ต่อคำถามที่ว่า นักดนตรีหญิงในอุตสาหกรรมดนตรีป๊อปลำดับต้น ๆ ของโลกในเวลานี้คือใคร คำตอบที่ได้อาจหลากหลาย แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นย่อมมีชื่อของ บียอนเซ่ (Beyoncé) เข้าไปด้วย
และหากจำกัดคำถามให้แคบลงมาอีกว่า นักดนตรีหญิงในอุตสาหกรรมดนตรีป๊อปที่เป็นคนดำ คำตอบที่ได้อาจแคบตามลงมาอีกระดับ แต่แน่นอนว่าชื่อของเธอจะยังอยู่ในลิสต์ - เผลอ ๆ อาจเป็นรายชื่อแรก
จะมีศิลปินหญิงสักกี่คนที่อิทธิพลของเธอกินเวลามายาวนานนับทศวรรษ เรื่องราวของเธออยู่ในทุกพื้นที่สื่อและแทบจะทุกเวลา เพลง คนรัก ครอบครัว เรื่อยไปจนอาหารที่กิน ดนตรีที่ฟัง และหนังที่เธอชอบดู 'บียอนเซ่' อยู่ในทุกหน้าสื่อ เธออยู่ในหนังสือพิมพ์ อยู่ในภาพยนตร์ อยู่ในดนตรี และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลักที่โลกเสพ เรารู้จักท่าเต้นเพลง Single Ladies อีกสิบปีต่อมา เธอขึ้นแสดงในงานจัดแข่งกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาอย่าง Super Bowl อุ้มท้องลูกแฝดขึ้นถ่ายปกนิตยสาร ปีต่อมาเป็นนักดนตรีหญิงผิวดำคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงเปิดงานเทศกาลดนตรี Coachella... อ้อ และล่าสุด เธอเพิ่งจะให้เสียงเป็นนางสิงห์สาว นาล่า ในภาพยนตร์รีเมคฟอร์มยักษ์อย่าง The Lion King (2019) ดังนั้น สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ จึงแทบไม่มีปีไหนเลยที่เราไม่ได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับเธอ แม้ว่าเธอจะเป็นหนึ่งในศิลปินที่ให้สัมภาษณ์ออกสื่อน้อยมากก็ตาม
"ไม่มีใครอีกแล้วที่มีเสียงทรงพลังได้แบบนั้น ไม่มีใครอีกแล้วที่ร่ายรำได้แบบเดียวกับเธอ ไม่มีใครอีกแล้วที่ควบคุมคนดูได้หมดจดแบบที่เธอทำ ไม่ว่าบียอนเซ่จะทำอัลบั้ม ไม่ว่าบียอนเซ่จะขับร้อง ไม่ว่าบียอนเซ่จะทำอะไรก็ตาม มันจะกลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่ยักษ์ที่ทรงอิทธิพลเสมอ และในเวลานี้ เธอคือนักร้องดีว่าของสหรัฐฯ และคือเสียงของชนชาตินี้" บาซ เลอห์มานน์ คนทำหนังชาวออสเตรเลียที่ลุ่มหลงในเสียงดนตรีจาก Moulin Rouge! (2001) และ The Great Gatsby (2013) เคยกล่าวถึงบียอนเซ่ไว้อย่างชื่นชม
นั่นไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เพราะนับจากวันที่บียอนเซ่เข้าร่วมกับ Destiny's Child เกิร์ลกรุ๊ปแนวเพลงอาร์แอนด์บีกับ เคลลี โรวแลนด์ และ มิเชลล์ วิลเลียมส์ กับซิงเกิลที่ดังไปทั่วโลกอย่าง Say My Name, Independent Women และ Survivor กระทั่งวันที่ศิลปินทั้งสามแยกออกมาทำอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง ชื่อของบียอนเซ่ก็ไม่เคยหลุดโผจากชาร์ต ทั้งอัลบั้มเดี่ยว Dangerously in Love กับเพลง Crazy in Love