รัฐบาลเผด็จการ ทำไมถึงชอบเอางบประมาณไปซื้ออาวุธ
หากไปดูการจัดสรรงบประมาณการซื้ออาวุธของรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก แน่นอนว่าสหรัฐฯ คือผู้ที่ใช้จ่ายไปกับงบประมาณการทหารสูงที่สุดในโลก เพื่อรักษาความเป็นเจ้าโลกของตัวเองเอาไว้
แต่หากเทียบเป็นสัดส่วนจีดีพีรายประเทศแล้ว (ตัวเลขปี 2018 จาก SIPRI สถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพนานาชาติแห่งสต็อกโฮล์ม) งบทหารสหรัฐฯ ก็ยังมีสัดส่วนเพียง 3.2% ของจีดีพี และลดลงจากทศวรรษก่อนที่สหรัฐฯ มักใช้กำลังทหารไปแทรกแซงกิจการประเทศอื่นอยู่บ่อย ๆ ราว 17%
และนอกจากสหรัฐฯ แล้ว ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากเพื่อนบ้าน มักจะจัดสรรงบทหารเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อย
เช่น อังกฤษที่ 1.8% อิตาลี 1.3% เยอรมนี 1.2% หรือแม้แต่ญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้ ๆ เกาหลีเหนือ (ซึ่งเรียกกองทัพตัวเองว่ากองกำลังป้องกันตนเอง) ก็ใช้งบทหารแค่ 0.9% ส่วนเกาหลีใต้ที่ต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาหน่อยเป็น 2.6% หรืออย่างเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ก็มีตัวเลขสัดส่วนใช้จ่ายงบทหารเพียง 0.7% ของจีดีพีเท่านั้น
ในทางกลับกันหากไปดูประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ จะเห็นได้ว่าพวกเขามักจะนิยมทุ่มงบให้กับกองทัพค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น ซาอุดีอาระเบียที่ 8.8% รัสเซีย 3.9% ปากีสถาน 4.0% คูเวต 5.1% หรือกัมพูชาก็จัดสรรงบทหารในสัดส่วนที่เทียบเท่ากับสหรัฐฯ ที่ 3.2%
อะไรทำให้ประเทศเผด็จการนิยมจัดสรรงบประมาณให้กับกองทัพค่อนข้างมาก?
ในหนังสือ "The Dictator's Handbook: Why Bad Behavior is Almost Always Godd Politics" (คู่มือเผด็จการ: ทำไมพฤติกรรมแย่ ๆ ถึงเป็นการเมืองที่ดีเกือบตลอด) บรูซ บูโน เดอ เมสกีตา (Bruce Bueno de Mesquita) และ อลาสเตอร์ สมิท (Alastair Smith) สองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้ให้คำตอบนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
ในคู่มือเผด็จการ พวกเขาไม่ได้แบ่งรัฐบาลว่าเป็นเผด็จการ หรือประชาธิปไตย จากลักษณะการใช้อำนาจเท่านั้น แต่คุณสมบัติที่ใช้ในการแบ่งแยกที่สำคัญกว่าก็คือ ขนาดของประชากรที่มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้นำสามารถครองตำแหน่งอยู่ได้ ซึ่งไม่จำกัดแต่เพียงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชนก็สามารถจัดหมวดตามลักษณะนี้ได้
ตามตำราฉบับนี้ ประชากรทางการเมืองสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มที่มีสิทธิเลือกผู้นำในนาม (nominal selectorate) กลุ่มเล็กลงมาคือผู้ที่มีสิทธิเลือกผู้นำจริง ๆ (real selectorate) และกลุ่มที่เล็กที่สุดแต่มีความสำคัญมากที่สุดนั่นก็คือ กลุ่มแนวร่วมผู้ชนะ (winning coalition) อันเป็นกลุ่มที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายการอยู่รอดของผู้นำได้
ถ้ากลุ่มแนวร่วมผู้ชนะมีจำนวนเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ประเทศหรือองค์กรนั้นก็เข้าข่ายเป็น “เผด็จการ” แต่หากกลุ่มแนวร่วมผู้ชนะมีอย่างกว้างขวางก็เข้าลักษณะเป็น “ประชาธิปไตย”
โดยหากวัดตามความสำคัญตามลำดับ กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกผู้นำในนามก็คือพวกที่ผู้นำยอมเสียได้ เปลี่ยนได้ สละได้ (interchangeables) กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกผู้นำจริง ๆ คือพวกที่มีอิทธิพล (influentials) และกลุ่มแนวร่วมผู้ชนะก็คือพวกที่ถือเป็นหัวใจซึ่งขาดเสียมิได้เลย (essentials)
หากเป็นระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผู้มีสิทธิเลือกผู้นำในนามก็คือประชาชนทั้งหลายที่มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ที่มีสิทธิเลือกผู้นำจริง ๆ ก็คือผู้ลงคะแนนให้กับผู้แทนในพรรคเสียงข้างมากหรือพรรครัฐบาล และแนวร่วมผู้ชนะถ้าเป็นระบบรัฐสภาก็คงเป็นผู้แทนราษฎร ถ้าเป็นระบบประธานาธิบดีอย่างสหรัฐฯ ก็คงเทียบได้กับผู้ลงคะแนนในคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐต่าง ๆ และมีอำนาจกำหนดตัวประธานาธิบดี ยิ่งกว่าคะแนนเสียงดิบของประชาชน (นั่นทำให้หลายครั้งที่ ประธานาธิบดีบางรายได้คะแนนเสียงรายหัวต่ำกว่าคู่แข่ง แต่กลับชนะการเลือกตั้งได้)
จะเห็นได้ว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้นผู้ที่มีอำนาจชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศนั้นมีความซ้อนทับกันค่อนข้างมาก และคิดเป็นสัดส่วนประชากรที่ค่อนข้างสูง
ในทางกลับกัน ถ้าไปดูที่ประเทศเกาหลีเหนือ ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง (ในนาม) แต่ผู้ที่มีอำนาจในการเลือกผู้นำจริง ๆ หรือแนวร่วมผู้ชนะอาจมีเพียงแค่หลักร้อย เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบีย ที่ผู้มีสิทธิเลือกผู้นำจริง ๆ คือสมาชิกราชวงศ์ระดับสูง นายทุนใหญ่บางราย และผู้นำทางศาสนา (ซึ่งไป ๆ มา ๆ อาจมีจำนวนน้อยยิ่งกว่าทางเกาหลีเหนือเสียอีก)
ด้วยเหตุนี้ ในระบอบประชาธิปไตยรัฐบาลจะอยู่ได้จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชากรเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ต่างจากในระบอบเผด็จการที่ขอแค่คนเพียงหยิบมือเดียวให้การสนับสนุนก็สามารถครองอำนาจได้โดยไม่ต้องแคร์เสียงคนส่วนใหญ่ของประเทศ
และวิธีการเล่นการเมืองที่ถูกต้อง (ในแง่ที่ทำให้ผู้ครองอำนาจอยู่ในอำนาจได้นานที่สุด) ไม่ว่าจะภายใต้ระบอบใด ก็คือการทำให้แนวร่วมผู้ชนะได้กินดีอยู่ดีสุขสบายไม่คิดจะลุกขึ้นมาล้มผู้นำ แต่วิธีการของสองระบอบย่อมต่างกัน
ในระบอบประชาธิปไตย การจะทำให้คนจำนวนมากยอมรับและให้การสนับสนุนได้จำเป็นต้องอาศัย "นโยบาย" ที่เป็นประโยชน์กับคนกลุ่มใหญ่ เช่น นโยบายสนับสนุนด้านการศึกษา หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ต่างจากระบอบเผด็จการที่ผู้นำอาศัยเพียงคนไม่กี่คนก็อยู่ในอำนาจได้ วิธีการที่ดีกว่าในการ "ซื้อ" ความจงรักภักดีก็คือ การให้ประโยชน์ต่างตอบแทนโดยตรง กับกลุ่มแนวร่วมผู้ชนะ และแน่นอนว่าแนวร่วมผู้ชนะส่วนใหญ่ของรัฐบาลเผด็จการก็ต้องประกอบด้วยผู้นำกองทัพ การจัดสรรงบประมาณจำนวนมากให้กับกองทัพเพื่อให้กองทัพเอาไปซื้ออาวุธ (ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด) จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้ซื้อความภักดีไม่ให้กองทัพลุกขึ้นมารัฐประหารตัวเอง
(หรือหากจำเป็นต้องอาศัยอำนาจศาลในการจัดการฝ่ายตรงข้าม รัฐบาลเผด็จการก็จำเป็นต้องซื้อใจศาลด้วยวิธีการคล้าย ๆ กัน)
ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่า การเอาตัวรอดทางการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องของศีลธรรม รัฐบาลประชาธิปไตยแม้จะสร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์เพื่อคนหมู่มาก แต่ก็ไม่ใช่เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยมีศีลธรรมสูงกว่า หากเป็นการเอาใจแนวร่วมผู้ชนะเช่นกัน
รัฐบาลประชาธิปไตยเองก็ใช้เงินอย่างเต็มที่เพื่อเอาใจผู้สนับสนุน รวมถึงการกู้เงินผูกพันภาระมากมายไปให้คนรุ่นหลังเพื่อหาเงินมาใช้ทำนโยบายเอาใจฐานเสียงตัวเอง เนื่องจากรัฐบาลประชาธิปไตยจะเอาเงินไปไล่แจกเป็นรายหัวเหมือนรัฐบาลเผด็จการไม่ได้ เพราะถ้าทำอย่างนั้นจำนวนเงินก็จะน้อยเสียจนจูงใจคนไม่ได้
และข้อพิสูจน์ว่ารัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้มีศีลธรรมสูงส่งไปกว่ารัฐบาลเผด็จการ ก็เห็นได้จากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ ที่พร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการต่างประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงอย่างไม่ลังเล ตราบใดที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนและฐานเสียงของตนไม่ออกเสียงคัดค้าน หรือจะเป็นการถอนตัวออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่ทั่วโลกเห็นตรงกันว่าเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกประเทศต้องร่วมมือ แต่ถ้าแนวร่วมผู้ชนะ (ซึ่งไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่) ไม่เอาด้วย รัฐบาลประชาธิปไตยก็ไม่กล้าขัด
ดังนั้น รูปแบบการปกครองที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด แม้จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง อย่างไรเสียก็ไม่พ้นไปจากระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นระบอบที่ผู้นำจำเป็นต้องอาศัยคนที่มีสัดส่วนค่อนข้างมากสนับสนุนให้ตัวเองไปต่อได้ อย่างน้อย ๆ ผู้นำก็จำเป็นต้องให้คนจำนวนนี้พึงพอใจที่ตนจะไปต่อ ต่างจากระบอบเผด็จการ ที่ต่อให้ประชาชนจำนวนมากมายเดือดร้อนแทบตาย แต่ถ้าแนวร่วมผู้ชนะกลุ่มเล็ก ๆ ยังเอาอยู่ ผู้นำก็ยังอยู่ต่อไปได้
ลองนึกภาพเมียนมาร์หรือพม่าตอนโดยพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มจนมีคนตายนับแสน (2008) แต่รัฐบาลทหารก็มิได้เดือดร้อนอะไร ชาวโลกจะยื่นมือเข้าช่วย เอาข้าวของบริจาคไปให้ผู้ประสบภัยก็ยับยั้งไม่ยอมให้เข้าประเทศได้ง่าย ๆ เพราะประชาชนพม่าส่วนใหญ่ไม่ใช่แนวร่วมผู้ชนะ การที่ประชาชนได้รับความช่วยเหลือไม่ได้ทำให้รัฐบาลทหารได้ประโยชน์ รัฐบาลทหารหวังแต่จะรับความช่วยเหลือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น เนื่องจากหากรัฐบาลทหารเป็นผู้รับจัดการความช่วยเหลือจากต่างประเทศเอง พวกเขาย่อมนำความช่วยเหลือที่ได้ไปเป็นเครื่องกำนัลให้กับแนวร่วมผู้ชนะของตัวเองได้ (นั่นจึงทำให้ของบริจาคช่วยเหลือจากนานาชาติจำนวนมากถูกขายอยู่ในตลาดมืด)