ในยุคที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ถูก disrupt จากเทคโนโลยี การมีที่ดินในไพรม์โลเคชั่น มีคุณภาพการก่อสร้างที่ดี อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป
ดีเวลลอปเปอร์ต่างรู้ดีว่า หากจะสร้างความเชื่อใจให้กับลูกค้า ต้องตอบสนองความต้องการของพวกเขาให้ได้ในทุก ๆ รูปแบบ และหนึ่งในนั้น คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพในวงจร ตั้งแต่การเลือกที่ดิน การก่อสร้าง การตลาด และการบริการหลังการขาย
[caption id="attachment_10960" align="aligncenter" width="1200"]
คณะผู้บริหาร สิริ เวนเจอร์ส[/caption]
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) คือหนึ่งในดีเวลลอปเปอร์ที่โฟกัสเรื่อง Prop Tech (Property Technology) อย่างจริงจัง พวกเขาจัดตั้ง บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด (SIRI VENTURES) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในรูปแบบ Corporate Venture Capital ทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) สร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมทั้งลงทุนด้าน Property Technology อย่างเต็มรูปแบบเป็นรายแรก ๆ ของไทย
[caption id="attachment_10961" align="aligncenter" width="1200"]
จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี สิริ เวนเจอร์ส[/caption]
‘สิริ เวนเจอร์ส’ ซึ่งเป็นหัวหอกในด้านเทคโนโลยีของแสนสิริ ยามนี้ มี โต จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี เปรียบเสมือนเป็นแม่ทัพใหญ่ในยุค digital disruption ที่ส่งผลกระทบถึงทุกวงการ แม้แต่ในวงการอสังหาฯ
จิรพัฒน์ คือคนที่แวดวงไอทีและเทคโนโลยีรู้จักกันดี เขาเรียนวิศวะฯ คอมพิวเตอร์ ลาดกระบัง ปริญญาโท บริหารธุรกิจ (MBA) นิด้า จากนั้นไปศึกษาเพิ่มเติมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Infotech, Information Technology and Communications) จาก University of Wollongong ประเทศออสเตรเลีย รวมถึงหลักสูตรระยะสั้นสำหรับการบริหารจัดการ จาก University of Pennsylvania - The Wharton School
เขามีประสบการณ์การทำงานในแวดวงไอทีมากว่า 16 ปี เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ เจมพลัส (ปัจจุบันคือ บริษัท เจมัลโต (ประเทศไทย) จำกัด), บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ POPS Thailand นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำในธุรกิจเทเลคอม สตาร์ทอัพ และไอที
เมื่อรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชน อินเทอร์เน็ต กระจายไปทั่วเมืองมากขึ้น นั่นหมายความว่าโลเคชั่นจะไม่กระจุกตัว คนทำอสังหาฯ ต้องไม่เพียงทำธุรกิจแบบเดิม ซึ่งเน้นแค่การผลิต การออกแบบ และการขายเท่านั้น แต่จะต้องทำให้โปรดักส์ที่มีอยู่ สามารถเชื่อมต่อกับปัจจัยที่เกิดขึ้น โดย จิรพัฒน์ ได้ผลักดันโปรเจกต์พื้นที่เฉพาะ สำหรับทดสอบ พัฒนา และประมวลเสมือนจริง “SIRI VENTURES Private PropTech Sandbox” หรือพื้นที่ประมวลผลเสมือนจริง ที่โครงการ T77 ซึ่งจะนำนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นโดยสตาร์ทอัพเข้ามาสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกบ้าน
รถยนต์ไร้คนขับ
โดรน เดลิเวอรี
นวัตกรรมที่ สิริ เวนเจอร์ส นำมาทดลองใช้ มีทั้งหมด 3 ด้าน ประกอบด้วย
- รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) ภายใต้ความร่วมมือกับ AIROVR สตาร์ทอัพผู้พัฒนาระบบสำหรับรถยนต์ไร้คนขับสัญชาติไทย โดย AIROVR จะพัฒนาระบบที่จำเป็นสำหรับ ‘รถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ’ ในการขนส่งผู้โดยสารจากโครงการที่อยู่อาศัยไปยังรถไฟฟ้า (First Mile Transportation) และการขนส่งจากรถไฟฟ้ากลับมายังโครงการที่อยู่อาศัย (Last Mile Transportation) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่จำเป็น ได้แก่ ระบบ Drive-by-Wire การบูรณาการเซนเซอร์สำหรับรถยนต์ไร้คนขับ ระบบบ่งชี้ตำแหน่งและการนำทาง ระบบควบคุมและสั่งการ และ แผนที่ 3D ความละเอียดสูง โดยจะเริ่มนำร่องทดลองวิ่งในโครงการ T77
- โดรน เดลิเวอรี (Drone Delivery) ภายใต้ความร่วมมือกับ Fling สตาร์ทอัพผู้พัฒนาโดรนสัญชาติไทย เพื่อนำโดรนมาใช้ทดลองส่งสินค้าจาก Habito Mall ไปยังโครงการคอนโดมิเนียมของแสนสิริในพื้นที่โครงการ T77 คาดว่าจะเริ่มทดลองได้ หลังจากผ่านขั้นตอนการขออนุญาตหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- การดูแลรักษาความปลอดภัย (Security) ภายใต้ความร่วมมือกับ SoundEye สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมเทคโนโลยีเรียนรู้เสียงต่าง ๆ เพื่ออาคารอัจฉริยะ (Smart Building) รายแรกของโลก โดยก่อนหน้านี้ เซนเซอร์ไมโครโฟนของ SoundEye ได้เข้าไปมีส่วนช่วยตรวจจับเสียงผิดปกติ เช่น เสียงร้องขอความช่วยเหลือ, เสียงน้ำรั่วซึม, เสียงปืนในอาคารประเภทต่าง ๆ มาแล้วหลายแห่งในสิงคโปร์ รวมถึงในสนามบินชางงี โดยจะเริ่มทดลองในพื้นที่โครงการ T77 ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
[caption id="attachment_10967" align="aligncenter" width="960"]
จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี สิริ เวนเจอร์ส[/caption]
สำหรับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 จิรพัฒน์ ยังนำ สิริ เวนเจอร์ส ลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีอนาคตใน 4 ด้าน ภายใต้งบลงทุน 600 ล้านบาท ได้แก่ 1. เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง (ConsTech) ในสัดส่วน 20% ของงบลงทุน มุ่งเน้นเทคโนโลยีที่ช่วยควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง (QC) 2. เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainablity) ในสัดส่วน 30% มุ่งเน้นด้านการใช้ทรัพยากรอย่างฉลาดและการกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ 3. เทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ (PropTech) ในสัดส่วน 20% มุ่งเน้นด้านรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่และ Tokenization และ 4. เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยและสุขภาพ (LivingTech & HealthTech) ในสัดส่วน 30% มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยความสะดวกสบาย โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียง ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพหลายรายที่ผ่านการพิจารณามาถึงขั้นทดสอบความเป็นไปได้ (Proof of Concept)
การเป็นพันธมิตรระหว่างสิริ เวนเจอร์ส กับสตาร์ทอัพครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะหากนวัตกรรมเหล่านั้นประสบความสำเร็จ ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตให้กับลูกบ้านแสนสิริ สร้างความสะดวกสบายมากขึ้น ช่วยส่งเสริมแสนสิริในการพัฒนาและขายโครงการต่าง ๆ
ลองคิดดูว่า หากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ได้จริงในอนาคต เราอาจเห็นรถยนต์ไร้คนขับ ไปจนถึง โดรน Air Taxi เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ให้ลูกบ้านได้สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีการนี้ คือเทรนด์ในวงการอสังหาฯ โดยที่ทั้งหมดจะตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยยุคใหม่และสังคมที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการพัฒนาของเหล่าดีเวลลอปเปอร์ แต่อีกด้านหนึ่งมีการคาดการณ์กันว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยทั่วประเทศครึ่งปีหลังนี้ มีแนวโน้มหดตัวจากปัจจัยฉุดรั้งสำคัญ นั่นคือ การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยผ่านการกำหนดระดับ Loan-to-Value (LTV) ที่เข้มงวดมากขึ้น เงินบาทที่แข็งตัว รวมไปถึงอุปสงค์จากชาวต่างชาติลดตัวลง
บรรดาผู้เล่นในตลาดจึงต้องงัดกลยุทธ์เข้ามาแข่งขัน และหนึ่งในนั้นแน่นอนว่า การใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยีซึ่งผสานเข้ากับไลฟ์สไตล์คือแนวทางหนึ่ง
แผนการตลาด ยุทธศาสตร์ของแสนสิริ และ สิริ เวนเจอร์ส ภายใต้แม่ทัพใหญ่ด้านไอที จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง