วูดสต็อก (Woodstock) เทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ด้วยดนตรีและความรักอยู่เหนือไฟสงคราม
สำหรับคนฟังเพลง คงอาจจะรู้เรื่องราวคร่าว ๆ ของวูดสต็อกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคนหลายแสนคนที่มารวมตัวกันเพื่อชมดนตรีอย่างสันติโดยมิได้นัดหมาย วงดนตรีที่เล่นกันอย่างมึนเมา การโซโลกีตาร์อย่างไม่ยั้งของ Jimi Hendrix และการขัดขืนต่อระบบระบอบไม่ว่าจะเป็นกับค่ายดนตรีหรือแม้กระทั่งรัฐบาล
แต่ภายใต้คู่รักนับแสน จะมีคู่ไหนที่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและสันติภาพได้เทียบเท่าคู่รักคู่นี้ ที่ได้กลายเป็นไอคอนของเทศกาลนี้ไปแล้ว เรามาทำความรู้จักกับ บ็อบบี (Bobbi) และ นิก เออร์โคไลน์ (Nick Ercoline) คู่รักประวัติศาสตร์ของวูดสต็อกกันดีกว่า
ย้อนไปในปี 1969 แม้ยานอะพอลโล 11 จะเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ หรือวงสี่เต่าทองจะสิ้นสุดการทำงานเป็นกลุ่มด้วยการเดินข้ามทางม้าลายถนน Abbey Road อีกมุมหนึ่งของโลกก็ยังคุกรุ่นไปด้วยสงครามที่มหาอำนาจเข้าแทรกแซง สงครามที่ดับฝันเด็กหนุ่มทั้งหลายให้กลายเป็นฝันร้ายอันแสนเศร้าและความร้าวรานใจของวัยรุ่นในยุคนั้น คำถามในหัวเกิดขึ้นมากมายว่า ทำไมต้องส่งพวกเขาไปฆ่า และฆ่าคนเวียดนามไปทำไม ซึ่งคำถามอันแสนเจ็บปวดนี้ กระทั่งคู่รักที่เพิ่งจะรักกันหมาด ๆ อย่างบ็อบบีและนิกก็หาคำตอบไม่ได้
ความอึดอัดอึมครึมค่อย ๆ ปะทุในจิตใจของวัยรุ่นหลายคนในยุคนั้น เพื่อนฝูงมากมายที่ออกอาการลิงโลดเมื่อได้ไปรับใช้ประเทศชาติในตอนขาไป แต่เมื่อเดินทางกลับพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน บ้างก็พิกลพิการทั้งร่างกาย แต่ทุกคนบอบช้ำทางจิตใจ นิกอาจจะไม่ได้ไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม แต่เพื่อนของเขา จิม ‘คอร์กี’ คอร์โคแรน ได้อยู่ในสมรภูมินั้นตลอด 18 ปี มันคือนรก
แต่คู่รักที่เพิ่งจะตกลงปลงใจเป็นแฟนกันเพียง 3 สัปดาห์ ก็ได้แต่เก็บกักความกดดันนี้ไว้เพียงแค่ในใจ ก่นด่าความสามานย์ขอรัฐบาลได้เพียงแค่ลมปาก กระทั่งได้ยินเทศกาลดนตรีที่ชื่อ “วูดสต็อก” บนหน้าปัดวิทยุ “แต่เราก็ไปไม่ได้ เพราะบัตรราคา 18 เหรียญยุคนั้นมันแพงเกินไปสำหรับเรา” บ็อบบี สาวน้อยในยุคนั้นให้สัมภาษณ์ถึงครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเทศกาลดนตรีนี้ แต่แล้วเมื่อใกล้ถึงเทศกาล เสียงจากนักข่าวที่ประกาศลั่นในวิทยุกลับกระตุ้นคู่รักทั้งสองให้ต้องไป ไม่ใช่คำเชื้อเชิญ แต่เป็นคำสั่งห้ามไม่ให้มางาน “มีทั้งการจลาจล มีทั้งความวุ่นวายเกินจะรับไหว แต่คุณก็รู้ในช่วงวัยรุ่น ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุใช่ไหมล่ะ” นิก ฝ่ายชายพูดกลั้วเสียงหัวเราะ สุดท้ายทั้งสองก็ตัดสินใจไปเดี๋ยวนั้นทันทีโดยไม่ได้เตรียมตัวอะไร เขาชวนเพื่อนซี้ จิม ‘คอร์กี’ และเพื่อนอีก 2-3 คนขับรถไปด้วยกัน โดยจิมขโมยรถของแม่ขับตรงไปยังเมืองเบเธล นิวยอร์ก ทันที
เมื่อไปถึง พวกเขาก็พบการจราจรที่ติดขัดอย่างมาก และเจอเข้ากับการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามห้ามฝูงชนไม่ให้เข้าไป ...ในเมื่อรถเข้าไปไม่ได้ พวกเขาก็เลือกทิ้งรถเพื่อเดินเท้าเข้าไปในงาน “สิ่งที่ฉันเห็นคือคลื่นมนุษย์ ทะเลผ้าห่ม” บ็อบบีพูดถึงความรู้สึกแรกที่ได้เหยียบพื้นที่กว่า 600 เอเคอร์
ย้อนกลับไปก่อนเกิดปรากฏการณ์ ท่ามกลางผู้คนมากมายกว่า 500,000 คน ผู้ริเริ่มเทศกาลนี้กลับมีเพียง 4 คน นั่นก็คือ อาร์ตี คอร์นเฟลด์, ไมเคิล แลง, จอห์น พี. โรเบิร์ตส และ โจเอล โรเซนแมน เท่านั้น พวกเขาเพียงต้องการทำเทศกาลดนตรีดี ๆ สักงาน โดยชวนเพื่อนศิลปินมาแสดงด้วยค่าตัวที่แสนถูก เริ่มต้นด้วยวง Creedence Clearwater Revival หลังจากนั้นวงก็ชวนเพื่อน ๆ ร่วมวงการมาแสดงสดในเทศกาลดนตรีนี้ แถมสถานที่จัดก็ยังไม่ลงตัว วันเวลาที่วางไว้ก็ค่อย ๆ ใกล้เข้ามาทุกที จนสุดท้ายก็ได้ไร่ติดภูเขาพื้นที่กว่า 600 เอเคอร์ จากเจ้าของฟาร์มผู้ใจดีที่รักเสียงเพลงที่ชื่อ แมกซ์ ยัสเกอร์ ที่อุทิศพื้นที่ให้กับเด็กหนุ่มไฟแรงเหล่านี้
เมื่อสถานที่พร้อมแล้วเทศกาลก็เดินหน้าต่อไป และด้วยวิวทิวทัศน์ของฟาร์มไวท์ เลค ก็เย้ายวนชวนให้เหล่าบุปผาชน ฮิปปี้ และเสรีชนมากมาย ทยอยมาตั้งแคมป์กันตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม ในยุคที่ไร้ซึ่งสื่อโซเชียลมีเดียใด ๆ แต่ฝูงชนก็ทยอยมากันนับแสนตั้งแต่ยังไม่เปิดแสดงอย่างเป็นทางการ ปากต่อปากที่พูดถึงเทศกาลดนตรีในฝัน จนท้ายสุดมวลชนที่เป็นชายขอบของสังคมก็รวมตัวกันหลั่งไหลเกินความคาดหมายของผู้จัดถึง 10 เท่า ผู้คนจำนวน 5 แสนอัดแน่นกันอยู่ในสถานที่ที่ถูกขับกล่อมด้วยเสียงเพลง ความสับสนค่อย ๆ ถาโถมเมื่อผู้จัดเกินจะตั้งรับคลื่นมหาชนมากมาย หลายคนพังรั้วเข้ามาเพื่อระบายคนที่แออัดด้านหน้าจนสุดท้ายก็ประกาศให้เข้าฟรี ไม่เช่นนั้นงานจะเริ่มต้นไม่ได้
งานเริ่มต้นในเย็นวันที่ 15 สิงหาคม เวลา 17:07 น. โดยเริ่มต้นที่ศิลปินเพลงโฟล์ค Richie Havens ที่มาขัดตาทัพให้วง Sweetwater ที่ยังไม่สามารถเข้ามาในงานได้เพราะติดฝูงชน Richie คือนักดนตรีโฟล์คผิวสีที่สร้างซีนประทับใจเพลงสุดท้าย Motherless Child ที่เขาด้นสดเพลง Freedom จนเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงสันติภาพผ่านบทเพลงในเทศกาลดนตรีนี้
