รัฐบาลจีน กับการกดดันทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมความเห็นของชาวโลก
"ณ เวลานี้ จีนได้ใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปรุกรานพื้นที่ที่อยู่นอกการเมืองหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว ละครทีวี หรือกระทั่งน้ำชาที่เราดื่ม ความคิดเห็นสาธารณะคือที่มาของประชาธิปไตย สำหรับประชาชนที่อยู่ในสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างไต้หวัน เราจำเป็นต้องตื่นตัวกับเรื่องเหล่านี้" ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินของไต้หวันแสดงความกังวลต่อการกดดันของจีนต่อความเห็นสาธารณะบนเฟซบุ๊กทางการของเธอ (6 สิงหาคม 2019)
"ไต้หวัน เป็นประเทศหรือไม่?"
การตอบคำถามนี้ (อย่างปัญญาชน) คงต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบของความเป็น "ประเทศ" ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง? ไม่ว่าจะเป็นอาณาเขตปกครองของตัวเองมั้ย? มีรัฐบาลเป็นของตัวเองรึเปล่า? มีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และการตัดสินคดีหรือไม่?
และผู้ถูกถามก็ควรมีอิสระที่จะตอบได้ว่า "เป็น" หรือ "ไม่เป็น" เพราะอะไร?
แต่ตอนนี้ แค่ตั้งคำถามก็ทำได้ลำบาก เพราะคำตอบมีได้อย่างเดียวว่า "ไต้หวัน ไม่ใช่ประเทศ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของจีน" เท่านั้น เนื่องจากแรงกดดันของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งขัดต่อความเป็นจริง เพราะไม่ว่าอย่างไร สถานภาพของไต้หวันก็ไม่อาจเทียบได้กับมณฑลเหอหนาน หรือจังหวัดสระแก้วแน่ ๆ
ไต้หวันเคยมีสถานภาพเป็น "ประเทศ" ที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกให้การยอมรับ เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ยังคงเป็นรัฐบาลที่ปกครองจีนส่วนใหญ่ และเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งขององค์การสหประชาชาติ จนกระทั่งจีนคณะชาติพ่ายให้กับจีนคอมมิวนิสต์ รัฐบาลสาธารณรัฐจีนจึงต้องถอยร่นมาอยู่ไต้หวัน แต่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนก็ยังคงเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติสืบมา
จนกระทั่งปี 1971 ที่สหประชาชาติหันไปรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำให้รัฐบาลจีนคณะชาติบนเกาะไต้หวัน พ้นจากการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ทั้งที่มีผู้เสนอทางเลือกอื่นอย่างการให้ทั้งสองรัฐบาลเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่ทั้งคู่ต่างก็ไม่ต้องการทางเลือกดังกล่าว ไต้หวันจึงกลายเป็นผู้แพ้ แต่ถึงอย่างนั้น ไต้หวันยังคงความสัมพันธ์อันดีในระดับนานาชาติกับประเทศอื่น ๆ นับร้อยประเทศเรื่อยมา
ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 90s ไต้หวันมีความพยายามที่จะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกสหประชาชาติอีกครั้ง แต่แน่นอนว่า การที่จีนแผ่นดินใหญ่เป็นหนึ่งใน 5 สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงฯ โอกาสที่ไต้หวันจะได้รับการรับรองเป็นสมาชิกสหประชาชาติย่อมเป็นไปได้ยาก ต่อให้ไต้หวันมี "คุณสมบัติ" ครบพอที่จะเป็นหนึ่งในสมาชิกได้ เนื่องจากสมาชิกใหม่ของสหประชาชาตินอกจากจะต้องได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ฯ แล้ว ยังต้องได้รับการเสนอชื่อจากคณะมนตรีความมั่นคงฯ ด้วย
ถ้าหากนิยามความเป็น "ประเทศ" ไปติดอยู่กับการยอมรับของนานาชาติ และการเป็นสมาชิกสหประชาชาติแล้ว ไม่ว่าประเทศหนึ่ง ๆ จะมีคุณสมบัติอย่างไร ก็คงเป็นประเทศไม่ได้ถ้าไม่ผ่านไฟเขียวจากชาติใหญ่เพื่อให้ชาติเล็กอื่น ๆ มารับรองอีกที (กลายเป็นระบบมาเฟียเปรียบดัง "สัตว์ปีก" ตัวหนึ่งจะเป็นสัตว์ปีกหรือไม่? ไม่ได้ดูว่าสัตว์ตัวนั้นมีปีกหรือเปล่า แต่ขึ้นอยู่กับว่า สัตว์ปีกตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะตัวที่ใหญ่กว่าจะรับรองหรือไม่ ถ้าไม่รับรองก็เป็นสัตว์ปีกไม่ได้เสียอย่างนั้น)
แม้ไต้หวันจะไม่ได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติมานานแล้ว แต่ชาวบ้านร้านตลาด ผู้ประกอบการ หรือนักวิชาการในประเทศต่าง ๆ ก็ยังคงกล่าวถึงไต้หวันอย่างเป็น "ประเทศ" อยู่เช่นเดิม จนกระทั่งจีนกลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนจึงใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองกดดันให้ประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนห้ามกล่าวถึงไต้หวันในฐานะรัฐรัฐหนึ่งอีกต่อไป
รายงานข่าวในปี 2017 บริษัทข้ามชาติหลายแห่งถูกรัฐบาลจีนแจ้งเตือนให้เลิกเรียกไต้หวันว่าประเทศ เช่น โรงแรมเครือ Marriott สายการบิน Delta Airlines หรือ Zara ผู้ผลิตเสื้อผ้าจากสเปน ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนที่จีนยังปิดประเทศไม่มีอิทธิพลใด ๆ ในตลาดโลก บริษัทเหล่านี้ก็คงไม่ได้สนใจอะไรเท่าไหร่ แต่เมื่อชาวจีนกลายมาเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญที่มีขนาดใหญ่กว่าไต้หวันมากมายหลายเท่า พวกเขาก็ย่อมที่จะทำตามข้อเรียกร้องของจีนอย่างไม่ลังเล เพราะเชื่อว่านั่นคงไม่ทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบด้านการตลาดในไต้หวัน (Forbes)
ในโลกวิชาการเองก็ถูกจีนกดดัน ปลายปีเดียวกันที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในออสเตรเลีย ได้เกิดวิวาทะระหว่างนักศึกษาจีนกับอาจารย์ เมื่ออาจารย์ใช้เอกสารประกอบการบรรยายชุดหนึ่งซึ่งอ้างอิงมาจาก Transparency International องค์กรสังเกตการณ์นานาชาติด้านปัญหาทุจริตซึ่งจัดให้ไต้หวันเป็นประเทศ และคลิปการโต้เถียงได้หลุดสู่โลกออนไลน์สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเน็ตจีนเป็นอย่างมาก และรายงานของสื่อท้องถิ่นอ้างคำสัมภาษณ์ของโฆษกมหาวิทยาลัยก็ชี้ว่า ตัวแทนของกงสุลจีนได้เข้ามาพูดคุยถึงปัญหาดังกล่าวด้วย (BBC)
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีนหากภาครัฐหรือเอกชนต่างชาติเกิดไปอ้างถึง กล่าวถึง โดยไม่ถูกใจจีนก็อาจถูกกดดันด้วยมาตรการเดียวกัน ทำให้จีนสามารถควบคุมความเห็นทางการเมืองของคนไปได้ไกลกว่าพรมแดนประเทศของตัวเอง รวมถึงกรณีล่าสุดที่ชาวฮ่องกงลุกขึ้นมาประท้วงการออกกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปให้จีน (ก่อนข้อเรียกร้องจะขยายไปถึงการเลือกตั้งผู้นำโดยตรง) ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายก็ถูกกดดันด้วยการคว่ำบาตรหากแสดงออกถึงท่าทีใด ๆ อันสื่อให้เห็นว่าเป็นการเห็นใจผู้ชุมนุม
ไต้หวันจำเป็นต้องจับตาความเคลื่อนไหวในฮ่องกงอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่าจีนจะเคารพหลักการ "หนึ่งประเทศสองระบบ" มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นบทเรียนสำคัญให้กับชาวเกาะไต้หวันที่เชื่อในหลักการจีนเดียวไม่เอาด้วยกับการแยกประเทศ ว่าตนพร้อมจะรับการแทรกแซงจากจีนแผ่นดินใหญ่ (ในอนาคต) ได้มากแค่ไหน ในขณะเดียวกันจำนวนประชาชนบนเกาะไต้หวันรุ่นใหม่ที่หันมาเรียกตัวเองว่า "ชาวไต้หวัน" แทน "ชาวจีน" ก็มีมากขึ้นทุกวัน แต่การประกาศตัวเป็นประเทศอิสระก็อาจนำมาซึ่งการรุกรานด้วยกำลังทหารของจีน ซึ่งจีนก็ได้ออกตัวขู่เป็นระยะ และการปูทางด้วยการบีบให้สังคมโลกยอมรับว่าไต้หวันไม่ใช่ประเทศ ก็ยิ่งทำให้การรุกรานไต้หวันมีความชอบธรรม เพราะถือเป็นกิจการภายในที่ประเทศอื่นไม่ควรเข้ามาแทรกแซง