20 ส.ค. 2562 | 16:24 น.
ใครว่าสีชมพูเป็นสีสำหรับผู้หญิง วิน นิมมานวรวุฒิ หรือ วิน นิมมาน ได้พิสูจน์กับเราแล้วว่ามันไม่จริง วินเป็นผู้ชายที่ชอบสีชมพูเป็นชีวิตจิตใจ เป็นเจ้าของเพจรวมบทกวีบนเฟซบุคอย่าง เพจ ‘โรแมนติกร้าย’ เจ้าของหนังสือ ‘Romantic!! (ร้าย)’ กับ ‘รองเท้าสีชมพูกับโลกสีเอิร์ลเกรย์’ และเป็นเจ้าของผลงานเพลงเหงาปนน่ารักอย่าง ‘Little Wendy’ และ ‘Miss Lonely Heart’
นอกจากนี้ วินยังเป็น male feminist และ LGBT supporter ที่ตวัดปากกาเพื่อเล่าถึงเรื่องราวของหญิงสาวบุคลิกต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง วันนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้คุยกับเขา ถึงเรื่องราวความเป็นมากว่าจะเป็น วิน นิมมานวรวุฒิ
The People: เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่ามาเป็นนักเขียนได้ยังไง
วิน: จริง ๆ การที่เราเริ่มมาเขียนมันเป็นเพราะเราพูดไม่เก่ง way ในการ communicate กับโลกใบนี้ มันจึงมักไม่ใช่การพูด แล้วบังเอิญว่าการเขียน มันเป็น way ที่เข้ากับเราที่สุด ก็เลยมาจบที่การเขียน
The People: เริ่มมาจากการเป็นนักเขียนให้สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น?
วิน: ใช่ครับ ของพี่ปราบดา หยุ่น ตอนนั้นเราเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิต แล้วก็ลองส่งไปดู ปรากฏว่าได้ลงในออนไลน์ เราก็เลยมีกำลังใจมากขึ้น หลังจากนั้นเราจึงอยู่กับการเขียนมาโดยตลอด
The People: เราเริ่มต้นจากความหลงใหลในการอ่าน?
วิน: ใช่ครับ คงคล้ายกับศิลปินส่วนมาก เราค่อนข้างที่จะแปลกแยกจากสังคมในเวลานั้น เรามีเพื่อนน้อย เพราะว่าเลือกคบเพื่อน แล้วก็ชอบใช้ชีวิตคนเดียวมากกว่าก็เลยปลีกตัวจากห้องเรียนไปห้องสมุดบ่อย ๆ จนค้นพบนวนิยายของ ฮารุกิ มุราคามิ ซึ่งต้องบอกว่า มันทำให้เราค้นพบเสียงอีกเสียงหนึ่งในใจเราว่าเราเขียนหนังสือได้นะ ตอนนั้นเราอายุ 16 ปี เป็นตอนที่ออกหนังสือเล่มแรก เราทำหนังสือทำมือไปขายที่ Fat Festival ครั้งที่ 4 หรือ 5 นี่แหละ ทำไปขายจำนวน 200 เล่ม ทำโดยไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องขายดี แต่ปรากฏว่ามันก็ดีกว่าที่คิด คือมันขายหมด ก็เลยมีพลังที่จะทำงานด้านนี้ต่อไป
The People: แล้วเพจเฟซบุค โรแมนติกร้าย ที่เราเป็นเจ้าของอยู่ล่ะ เริ่มทำได้ยังไง
วิน: เพจ โรแมนติกร้าย เป็นเพจที่รวมเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิงในแง่มุมต่าง ๆ เพราะจริง ๆ แล้วตัวเราเองโตมากับ single mom บวกกับเรามีเพื่อนผู้หญิงมากกว่าเพื่อนผู้ชาย เพราะฉะนั้นเราจะใช้ชีวิตอยู่กับผู้หญิง เลยค่อนข้างที่จะเข้าใจว่าผู้หญิงเขาคิดยังไง แสดงออกยังไง
The People: เรารู้ไหม หรือคาดหวังไหม ว่าจะมีคนมาติดตามเพจของเราเยอะขนาดนี้
วิน: ไม่คิด เราทำจากความชอบล้วน ๆ เราไม่ได้เขียนเพื่ออยากให้เพจมันบูม แต่เราเขียนเพราะรู้สึกว่าเรามีเรื่องอยากพูดกับโลกใบนี้ แล้วบทกวีมันเป็นทางที่เราถนัดที่สุดที่เราใช้ในการเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงหรือคนรอบตัวเรา
The People: อะไรที่หล่อหลอมให้เราเป็นเฟมินิสต์
วิน: อาจเพราะเราอยู่ในสังคมมัธยมปลายที่เป็นชายล้วน เราจะเห็นด้านดาร์ก ๆ เยอะ ไม่ว่าจะเป็นการเห็นเพื่อนของเราที่เป็น LGBT ถูกแกล้งทุกวัน มันก็กลายเป็นปมในใจว่าเราอยากจะเปลี่ยนสังคมให้มันดีขึ้น แล้วก็อยากให้คนทุกคนเท่ากัน เราเป็น male feminist 100% แต่ว่าหลาย ๆ คนจะเข้าใจผิด คือรวมกันว่าถ้าเป็น feminist จะเป็นเกย์หรือเปล่า ซึ่งมันไม่ใช่ เราก็เป็น straight guy แบบนี้ และเป็น LGBT supporter
The People: คิดว่าสังคมบ้านเราตอนนี้ยังมีความคิดแบบชายเป็นใหญ่อยู่มากไหม
วิน: ยังมี โครงสร้างของบ้านเราวางให้ผู้ชายเป็นใหญ่มานาน ผมอยากเปลี่ยนแปลงนะ แต่มันเป็นเชิง politics ซึ่งเปลี่ยนยาก เราเลยพยายามเปลี่ยนสิ่งที่เราเปลี่ยนได้ สิ่งที่ใกล้ตัวก่อน เช่นการเขียนบทกวีบอกเล่ามันออกไปผ่านผู้คนรอบตัวเรา แต่ถ้าลึกไปกว่านั้น มันเป็นเรื่องของอำนาจ ที่เราอาจจะเปลี่ยนมันได้น้อย
The People: คิดว่าส่วนไหนของผู้หญิงที่มีความน่ารักและทำให้พวกเธอน่ามองที่สุด
วิน: ผมว่าเป็นความมั่นใจ ความ unique ความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ซ้ำใคร เป็นเรื่องของสไตล์ของแต่ละคน
The People: ทราบว่าเราเป็นผู้ชายที่ชอบสีชมพู ทำไมต้องเป็นสีชมพู
วิน: จริง ๆ เรื่องสีมันก็หาเหตุผลไม่ได้ แต่เรารู้สึกว่ามันให้พลังบวก อยู่ด้วยแล้วมีความสุข
The People: หลายคนอาจจะมองว่าสีชมพูนั้นดูไม่แข็งแรง เราในฐานะ male feminist เรามองเรื่องนี้อย่างไร
วิน : เรามองว่าสีชมพูก็แข็งแกร่งได้ ถ้าอยู่ในทิศทางที่เหมาะสม อันนี้เป็นเรื่องของเทสต์ด้วย
The People: เคยมีความรักที่ทำให้ท้องฟ้าเป็นสีชมพูไหม
วิน: มีเป็นสีวานิลลา อาจจะยังไม่ถึงสีชมพู เป็น vanilla sky
The People: ไอศกรีม ลิปสติก รองเท้า และความเหงา เราจะเห็นถ้อยคำเหล่านี้ในเพจของวิน นิมมาน เสมอ มันมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร
วิน: ไอศกรีมเป็นสัญลักษณ์ของพลังบวกและความสุขที่เรารับรู้ได้ คงไม่มีใครเห็นไอศกรีมแล้วกลัว เราก็เลยเลือกที่จะหยิบสัญลักษณ์นี้มาใส่ในบทกวี ส่วนอันอื่น ๆ ด้วยความที่เราไปเที่ยวกับเพื่อนสาวบ่อยกว่าเพื่อนชาย มีเพื่อนผู้หญิงมากกว่า เพื่อนเราก็จะชอบช็อปปิ้ง ส่วนเราก็ชอบสังเกตว่าผู้หญิงสไตล์นี้ จะชอบใช้ลิปสติกสีไหน เราก็หยิบมาเขียนถึง
The People: นอกจากพลังบวกแล้ว ไอศกรีมคือตัวแทนของอะไร ทำไมเราถึงกลายเป็น ice-cream hunter
วิน: คือเมื่อก่อนเราเป็นเด็กอ้วน ชอบกินขนม ตอนที่เราอยู่นิวยอร์กก็เลยทำแผนที่ไอศกรีมเลย เราไปล่าไอศกรีมรอบแมนแฮตตัน มันอาจจะฟังดูเชยนะ แต่ความสุขของการออกไปล่าไอศกรีมนี่มันก็อยู่ระหว่างการเดินทางด้วย
The People: ชอบทานไอศกรีมรสอะไรที่สุด
วิน: mint chocolate chip เพราะว่าทานแล้วนึกถึงคริสต์มาส ผมชอบเทศกาลคริสต์มาสเพราะเป็นเทศกาลแห่งความสุข เรียกว่าหลงใหลเลยก็ได้
The People: วินเคยเขียนถึงผู้หญิงที่กลัวคริสต์มาส ตรงนี้อยากเล่าหรือสะท้อนถึงอะไร
วิน: จริง ๆ เทศกาลคริสต์มาสมันมีความ bitter sweet อยู่ในอากาศรอบตัว แล้วก็มีความเหงาอยู่ ก็เป็นผู้หญิงที่กลัวความเหงา ซึ่งถ้าอ่านบทกวีนั้นจนจบก็จะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงกลัว และทำไมเขาถึงหายเหงาได้
The People: จากวันที่เริ่มเขียนหนังสือจนถึงวันที่มีสำนักพิมพ์อิสระเป็นของตัวเอง ระหว่างทางสอนอะไรเราบ้าง
วิน: พูดแบบเชย ๆ ก็ได้ว่าวรรณกรรมมันสะท้อนชีวิตคนหนึ่งคน ชีวิตจริงบางทีก็ยิ่งกว่าวรรณกรรม อย่างเช่นชีวิตเราที่ผ่านมาก็ยิ่งกว่าวรรณกรรม ก็เจอเรื่องราวมาเยอะ ถ้าให้ยกตัวอย่างสักเรื่องคงไม่พ้นประเด็น Lover Coaster ที่เราทำเพลงกับ น้ำตาล เดอะสตาร์ เพื่อนเราที่เพิ่งเสียชีวิตไป เรากับน้ำตาลเพิ่งจะถ่ายเอ็มวีด้วยกันไป แล้วอีกสองวันถัดมาเพื่อนเราก็ได้จากไป มันเหมือนทุกอย่างถูกแพลนไว้แล้ว มันลงล็อคไปหมด
The People: ทำไมถึงเลือกทำแต่เพลงภาษาอังกฤษ
วิน: เพราะว่าเราเสพเพลงภาษาอังกฤษเยอะกว่าเพลงไทย แล้วก็คิดว่าภาษาอังกฤษมีความอิสระมากกว่าที่จะเขียนเพลง ด้วยความที่มันไม่มีกรอบทางวรรณยุกต์
The People: ในอนาคตอยากทำเพลงภาษาไทยไหม
วิน: อยากมาตลอดครับ แต่ยังไม่ลงตัวเท่าไหร่
The People: ถ้าไม่ใช่เรื่องราวของความรัก คิดว่าอะไรคือตัวแทนของความโรแมนติกร้ายได้บ้าง
วิน: จริง ๆ ความรักต้องบอกว่ามันมีหลาย form ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของแฟนกัน หรือการเป็นครอบครัว หรือจริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นเรื่องของตัวเราเอง กับโลกใบนี้ที่เราหลงรักบางอย่างในนั้นแบบที่เป็นเรา หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ก็คงเป็นคำว่า self love
