เดือนสิงหาคมที่จังหวัดเชียงใหม่ยังคงมีฝนตกชุก การเดินทางไปยังดอยปุยปัจจุบันถือว่ามีความสะดวกขึ้นมาก มีถนนลาดยางไปจนถึงหมู่บ้านของชาวม้ง แต่หลังเลยจุดสำคัญอย่างพระธาตุดอยสุเทพขึ้นไป ทางก็จะแคบลงเหลือเพียงให้รถวิ่งได้เพียงทางเดียวเท่านั้น บรรยากาศในหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยร้านค้าขายสินค้าหัตถกรรมในวันนั้นก็ดูค่อนข้างเงียบ
สาเหตุ อาจจะเป็นด้วยวันเวลาและสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ และการเดินทางที่อาจไม่สะดวกนัก ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนเลือกเดินทางมาจนถึงดอยสุเทพ หรือพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์แล้ว จะไม่เดินทางต่อขึ้นมาถึงจุดนี้
เรื่องของที่ตั้ง การเดินทาง รวมถึงโอกาสการพบกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายจึงถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับชาวม้งบนดอยปุย ที่ปัจจุบันมีสินค้าหัตถกรรมเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ซึ่ง "เทคโนโลยี" น่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ชาวบ้านก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ไปได้
ในอดีตชาวม้งบนดอยปุยเคยดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่น ก่อนหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ที่ถูกนำเข้ามาผ่านโครงการพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นอาชีพเสริม ส่วนรายได้หลักจริง ๆ มาจากการท่องเที่ยว ควบคู่กับการขายงานหัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งแต่เดิมมุ่งผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตรวมถึงการกระจายสินค้าก็คือ "ผู้หญิง"
ในวัฒนธรรมม้งแบบดั้งเดิม ผู้หญิงมีสถานะค่อนข้างต่ำ พ่อหลวงเมธาพันธ์ (เฟื่องฟูกิจการ) ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านม้งดอยปุย เล่าให้คณะสื่อมวลชนที่เดินทางเยี่ยมชมหมู่บ้านฟังว่า ตามวัฒนธรรมม้ง บนโต๊ะเสวนาของชาวม้งจะมีแต่ผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงจะมานั่งร่วมโต๊ะไม่ได้ ได้แต่จัดเตรียมหุงหาอาหารมาให้บริการเท่านั้น
และแม้การละเล่น "ลูกช่วง" ตามธรรมเนียมฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เลือกคู่ที่จะเล่นด้วย จึงเหมือนฝ่ายหญิงมีสิทธิที่จะเลือกคู่ด้วยตัวเองซึ่งถือว่าหาได้ยากในวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันชาวม้งยังมีประเพณี "อุ้มเจ้าสาว" ซึ่งพ่อหลวงเมธาพันธ์บอกว่า ถ้าฝ่ายชายเกิดถูกใจผู้หญิงคนไหนที่ยังไม่มีคู่ครองก็สามารถลักพาตัวฝ่ายหญิงมาเป็นเมียของตัวเองได้
"แล้วถ้าฝ่ายหญิงไม่ยินยอมละ?" นักข่าวรายหนึ่งถามขึ้น "ก็หายไปอยู่ด้วยกันแล้วจะไม่ยอมก็ไม่ได้" พ่อหลวงตอบกลับ ก่อนเสริมว่า ธรรมเนียมนี้แม้จะยังมีอยู่แต่ก็พบเห็นได้น้อยลงมากแล้ว
นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้หญิงชาวม้ง ที่ไม่ต้องถูกประเพณีที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนกดขี่อีกต่อไป (กรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เมื่อชนกลุ่มน้อยที่ถูกเลือกปฏิบัติมานาน ก่อนได้รับความใส่ใจมากขึ้นและได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลกลางให้อนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมเอาไว้ แต่ก็อาจเกิดกรณีปัญหาเมื่อประเพณีของชนกลุ่มน้อย อาจขัดต่อหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน)
ขณะเดียวกันการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงก็น่าจะช่วยให้สถานภาพของพวกเธอดีขึ้นยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ได้ ทั้งในแง่ของสถานะในครัวเรือน เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนั่นก็เป็นวัตถุประสงค์ของกิจกรรม “Hack Culture” ที่ซัมซุงร่วมมือกับยูเนสโก โดยให้อาสาสมัครจากสำนักงานใหญ่ของซัมซุง ซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและการตลาดมาช่วยแม่บ้านชาวม้ง
“สตรีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งสามารถสร้างสรรค์และผลิตสินค้าหัตถกรรม โดยใช้วิธีสืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นมาแต่อดีต แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จากการลงสำรวจพื้นที่ของยูเนสโกพบว่า จังหวัดเชียงใหม่เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับส่วนอื่น ๆ ทั่วโลก ความอยู่รอดของทักษะงานฝีมือกำลังเสี่ยงที่จะสูญหายไปจากปัจจัยรอบด้านมากมาย เช่น การแข่งขันจากผู้ผลิตที่ใช้เครื่องจักรในการผลิตสินค้าที่ถูกและรวดเร็วกว่า รวมถึงคนรุ่นใหม่ในชนเผ่าที่ไม่มีความสนใจในการทำงานหัตถกรรม จึงเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือระหว่างซัมซุงและยูเนสโก ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นตัวช่วยในการสร้างโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าหัตถกรรม และช่วยให้ชนเผ่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ซุง บี แฮน์ (Duong Bich Hanh) หัวหน้าแผนกวัฒนธรรมแห่งยูเนสโก กล่าวถึงความเป็นมาในกิจกรรมครั้งนี้
ด้าน วิชัย พรพระตั้ง รองประธานที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์องค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทไทยซัมซุงให้ความความเห็นว่า “นอกจากเทคโนโลยีจะสามารถช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแล้ว ยังสามารถเป็นส่วนสำคัญในการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน ซัมซุงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน โดยกิจกรรม Hack Culture ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สตรีชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่เข้ารับการอบรม สามารถนำทักษะจากแฮ็คคาธอน มาขยายผลต่อให้กับคนในชุมชนหมู่บ้านดอยปุย ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นราว 1,408 คน ประกอบด้วย 3 ชนเผ่า ได้แก่ ม้ง ปกากะญอ (กะเหรี่ยง) และคนพื้นเมือง โดยพวกเขาสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือนำพารายได้มาสู่ครอบครัวและชุมชน และเกิดการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน”
[caption id="attachment_11053" align="alignnone" width="1000"]
การนำเสนอผลงานแอปพลิเคชันของอาสาสมัครและแม่บ้านชาวม้ง (ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ซัมซุง)[/caption]
กิจกรรมครั้งนี้จะแบ่งทั้งแม่บ้านและอาสาสมัครชาวเกาหลีออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้แม่บ้านและอาสาสมัครทำงานร่วมกัน หาทางออกร่วมกัน เพื่อแข่งขันกับกลุ่มอื่น ๆ โดยการปรึกษาหารือและลงมือปฏิบัติมีระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ ผลลัพธ์ที่ได้มีทั้งแอปพลิเคชันที่ช่วยให้แม่บ้านออกแบบป้ายสินค้าได้ง่าย ๆ สามารถพิมพ์ออกมาเป็นป้ายติดสินค้า หรือทำเป็นเหมือนป้ายตั้งโต๊ะก็ได้ และสามารถเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียได้ทันที มีการออกแบบเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย เพื่อช่วยให้แม่บ้านสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น และเป็นแหล่งจัดเก็บข้อมูลด้านวัฒธรรมธรรมของชาวม้ง ทั้งประวัติความเป็นมา รวมถึงลวดลายงานหัตถกรรมของชาวม้งที่ถูกแปลงให้เป็นดิจิทัล เพื่อไม่ให้งานหัตถกรรมที่มีคุณค่าเหล่านี้สูญหายไป
[caption id="attachment_11054" align="alignnone" width="1000"]
แม่บ้านชาวม้งอธิบายการบันทึกลวดลายงานหัตถกรรมเป็นระบบดิจิทัล (ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ซัมซุง)[/caption]
ภาพรวมของกิจกรรมและวัตถุประสงค์ถือว่าน่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากกว่ากิจกรรมเพื่อสังคมที่คนมีเงินรวมตัวกันไปทาสีหรือทำความสะอาดหมู่บ้านในชนบทห่างไกล ซึ่งแม้จะมีเจตนาดีแต่กลับเป็นการแย่งชิงงานที่ใช้ทักษะขั้นพื้นฐานแต่ต้องอาศัยกำลังคนจำนวนมากซึ่งหาได้ไม่ยากในชนบท
ในขณะที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของเจ้าหน้าที่ซัมซุงน่าจะเป็นสิ่งที่คนในชุมชนชาวม้งขาดหาย การที่พวกเขาอาสามาช่วยจึงเป็นการนำสิ่งที่ขาดและมีความจำเป็นในสังคมยุคใหม่ไปให้กับชุมชน โดยรูปแบบจึงนับว่ามีความสร้างสรรค์ยิ่งกว่า และผลงานหลายชิ้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยทันที เช่น การทำเว็บไซต์หรือแหล่งเก็บข้อมูลดิจิทัลในด้านวัฒนธรรม และงานหัตถกรรมของชาวม้งไม่ให้สูญหาย ขณะที่การช่วยเหลือด้านการตลาด หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ คงไม่อาจประเมินได้ในระยะเวลาที่จำกัดเช่นนี้
หมายเหตุ: กิจกรรมเดินทางเยี่ยมชมหมู่บ้านชาวม้งดอยปุยและการแข่งขันส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้แม่บ้านชาวม้ง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8-9 สิงหาคม 2019 โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเดินทางและที่พักจากบริษัทไทยซัมซุง