คนส่วนใหญ่รู้จักเขาในฐานะดาราดังพ่วงด้วยตำแหน่งทายาทตระกูล “เซ็นทรัล” ผู้มีบ้านอยู่บนโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เพราะฉะนั้นเมื่อ พีช-พชร จิราธิวัฒน์ เริ่มเปิดร้านขายเฟรนช์ฟรายส์ Potato Corner (โปเตโต้ คอร์เนอร์) ตั้งแต่อายุ 23 ปี ใครต่อใครต่างปรามาสว่าธุรกิจนี้คงเป็นเพียงงานอดิเรกหรือสนามเด็กเล่นที่พ่อแม่ให้มาลองฝีมือขำ ๆ แต่ต่อให้เกิดบนกองเงินกองทอง พีช-พชร ก็มีความฝันและความมุ่งมั่นไม่ต่างจากคนอื่นที่จะสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จให้ได้
จากที่ขายได้เรื่อย ๆ Potato Corner กลายเป็นกระแสฮิตจนของขาดตลาดอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อ พีช-พชร ดาราหนุ่มเจ้าของบัญชีอินสตาแกรมที่มีฟอลโลเวอร์ 1.9 ล้านคน แถลงแยกทางกับ แพทริเซีย กู๊ด ดาราสาวรุ่นน้องที่คบกันมานาน 3 ปี กำลังใจล้นหลามจากเหล่าแฟนคลับและชาวเน็ตเปลี่ยนไปสู่การสนับสนุนบนโลกแห่งความจริง เมื่อทุกคนพร้อมใจกันเข้าคิวซื้อเฟรนช์ฟรายส์ปรุงรสยี่ห้อ Potato Corner ตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ พีช-พชร เป็นเจ้าของ จากความดราม่าบนหน้าสื่อบันเทิงทั้งหลาย จึงกลายเป็นมาร์เก็ตติ้ง แคมเปญอันทรงพลัง โดยไม่ต้องจ่ายสตางค์ทำโปรโมชันสักบาทเดียว
พีช-พชร เป็นลูกชายของ ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ซีอีโอของโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของกลุ่มเซ็นทรัล กับ ชนัดดา จิราธิวัฒน์ เจ้าของธุรกิจเพชร ไดมอนด์ ทูเดย์ เขาสร้างชื่อจากการเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ อย่าง “ซักซี้ด ห่วยขั้นเทพ” “Top Secret วัยรุ่นพันล้าน” ฯลฯ รวมถึง "ไบค์แมน" ภาค 1-2 เขายังเป็นนักแสดงจอแก้ว เป็นนักดนตรี เรียกว่าทำหลายแขนงในวงการบันเทิงก็คงไม่ผิดนัก ดังนั้นเมื่อ พีช-พชร เปิดตัวธุรกิจ Potato Corner ครั้งแรกในปี 2559 หลายคนจึงมองว่าเขาคงไม่จริงจังกับงานนี้ หรืออาจจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา ซึ่งเป็นทายาทตระกูลดังที่มีเงินทุนและคอนเนคชั่นพร้อมสรรพ
[caption id="attachment_11446" align="aligncenter" width="420"]
พีช-พชร กับสินค้าจากแบรนด์ Potato Corner ที่นอกจากเฟรนช์ฟรายส์แล้วยังมีไก่ป๊อปอีกด้วย (ภาพจาก IG: @peach_pachara)[/caption]
อย่างไรก็ตาม Potato Corner ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท ร็อคส์ พีซี จำกัด ก็พิสูจน์ว่าแบรนด์นี้ไม่ได้มาเล่น ๆ เพราะปัจจุบันขยายไปแล้ว 37 สาขาทั่วประเทศ และไม่ได้มีเฉพาะในห้างเซ็นทรัล แต่ยังบุกเข้าไปอยู่ในห้างอื่น ๆ อย่าง เดอะ มอลล์หรือ เทสโก้ โลตัส ด้วย
จุดกำเนิดของธุรกิจมาจาก พีช-พชร และเพื่อนสนิทคือ ชยภัทร ทองเจริญ เป็นคู่หูผู้รักการกิน จึงชักชวนกันทำธุรกิจร้านอาหารตั้งแต่ยังเป็นนิสิตจุฬาฯ ช่วงแรกทั้งคู่พยายามพัฒนาพิซซ่าแนวใหม่เป็นพิซซ่า DIY แต่ปรับปรุงสูตรอยู่ครึ่งปีก็ยังไม่ลงตัวจนต้องล้มเลิก
หลังจากนั้น ชยภัทรได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยไปแข่งขันโต้วาทีที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งทำให้เขาได้ชิมเฟรนช์ฟรายส์ปรุงรสสุดอร่อยยี่ห้อ Potato Corner แถมยังมีลูกค้ารอต่อคิวกันยาวเหยียด ด้วยความบังเอิญอีกครั้ง มีคนในงานแข่งขันโต้วาทีคนหนึ่งรู้จักกับ โจ แมกไซไซ เจ้าของแบรนด์ Potato Corner ทำให้ชยภัทรและ พีช-พชร มีโอกาสติดต่อและได้พบกับโจในที่สุด
หลังบินไปบินมากันอีกหลายครั้ง ในที่สุดโจยอมเซ็นสัญญาปล่อยแฟรนไชส์ Potato Corner ให้สองหนุ่มที่เพิ่งจะเรียนจบหมาด ๆ แถมยังไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจอะไรกันเลยได้เป็นผู้บริหารแบรนด์นี้ในประเทศไทย
“อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีคนที่ทำอะไรหวือหวาเยอะ เพราะประเทศเรานิยมตามกระแส ดังนั้นเราต้องหาของที่มันอาจจะไม่เป็นเทรนด์ ไม่เท่ อย่างร้านนี้ถ้าคนได้ฟังอาจจะรู้สึกว่า ‘ก็แค่เฟรนช์ฟรายส์หรือเปล่า’ แต่ผมว่าการทำธุรกิจมันคือ long term เราต้องหาของที่มัน long term แล้วเข้าถึงได้ทุกคน” พีช-พชร อธิบายถึงเหตุที่ตัดสินใจว่า “เฟรนช์ฟรายส์” คือสินค้าที่ลงตัว เพราะในร้านฟาสต์ฟู้ดทั่วไป เฟรนช์ฟรายเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด ดังนั้นการเลือกขายเฟรนช์ฟรายส์เป็นร้านแบบ kiosk ในราคาเข้าถึงง่าย (ไซส์เล็กสุดราคา 39 บาท) ก็น่าจะเป็นไปได้
เมื่อได้แฟรนไชส์มาแล้ว การวางแผนเปิดร้านของพวกเขาใช้เวลาอีก 1 ปี ส่วนหนึ่งเพราะ พีช-พชร และชยภัทรเลือกที่จะกู้เงินจากธนาคาร ทั้งที่ตัวนักแสดงหนุ่มเองมีเงินเก็บมากพอที่จะไม่ต้องกู้ เนื่องจากเขามองอนาคตไว้แต่แรกว่าเขาอยากจะเห็น Potato Corner ขยายไปมากกว่า 200 สาขา ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นธุรกิจอาจต้องกู้สินเชื่อ
“ผมเรียนรู้ hard way เพราะในระยะยาว ถ้าสมมติบริษัทเราจะโตกว่านี้เราก็ต้องกู้แบงก์ แล้วถ้าเราไม่ได้เรียนรู้กระบวนการและความกดดันมาก่อน มันก็ไม่ได้ ถูกไหม” พีช-พชร กล่าว โดยตัวเลข 200 สาขานั้นอาจไม่ได้มีแค่ร้านแบบ kiosk แต่ยังมีร้านมีที่นั่ง ร้านฟู้ดทรัก และรถเข็น ที่จะทำให้สินค้าของเขาซอกซอนไปได้ทุกที่
[caption id="attachment_11447" align="aligncenter" width="420"]
พีช-พชร ระหว่างลงสาขาช่วยโปรโมทแบรนด์ Potato Corner (ภาพจาก IG: @peach_pachara)[/caption]
หน้าที่หลักของ พีช-พชร ในบริษัทคือการเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ควบคู่กับการเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ด้วยตัวเอง และด้วยพลังฟอลโลเวอร์ของเขา ทำให้การทำการตลาดบนโซเชียลทรงพลังยิ่ง เพียง พีช-พชร โพสต์ภาพร้าน Potato Corner สาขาใหม่บนอินสตาแกรม ก็มีผู้ติดตามกดไลก์ให้นับหมื่นคนทันที
การเริ่มต้นธุรกิจกับเพื่อนสนิททั้งหมดนั้น เขายืนยันว่าไม่ได้ใช้ “ทรัพยากร” จากเครือเซ็นทรัลแต่อย่างใด (แม้ว่าเราอาจอนุมานได้ว่า นามสกุล “จิราธิวัฒน์” อาจเป็นใบเบิกทางที่ช่วยให้ทุกห้างฯ ให้ความสนใจ) และคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้เข้ามาช่วยธุรกิจอย่างเต็มตัว เพียงแต่ให้คำปรึกษาในช่วงแรก ๆ ของธุรกิจเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การเกิดมาในครอบครัวของนักธุรกิจก็อาจจะมีส่วนช่วยหล่อเลี้ยงวิธีคิดแบบผู้ประกอบการให้ พีช-พชร เพราะธรรมเนียมของตระกูลจิราธิวัฒน์จะสนับสนุนให้ลูกหลานได้ฝึกงานในบริษัทตั้งแต่ยังเด็ก และไม่ใช่การฝึกในตำแหน่งระดับสูง แต่เป็นการสัมผัสการทำงานแบบพนักงาน frontline ซึ่ง พีช-พชร เองก็เคยฝึกงานเป็นแคชเชียร์และพนักงานจัดสต๊อกในห้างเซ็นทรัล ชิดลม ตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำงานแบบคนธรรมดาและต้องกินข้าวในโรงอาหารพนักงาน
“พ่อผมเขาจะสอนว่า human asset คือสิ่งสำคัญ เพราะมันคือ frontline ที่เจอกับลูกค้า ลูกค้าจะรู้สึกดีหรือไม่ดีกับของของเราอยู่ที่พนักงานล้วน ๆ ดังนั้นเราต้องทำ human asset ให้แข็งแรงก่อน ซึ่งจะแข็งแรงได้ผู้บริหารต้องเข้าใจความคิดและความเป็นอยู่ของพนักงาน”
ความเอาจริงเอาจังของเขาและเพื่อน ผนวกกับสิ่งที่หล่อหลอมกันมาในตระกูล ทำให้รายได้ของ ร็อคส์ พีซี เติบโต ตามรายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2561 บริษัทมีรายได้รวม 170 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีก่อนหน้าเป็นเท่าตัว แม้ว่าจะขาดทุนสุทธิที่ 5.1 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีกำไรเล็กน้อย 2.1 ล้านบาท
ไม่แน่ว่าด้วยความมุ่งมั่นของ พีช- พชร ในการทำธุรกิจ อาจส่งผลให้วันหนึ่งเขากลายเป็น "วัยรุ่นพันล้าน" ที่สร้างฐานะด้วยตัวเองแบบไม่ต้องอิงทรัพย์สินตระกูลเลยก็เป็นได้
ที่มา
เรื่อง: Synthia Wong
ภาพจาก Facebook: Potato Corner Thailand