แม้จะมีศิลปินมากมายมาร่วมสร้างปรากฏการณ์ถึง 32 ราย โดยมีศิลปินที่พอจะรู้จักดีอย่าง Ravi Shankar, Joan Baez, Santana, Grateful Dead, Janis Joplin, Sly and the Family Stone, The Who, Jefferson Airplane, The Band, Crosby, Stills, Nash & Young, Jimi Hendrix แต่จริง ๆ แล้วผู้จัดชวนศิลปินมากกว่านั้น ตั้งแต่เบอร์เด่น ๆ อย่าง Bob Dylan, The Rolling Stones, Led Zeppelin, The Door ไปจนถึง The Beatles แต่ส่วนใหญ่ก็ปฏิเสธเพราะไม่คิดว่าวูดสต็อกจะประสบความสำเร็จได้ บ้างก็ติดงาน แต่มีข่าวลือหนาหูว่ามีตราแผ่นเสียงบางค่ายไม่ตอบรับ และห้ามนักดนตรีมาร่วมแสดงในเทศกาลนี้ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ (เพราะหนึ่งในผู้จัดคือเจ้าของค่าย Capitol Records)
แม้ว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ แต่มากกว่าบนเวทีที่เกิดขึ้น ด้านล่างที่เต็มไปด้วยฝูงชนมากมายกลับมีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน “ฉันแทบไม่รู้เลยว่าวงดนตรีที่มาแสดงในงานนั้นมีใครบ้าง รู้แต่ว่าทุกคนดูเป็นอิสระจากพันธนาการของสังคมที่วางกรอบไว้ กลิ่นกัญชาลอยคลุ้งตามอากาศ พร้อมกับเสียงตะโกนก้องของนักร้องผ่านเครื่องขยายเสียงที่ตะโกนว่า ‘PEACE’ ฉันรู้สึกเลยว่าความขัดเคือง กดดัน และความรู้สึกเจ็บปวดต่อเหตุการณ์ในช่วงนั้นไม่ได้มีเพียงฉันคนเดียว” บ็อบบีเล่าด้วยแววตาที่ไม่ต่างกับปี 1969 เพราะฝูงชนต่างมาด้วยความต้องการที่จะปลดปล่อยตัวเอง ได้รู้จักกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ได้ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่โยคะ เล่นน้ำ ทำอาหาร ดีดกีตาร์ อ่านบทกวี ไปจนถึงเปลือยกาย ตลอดเวลา 3 วัน 3 คืนในนั้น คือช่วงเวลาแห่งความฝันของอเมริกันชน ที่ต้องการเพียงคำว่า “Peace”, “Love” และ “Not War” และแม้จะมีฝูงชนครึ่งล้านอยู่ในนั้น แต่กลับไม่มีการก่ออาชญากรรมและความรุนแรงใด ๆ ในงานสักนิดเดียว
แต่แล้วภาพประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้นในเช้าตรู่วันที่ 18 สิงหาคม เมื่อมีผู้คนมากมายเกินกว่าจะมีพื้นที่พอให้ตั้งเต็นท์ บ็อบบีและนิกจึงนอนกลางดิน หลับกลางพื้นยอดหญ้า ตื่นขึ้นเมื่อได้ยินผู้คนปลุกให้ชมพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อสัมผัสแสงตะวันแรกของวัน บ็อบบีและนิกกอดกันท่ามกลางผ้าห่มที่ได้รับจากเพื่อนที่รู้จักกันในงาน ก่อนจะพูดกันว่า “อรุณสวัสดิ์” เบา ๆ แต่ภาพนั้นกลับไปเตะตา Burk Uzzle อดีตช่างภาพจาก Life Magazine ที่เห็นโมเมนท์แสนวิเศษนี้ ก่อนจะลั่นชัตเตอร์เพื่อเก็บความประทับใจนี้ไว้บนโลกตลอดกาล