The People: แปลว่าเราเป็นคนที่พยายามจะมองสะท้อนตัวเองด้วยหรือเปล่า
วิน: เป็นคนที่พยายามจะทำความเข้าใจตัวเองตลอดเวลา แต่ก็เข้าใจไม่ได้ทั้งหมดหรอก เพราะเราเองก็ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
The People: การพยายามเข้าใจตัวเอง ทำให้เราเข้าใจคนรอบข้างได้ดีขึ้นด้วยไหม
วิน: แน่นอนว่าเกี่ยวโยงกัน มนุษย์ทุกคนมีความเชื่อมโยงกัน มีความกลัวคล้าย ๆ กัน ตกหลุมรักคล้าย ๆ กัน
The People: หนังสือเล่มไหนที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้มากที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา
วิน: หนังสือที่ชอบมันจะเปลี่ยนไปตามช่วงวัย แต่เรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราเขียนกวี เรื่องแรกเลยคือ ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ ของพี่ตุลย์ ไวฑูรเกียรติ แต่ถ้าเล่มล่าสุด จะอ่านหนังสือที่เป็น fiction น้อยลง แต่อ่านเรื่องจริงมากขึ้น ก็จะชอบพวก memo ของนักดนตรีต่าง ๆ
The People: ความแตกต่างที่ได้รับจาก fiction กับ non fiction?
วิน: หลัง ๆ จะรู้สึกอินกับเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันจริงมากกว่า ใน fiction จะมีความปรุงแต่งเยอะ ซึ่งบางทีมันไม่ทัชเรา
The People: การทำสำนักพิมพ์ของตัวเองยากไหม มีอุปสรรคอะไรบ้าง
วิน: ไม่ยากเลย อาจจะเหนื่อยนิดหน่อย ในการ connect กับคน โดยธรรมชาติของเราค่อนข้างจะเป็นคนเก็บตัว ไม่สุงสิงกับโลกภายนอกสักเท่าไหร่ มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำเพื่อดูแลตัวเอง และเพื่อเขียนหนังสือ พิมพ์หนังสือของตัวเอง
The People: เคยมีช่วงที่ depress ไหม เล่าให้ฟังหน่อยว่าผ่านมาได้อย่างไร
วิน: จริง ๆ เราว่าบทกวีหรืองานเขียนนี่คือ the best cure for sadness เลย คือการที่ได้เขียนมันเหมือนเราได้ระบาย และได้คุยกับตัวเองไปพร้อมกัน เราเขียนเพื่อเข้าใจตัวเองด้วย
The People: ‘Little Wendy’ กับ ‘Miss Lonely Heart’ ดูเป็นเพลงที่อุ่น ๆ เหงา ๆ ส่วนตัวเราเหงาบ่อยไหม
วิน: เหงาทุกวัน เราเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อเหงาประมาณนึง แต่เราไม่ได้หนีความเหงาแล้ว จากที่เมื่อก่อนพยายามหนี แต่ว่าถึงที่สุดแล้วชีวิตคนเราหนีความเหงาไม่ได้ เราต้องอยู่กับมัน เราก็เลยเปลี่ยนความเหงาเป็นเพลงซะเลย
The People: ขั้นตอนการเปลี่ยนความเหงาเป็นเพลงเราทำอะไรบ้าง
