"โมะโมะฟุกุ อันโด" บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อาจไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น

"โมะโมะฟุกุ อันโด" บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อาจไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น

"โมะโมะฟุกุ อันโด" บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อาจไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น

ถ้าถามว่าชาติแรกที่คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือที่เรียกติดปากกันว่า “มาม่า” คือประเทศอะไร เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยตอบถูกว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมจากแดนอาทิตย์อุทัย แต่ถ้าถามต่อไปอีกว่า คนที่คิดอาหารกินด่วนสุดอร่อยนี้เป็นใครมาจากไหน หลายคนอาจตอบกันไม่ถูก “โมะโมะฟุกุ อันโด” (安藤百福) คือนามของชายผู้คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แม้ชื่อจะเป็นญี่ปุ่น แต่ชาติกำเนิดที่แท้จริงของเขาอาจไม่ใช่อย่างเช่นที่เห็น ประวัติความเป็นมาของบิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนต้องปูเสื่อหยิบบะหมี่ถ้วยรสโปรดมาต้มน้ำรอระหว่างเลื่อนจออ่านกันเลยทีเดียว ตามประวัติ โมะโมะฟุกุ อันโด เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1910 ก่อนการโคจรเข้ามาใกล้โลกของดาวหางฮัลเลย์เพียงไม่กี่วัน ชื่อแรกหลังลืมตาดูโลกคือ อู๋ ไป่ฝู (吳百福) เขาเกิดในตระกูลอู๋ หนึ่งในตระกูลนักธุรกิจผู้มีฐานะในเมืองเจียอี้ เมืองใหญ่ทางภาคตะวันตกของเกาะไต้หวัน ซึ่งขณะนั้นยังถูกปกครองภายใต้ร่มธงเคียวกูจิตสึกิ ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น "โมะโมะฟุกุ อันโด" บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อาจไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น เนื่องจากบิดามารดาคือ อู๋ ชือ อวี้ และ อู๋ เชียน ลวี โชคร้ายเสียชีวิตตั้งแต่เขายังแบเบาะ เด็กชายไป่ฝู จึงถูกเลี้ยงดูโดยคุณปู่ซึ่งเปิดร้านขายส่งผ้าในเมือง ที่มีส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มกิจการขายเสื้อผ้าของตัวเองในไทเปซึ่งเป็นเมืองหลวงของไต้หวัน เมื่อมีอายุได้ 22 ปี โดยลงทุนกว่า 190,000 เยน ก่อนจะคิดการใหญ่ขยายกิจการเสื้อผ้าไปยังประเทศญี่ปุ่นในปีต่อมา นั่นทำให้เขามีโอกาสได้เหยียบแผ่นดินอาทิตย์อุทัยเป็นครั้งแรก ไป่ฝู ก่อตั้งโรงงานตัดเย็บและร้านค้าในโอซากา พร้อมกับสมัครเรียนธุรกิจที่มหาวิทยาลัยริทสุเมอิคันไปด้วย ระหว่างที่กิจการเติบโตไปได้ดี การแพร่อำนาจของกองทัพเลือดซามูไร ไฟสงครามก็หวนกลับมาทำลายกิจการของเขาจนแทบล้มละลาย โรงงานตัดเย็บเล็ก ๆ ถูกทิ้งระเบิดจนไม่เหลือซาก ผ้าดิบและเครื่องจักรกลในโรงงาน กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ภายหลังการยกธงขาวของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เศรษฐกิจทั่วประเทศตกต่ำ กิจการต่าง ๆ พากันล้มละลาย แน่นอนว่ากิจการเล็ก ๆ ที่ไป่ฝูก่อตั้งมากับมือก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่นั่นยังไม่ใช่จุดนิวโลว์ของกราฟชีวิต ในปี 1948 ไป่ฝูถูกจับข้อหาหลบเลี่ยงภาษี ต้องไปนอนเล่นในคุกอยู่นานสองปี เรื่องนี้เขาอธิบายภายหลังว่าไม่ได้มีเจตนาเลี่ยงภาษี แต่เพราะเป็นคนใจดีชอบให้ทุนการศึกษากับนักเรียนที่การเงินมีปัญหา เลยถูกเหมารวมว่าใช้วิธีนี้ในการหลีกเลี่ยงภาษีไปด้วย ฝันของชายคนนี้ไม่ได้มอดไหม้ไปในกองไฟ เขาลุกขึ้นมาลงทุนครั้งใหม่ในธุรกิจอาหาร โดยเริ่มต้นจากการขายเกลือ เวลานั้นเกาะไต้หวันเพิ่งได้รับอิสรภาพจากญี่ปุ่น เขาจึงต้องเลือกว่าจะถือสัญชาติไหนระหว่างไต้หวัน หรือ ญี่ปุ่น ซึ่งเขาตัดสินใจเลือกเป็นคนจีน เนื่องจากหากตอนนั้นเปลี่ยนสัญชาติเป็นญี่ปุ่น ทรัพย์สินและที่ดินทั้งหมดของเขาบนเกาะไต้หวัน มีโอกาสที่จะถูกทางการริบไปได้ จนกระทั่งปี 1966 เขาถึงเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นพลเมืองญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว โดยใช้นามสกุล อันโด ตาม มาซาโกะ อันโด ภรรยาคนที่สาม ซึ่งเป็นหญิงสาวที่มีเลือดลูกพระอาทิตย์ไหลเวียนอยู่เต็มตัว ลืมบอกไปว่า อู๋ ไป่ฝู แต่งงานทั้งหมดสามครั้ง ครั้งแรกกับหญิงไต้หวัน ตอนเขาอายุ 18 ปี ภรรยาคนที่สองเจอกันในกรุงไทเปเมื่อปี 1938 และ มาซาโกะ อันโด บุตรสาวคนที่สามของตระกูลอันโด ที่ต้นตระกูลของเธอเป็นนักบวชชินโตในศาลเจ้านิโฮนมัทซึ ในเมืองฟูกูชิมะ ซึ่ง ไป่ฝู หนุ่มนักธุรกิจจากเกาะฟอร์โมซา ได้จดทะเบียนสมรสกับเธออย่างเป็นทางการเมื่อปี 1945 ปีเดียวกับที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง และมีลูกด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ โคคิ อันโด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิสชินฟูดส์ โฮลดิ้งส์ จำกัด คนปัจจุบัน ไป่ฝู หรือ โมะโมะฟุกุ อันโด ตามการอ่านตัวเขียนในภาษาญี่ปุ่น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นคนครั้งแรกของโลกเมื่อปี 1958 ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นระหว่างภาวะขาดแคลนอาหารช่วงหลังสงคราม เวลานั้นรัฐบาลญี่ปุ่นได้รับข้าวสาลีที่สหรัฐอเมริกาส่งมาช่วยเหลือ เลยส่งเสริมให้ประชาชนกินขนมปังและบิสกิตที่ทำจากแป้งสาลี เพราะช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องและเก็บรักษาได้นานกว่าข้าวสวย วันหนึ่งขณะที่เขาเดินผ่านผู้คนหิวโหยที่ยืนตัวสั่นท่ามกลางความหนาวเย็น เพื่อต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรับราเมงร้อน ๆ หนุ่มใหญ่ผู้กินราเมงเป็นประจำมานานกว่า 48 ปี ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นไม่แนะนำให้คนกินราเมงซึ่งเป็นอาหารประจำชาติ ทั้งที่ทำจากแป้งสาลีเหมือนกัน โมะโมะฟุกุ เก็บความสงสัยกลับบ้าน แล้วหาคำตอบด้วยการซุ่มคิดค้นสูตรอาหารสุดโปรดขึ้นมา โดยใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ อย่างกระทะก้นลึก และหม้อต้มซุป ตอนแรกที่คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น โมะโมะฟุกุ ตั้งเป้าไว้ห้าเรื่องคือ ต้องอร่อย, เก็บได้นาน, ปรุงง่าย, ไม่แพง และต้องปลอดภัย จากความพยายามในกระท่อมไม้เล็ก ๆ หลังบ้านอยู่นานนับปีโดยแทบไม่มีวันหยุดพัก และนอนพักผ่อนเพียงแค่คืนละไม่ถึง 4 ชั่วโมง ในที่สุดโลกก็ได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” จากการที่เขาเห็นภรรยากำลังทอดเทมปุระอยู่ในครัว "โมะโมะฟุกุ อันโด" บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อาจไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น ขั้นตอนการผลิตง่าย ๆ ที่ต่อมาถูกลอกเลียนไปทั่วทั้งโลกก็คือ นำเส้นบะหมี่ที่ทำจากแป้งสาลีมาต้มในน้ำซุปรสเข้มข้น ซึ่งสูตรดั้งเดิม โมะโมะฟุกุ เลือกใช้ซุปไก่ เนื่องจากความเชื่อที่ว่าซุปไก่นั้นอร่อยและมีประโยชน์ โดยเฉพาะสำหรับหญิงมีครรภ์ พอเส้นเหนียวนุ่มเริ่มดูดซับรสชาติความเข้มข้นจนได้ที่แล้ว ให้ตักขึ้นมาผึ่งให้แห้งพอประมาณ ก่อนนำลงไปทอดในน้ำมันปาล์มเดือดจัดอย่างรวดเร็วเพื่อไล่ความชื้นออกให้หมด แค่นี้ก็จะได้สุดยอดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต่อมาทั่วโลกบริโภคกันมากกว่าวันละ 280 ล้านซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในโลก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ปี 1958 ภายใต้เครื่องหมายการค้า "ชิกิง ราเมง" (Chikin Ramen) ราคา 35 เยน แต่สมัยนั้นบะหมี่มหัศจรรย์ที่เติมน้ำแค่ไม่กี่นาทีก็อร่อยได้ของเขาถือว่ายังมีราคาแพง เมื่อเทียบกับอุด้งชามหนึ่งที่มีราคาเพียงแค่ 6 เยน "โมะโมะฟุกุ อันโด" บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อาจไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น โชคดีที่ต่อมาไม่นานเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ต้องทำงานหนักต่อเนื่อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่สะดวกรวดเร็วอย่าง ชิกิง ราเมง จึงขายดีขึ้นเรื่อย ๆ โมะโมะฟุกุ ที่มีหัวทางการค้าเลยไม่รอช้า รีบทำโฆษณาทางโทรทัศน์ทันที ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในเวลาไม่นาน ซึ่งต่อมาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ในปี 1966 ระหว่างที่ โมะโมะฟุกุ ไปเยี่ยมผู้จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เขาบังเอิญไปเห็นผู้จัดการคนหนึ่งในออฟฟิศหักเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วเทลงแก้วกระดาษ เติมน้ำร้อนแล้วใช้ส้อมกิน ใช่แล้ว นั่นกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า นิชชิน คัพนูดเดิล บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย ที่ง่ายและสะดวกยิ่งกว่าแบบซองหลายเท่า เพราะไม่ต้องวิ่งวุ่นไปหาถ้วยชามมาใส่ รวมถึงไม่ต้องกังวลกับการล้างทำความสะอาด "โมะโมะฟุกุ อันโด" บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อาจไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น นิชชิน คัพนูดเดิล วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1971 ด้วยราคาที่สูงถึง 100 เยน เลยยังไม่เป็นที่นิยม จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมา มีเหตุการณ์กลุ่มผู้ก่อการร้ายจับตัวประกันที่เมืองนาโกยา ระหว่างที่โทรทัศน์ทุกช่องกำลังถ่ายทอดสดการเตรียมการบุกช่วยตัวประกันอยู่นั้น คนญี่ปุ่นทั้งประเทศก็เห็นภาพกลุ่มตำรวจกำลังจับกลุ่มโซ้ยบะหมี่ถ้วยท่ามกลางความหนาวเหน็บของเดือนกุมภาพันธ์กันอย่างเอร็ดอร่อย ทำให้ผู้ชมทางบ้านรีบออกไปซื้อบะหมี่ถ้วยมาตุนระหว่างรอลุ้นหน้าจอโทรทัศน์ไปพร้อม ๆ กัน จุดสูงสุดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของโมะโมะฟุกุ เกิดขึ้นตอนเขามีอายุได้ 95 ปี ในปี 2005 หลังการรอคอยนานหลายทศวรรษ เมื่อนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นได้นำบะหมี่สำเร็จรูปอวกาศในชื่อ The Space Ram ไปกินแบบสูดเส้นได้อย่างเต็มปากภายใต้สภาพไร้แรงดึงดูดสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก "โมะโมะฟุกุ อันโด" บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อาจไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น โมะโมะฟุกุ มีสุขภาพดีตามวัยที่เคลื่อนผ่าน เขาเคยเผยเคล็ดลับอายุยืนของเขาไว้ว่า สองสิ่งที่เสพอยู่แทบทุกวันคือ การตีกอล์ฟ และ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (แน่นอนว่าต้องเป็นนิชชิน รสไก่ดั้งเดิม) แต่แล้วสองปีต่อมาในวันที่ 5 มกราคม ปี 2007 ชายผู้คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็จากไป ทิ้งไว้เพียงตำนานอันยิ่งใหญ่ เหมือนดอกไม้ไฟที่ถูกจุดจนประกายสว่างวาบไปทั่วฟ้า ทิ้งความประทับใจไว้ให้หลายคนนึกถึง ซึ่งปัจจุบันจากผลสำรวจชาวญี่ปุ่น พบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอีกสิ่งคิดค้นที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว ชื่อบริษัท นิสชินฟูดส์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่ โมะโมะฟุกุ อันโด เป็นผู้ตั้ง อาจเป็นที่ระลึกถึงแผ่นดินแม่และพื้นดินสุดท้ายที่เขาตั้งใจฝากชีวิตไว้ เพราะ ชื่อ นิสชิน มาจากคำสอง คือ นิป (日) และ ชิง (清) หมายถึงประเทศญี่ปุ่น (นิปปง) และ ประเทศจีน (ราชวงค์ชิง ราชวงค์สุดท้ายที่ปกครองแผ่นดินจีน) เรื่องราวประวัติความเป็นมาว่าชายผู้คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นชาติไหนกันแน่ ระหว่างคนจีน คนไต้หวัน หรือคนญี่ปุ่น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่มีข้อยุติ ไม่ต่างจากข้อสรุปที่ยังไม่ลงตัวว่าแท้จริงแล้วบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อุดมไปด้วยโซเดียม แป้ง และผงชูรส มีคุณค่าทางอาหารเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันหรือไม่ หรือเป็นเพียงอาหารขยะประเภทหนึ่งที่ให้โทษมากกว่าคุณประโยชน์กับผู้บริโภคในระยะยาว แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนอาจสงสัยว่าจะรู้ไปทำไม พอได้คำตอบแล้วจะช่วยชูรสให้บะหมี่ถ้วยในมืออร่อยขึ้นอย่างนั้นหรือ ความเห็นส่วนตัว บางครั้งการเสพประเด็นดรามา อาจไม่ได้มีประโยชน์มากไปกว่าการเปิดประเด็นเพื่อเป็นโจทย์ตั้งต้น ที่เชื้อเชิญให้เราค้นคว้าลึกลงไปจนเจอกับคำตอบ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้รู้ถึงต้นกำเนิดที่มาของสิ่งเล็ก ๆ ที่อยู่รอบตัว เหมือนกับการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่บางทีคนเราก็ไม่ได้โหยหามัน เพราะต้องการเติมสารอาหารที่จำเป็นเข้าร่างกาย แต่แค่อยากเสพรสความอร่อยและรสชาติกึ่งสำเร็จรูปของมันมากกว่า "โมะโมะฟุกุ อันโด" บิดาแห่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่อาจไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น เพิ่มเติมสำหรับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ ประวัติย่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย เริ่มต้นจาก บะหมี่ยี่ห้อซันวา ที่ผลิตครั้งแรกในปี 1971 ก่อนจะตามมาด้วยบะหมี่กลุ่มคำซ้ำอย่าง ยำยำ ไวไว และ มาม่า โดย มาม่า มาทีหลังสุด แต่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยมากที่สุด เพราะในปี 1980 ได้คิดค้นรสต้มยำกุ้งแซบจัดจ้านที่ถูกปากคนไทยอย่างยิ่ง และที่เหลือก็คือตำนานที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายมาเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจตัวหนึ่งในประเทศไทย   ภาพ : Nissin ที่มา : https://www.nissin.com https://www.ramenramenramen.net https://www.japantimes.co.jp https://ja.wikipedia.org