หลังจากนั้นภาพที่ยอดเยี่ยมนี้ได้ไปอยู่เป็นปกแผ่นเสียง Woodstock: Music from the Original Soundtrack and More เพื่อสนับสนุนหนังสารคดีที่บันทึกช่วงเวลาแห่งตำนานนี้ (ซึ่งหนึ่งในผู้บันทึกภาพในเทศกาลนั้นคือ Martin Scorsese ที่กลายเป็นผู้กำกับยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา) บ็อบบีและนิกต่างพากันตกใจที่ภาพของเขาและเธอปรากฏอยู่ในนั้น
“เราไม่รู้ว่าถูกถ่ายภาพ” นิกกล่าวด้วยความแปลกใจ “แต่นั่นเป็นท่าที่ผมและบ็อบบีทำกันทุกเช้า...และทุกคืนก่อนที่เราจะเข้านอน”
แม้งานจะสิ้นสุดลงพร้อมกับเสียงกีตาร์บาดลึกของ Jimi Hendrix แต่เมื่องานเลิกรากลับพบภาพความเสียหายมากมาย ฟาร์มที่ใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะฟื้นฟูให้เป็นดังเดิม กองขยะมากมายที่เกลื่อนกลาด ที่ดินที่เต็มไปด้วยผืนหญ้ากลับเละเป็นทะเลโคลนจากสภาพอากาศอันเลวร้าย ผู้จัดทุกคนรวมไปถึงเจ้าของฟาร์มต่างเข็ดหลาบกับเทศกาลนี้ แต่ผู้คนเรือนแสนที่มาร่วมงานกลับได้ความรู้สึกที่ดีและงดงามกลับไปเป็นที่ระลึก วูดสต็อกกลายเป็นจุดเริ่มให้คนรุ่นใหม่ต่างตระหนักในเสรีภาพที่อยู่เหนือสงคราม โดยจัดกิจกรรมรวมตัวผู้ชุมนุมกว่า 500,000 คนเพื่อประท้วงรัฐบาลที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม เป็นการแสดงออกที่ยิ่งใหญ่ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลไกสำคัญที่ผลักดันให้ผู้คนต่างลุกฮือก็มาจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จากเทศกาลดนตรีวูดสต็อกนั่นเอง
ย้อนกลับไปที่คู่รักวูดสต็อก ที่หลังจากนั้นก็แต่งงานในอีก 2 ปีต่อมา ปัจจุบันบ็อบบีประกอบอาชีพพยาบาล ส่วนนิกเป็นช่างไม้ มีพยานรักเป็นลูกน้อย 2 คน ที่น่าทึ่งกว่าก็คือทั้งคู่ยังคงครองรักกันอย่างเหนียวแน่นมาจนครบรอบ 50 ปีในปีนี้
“ผมอัดรูปนั้นและแขวนไว้ที่บ้าน เรามองภาพนี้ทุกวัน มันแสดงให้เห็นถึงความเยาว์วัย อิสระเสรีที่มีอยู่เหนือความขัดแย้งในสงคราม ที่สำคัญคือความรักที่มีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด เราสองคนมักจะย้อนกลับไปยังที่แห่งนั้นอยู่บ่อย ๆ แม้จะไม่สามารถเรียกคืนความประทับใจแบบนั้นได้อีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ความรู้สึกและจิตวิญญาณยังคงอยู่ และมันจะอยู่ตลอดไป”