วิน: เพลงบางเพลงมันเริ่มจาก lyrics หรือ กวี ก่อน อย่าง ‘Miss Lonely Heart’ มันก็เป็นกวีก่อน คือโดยธรรมชาติเรามีความเป็นกวีมากกว่านักแต่งเพลง แต่เรามองว่าเพลงเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราสื่อสารกับโลกได้ในอีกมุม
The People: เปลี่ยนจากการเป็นกวีมาทำเพลงได้ยังไง
วิน: จริง ๆ ต้องบอกว่าเราชอบทั้งกวีและเพลงมาตั้งแต่แรกนั่นแหละ แต่จังหวะชีวิตมันพาให้เราได้เขียนก่อน ด้วยความที่เราเป็น perfectionist ด้วย อะไรที่ยังไม่สมบูรณ์เราก็ไม่อยากปล่อย เพราะฉะนั้นเพลงก็เลยใช้เวลานานกว่าจะออกมาเป็น single ได้
The People: ในอนาคตอยากให้วงการหนังสือและวงการเพลงไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีอะไรที่คิดว่ายังขาดไหม
วิน: ในภาพรวมของธุรกิจเราคิดว่ามันก็เติบโตและหลากหลายขึ้น แต่มันก็ยังมี gap บางอย่าง ที่ไม่ได้ตอบโจทย์รสนิยมของผู้เสพทั้งหมด แล้วเราก็เลือกที่จะสร้างผลงานเพื่อตอบโจทย์ gap ตรงนั้น เพราะฉะนั้นงานเราก็เลยไม่ได้ mass และไม่ได้ indy ซะทีเดียว มันจะอยู่ตรงกลาง
The People: คิดว่าตลาดที่เราลงมาทำเองนี่มันยังไม่ค่อยโต
วิน: เรา base on ตัวเราเองว่าเพลงที่เราอยากฟังมันยังไม่มี เราเลยต้องทำ หนังสือที่เราอยากอ่าน มันก็ยังมีน้อย
The People: เราเติบโตมาจากการทำหนังสือเล่มขาย แล้ววันหนึ่งโลกมันเปลี่ยนจนคนเราเสพอะไรต่าง ๆ ผ่านจอ เรามองเรื่องนี้อย่างไร เสน่ห์ของหนังสือยังคงมีอยู่ไหม
วิน: ต้องแยกประเภทหนังสือก่อน หนังสือที่อยู่ในหมวด media เช่น magazine อาจจะค่อย ๆ ล้มหายตายจาก แต่หนังสือที่เป็น collection เราคิดว่ามันจะอยู่ไปอีกนาน มันไม่ต่างจากไวนิล หรือเทป ที่ทุกวันนี้ศิลปินหลาย ๆ คนก็หันมาผลิตสิ่งเหล่านี้ ซึ่งนั่นคือเสน่ห์ของยุค analog ที่ digital มันแทนที่ไมได้
The People: ในอนาคตวินก็ยังสนใจที่จะทำหนังสือต่อไป
วิน: จริง ๆ แล้วกำลังทำเล่มใหม่อยู่ด้วย เดี๋ยวจะปล่อยเร็ว ๆ นี้ครับ หนังสือชื่อ Miss Candy Heart เราว่าหนังสือที่ควรค่ากับการสะสมมันไม่มีวันตาย
The People: พูดถึงการทำเพลง มี process ยังไง
วิน: มันแล้วแต่เพลง อย่าง ‘Little Wendy’ นี่เราเขียนเป็น poem มาตั้งนานแล้ว แต่เยังขาดท่อนฮุกอยู่ท่อนหนึ่งที่แต่งเท่าไหร่ก็แต่งไม่ได้ จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้วไปเที่ยวชิคาโก แล้วติดอยู่ที่สนามบิน 1 คืน เพราะพายุเข้าจนเครื่องบิน take off ไม่ได้ เราเองก็ไม่มีอะไรกินเลยทั้งคืน อยู่กับความมืดหม่นและเก้าอี้ว่างเปล่าของสนามบิน ก็เลยเขียนท่อนฮุกได้ตอนนั้น ซึ่งมันร้องว่า “Don't be a sad girl tonight” เหมือนเป็นการบอกตัวเองว่า โอเค เศร้าได้แต่อย่าเศร้านานนะ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
The People: เจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยไหม เหตุการณ์ที่เนื้อเพลงหรือบทกวีมันสั่งไม่ได้ แต่เป็น happening art
วิน: เราเป็นสาย happening art เราเป็นสายที่ถ้าพยายามจะเขียนแล้วมันจะไม่เวิร์ค จนกระทั่งถึงเวลาที่เหมาะสม บางอย่างมันมากระทบใจเรา เราจะเขียนได้ เราคิดว่าเราไม่ใช่คนที่จะสั่งให้ตัวเองสร้างงานศิลปะได้
The People: พูดถึงเพลงที่ทำร่วมกับ น้ำตาล เดอะสตาร์ อีกสักนิด เพลงนี้มีความหมายกับเรายังไง
วิน: จริง ๆ เนื้อเพลง ‘Lover Coaster’ มันเหมือนเป็นตลกร้าย เพราะมันตรงกับเหตุการณ์จริง มันพูดถึงเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงที่เป็นเพื่อนกัน พวกเขารู้สึกว่าโลกนี้มันน่าเบื่อเหลือเกิน ย้ายไปดาวอื่นกันเถอะ อย่าอยู่เลย เราไปสวนสนุก ไปขึ้น Roller Coaster กันดีกว่า เราพูดถึงความกล้าที่จะใช้ชีวิต เพื่อลืมความเจ็บในหัวใจตนเอง ซึ่งมันก็ตรงกันเหตุการณ์จริง
The People: เป้าหมายในการทำเพลงของวิน นิมมาน
วิน: จริง ๆ เราไม่ได้ set goal ในแง่ของ marketing แต่ขอให้เพลงมันได้ทำหน้าที่ได้ดีที่สุด ถึงหูคนที่จะรักมันได้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ขอให้คนที่อยากจะฟังได้มาเจอกับงานเรา
The People: เป็นนักเขียน เป็นคนสร้างงานศิลปะ เราหา input ยังไง
วิน: คงไม่พ้นการเดินทาง เพราะว่ามันสะท้อนตัวตนของเราได้ดีที่สุด เราจะเห็นตัวเองระหว่างการเดินทางว่าจริง ๆ เราเป็นคนแบบไหน เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
The People: ทั้งชีวิตที่ผ่านเสียงเพลงและผ่านปลายปากกา สิ่งที่สองอย่างนี้ให้กับเราคืออะไร
วิน: ในมุมของศิลปินหรือผู้สร้างผลงาน เรามองว่าตัวผลงานมันสำคัญกว่าตัวเราเองอีก มันคือสิ่งที่เราจะฝากทิ้งไว้บนโลก เราว่าการได้ทำงานมันก็คือการบรรลุเป้าหมายไปแล้ว
The People: อยากฝากผลงานอะไรไหม
วิน: ขอฝากเพลง ‘Miss Lonely Heart’ แล้วกัน เพราะว่าเป็นตัวตนของเราที่สุด ถ้าใครที่เหงาก็ขอให้ฟังแล้วหายเหงา แล้วก็เรากำลังจัด exhibition เกี่ยวกับบทกวีและภาพวาด ชื่อ Miss Candy Heart วันที่ 24 สิงหาคม - 8 กันยายน 2562 ที่ WOOF PACK อยากให้คนที่กำลังรู้สึกหลงทางหรือท้อแท้กับชีวิตมางานนี้ ได้รู้สึกเข้มแข็งขึ้น ผ่านการทำความรู้จักตัวเอง ว่าคุณเป็น Miss อะไร