YourNextU ‘รีสกิล-อัพสกิล’ เปลี่ยนคนให้ผ่านดิสรัปชั่นอย่างยั่งยืน
ยิ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเท่าไหร่ ทรัพยากรมนุษย์ย่อมสั่นคลอนมากขึ้นเท่านั้น กลายเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกของการทำงานปัจจุบัน เมื่อความเปลี่ยนแปลงมักนำมาซึ่งความหวาดหวั่น แต่ในทางกลับกัน ความเปลี่ยนแปลงนั้นยังเปิดโอกาสนำไปสู่แนวทางใหม่ ๆ เพื่อก้าวต่อไปด้วย
ในโลกของการทำงาน นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ยังไม่ท้าทายเท่ากับกรอบคิดและวัฒนธรรม โดยเฉพาะผลจากกระแส Digital Disruption องค์กรชั้นนำในทุก ๆ อุตสาหกรรมต้องปรับตัวในหลากหลายแง่มุม ขีดความรู้ความสามารถของพนักงานซึ่งเป็นฟันเฟืองหลัก และเป็นตัวตัดสินชี้ชะตาถึงความอยู่รอดขององค์กร จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้นำองค์กรไม่อาจมองข้าม
วันนี้ เราจึงเริ่มเห็นการลงทุนที่จะปฏิรูป “ทรัพยากรมนุษย์” หรือ “คนในองค์กร” ให้สามารถก้าวข้ามผ่านเรื่องเดิม ๆ ด้วยการใช้กลยุทธ์ “รีสกิล” (Reskill) เพิ่มทักษะการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น
การรีสกิล หรือ การเพิ่มพูนทักษะเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กรไม่ใช่เรื่องที่ทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว และไม่สามารถทำสำเร็จได้ในระยะเวลาสั้น ๆ การรีสกิล “คน” สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ในทุกเรื่องทุกด้านหลากหลายสาขาวิชา แต่ “บุคคล” นั้นต้องใช้เวลากับสิ่งนั้นให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามลักษณะของแต่ละองค์กรที่แตกต่างกันไป
SEAC หรือ ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ตอกย้ำความเชื่อที่ว่า “การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดทุกช่วงของชีวิต” ผ่าน โมเดลการเรียนรู้ YourNextU ที่ผสมผสานความหลากหลายของหลักสูตรที่เข้าถึงง่ายและครอบคลุม จากสถาบันชั้นนำของโลก อาทิ Stanford Center for Professional Development มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, The Arbinger Institute, Tirian, The Ken Blanchard Companies, FinxS, J2N Global, Psytech International, Simplilearn, Coorpacademy และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกดิสรัปชั่นที่ใกล้ตัวขึ้นทุกวัน โดยมี 6 กลุ่มองค์กรแถวหน้าของประเทศ อิตัลไทย, เอไอเอส, พีทีจี, เมืองไทยประกันชีวิต, มิตรผล และเอสซีจี มาร่วมเป็นกลุ่มแรกที่ปฏิรูป “คน” ในองค์กร
นี่คือ 6+1 มุมมอง ถึงการเปลี่ยนผ่าน “คน” เพื่อการขับเคลื่อนองค์กรให้ข้ามกระแสความเปลี่ยนแปลงที่มัก “พลิกโฉม” กระแสโลกอยู่เสมอ
ทุกที่ทุกเวลา
“ในปัจจุบันเราไม่สามารถรอให้ผู้บริหารกำหนดหลาย ๆ อย่างลงมาได้ เพราะจะตามโลกไม่ทัน” กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดประเด็นถึงความเปลี่ยนแปลงของการแข่งขันในปัจจุบัน
ธุรกิจโทรคมนาคม เป็นอีกธุรกิจที่ถูกดิสรัปท์อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ตัวองค์กรจะพูดถึง Change Management มาโดยตลอด แต่ กานติมา ยอมรับว่า โจทย์วันนี้คือ Transformation Management ซึ่งใหญ่กว่ามาก
"ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้คนในองค์กรคิดเองเป็น ดีไซน์เองเป็น กำหนดจุดหมายเป็น และต้องเกิดการแลกเปลี่ยน โดยวิธีเหล่านั้นจะต้องเอื้อให้คนในองค์กรสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้เอง"
“ทุกที่ทุกเวลา” เป็นแนวคิดสำคัญในการเข้าถึงศูนย์การเรียนรู้ขององค์กร โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกาย แพลตฟอร์ม YourNextU นี้ยังช่วยทลายกำแพงการพัฒนาบุคคลที่เป็นเหมือนปราการด่านสำคัญของทุกองค์กรทั้ง “การต้องรอให้พร้อมหน้า” หรือ “พื้นฐานที่ไม่เท่ากันของแต่ละคน”
“คนที่มีความเป็นผู้นำจะมี Self-Analysis ด้วยการถามถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการตลอดเวลา หรือ 80% ของคนในองค์กรที่เป็นเจนวาย พวกนี้มีพฤติกรรมในการเรียนรู้ที่ ‘ไม่รอ’ และจะ ‘ไปหาความรู้ด้วยตนเอง’ ดังนั้น การสร้างแพลตฟอร์ม ที่สามารถหาความรู้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา และจากทุกเครื่องมือจึงเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ”
อีกทางหนึ่ง พฤติกรรมที่ไม่รอในการเรียนรู้เช่นนี้ ยังสามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบในหลาย ๆ กรณี เช่น การเลื่อนตำแหน่ง ได้อีกด้วย
"องค์กรควรทำอย่างไรเพื่อให้พนักงานมีศักยภาพและเรียนรู้สิ่งที่แตกต่าง รวมถึงยอมรับในความแตกต่าง เพราะความแตกต่างหรือความหลากหลายเป็นสิ่งสวยงาม เมื่อเรียนรู้ความแตกต่างแล้วก็นำมาต่อยอดในการทำงานต่อไป"
เชื่อมคน 2 โลกให้กลายเป็นเนื้อเดียว
การอยู่ในโลกธุรกิจมาอย่างยาวนาน generation gap ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่กลายเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องประสบ ยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอิตัลไทย ยอมรับว่า นี่คือโจทย์สำคัญที่นำไปสู่เครื่องมือที่จะให้พวกเขาเหล่านั้น สามารถ blend in ใน ecosystem ขององค์กรได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมสร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ ในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น
"ส่วนตัวคิดว่า การรีสกิล และอัพสกิล คือคำตอบที่กำลังตามหา เพราะเมื่อโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สกิลเดิม ๆ ที่เคยมี ไม่เพียงพออีกต่อไป จึงจำเป็นต้องรีบเพิ่ม และเสริมทักษะให้กับคนในองค์กร และตัวผมเองในฐานะผู้บริหารด้วย เพื่อเราจะสามารถเติบโตไปพร้อม ๆ กันได้"
โมเดล YourNextU ที่ถูกนำมาใช้ นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์ในการสร้างการมีส่วนร่วม และทำให้ “คน” กระตือรือร้นจากการเก็บคะแนนในชื่อของตนเองแล้ว ยังนำไปสู่การขยับขยายโอกาส และประสบการณ์การเรียนรู้จากออน์ไลน์สู่ห้องเรียนจริง ๆ ในทางกลับกัน บุคคลเหล่านั้นก็จะกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และไม่มีวัน “หมดอายุ” ไปจากองค์กร
“มันไม่ต่างจากทางลัด ที่จะเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เราอยากเอาชนะตัวเอง อยากเรียนรู้เพื่อจะเพิ่มระดับการเรียนรู้ตัวเองจากพื้นฐานสู่ความเชี่ยวชาญ”
ก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง
ที่ผ่านมา ภาคเกษตรกรรมมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย อาทิ ในเรื่องการบริหารต้นทุน ตรงนี้จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของ ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงินและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ด้วย เพราะนอกจากเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่ ความหลากหลายของเจเนอเรชันในองค์กรก็กลายเป็นอีกโจทย์ที่ต้องคิด
"การรีสกิล และอัพสกิล จะทำให้คนทุกเจเนอเรชันสามารถอยู่ร่วมกัน หรือสามารถนำพาองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงได้ เราจึงต้องเร่งสร้างให้ทุกคนในองค์กรมี Common Platform ที่ไปในทางเดียวกันก่อน"
ศรายุทธมองว่า ปัญหาหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงคือ ทุกวันนี้องค์กรมักจะยุ่งกับการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาแผนธุรกิจ พัฒนาระบบการผลิต หรืออื่น ๆ ก่อน ขณะที่ใส่ใจในการพัฒนาคนน้อยมาก นั่นจึงกลายเป็นปัญหาทำให้องค์กรพัฒนาช้า ทั้ง ๆ ที่การก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่คนในองค์กรจำเป็นต้องมี
