ แล้ว เขาก็เหมือนพวกเรา กินข้าวปกติ อร่อยก็บอกว่าอร่อย นั่นเป็นมุมสำคัญมากสำหรับตัวละคร ถ้าเราโฟกัสแค่มุมเครียดอย่างเดียว ตัวละครจะไม่มีมิติ
The People: จากตัวอย่างหนังจะเห็นคุณพ่อ (รับบทโดย ธเนศ วรากลุนุเคราะห์) เคี่ยวเข็ญลูกทั้งสองหนักมาก นั่นทำให้โปรเมกลายเป็นมือ 1 ของโลกหรือเปล่า
กฤษณ์สิรี: พี่เอก ธเนศ เคยพูดว่า ต่อให้คนไม่เห็นด้วยกับวิธีของพ่อ ตั้งคำถามว่าทำไมกดดันลูก ทำไมต้องผลักดัน ทำไมต้องบังคับ แต่ในทางกลับกันถ้าพ่อไม่ได้ทำแบบนี้ เมจะยืนอยู่จุดที่เขายืนอยู่วันนี้หรือเปล่า ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมตอนเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความกดดัน หรือทุกอย่างที่เขามองว่ามันคือด้านลบมาตลอด แต่สิ่งพวกนี้แหละคือแรงผลักดันที่ทำให้เขามีวันนี้ มันเป็น part of the journey ถ้าขาดสิ่งใดไปมันก็ไม่เหมือนเดิม
เหมือนหนังเรื่อง About Time (2013) ถ้าเราย้อนเวลากลับไปแล้วมีอะไรเปลี่ยนนิดเดียว อนาคตจะไม่เหมือนเดิม ซี่มั่นใจว่าถ้าอดีตไม่มีเรื่องราวเหล่านั้น วันที่ Yokohama Tire LPGA เมอาจไม่ชนะก็ได้ ทุกอย่างมันลิขิตไว้หมดแล้ว หนังเรื่องนี้จะให้คุณกลับไปคิดเองว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ชัดเจนว่าหนังกลางมาก ไม่ตัดสิน และให้คนดูตัดสินเอง
[caption id="attachment_10837" align="alignnone" width="1200"]
คริสซี่ – กฤษณ์สิรี สุขสวัสดิ์ รับบท โปรเม[/caption]
[caption id="attachment_10836" align="alignnone" width="1200"]
ปริม – อัจฉรียา โพธิพิพิธธนากร รับบท โปรโม[/caption]
The People: แล้วการสวมบทบาทโปรโมล่ะ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง
อัจฉรียา: แน่นอนว่าต้องมีการเปรียบเทียบ เป็นพี่คนโตที่ทำเหมือนน้องทุกอย่างแต่น้องไปไกลกว่า มันนำมาซึ่งข้อขัดแย้งบางอย่างในเรื่องที่สำคัญมาก ตั้งแต่อ่านบทก็ไม่คิดว่าจะมีแบบนี้จริง ๆ ในชีวิตคนคนหนึ่ง
พ่อแม่หรือครอบครัวสำคัญกับเด็กอยู่แล้วค่ะ โม ณ เวลานั้นยังไม่สามารถเลือกหรือตัดสินใจด้วยตัวเอง ฉะนั้นเขาจะรับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามาเต็ม ๆ สมมติพ่อทำอะไรไม่ดี เขาจะยังไม่เข้าใจว่าพ่อทำไปเพราะความรัก หนูคิดว่าโมเติบโตมาแบบโคตรเสียสละ โคตรกดดัน ซึ่งถ้าเราไปอยู่แบบนั้น เราจะกลายเป็นคนแบบไหนไม่รู้
ความรักของคนในครอบครัวเป็นสิ่งที่คนคนหนึ่งต้องการอยู่แล้ว ทั้งความรักจากพ่อและแม่ ไม่ได้ต้องการจากใครมากกว่ากันด้วยซ้ำ เราต้องการจากทุกคนเพราะเราคือทีมเดียวกัน คือครอบครัวเดียวกัน หนูมองว่าเขาโคตรเก่ง โคตรเข้มแข็งเลยที่โตขึ้นมาได้ แล้วไม่มีความอิจฉาน้องด้วยนะ ไม่มีความชิงดีชิงเด่น หรือแก่งแย่งอะไรกัน แค่ทำหน้าที่ตัวเองและกดดันตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เจอคุณพ่อที่กดดันอยู่แล้ว กลายเป็นว่าเขาเอาสิ่งเหล่านั้นมาผลักตัวเองไปในทางที่ดี หนูนับถือเขามากในประเด็นนี้
The People: แล้วถ้าเป็นตัวคุณเองล่ะ ในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่งคุณต้องการการสนับสนุนอย่างไรจากครอบครัว
กฤษณ์สิรี: การสนับสนุนจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมากเลยนะ ซี่เคยเจอคนที่เกิดมาในชีวิตที่ดีพร้อมทุกอย่าง ครอบครัวรวยมาก อยากได้อะไรพ่อแม่ก็ให้ทุกอย่าง อยากได้รถคันใหม่เหรอ ซื้อให้ อยากได้กระเป๋า Hermés กี่ใบ ซื้อให้หมดเลย แต่สิ่งที่พ่อแม่ไม่มีให้คือเวลา พ่อแม่ของเขาคงคิดว่าเงินทดแทนได้ เพราะเห็นลูกมีความสุขดี แต่ท้ายที่สุดลูกไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาไม่ต้องการเงิน เขาต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และเวลา มันเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้นะ ซึ่งความรักเป็นสิ่งที่ impact ต่อคนมาก ๆ ต่อให้มีเงินเป็นล้าน มีรถร้อยคัน มันทดแทนไม่ได้กับการอยู่กับลูกแค่หนึ่งวัน
การดูแลเอาใจใส่และการสนับสนุนของพ่อแม่จะ shape คนคนหนึ่งขึ้นมา ถ้าคนเป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง พ่อแม่จะเป็นราก แล้วต้นไม้จะโตขึ้นมา งอ เอียงซ้าย เอียงขวา หรือจะตาย ก็ขึ้นอยู่กับรากเป็นพื้นฐาน
อัจฉรียา: หนูเพิ่งรู้ว่า จริง ๆ แล้วการเป็นนักแสดงของหนูไม่ได้ต้องการให้คนอื่นยอมรับเท่าไรเลย คนที่เรารู้สึกอยากให้ยอมรับว่าเราเป็นนักแสดงได้ก็คือ พ่อแม่ (ร้องไห้) วันที่เรารับปริญญาแล้วเอาเงินไปให้เขา วันนั้นเป็นวันแรกที่เราเห็นสายตาของเขาไม่เหมือนทุกวันที่ผ่านมา ย้อนกลับไปวันที่หนูบอกเขาว่าจะไปประกวดมิสทีนไทยแลนด์ คุณพ่อพูดกลับมาประโยคหนึ่งว่า “โอ้ย แบบนี้เขาไม่เอาหรอก” ซึ่งนั่นเป็นวันก่อนไปประกวด เราเสียใจมาก เพราะเขาคือคนในครอบครัว แค่คนในครอบครัวไม่เชื่อ แล้วเราจะทำได้อย่างไร (ร้องไห้) คำนี้อยู่ในใจหนูตลอด พอถึงวันที่เราเอาเงินไปให้เขา มันเป็นวันแรกที่เราเห็นสายตายอมรับว่าคุณทำได้จริง ๆ ดังนั้นคนที่เราอยากให้ยอมรับที่สุดมันไม่ใช่ใครหรอก มันคือคนในบ้านนี่แหละ คือพ่อแม่ของเรา
ตั้งแต่เด็ก หนูจะติดให้พ่อแม่อวยพร เช่น เวลาจะสอบต้องโทรไปให้เขาอวยพรหน่อย ไปแคสต์งานก็ให้อวยพร หรือแค่จะนอนก็ยังให้อวยพร แค่บอกว่า “ฝันดี” ก็มีความสุขแล้ว สำหรับเราครอบครัวสำคัญมาก มันเป็นแบบพื้นฐานทุกอย่างในชีวิต การกอดกันหรือการเจอกันมันสำคัญที่สุด ถ้าวันนี้เรายังมีเวลาอยู่ด้วยกัน อย่าไปอาย ทำไปเถอะ ถ้าวันหนึ่งไม่มีโอกาสจะเสียใจกว่าเดิม ซึ่งแก้มของแม่เป็นแก้มที่หอมมาก ได้หอมเมื่อไหร่เราจะหายเครียดเลย
[caption id="attachment_10834" align="alignnone" width="1200"]
ปริม – อัจฉรียา โพธิพิพิธธนากร และ คริสซี่ – กฤษณ์สิรี สุขสวัสดิ์[/caption]
The People: คนดูภาพยนตร์ โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง จะได้อะไรกลับไปจากหนังเรื่องนี้
อัจฉรียา: เห็นชีวิตการเดินทางของครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ที่กว่าจะไปถึงระดับโลกมันต้องแลกด้วยอะไรบางอย่างที่มากกว่าปกติ หนังทำให้เราย้อนกลับมาดูตัวเองในวันนี้ว่า เราทำอะไรอยู่ เราสู้กับสิ่งที่เรารักเต็มที่หรือยัง
กฤษณ์สิรี: หนังเรื่องนี้ให้แรงบันดาลใจค่ะ มันไม่ได้พูดถึงความฝันของคนคนเดียว ทุกคนมีความฝัน แล้วทำให้คนดูย้อนกลับมาคิดว่า ความฝันของเราคืออะไร หนังเรื่องนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้เราทำตามความฝัน อย่างซี่อยากเป็นนักเดินทาง ถ้าดูเรื่องนี้เราจะออกโรงมาคิดว่าต้องเริ่มเดินทางแล้ว เริ่มจองตั๋วได้แล้ว ถ้ายังอยู่กรุงเทพฯ จะไปไหนได้ หนังเรื่องนี้กระตุ้นให้ซี่ออกเดินทางค่ะ
[caption id="attachment_10838" align="alignnone" width="1200"]
ปริม – อัจฉรียา โพธิพิพิธธนากร และ คริสซี่ – กฤษณ์สิรี สุขสวัสดิ์[/caption]