สัมภาษณ์ เดมี่ จิราพร มอร์ ศิลปะกับเสียง (ที่ไม่ควร) เงียบของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

สัมภาษณ์ เดมี่ จิราพร มอร์ ศิลปะกับเสียง (ที่ไม่ควร) เงียบของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ช่วงที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องกระแส #MeToo ที่เกิดจากข่าวการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศของผู้อำนวยการผลิตชื่อดังในวงการฮอลลีวูด เรื่องนี้ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของคนในวงการเท่านั้น แต่ยังปลุกกระแสให้คนธรรมดา ๆ ทั่วโลกที่เคยถูกคุกคามทางเพศ ได้ออกมาแสดงออกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการออกมารณรงค์ให้คนพูดถึงปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศของตนเองว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรต้องปกปิดอีกต่อไป เพราะความเชื่อทั่วไปของสังคมที่เชื่อว่า การพูดถึงปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องน่าอาย ควรเก็บเอาไว้คนเดียว คิดว่าพูดไปก็เหมือนประจานตัวเอง หลายคนจึงมักแก้ปัญหาโดยการพยายามลืมมันไป และไม่พูดถึงมันอีก แต่การกระทำแบบนี้ นอกจากจะไม่ช่วยให้ตัวเองดีขึ้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้หมดไปได้ด้วย ถ้าเราเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยถูกคุกคามทางเพศ ขอให้รู้ไว้ว่าการออกมาแสดงความไม่พอใจไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดเลย และเราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองโดนคุกคามก่อนแล้วถึงจะพูด ถ้าหากว่ารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย หรือไม่สบายใจ ก็ควรที่จะพูดออกมา และมีอีกหนึ่งคนที่เลือกหยิบเรื่องนี้มาพูดในแง่มุมที่น่าสนใจ โดยการเล่าเรื่องผ่านงานศิลปะ      เดมี่ จิราพร มอร์ ได้เล่าเรื่องผ่านนิทรรศการ Post rape: The power of the muted voice โดยพูดถึงความเงียบที่ติดตามมาภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำ ศิลปินนำความเงียบมาเป็นประเด็นสำคัญในการนำเสนอ โดยพูดถึงความเงียบที่เกิดจากการอัดอั้นอยู่ภายในหลังจากเกิดเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยสื่อสารผ่านการถักทอของวัสดุที่ได้จากเหยื่อผู้ถูกกระทำ The People มีโอกาสพูดคุยถึงที่มาที่ไปของงานศิลปะในนิทรรศการนี้ และนับว่าเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจและน่าประทับใจ จนต้องนำมาเผยแพร่ให้ทุกคนได้อ่านกัน [caption id="attachment_11191" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ เดมี่ จิราพร มอร์ ศิลปะกับเสียง (ที่ไม่ควร) เงียบของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เดมี่ จิราพร มอร์[/caption]   The People: ทำไมถึงอยากพูดเรื่องนี้ Post-Rape เดมี่: นิทรรศการนี้เคยเป็น thesis ของเรา สเกลการทำงานคือหนึ่งปีครึ่ง ก่อนหน้านี้ก็คิดตลอดว่าเราจะอยู่กับประเด็นอะไรตั้งปีครึ่ง จะเบื่อก่อนไหม เพราะเราอยาากทำ thesis ให้ดีที่สุด ไม่อยากให้เป็นงานชุ่ย ๆ ก็เลยหาประเด็นไปเรื่อย ๆ บังเอิญตอนเด็ก ๆ เคยเจอเหตุการณ์หนึ่งที่เหมือนจะมีคนมาล่วงละเมิดเรา เหตุการณ์คือเขาตามแล้วเราพยายามวิ่งหนี โชคดีที่เราหนีทัน ตอนนั้นเรายังเด็กมาก และเราก็ปฏิเสธการคุยถึงเรื่องนี้ตลอดมา กระทั่งถึงตอนเรียนอยู่ประมาณ ปี 3 เทอม 2 (คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่ต้องเริ่มคิดหัวข้อ thesis เราออกไปข้างนอกและกำลังยืนอยู่กับเพื่อน ก็มีคนคนหนึ่งเดินเข้ามาหาเราแล้วพูดว่า “ตอนนั้น ขอโทษ”   The People: เขาเป็นใครกัน? เดมี่: เราไม่ได้เจอคนนั้นมา 7-8 ปี และตอนนั้นมันค่อนข้างมืด เราเห็นว่ามีคนกำลังเดินมาแล้วมาหยุดข้างหน้าเรา เหตุการณ์มันเหมือนในหนัง มันสับสนไปหมด พอเขาพูดว่า “ตอนนั้น ขอโทษ” เราก็เพิ่งได้สติ แล้วก็มองว่าเขาเป็นใคร มาขอโทษอะไร แต่พอเราเห็นหน้าเขาเราก็ช็อกเลย ร้องไห้ เราเป็นโรคแพนิกอยู่แล้ว เราก็สั่นแบบหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนเราต้องเข้าโรงพยาบาล   The People: ที่เป็นแบบนี้เพราะเหมือนเหตุการณ์ “ตอนนั้น”​ ในวัยเด็กมันย้อนกลับมาใช่ไหม เดมี่: ใช่ เพราะตลอดเวลาเราไม่เคยพูดถึงมันเลย แล้วพอเจอเขามันเหมือนมาทีเดียว ครั้งเดียว ยิ่งใหญ่เลย หลังจากนั้นเราก็คิดว่า ความจริงเรื่องนี้คือสิ่งที่เรารู้สึกกับมันมากที่สุดในชีวิต แต่เราไม่เคยทำอะไรกับมันเลย เราปฏิเสธมันมาตลอด มากสุดคือปฏิเสธว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น แล้วความที่เราเป็นแพนิก มันส่งผลด้านอื่นของเราด้วย เช่น เวลาทำงาน เราจะตัดสินใจทำอะไรหรือรับมือกับข้อมูลมาก ๆ ไม่ได้ หรืออยู่สถานที่ที่คนเยอะ ๆ เวลาคนไม่รู้จักมาโดนตัว เราจะสั่น ซึ่งมันคือนิสัยที่เราไม่ค่อยชอบ และนิสัยพวกนี้ก็เกิดหลังจากที่เจอเหตุการณ์นั้นในวัยเด็ก เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหา เราอยากแก้มัน เราไม่อยากเป็นแบบนี้ เลยรู้สึกว่าทำเรื่องนี้ดีกว่า   The People: รู้สึกอย่างไรที่ต้องพูดเรื่องนี้ซ้ำ ๆ มันยิ่งเป็นการตอกย้ำตัวคุณไหม เดมี่: เรื่องนี้เป็นพาร์ทหลักของงานเราเลย คือช่วงแรก ๆ ที่รีเสิร์ชข้อมูล เราใช้ทฤษฎีของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx) ในการสนับสนุนสิ่งนี้ คือมันเป็นทฤษฏี Metrology ที่บอกว่า ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งถูกผลิตซ้ำ คุณค่าของมันจะลดลง เหมือนกับว่า ถ้าเราสามารถเล่าเรื่องความเจ็บปวดเราได้ซ้ำ ๆ เราจะรู้สึกเจ็บปวดกับมันน้อยลง   The People: เหมือนเราได้ปลดปล่อยมันออกมา? เดมี่: ใช่ ซึ่งเรามองว่ามันจริงมาก ๆ เราเห็นการพัฒนาของตัวเองจากการเล่าเรื่องเลย ช่วงเดือนแรกที่เริ่มทำ มันยากมากกับการเล่าเรื่อง พอเริ่มเล่าเราจะร้องไห้ เล่าไปได้ครึ่งเดียว ไม่เอาละ เดินหนี เรารู้สึกทรมานกับการเล่า ทรมานกับการคิด การทำทุกอย่าง แต่พอมันนานขึ้น เล่าบ่อยขึ้น เรารู้สึกว่าความทรมานตรงนั้นมันน้อยลง เราเล่าได้ดีขึ้น เลยได้คิดใหม่ว่าเวลามีคนมาถามเยอะ ๆ มันไม่ได้เป็นปัญหาต่อเรา แต่มันกลับทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น ๆ [caption id="attachment_11195" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ เดมี่ จิราพร มอร์ ศิลปะกับเสียง (ที่ไม่ควร) เงียบของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เดมี่ จิราพร มอร์[/caption]   The People: เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันหล่อหลอมให้คุณเป็นคนอย่างไร เดมี่: มันดูเหมือนว่าจะหล่อหลอมให้เราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย แต่จริง ๆ ตรงกันข้ามเลย เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดมันทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งดี ๆ ในตัวคนเยอะขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยไปโทษคนอื่นเลย แต่ก่อนความวิตกกังวลต่าง ๆ เราคิดเสมอว่ามันเป็นนิสัยที่ต้องจัดการให้ได้ แล้วก็รู้สึกว่า ความจริงเรื่องแย่ ๆ มันทำให้เรา appreciate คนที่ดีมากกว่าเดิม เห็นคุณค่าคนดี ๆ เห็นคุณค่าแม่เรา เห็นคุณค่าเพื่อนสนิทมากกว่าเดิม เพราะในบรรดาคนที่แย่ ๆ มันยังมีคนเหล่านี้ที่ดีกว่า   The People: กลายเป็นว่าเรามองโลกในแง่ดี แล้วเลือกที่จะหันกลับมามองตัวเองแล้วแก้ไขสิ่งที่ตัวเองเป็นมากกว่าไปโทษคนอื่น ซึ่งมันเป็นอะไรที่ดีมาก ๆ? เดมี่: จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ง่ายนะ เราก็ตีกับตัวเองตลอด ถามตัวเองตลอด แต่มันก็ทำให้เราได้รู้มากขึ้นว่าควรอยู่ตรงไหน ตรงไหนที่ดีที่ชอบก็อยู่ตรงนั้น ตรงไหนที่ไม่ชอบไม่ดีเราก็แค่เอาตัวเองออกมา อย่างตอนนี้ถ้าต้องไปในที่ที่คนเยอะ ๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เราก็จะบอกกับตัวเองก่อนว่า โอเค เรากำลังไปในที่คนเยอะ ๆ นะ มันจะไม่เป็นอะไร ถ้ามีคนมาชน เขาไม่ได้ตั้งใจนะ   The People: ทำไมคุณอยากเล่าเรื่องราวหลังจากเหตุการณ์การโดนล่วงละเมิดไปแล้ว เดมี่: สาเหตุที่เราทำเหตุการณ์ภายหลัง เพราะเรารู้สึกว่าในสื่อต่าง ๆ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มักนำเสนอความเป็นปัจจุบันมากกว่า เช่น ผู้เสียหายโดนกระทำแบบนี้ โดยบุคคลนี้ ๆ แค่นั้น  ในฐานะคนเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มา เราคิดว่าเหตุการณ์ปัจจุบันมันไม่สำคัญเลยด้วยซ้ำ เพราะทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่เรื่องราวหลังจากนั้นต่างหาก ที่ว่าเขาจะใช้ชีวิตต่อไปยังไง อนาคตของเขาต้องเปลี่ยนไปขนาดไหน [caption id="attachment_11198" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ เดมี่ จิราพร มอร์ ศิลปะกับเสียง (ที่ไม่ควร) เงียบของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ Post rape: The power of the muted voice[/caption]   The People: นิทรรศการ Post rape: The power of the muted voice แสดงออกถึงความเงียบ แล้วความเงียบที่ว่านี้บ่งบอกถึงอะไร เดมี่: ความเงียบสำหรับเราเหมือนเป็นชื่อ category แต่ในความเงียบนั้นมันไม่ได้เงียบเลย มันส่งเสียงดังอยู่ข้างในตัวเรามาตลอด แค่ไม่ได้ถูกเอ่ยออกมา แต่มันมีอยู่ จริง ๆ เราสนใจตรงที่ว่า ทั้ง ๆ ที่เราเป็นคนโดนกระทำ ทำไมเราถึงต้องเป็นคนที่เก็บเงียบเรื่องพวกนี้มากที่สุด ทำไมเราถึงต้องอาย ทำไมเราไม่อยากจะพูดถึงมัน ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ความเงียบนี้มันคือความเงียบสำหรับคนอื่น แต่มันดังต่อตัวเราเอง มันดังอยู่ข้างในตัวเรามาตลอดเวลา   The People: รู้สึกว่าความเงียบแบบนี้มันน่ากลัวไหม เดมี่: มันน่ากลัวตรงที่พลังมันเยอะ เมื่อถึงเวลาปลดปล่อยมันท่วมท้นไปหมดคล้ายระเบิดที่รอเวลา เหมือนตอนที่เราได้เจอกับคนนั้นหลังจากที่ไม่ได้เจอมา 7-8 ปี ทุกอย่างมันพรั่งพรูออกมาหมดเลย   The People: ถ้าวันนั้นคุณไม่เจอกับคนที่เคยจะล่วงละเมิด คุณจะมีวันนี้ไหม เดมี่: ไม่มี   The People: แสดงว่าเหตุการณ์ที่เจอกับคนนั้นอีกครั้ง มันเป็นเหมือนตัวจุดชนวนของคุณ? เดมี่: ใช่ ๆ เหตุการณ์วันนั้นทำให้เราคิดได้ว่า นิสัยที่เราเป็นทั้งหมดมันมาจากไหน ถ้าวันนั้นไม่ได้เจอ เราก็คงยังเป็นเหมือนเดิมไปเรื่อย ๆ ก็ลนลานต่อไปเรื่อย ๆ หรืออาจจะหาวิธีที่อยู่กับมันได้มากขึ้น แต่ก็จะไม่มีทางทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไป ยอมรับ หรือปลดปล่อยมันออกมาสักที   The People: เห็นว่าในงานนิทรรศการนี้ ได้มีการนำเสนอเรื่องราวของบุคคลอื่นด้วย? เดมี่: ใช่ค่ะ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเริ่มมาจากตัวเราก่อน ไม่ได้รู้สึกว่าจะเป็นกระบอกเสียงให้ใคร เราแค่รู้สึกว่าตัวเรามันเป็นปัญหามาก ๆ ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง [caption id="attachment_11199" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ เดมี่ จิราพร มอร์ ศิลปะกับเสียง (ที่ไม่ควร) เงียบของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ Post rape: The power of the muted voice[/caption]   The People: วัสดุที่คุณนำมาใช้ในงาน มีบางส่วนนำมาจากบุคคลที่คุณได้ไปสัมภาษณ์ แล้วคุณนำสิ่งของเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการอะไรให้ออกมาเป็นงานศิลปะ เดมี่: ส่วนหนึ่งเอามาจากเหยื่อที่เราไปสัมภาษณ์ โดยขอของที่เขารู้สึกว่ามันอ้างอิงเรื่องราวส่วนนั้น เท่านั้น ไม่เจาะจงไปถึงเหตุการณ์ที่เขาโดนกระทำ ตอนที่สัมภาษณ์ก็บอกเลยว่า ความจริงไม่ต้องเล่าก็ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้ารู้สึกไม่ยินดีที่จะเล่า เพราะเราเข้าใจว่าตรงนั้นมันยากมาก ๆ เราแค่อยากรู้ว่าหลังจากที่คุณผ่านเรื่องราวนั้นมา คุณใช้ชีวิตยังไง รู้สึกยังไง มีพฤติกรรมอะไรที่มันเกิดขึ้นกับตัวคุณหลังจากเหตุการณ์นั้นไหม นอกจากวัสดุแล้ว เราได้ขอให้เขาช่วยเขียนเล่าเรื่อง วาดรูป และขออัดเสียง ภาพที่เขาวาดเราก็ได้นำมาทำ cyanotype (การอัดภาพแบบโบราณที่จะให้ได้ภาพสีน้ำเงินเข้ม) ลงบนผ้าที่ถัก แล้วนำไปซัก ตอนแรกจะซักให้มันจาง แต่สรุปคือพอซักแล้วมันไม่เห็นอะไรเลย ก็คิดอยู่ว่าถ้ามันไม่เห็นอะไรเลยจะเป็นอะไรไหม แต่ก็คิดว่าผ้าที่เราถักมันจะมีส่วนที่เป็นไหมพรมธรรมดา ๆ กับส่วนที่เป็นผ้าซึ่งเป็นวัสดุที่เราได้มาจากเขา พอเราทำ cyanotype ลงไป นั่นหมายความว่า cyanotype ได้ซึมเข้าไปในไหมพรม มันทำให้ไหมพรมเราไม่ธรรมดาอีกต่อไป แต่มันเป็นไหมพรมที่เกี่ยวกับเขาแล้วจริง ๆ ต่อให้มองไม่เห็นแต่มันก็อยู่ในนั้นแล้ว เหมือนกับที่ตอนแรกไม่ได้คาดคิดว่า cyanotype จะหลุดออกหมด คิดว่าจะแค่จาง ๆ แต่มันก็ทำให้เห็นถึงความจริงที่ว่า มันควบคุมไม่ได้ แล้วการที่เราควบคุมมันไม่ได้ มันก็ตอบคำถามในกระบวนการนี้ก็คือ เราไม่สามารถควบคุมได้ว่า คนคนหนึ่งเขาจะถูกเยียวยาได้ขนาดไหน เพราะมันก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ   The People: ช่วงเวลาที่คุณถักงานต้องอยู่กับตัวเองมาก เพราะกระบวนการถักมันคือการทำซ้ำไปเรื่อย ๆ ตอนนั้นคุณคิดอะไรอยู่ เดมี่: กลับมาสิ่งที่ได้พูดถึงทฤษฎีของ คาร์ล มาร์กซ์ อันนี้ก็ตอบโจทย์เรื่องการถักของเราว่า ถ้าย้ำสิ่งหนึ่งมาก ๆ สุดท้ายเราจะโอเคกับมัน เราก็คิดว่าถ้าเราถักไปเรื่อย ๆ เหมือนเราก็อยู่กับเรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ จนมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาต่อชีวิต ในที่สุดมันจบลง เราก็รู้ว่าที่จริงแล้วเราก็อยู่กับมันได้   [caption id="attachment_11196" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ เดมี่ จิราพร มอร์ ศิลปะกับเสียง (ที่ไม่ควร) เงียบของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เดมี่ จิราพร มอร์[/caption]   The People: คุณเลือกแสดงออกมาเป็นงานศิลปะเพราะคุณเรียนศิลปะด้วยหรือเปล่า เดมี่: ส่วนหนึ่งคือใช่ เพราะเราชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก และคิดว่าศิลปะเป็นวิธีเดียวที่เรารู้จักที่จะทำให้ความเจ็บปวดกลายเป็นสิ่งสวยงามได้ เพราะถ้าความเจ็บปวดกลายเป็นสิ่งสวยงามได้ เราก็จะอยู่กับมันได้ อย่างตอนวันเปิดงานนิทรรศการ หรือตอน thesis ของเรา เราดีใจมาก เพราะว่าตอนนี้ทุกความรู้สึกที่เคยเจ็บปวดของเรามันได้กลายเป็นสิ่งสวยงามแล้ว มันอยู่ในรูปทรงที่เราชื่นชอบ และคนอื่นก็ชื่นชอบด้วย   The People: นิทรรศการชุดนี้บอกอะไรกับบุคคลทั่วไปบ้าง เดมี่: ความตั้งใจแรกคือ เราเจ็บปวด เราต้องการที่จะหายจากความเจ็บปวดนี้ พอได้ไปสัมภาษณ์คนอื่น ๆ ที่เจอเหตุการณ์เดียวกันมา เขาก็เจ็บปวด แล้วเขาก็พยายามที่จะหายเหมือนกัน เราไม่ได้คาดหวังว่าคนที่มาดูงานต้องเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาเท่านั้นถึงจะเข้าใจ แค่อยากให้รู้ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งนะที่เขารู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องหนึ่งในชีวิต คุณเคยเจ็บปวดกับอะไรไหม แล้วคุณจัดการกับมันยังไง ตอนนี้เรากำลังเล่าเรื่องนี้ให้คุณฟัง เรื่องที่เรารู้สึกว่ามันจริงที่สุดในชีวิตของเรา มาฟังเราก็ได้ หรือมาคุยกัน   The People: อยากบอกอะไรกับคนที่มีประสบการณ์ร่วมกัน เดมี่: เรายินดีและโชคดีที่คนเหล่านี้ยินดีที่จะคุยกับเรา และเล่าเรื่องราวให้เราฟัง เราอยากบอกว่าคุณเข้มแข็งมาก ๆ เก่งมาก ๆ แล้ว ขอให้ชื่นชมตัวเองเถอะ เราจะไม่บอกว่า “ไม่เป็นไรนะ” เพราะมันเป็นคำที่เราก็ไม่ชอบ เพราะถ้ามันไม่เป็นไร เราก็ไม่เป็นขนาดนี้หรอก เราเลยคิดว่าการให้กำลังใจแบบนี้มันไม่ส่งผลดี แต่สิ่งที่ดีคือการเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังเขา เขารู้สึกอะไร พูดอะไร ขอให้รับฟัง เราอยากให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว           ภาพโดย: ชญานิศ มาทอง   [caption id="attachment_11197" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ เดมี่ จิราพร มอร์ ศิลปะกับเสียง (ที่ไม่ควร) เงียบของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ Post rape: The power of the muted voice[/caption] [caption id="attachment_11200" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ เดมี่ จิราพร มอร์ ศิลปะกับเสียง (ที่ไม่ควร) เงียบของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ Post rape: The power of the muted voice[/caption]