"เมื่อองค์กรสามารถสร้างความรู้สึกในการอยากเปลี่ยนแปลงในตัวเองได้ระดับหนึ่งแล้วก็อาจเกิดการบอกต่อคนอื่น ๆ ให้เกิดความรู้สึกแบบเดียวกันได้ และหากทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะสามารถยกระดับการแข่งขันของอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวไกลได้มากขึ้นเช่นกัน"
เปลี่ยนไปด้วยกัน เพื่อเติบโตไปด้วยกัน
"คนทั่วไปเมื่อคิดว่าถึงทางตันในสายงานแล้ว โดยเฉลี่ยประมาณ 4-5 ปี จะชอบโยกย้ายไปทำงานในสายอื่น ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้เขาเกิดการเรียนรู้เพื่อเติบโตไปกับบริษัทได้"
นั่นเป็นทั้งข้อสังเกตและโจทย์ที่ ฤทัย สุทธิกุลพานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ระบุว่าเป็นอีกมุมมองสำคัญของการพัฒนาคน ให้พร้อมกับการก้าวเดินขององค์กร
ฤทัยยกตัวอย่าง "นักคณิตศาสตร์ประกันภัย" ซึ่งโดยทั่วไปเข้าใจว่า เป็นคนตีราคาประกัน ทั้งที่ความเป็นจริง นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเหล่านี้ มี baseline ที่ดีมากในการที่จะเป็น machine engineering ซึ่งง่ายกว่าการที่ต้องไปหาคนใหม่ แล้วต้องมาสอนกันตั้งแต่แรก
การเรียนรู้จึงกลายมาเป็นอีกข้อสำคัญในการยกระดับความเปลี่ยนแปลง โดย YourNextu ตอบโจทย์ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกด้านช่องทางการเข้าถึงในออนไลน์ หรือการเกิดปฏิสัมพันธ์ใหม่ ๆ ในห้องเรียน ทั้งหมดก็เพื่อทลายกรอบ ‘ความไม่รู้’ ‘ทำไม่ได้’ หรือ ‘เป็นไปไม่ได้’ ให้หายไป ซึ่งจะทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเดินไปข้างหน้าพร้อมกับองค์กรได้ในที่สุด
เรียนรู้สู่อนาคต
ภูมิพัฒน์ สินาเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) อธิบายถึง 2 บริบทใหญ่ที่ตัวองค์กรกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบอันหลากหลายของธุรกิจ และจำนวนพนักงานที่ทำให้การขับเคลื่อนตัวองค์กรเป็นไปได้ช้า
การออกแบบการเรียนรู้แบบตามความสนใจของแต่ละคน และการสร้างความรับรู้ใหม่ ๆ จึงถูกนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาคน อันจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรในที่สุด
"เรารีสกิล เพื่อให้สถานีบริการน้ำมันไปได้ไกลกว่าเดิม ด้วยการเสริมสร้างให้พนักงานสามารถออกแบบการรีสกิลของตัวเองด้วยตนเองได้ เน้น Self-Learning ไม่ใช่ป้อนข้อมูลให้กับพนักงานเพียงอย่างเดียว"
ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านธุรกิจในองค์กร จากธุรกิจน้ำมันไปสู่รีเทล ยังสร้างกรอบคิดใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนผ่านในปัจจุบัน และความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะก้าวเข้ามาได้อีกด้วย
"พนักงานรู้สึกมีอิสระมากขึ้น และอิสระในการทำ Self-Learning นำไปสู่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นด้วยในอนาคต"
อีกมุมหนึ่ง ตัวผู้บริหารเองก็ไม่ต่างกันที่จะต้อง reskill การที่ผู้บริหารของเรามาเข้าร่วมอยู่ในแพลตฟอร์ม YourNextU ด้วย เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ได้พบเจอสิ่งใหม่ ๆ ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนที่หลากหลาย จะนำไปสู่การได้มุมมองใหม่ ๆ ในการทำงานในองค์กรมากขึ้น
"ทุกวันนี้ เรายังขาดช่องทางในการเรียนรู้ และความตั้งใจในการลุกขึ้นมาเรียนรู้ หากองค์กรสามารถจัดเตรียมช่องทางในการเรียนรู้ และส่งเสริมความตั้งใจในการลุกขึ้นมาเรียนรู้ให้พนักงานในองค์กรได้ ก็จะทำให้องค์กรสามารถขยายขนาดได้อีก ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งองค์กรก็จะไม่ต้องแข่งกันเองภายในประเทศ แต่จะแข่งกับระดับนานาชาติแทน"
ทุกคนต่างเป็นฟันเฟืองของกันและกัน
"ไม่มีใครรู้จักลูกค้าดีเท่ากับพนักงานที่ทำงานกับเรามาอย่างยาวนาน"
อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด นำเสนอในอีกมุมขององค์กร เพราะเมื่อเข้าสู่สงครามใหม่ ตัวเลือกขององค์กรมักมีอยู่ 2 อย่างคือ หาคนใหม่ หรือไม่ก็ ติดอาวุธใหม่ให้คนในองค์กร
"แทนที่จะลดจำนวนพนักงาน ควรจะรีสกิลและอัพสกิลให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น เพราะพนักงานก็เปรียบเสมือนลูกค้าของเรา"
อภิรัตน์มองว่าทุกคนคือแรงขับเคลื่อนทั้งนั้น เพียงแต่ปัญหาสำคัญขององค์กรใหญ่ คือการขยับตัวช้า และตัวพนักงานก็ยังไม่รู้ว่าเส้นทางการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนผ่านของตนเองนั้นจะต้องทำอย่างไร การเชื่อมโยงและผสมผสานการเรียนรู้จึงมีความจำเป็นที่จะช่วยให้องค์กรได้ทั้งพนักงานใหม่ และเปี่ยมด้วยประสบการณ์
ดังนั้น แนวคิดสำคัญคือการมองเห็นโอกาสที่มีอยู่ในตัวพนักงานแต่ละคน เพื่อนำไปต่อยอดองค์ความรู้ที่องค์กรจะเติมเข้ามาเพื่อเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง
"ผมเชื่อว่าทุกคนคือแรงขับเคลื่อนประเทศไทย หากเราอยากไปให้ถึง Thailand 4.0 หรือ innovative economy เราต้องรู้จักรีสกิลและอัพสกิลให้เป็น เพื่อให้เราอยู่รอดไปได้ ซึ่ง YourNextU ตอบโจทย์ทั้งรีสกิลและอัพสกิลได้เป็นอย่างดี มีทั้ง hard skills และ soft skills ให้คนได้เรียนรู้อย่างครบถ้วน"
ทักษะการพัฒนาสู่อนาคต
อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC มองถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังท้าทายโลกในปัจจุบันอยู่ในขณะนี้ เพียงก้าวพลาดหรือหยุดพัฒนาเพียงเสี้ยววินาที “องค์กร” หรือ “คุณ” อาจจะหลงทาง และไล่ตามคนอื่นไม่ทัน จนพลาดโอกาสทางธุรกิจที่นำไปสู่เส้นชัยได้
สิ่งสำคัญที่สุด คือ องค์กรจะต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาขององค์กรคืออะไร ตอนนี้องค์กรยืนอยู่ที่จุดไหน ความท้าทายใหม่ที่กำลังจะเข้ามามีผลกระทบกับองค์กรในรูปแบบไหนบ้าง องค์กรมีความพร้อมอย่างไรบ้าง แล้วจะมีหนทางแก้ปัญหา และเส้นทางใหม่เพื่อรับมือให้องค์กรสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
"นอกจากการปรับองค์กรแล้ว สิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้คือ การเริ่มลงทุนในการปฏิรูปทรัพยากรมนุษย์ หรือ คนในองค์กร ให้สามารถก้าวข้ามผ่านเรื่องเดิม ๆ ด้วยการใช้กลยุทธ์รีสกิล เพิ่มทักษะการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สามารถอยู่รอดท่ามกลางโลกดิสรัปชั่น"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้ การรีสกิล หรือ การอัพสกิล เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะงานไปแล้ว ไม่ว่าพนักงานจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ในทางกลับกัน การรู้จักเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยี รวมไปถึงเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ผ่านการรีสกิลตัวเองก็จะเป็นตัวช่วยไขประตูเปิดโอกาสในการสร้างความก้าวหน้า ความมั่นคง และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม
ดังนั้น SEAC พร้อมที่จะเป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการเรียนรู้ ปรับตัว เปลี่ยนแปลง และพัฒนาทั้งในด้านขององค์กร ตลอดจนระดับบุคลากรผ่านโมเดลการเรียนรู้ YourNextU เพื่อสร้างสังคมของการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยการนำนวัตกรรม มาสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน
“การเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นหรือการเสริมทักษะใหม่ ล้วนเป็นทักษะที่ตลาดต้องการจะพัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยีเสมอ”