“เวียร์ด” (weird) คือนิยามสั้น ๆ ที่สามารถกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ดีที่สุด แม้คำดังกล่าวแปลเป็นไทยได้ว่า “แปลก” แต่ก็อาจยังไม่ครอบคลุมสิ่งที่หนังเป็นทั้งหมด เพราะมันทั้งแปลก ผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว บ้า และมหัศจรรย์ในคราวเดียว Midsommar เลยเป็นหนังเวียร์ดที่โคตรจะเวียร์ดเรื่องหนึ่งประจำปีนี้
เพียงเปิดเรื่อง Midsommar ก็พาเราดิ่งไปกับโศกนาฏกรรมทางครอบครัวของ แดนี (ฟลอเรนซ์ พิวจ์) ความสูญเสียครั้งใหญ่นั้นทำให้เธอต้องการที่พึ่งทางใจจากคนใกล้ตัวอย่าง คริสเตียน (แจ็ค เรย์เนอร์) ทว่าความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มกำลังระส่ำระสาย เขากำลังคิดเลิกรากับเธอพอดิบพอดี หนำซ้ำยังวางแผนหนีไปทำงานวิจัยพร้อมกับกลุ่มเพื่อนในเทศกาลลึกลับ ณ หมู่บ้านอันห่างไกลของประเทศสวีเดน เมื่อแดนีล่วงรู้ถึงทริปดังกล่าว คริสเตียนจึงจำใจพาเธอเดินทางไปด้วย พร้อมความหวังว่าจะประคับประคองความสัมพันธ์ให้อยู่รอดต่อไป
ระหว่างเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านฮาร์กา (Harga) เพลล์ (วิลเฮล์ม บลอมเกรน) นักเรียนแลกเปลี่ยนชาวสวีดิชที่ชวนมาเทศกาลนี้ก็แนะนำครอบครัว (ทุกคน) ให้ผองเพื่อนรู้จัก รวมตัวพี้ยาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนทุกคนจะปะทะความแปลกแรก เมื่อพื้นที่แห่งนี้เป็นดินแดนพระอาทิตย์ไม่ตกดิน ไม่มีเขตแดนกั้นขวางระหว่างกลางวันและกลางคืน ซึ่งนั่นทำให้เราเห็นแต่ภาพความสว่างสดใสตลอดทั้งเรื่อง
พวกเขาเดินทางเข้าหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยดอกไม้นานาพรรณอันสวยงาม ก่อนความผิดเพี้ยนจะค่อย ๆ ปรากฏทีละนิดผ่านสรรพสิ่งรายรอบที่เข้ามารบกวน (disturb) จิตใจคนดู ไม่ว่าจะเป็นความผิดแปลกทางพฤติกรรม วัฒนธรรม และการแต่งตัว แต่กระนั้นแดนีและเพื่อน ๆ ก็พยายามปรับตัวให้ชินกับสภาพ ร่วมรับประทานอาหาร เข้าร่วมพิธี หรือร่วมเต้นอย่างเริงร่ากับสมาชิก สวนทางกับความไม่ไว้วางใจของหนังที่ทำให้คนดูรู้สึกปั่นป่วนจิตใจตลอดเวลา กล่าวได้ว่าท่าทางเป็นมิตร ความแน่นแฟ้น ความเมตตา ความปิติยินดี หรือความสนุกสนานร่าเริงทั้งหมด ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกยินดีปรีดาเลย
วันแรกไม่เป็นไร วันต่อไปหายนะก็เริ่มขึ้น
[caption id="attachment_11082" align="aligncenter" width="633"]
Midsommar (2019)[/caption]
ท่ามกลางแสงแดดอันเจิดจ้า ทุกสิ่งอย่างอันรื่นรมย์กลับแปรเปลี่ยนเป็นความน่ากลัว ผู้คนในหมู่บ้านเริ่มประกอบพิธีกรรมท้องถิ่นชวนขนหัวลุก นำมาซึ่งความบ้าคลั่งนรกแตกที่มนุษย์ธรรมดายากจะยอมรับ ความตึงเครียดที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น เมื่อเพื่อนร่วมเดินทางเริ่มหายตัวไปทีละคน แต่นั่นก็ไม่เขย่าประสาทได้เท่าสภาวะจำยอมของแดนีและคริสเตียนที่ยังคงอยู่ในหมู่บ้านแห่งนั้นต่อ ทั้งคู่จึงตกอยู่ภายใต้ความผิดเพี้ยนนี้อย่างหลีกหนีไม่ได้
ประเด็นที่น่าสนใจคือสภาวะจำยอมของแดนีที่มีประเด็นทางจิตวิทยาสอดแทรกเข้ามา อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น แดนีเริ่มต้นด้วยการสูญเสียครอบครัวไป ทำให้เธอตกอยู่ในสภาวะไม่มั่นคง และต้องการแหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ (เช่นเดียวกับผู้กำกับที่เขียนบทภาพยนตร์ระหว่างที่อกหัก) เมื่อแดนีได้พบพิธีกรรมที่ตัวเองได้รับการยอมรับ ได้รับอำนาจ หรือได้รับการยกย่องเป็นถึง “พระเจ้า” ของหมู่บ้าน ไม่แปลกที่เธอจะน้อมรับมัน และปลดปล่อยความรู้สึกตัวเองออกมา
ผู้กำกับ แอริ แอสเตอร์ (Ari Aster) เคยให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ว่า “มันเป็นเรื่องราวการเติมเต็มความปรารถนาที่ผิดธรรมดา ฮาร์กาเข้ามามอบสิ่งที่แดนีใฝ่หาและขาดหายมาตลอดชีวิต และยังเอาสิ่งที่เธอไม่เคยมีความกล้าที่จะตัดทิ้งออกไปด้วย” แดนีจึงค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงความเชื่อของตัวเอง ถอยห่างออกมาจากอดีตและคริสเตียน เพื่อเข้าหาชีวิตใหม่ ครอบครัวใหม่ นั่นคือครอบครัวชนเผ่าอันห่างไกลที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำ
ทั้งนี้ พิธีกรรมชวนสยองของหมู่บ้านฮาร์กานั้น มีส่วนผสมระหว่างวัฒนธรรมชนเผ่า ตำนานปรัมปรา หรือลัทธินอกศาสนา (Pagan) ซึ่งผู้กำกับลงค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีพื้นบ้านต่าง ๆ แถบสแกนดิเนเวียด้วยตนเอง โดยขอคำปรึกษาจาก เจมส์ จอร์จ เฟรเซอร์ (James George Frazer) ผู้เขียนหนังสือมานุษยวิทยา The Golden Bough เกี่ยวกับลัทธินอกรีตทั่วทุกมุมโลก และยังศึกษาปรัชญาวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับวิญญาณจากการค้นคว้าของนักปรัชญาชื่อดัง รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) แม้กระทั่งเดินทางไปยังประเทศสวีเดนเพื่อสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้คน และศึกษาประเพณีเกี่ยวกับชนเผ่าสวีเดนอย่างจริงจัง
แน่นอนว่าวัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นแบบแผน เป็นการปฏิบัติร่วมกันในสังคม มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมความคิด หรือมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อวิธีคิด พฤติกรรมทางสังคม และความสัมพันธ์ถ่ายทอดออกมาผ่านขนบธรรมเนียมประเพณี และใช่... ศาสนา
[caption id="attachment_11079" align="aligncenter" width="768"]
Midsommar (2019)[/caption]
อย่างไรก็ดี สังคมทั่วทุกมุมโลกเต็มไปด้วยศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป เมื่อบุคคลภายนอกมองเข้าไปก็จะมองว่าวัฒนธรรมเหล่านั้นผิดแปลกจากปกติ แต่คนภายในวัฒนธรรมนั้นกลับมองเป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนดั่งที่ Midsommar ได้หยิบตัวละครคนเมืองในวัฒนธรรมโลกยุคใหม่ มาโยนใส่วัฒนธรรมโลกยุคเก่าสุดคลั่งเรื่องนี้ เป็นวัฒนธรรมที่ชาวฮาร์กาดำรงอยู่กับความรุนแรง ยอมรับ และยอมทนกับสภาพที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นความเคยชิน
ท้ายที่สุดแล้ว เราอาจมองได้ว่าศัตรูที่แท้จริงของ Midsommar ไม่ใช่ตัวของชาวบ้านหรอก พวกเขาเพียงแค่ทำตามศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีที่มีมานานหลายร้อยหลายพันปี แต่สิ่งที่น่ากลัวคือตัวคนที่หลงใหลไปกับสภาพแวดล้อมอันสวยงามจนมองไม่เห็นความเลวร้ายที่ปกคลุมอยู่รอบตัว กระทั่งความเลวร้ายนั้นได้แพร่เชื้อเข้ามาสู่ตัวเรา และเมื่อคิดจะถอนรากถอนโคน มันก็อาจสายเกินไปแล้ว
จะว่าไปแล้ว Midsommar ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดูสนุก หรือสร้างความประทับใจแม้แต่น้อย แต่มันเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คนดูรู้สึกกระอักกระอ่วนใจตลอดเวลา เป็นสภาวะคุกคามทางความรู้สึกด้วยภาพแปลก ๆ เสียงแปลก ๆ องค์ประกอบแปลก ๆ และการกระทำแปลก ๆ ของตัวละครที่รุกรานสภาพจิตใจพวกเราอย่างถึงที่สุด
ทั้งหมดนี้ขอยกความดีความชอบให้กับวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ แอริ แอสเตอร์ ที่ปรารถนาเปลี่ยนเทพนิยายอันสวยงาม ให้กลายเป็นโลกหายนะแสนบิดเบี้ยวท่ามกลางแสงอาทิตย์ได้สมบูรณ์อย่างที่มันควรเป็น
[caption id="attachment_11080" align="aligncenter" width="1777"]
Midsommar (2019)[/caption]