ที่พุ่งทะยานฟาดอันดับหนึ่งแทบจะทุกชาร์ต ทั้งยังคว้ารางวัลเพลงอาร์แอนด์บียอดเยี่ยมจากเวทีแกรมมี่ ก่อนที่เธอจะตอกย้ำความสำเร็จด้วย B'Day (2007) ที่คว้ารางวัลอัมบั้มอาร์แอนด์บีร่วมสมัยยอดเยี่ยม และพุ่งถึงขีดสุดกับอัลบั้มที่สาม I Am... Sasha Fierce และซิงเกิลที่โลกต้องจดจำอย่าง Single Ladies ที่กวาดรางวัลแกรมมี่ไปสามรางวัลรวดในเพลงเดียว -รวมถึงรางวัลเพลงแห่งปีด้วย
แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้บียอนเซ่ยังอยู่ในหน้าสื่อเสมอมานั้นไม่ใช่แค่ผลงานอันโดดเด่นของเธอ มีหลายคนเสนอว่ามีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เธอคงกระพันในความสนใจและสำนึกรู้ของคนดูอยู่เสมอ ทั้งเรื่องส่วนตัวที่เธอแต่งงานกับแร็ปเปอร์ผู้ทรงอิทธิพลของโลกดนตรีอเมริกาอย่าง เจย์-ซี (และข่าวฉาวที่แสนจะขายดีบนหนังสือพิมพ์แท็ปลอยด์เรื่องความบาดหมางระหว่างเขากับน้องสาวแท้ ๆ ของบียอนเซ่จนกลายเป็นประเด็นฮิตไปพักหนึ่ง) บุคลิกเก๋ไก๋ ไว้ตัวและโดดเด่นอยู่เสมอ ที่สำคัญคือเธอไม่ได้วางตัวเองเป็นแค่นักร้อง แต่เธอเป็นนักธุรกิจ เป็นเฟมินิสต์ เป็นแม่ และเป็นศิลปินหญิงผิวสีที่มีส่วนสำคัญในการเบิกทางให้แก่ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ อย่างที่เราปฏิเสธไม่ได้
Lemonade (2016) อัลบั้มเดี่ยวลำดับที่หกของบียอนเซ่อาจจะเป็นภาพแทนของเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ท่ามกลางคลื่นศิลปินเพลงป๊อปมากหน้าหลายตา ทั้งเก่าและใหม่ ชื่อของบียอนเซ่ผงาดขึ้นมาท่ามกลางหมู่คนเหล่านั้นพร้อมส่งสารอันทรงพลังที่มากไปกว่าความรัก ความโดดเดี่ยวและความเปราะบางอันเป็นเสมือนเนื้อหาหลักในเพลงป๊อปเพลงอื่น ๆ แต่เพลงของเธอเล่าถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการถูกกดขี่ ชีวิตเจ็บช้ำของคนดำกับแนวดนตรีที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน-อเมริกันอย่างหนักหน่วง ที่สำคัญคือมันผสานงานศิลป์เข้าไปในเนื้อตัวความเป็นป๊อปได้อย่างแนบเนียนและเป็นหนึ่งเดียว จนนักวิจารณ์เพลงจากนิตยสาร TIME ออกความเห็นไว้ว่าอัลบั้มนี้ของบียอนเซ่ "คืองานศิลปะ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงชีวประวัติของเธอ มันเล่าเรื่องการต่อสู้ของศิลปินหญิง เล่าเรื่องดนตรีของคนดำ และในโลกที่ชายเป็นใหญ่ที่ทำให้ผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกัน ไม่ได้รับความรักและมีชีวิตอย่างที่พวกหล่อนสมควรได้รับ"
Lemonade ทรงพลังถึงขั้นที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งซานอันโตนิโอ เปิดคลาสวิเคราะห์ lack Women, Beyoncé and Popular Culture เพื่อล้วงลึกถึงต้นรากความสำเร็จและการเป็นคนดำภายใต้เคลือบเงาของดนตรีป๊อป ขณะที่มหาวิทยาลัยเทนเนสซีในชัตตานูกา จัดงานสัปดาห์ Lemonade ขึ้นมากลางเดือนเมษายนปี 2017 (หลังอัลบั้มวางขายไปแล้วหนึ่งปี!) ที่มีทั้งนิทรรศการว่าด้วยคนดำ, การแสดงละครเวทีและการถกเถียงประเด็นเฟมินิสต์ ฯลฯ
บียอนเซ่จึงไม่ใช่แค่ศิลปิน ไม่ใช่แค่นักร้องและไม่ใช่แค่คนดัง แต่เธอคือคลื่นแรงที่ทรงตัวตระหง่านมานานนับสิบปี และในปี 2018 กับงานเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่งในโลกอย่าง Coachella เธอปรากฏตัวขึ้นแสดงที่แฝงนัยยะมากกว่าเป็นเพียงการโชว์คอนเสิร์ตทั่วไป หากแต่มันคือการประกาศศักดาและจุดยืนของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ในงานเทศกาลดนตรีที่คนจับตาดูมากที่สุดงานหนึ่งในโลก ด้วยธีม HBCUs ซึ่งเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยคนผิวดำในสหรัฐฯ (ตัวบียอนเซ่เองจบการศึกษามาจากวิทยาลัยสเปลแมน หนึ่งในกลุ่ม HBCUs) นักดนตรีที่เป็นคนผิวดำและแนวดนตรีแบบคนผิวดำที่เธอแสนจะภาคภูมิใจ ยังไม่รวมการขึ้นเวทีด้วยวาทะสุดแสบคันว่า "ขอบคุณ Coachella มากนะคะ ที่ให้โอกาสฉันได้เป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกที่ได้แสดงในงานเปิดเทศกาลนี้"
แต่นั่นยังไม่ใช่ขีดสุดของบียอนเซ่ ปีเดียวกันนั้น เธอขึ้นปกนิตยสารแฟชั่นหัวใหญ่ของโลกอย่าง Vogue ด้วยการให้ช่างภาพหนุ่มผิวสีนาม ไทเลอร์ มิตเชลล์ เป็นผู้ลั่นชัตเตอร์ให้เธอ "เมื่อ 21 ปีก่อน มีคนบอกฉันว่าการจะไปขึ้นปกนิตยสารนั้นมันยากหน่อยนะ ไม่มีใครอยากซื้อหนังสือที่มีคนดำขึ้นปกหรอก" เธอว่า "สำหรับฉันแล้วการเปิดประตูโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่ ๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และยังมีกำแพงทางวัฒนธรรมกับสังคมอีกมากที่ฉันรู้สึกอยากก้าวข้ามให้ได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คน ซึ่งรู้สึกเสมอมาว่าเสียงของพวกเขาช่างไร้ค่าไม่มีความหมาย
"ถ้าคนที่ทรงอิทธิพลเอาแต่เลือกจ้างคนที่เหมือนตัวเอง คิดเหมือนตัวเอง เติบโตมาจากเมืองเดียวกันกับตัวเองมาทำงานด้วย ก็คงไม่มีวันที่จะได้รับรู้ประสบการณ์อะไรใหม่ ๆ นอกเหนือจากที่มีอยู่แล้ว พวกเขาจ้างนางแบบหน้าตาเหมือน ๆ กัน สร้างงานศิลป์แบบเดียวกัน แคสต์นักแสดงคนเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะเกิดอะไรขึ้นมา ความงามบนโลกโซเชียลมีเดียนั้นคือความเสมอภาค ทุกคนพูดกันแบบนั้น เสียงของทุกคนมีความหมาย ทุกคนมีโอกาสได้แต่งแต้ม บอกเล่าเรื่องราวจากมุมมองของพวกเขาเองทั้งนั้น
"เรารู้ดีว่าผู้หญิงผิวดำนั้นสวยงามแค่ไหน แตกต่างอย่างไร ถูกกีดกันออกมาจากสังคมมากแค่ไหน... แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งหมดนั่นแหละค่ะคือสิ่งที่ทำให้เรางดงาม”
เรื่อง: พิมพ์ชนก พุกสุข