29 ส.ค. 2562 | 14:10 น.
“ถ้าพรของฉันที่จะให้ไป ศักดิ์สิทธิ์กว่าพระอาจารย์ที่ใด จะขอให้เธอได้มีพลังรู้ความในใจ ให้เธอรู้ไว้ ว่ายังมีใครที่รอเสมอ”
โอ้โหดูเนื้อเพลง! ประโยคแรกที่หลายคนพูดขึ้นมาหลังได้ฟังเพลงที่ชื่อว่า ’อาวรณ์’ จาก POLYCAT นี่คือหนึ่งในประโยคสวย ๆ ที่ผ่านปลายปากกาการแต่งเพลงของ นะ-รัตน จันทร์ประสิทธิ์ นักร้องนำ กับการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านน้ำเสียงหวาน ๆ ที่เจือด้วยกลิ่นอายความเป็นโซล บวกกับเสียงซินธิไซเซอร์แบบ 80s ของ โต้ง-พลากร กันจินะ และเสียงเบสหนึบหนับของ เพียว วาตานาเบะ ทั้งสามกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับสิ่งที่เรียกว่า “ความสำเร็จ”
ก่อนหน้านี้ POLYCAT เคยสร้างปรากฏการณ์ฝากผลงานติดหูวงการเพลงไทยมากมาย เช่น ‘พบกันใหม่’, ‘มันเป็นใคร’ หรือ ‘เพื่อนไม่จริง’ คำถามที่ทุกคนสงสัยก็คือ POLYCAT ขุดดนตรียุค 80s ที่ขึ้นชื่อว่าล้าหลังไปแล้วให้กลับมา “ดูดี” อีกครั้งได้อย่างไร? The People มีโอกาสได้พูดคุยกับทั้งสามในหลากหลายประเด็นทางดนตรี และแรงบันดาลใจในการคิดวลีฮิตที่มีเบื้องหลังสุดลึก
The People: อะไรที่ทำให้ทั้งสามคนมารวมตัวกัน
เพียว: เริ่มจากพวกเราเป็นวัยรุ่นที่เล่นดนตรีกลางคืน ตอนแรกสมาชิกเริ่มต้นมีประมาณ 7 คนได้ แล้วก็เหลือ 5 คน ก่อนสุดท้ายจะเหลือ 3 คน จุดเริ่มต้นจริง ๆ ของ POLYCAT ในปัจจุบัน ก็คือเราได้ไปร่วมอยู่ในหนังเรื่อง Hangover ภาค 2 ที่มาถ่ายที่ประเทศไทย แล้วก็ได้ cover เพลง ‘I Ran’ ของ A Flock Of Seagulls ซึ่งมันก็เป็นเพลงซินธ์ป็อป ที่ให้แรงบันดาลใจ เราเปลี่ยนจากดนตรีสกามาเป็นซินธ์ป็อป แล้วมีไฟให้อยากทำอัลบั้มด้วย ก็เลยทำเพลงส่งมาที่ค่าย Smallroom
The People: อัลบั้มแรกความเป็นดนตรีซินธ์ป็อปอาจจะไม่ชัดมาก ซินธิไซเซอร์อาจจะยังไม่ได้ทำหน้าที่ของยุค 80s มาก อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้หันมาทำซาวนด์แบบนี้เต็มตัว
นะ: น่าจะเป็นช่วงที่เราฟังเพลงเก่าพร้อมกันหมด ช่วงหลังอัลบั้มแรก แล้วก็อินยาวเลย เราก็เลยคุยกันว่างั้นเราก็มาทำ 80s ซินธ์ป็อปที่มันจริง ๆ ดีกว่า จุดเริ่มต้นของซินธิไซเซอร์ก็มาจากยุคนั้น เราก็กลับไปหารากฐานของมันเลยตรง ๆ เลยดีกว่า ตอนนั้นเราคิดแบบนี้
The People: อัลบั้มแรกไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ตอนนั้นมีท้อบ้างไหม
นะ: ไม่เลย ความคาดหวังมันคนละแบบ ต้องบอกก่อน ตอนทำอัลบั้ม 05:57 เหมือนเราก็เป็นวัยรุ่นเล่นดนตรีแล้วก็มีอัลบั้มแค่นั้นเลย เราไม่ได้คิดว่ามันต้องดัง มันต้องได้เงินเยอะแค่มีอัลบั้มได้เล่นก็เพียงพอแล้ว ตอนนั้นมันคือก้าวแรกของเรา ยังไม่ทันที่จะรู้สึกผิดหวังเลยตอนนั้น
[caption id="attachment_11618" align="aligncenter" width="960"] นะ นักร้องนำ[/caption]The People: ช่วงที่เพลง ‘พบกันใหม่’ ถูกเปิดในคลื่นวิทยุแทบจะทุกสถานีเลย ชีวิตของเราเปลี่ยนไปอย่างไรตอนนั้น
เพียว: นี่คือเรื่องจริง ผมแทบจะไม่เคยได้ยินเพลงของตัวเองในวิทยุเลย
นะ: เหมือนกัน
เพียว: เพื่อนก็จะบอกว่า เฮ้ย ! กูได้ยินเพลงมึง เราก็แอบมีเจตนาอยู่บ้างบางทีเวลาเปิดวิทยุ อยากลองฟังหน่อย แต่ก็ไม่เคยเจอเลย ถ้าถามว่าเปลี่ยนแปลงยังไง คือจริง ๆ แล้วเพลง ‘พบกันใหม่’ มันไม่ได้เป็นปรากฏการณ์แบบข้ามคืน มันไม่ใช่แบบนั้น มันค่อนข้างที่จะ slow burn นิดหนึ่ง ค่อย ๆ คลานมาก่อน ดังนั้นเราเลยไม่รู้สึกว่าชีวิตเราเปลี่ยนพรึ่บพรั่บขนาดนั้น คือมันก็จะค่อย ๆ มาจนเราเริ่มชิน แล้วมันก็จะค่อย ๆ ไป ดังนั้นมันจะไม่มีความรู้สึกแบบชีวิตเปลี่ยน
The People: หลายคนมองว่า 80s อาจจะเป็นดนตรียุคพ่อ ดนตรีวินเทจ ตอนนั้นวงเคยคิดไหมว่าบางทีในยุคสมัยที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น มันอาจจะเป็นดนตรีที่ล้าหลังไปแล้ว
โต้ง: มันคือความเชยของยุคนั้น แต่สำหรับเรามันคือสิ่งที่ถูกต้อง สำหรับเรา มันคือเสียงที่ “ว้าว”
นะ: คือต้องบอกจุดยืนของการทำอัลบั้ม 80 Kisses ก่อน พวกเราทำจากข้างในออกมาโดยที่ไม่ได้คิดเลยว่า ถ้าทำแบบนี้ ใช้ซินธ์แบบนี้ กลัวคนจะคิดว่าเชย มัน out ไปแล้วหนิ เสียงแบบนี้ คอร์ดแบบนี้ โครงสร้างเพลงแบบนี้เขาไม่ใช้กันแล้ว คือเราไม่ได้คิดอย่างนั้น factor รอบนอกที่คนมองเข้ามา เราไม่ได้เก็บมาคิด เราแค่คิดว่าทำอะไรก็ได้ ให้เราฟังมันเองแล้ว เฮ้ย ! เพราะว่ะ แค่นี้พอ ดังนั้นเสียงเชย ๆ คอร์ดที่ out ไปแล้ว แต่เราคิดว่าเราชอบ อะไรที่เราชอบ เราใส่เข้ามาแค่นี้จบ เราก็เริ่มจากตรงนี้
The People: ก่อนหน้านี้มีคนพยายามนำความ 80s มาใส่ในดนตรีสมัยใหม่เยอะ แต่เราเคยคิดไหมว่าอะไรที่ทำให้เราแตกต่าง
นะ: ถ้าจะให้เราพูดมันก็ไม่ถูกต้อง จริง ๆ แล้วผมว่าเรื่องแบบนี้ต้องให้คนอื่นมองเข้ามา สมมติว่าทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงชอบคุณ เพราะผมหล่อ เพราะผมนิสัยดี คือมันฟังดูเคลม ผมก็เลยไม่กล้าพูดว่าเพราะว่าเมโลดี้ เพราะว่าคำผมสวย ผมไม่กล้าที่จะพูดแบบนั้น ผมว่าต้องมองจากมุมคนอื่นแล้วมาบอกเรา จะเก็ทกว่าที่เราจะพูดว่าอย่างนั้นอย่างนี้เอง
เพราะว่าอะไรเราบอกไม่ได้ แต่ว่าเท่าที่มุมของวงเราจะบอกได้ ผมว่าทุกอย่างมันไปด้วยกัน ทั้งเสียง ทั้งภาพที่ออกมาตอนนั้น ผมว่ามันลงล็อค แล้วคนที่เคยสัมผัส 80s มาแล้วอาจจะเก็ทได้ว่า เฮ้ย ! มัน remind ถึง ส่วนคนที่ไม่เคยสัมผัสอาจจะคิดว่าเป็นของใหม่
The People: รู้สึกอย่างไรที่เราทำให้ดนตรี 80s กลับมาเป็นที่นิยมในประเทศไทย เราอาจจะไม่ใช่วงแรก แต่เป็นวงที่ทำให้กระแสมันแข็งแรง
เพียว: ส่วนตัวผมไม่ได้รู้สึกว่าเป็นแรงกระเพื่อมขนาดนั้น สำหรับความรู้สึกผมนะเราเป็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ นี่แหละ
นะ: มันเหมือนกับแก้วแก้วหนึ่ง มีตะกอนแบบ 80s เต็มไปหมด แล้วเราก็กวนมันขึ้นมา แล้วคุณก็ไปค้นพี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) ไปจุดประกายให้คนไปค้นสิ่งเก่ามากขึ้น แล้วมันค่อยบูมขึ้นมา ผมว่ามันไม่ได้เป็นเพราะพวกผมหรอก ผมแค่จุดประกาย
[caption id="attachment_11619" align="aligncenter" width="960"] เพียว มือเบส[/caption]The People: 80 Kisses ผ่านไปแล้ว อัลบั้มหน้ากำลังจะมา หลายคนคาดหวังว่า POLYCAT จะยังทำ 80s อยู่หรือเปล่า หรือจะขึ้นไป 90s มีความเป็นดนตรีนิว แจ็ก สวิง หรือ อาร์แอนด์บีผิวสี
นะ: คือก็ยังอยู่ใน 80s 90s นะ แต่ว่ามันจะมีแนวของอัลบั้มชัดเจนกว่าอัลบั้มที่แล้ว อย่าง 80 Kisses มันจะทุกแนวเลย ‘พบกันใหม่’ เป็น นิวเวฟซินธ์ป๊อป ‘เป็นเพราะฝน’ บัลลาร์ดร็อก ‘เพื่อนพระเอก’ เป็นนิว แจ็ก สวิง ’มันเป็นใคร’ เป็นฟังก์ หรือว่าเพลง ‘ปืน’ เป็นป็อปแบบพวกบิลบอร์ดชาร์ต คือมันทุกแนวจริง ๆ แต่คราวนี้อัลบั้มใหม่มันจะมีภาพรวมเป็นโซลกับอาร์แอนด์บี ผิวสี ที่อยู่ในช่วง 80s คือผมว่ามันจะมีแนวเรียกเฉพาะครับสำหรับอัลบั้มนี้ ซึ่ง 80 Kisses มันเรียกไม่ได้
The People: เพลงก่อนหน้านี้อย่าง ‘อาวรณ์’ มีกลิ่นอายส่วนผสมแบบ บ็อบบี้ บราวน์ หน่อย ๆ นี่ถือเป็นตัวอย่างของเพลงจากอัลบั้มใหม่ได้ไหม
นะ: ถูกต้องเลยครับ
The People: ถ้างั้นคนอาจจะได้ยินเพลงที่มีเมโลดี้เพราะ ๆ ตามฉบับของยุคนั้นจาก POLYCAT
นะ: ใช่ครับ รวมถึงเนื้อเพลง คอร์ด และโครงสร้างด้วย อย่าง ‘ดูดี’ ก็จะเป็นโครงสร้างที่เก่ามาก ที่มีท่อน verse แล้วก็ลงท้ายด้วยคำอะไรสักอย่าง เช่น “มันดูดีที่สุดเลยเว้ยแก” แล้วก็มี verse แล้วก็ลงท้ายด้วย “ที่สุดเลยเว้ยแก” แล้วมี chorus คือโครงสร้างที่เราหาไม่ได้ เพลงยุคนี้ hook กับ chorus อยู่ในท่อนเดียวกัน คือคำจำมักจะอยู่ในท่อน chorus แต่คราวนี้เราแยกมันออกมา hook กับ chorus เป็นคนละอย่างกัน ในเพลง ‘ดูดี’ hook คือ “มันดูดีที่สุดเลยเว้ยแก” แต่ว่าท่อน chorus ก็คือ “แกลองมองในตาเขา” คือมันถูกแยกออกมา ‘อาวรณ์’ ก็เหมือนกัน
The People: เพลงของ POLYCAT มีความเป็นพระรองตลอดกาล คิดอย่างไรกับคำนี้
นะ: เป็นเรื่องจริงครับ เป็นเรื่องจริงของอัลบั้ม 80 Kisses เลย คอนเซ็ปต์อัลบั้มนี้คือมีคนพูดเป็นคนเดียว เป็นเรื่องที่มาจาก mindset ของคนคนนี้ที่เราสร้างขึ้นมา ความคิดของคนคนนี้คือ ถ้าเขาไปเจอเรื่องแบบนี้ เขาก็มักจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เขากลั่นกรองมาเป็นแบบนี้ ถ้า ‘มันเป็นใคร’ ไปอยู่กับคนอีกบุคลิกหนึ่ง คำนี้เขาอาจจะถ่ายทอดออกมาคนละแบบกับคนที่ผมสร้างขึ้นมาพูดได้ ดังนั้นคาแรกเตอร์เพื่อนพระเอกมันเป็นบุคลิกที่สร้างขึ้นมาในอัลบั้ม 80 Kisses ก็รู้สึกดีใจที่คนสัมผัสได้ถึงมัน
The People: เคยอยากเปลี่ยนภาพจำ แอบรักเพื่อน ของเราไหม อยากเล่าเรื่องที่จริงจังมากขึ้นหรือเปล่า
นะ: ในชุดใหม่ Pillow War จะเป็นเพลงสมหวังเสียส่วนใหญ่ เพราะว่า Pillow War คือการตีหมอนกัน จะพูดถึงความรักที่เริ่มย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน เริ่มเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความ sexy มากขึ้น อย่างที่บอกมันเหมือนกับพวก บอยซ์ทูเมน, บ็อบบี้ บราวน์ มีความเหมือนเพลงแบบนั้นที่เขาพูดกัน
The People: แสดงว่าภาพลักษณ์ที่คนมองว่า POLYCAT คือพระรองตลอดกาล ก็อาจไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา
นะ: ก็เหมือนกับคนเราบางทีเราก็อาจจะไม่ได้ชอบกินขนาดนั้นก็ได้ อาจจะไม่ได้ชอบกินอาหารอิตาเลียนหรือว่าพิซซ่า แต่คนจะเข้าใจว่ามันชอบกินมาก มันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คนมองทุกอย่าง เราก็ไม่ได้วัน ๆ ก็คิดแต่เรื่องแอบชอบเพื่อน ไม่ใช่
เพียว: อัลบั้มนี้ออกปี 2015 แอบชอบเพื่อน อัลบั้มนี้ออกปี 2019 แอบชอบเพื่อน อัลบั้มหน้า 2022 แอบชอบเพื่อนอีกแล้วเหรอ มันก็จะ ฮะ! เอาอีกแล้วเหรอ มันไม่มีคนอื่นให้ชอบอีกเหรอ คอนเซ็ปต์มันก็ต้องเปลี่ยน ๆ ไป
The People: เพลงเก่า ๆ ค่อนข้างติดหู มีวลีฮิตเสมอ มันสร้างความกดดันในการทำอัลบั้มใหม่บ้างไหม
นะ: มันสร้างสักอย่างขึ้น แต่ว่าผมไม่ได้เรียกมันว่าความกดดัน สมมติว่า ‘มันเป็นใคร’ อยู่ในระดับนี้ ‘อาวรณ์’ เดโมแรกผมรู้สึกว่ามันอยู่ระดับที่น้อยกว่า ความซื่อสัตย์ต่อดนตรีของผมมันปล่อยให้มันอยู่ในระดับนี้ไม่ได้ ผมจะต้องทำอะไรสักอย่าง ใส่รายละเอียดให้เท่ากับ ‘มันเป็นใคร’ ให้ได้หรือไม่ก็สูงกว่า ผมไม่ได้เรียกมันว่าเป็นความกดดัน แต่ว่าในมุมหนึ่งมันก็อาจจะใช่แหละ
The People: การที่ศิลปินเอาประโยคหรือวลีที่มาจากภาษาพูดทั่วไป มาใส่ในเพลง ถ้ามันไม่ดีก็จะดูผิดที่ผิดทางไปเลย ดูเขิน ๆ ไปเลย แต่ตอนนั้นทำไมเราหยิบวิธีการแบบนี้มาใส่ในเพลงได้
นะ: ถ้าให้วิเคราะห์คือ อย่างแรกผมทำความเข้าใจก่อนว่า hook กับ chorus มันแยกกัน คือ hook ไม่ใช่ท่อน hook นะครับ hook คือ สิ่งที่จะทำให้คนจำ ผมก็เลยคิดว่างั้นเราก็สามารถใส่อะไรที่มันดู unique มาก ไม่ต้องทั้งท่อน พอคำอะไรที่มันดู unique ทั้งท่อนผมว่ามันอยู่ในเพลงไม่ได้หรอก แบบ “ดูดีที่สุดเลยเว้ยแก”เอาไปยัดรวมกับเนื้ออื่นไม่ได้หรอก แต่พอมันเป็นท่อนเดียว มันเลยยังพอไหวอยู่ ความจริงตอนสร้างเพลง ‘ดูดี’ ขึ้นมา “ดูดีที่สุดเลยเว้ยแก” คือดาบสองคนประมาณหนึ่ง คนที่ไม่เก็ทก็จะไม่ชอบเลย ก็จะมีคนที่แบบอะไรวะ หรือว่าการใช้คำว่า “แก” คือถ้าบางคนที่ไม่ได้เรียกเพื่อนว่าแก ไม่เคยใช้คำว่าแกกับใครมาก่อนก็จะอะไรเนี่ย ก่อนหน้านี้ก็มีคนเตือนเรื่องนี้เหมือนกันว่าถ้าคนเก็ทก็เก็ท แต่ถ้าคนไม่ชอบก็จะไม่สนใจเลยนะ
โต้ง: คือไม่มีตรงกลาง
เพียว: เหมือนตอน ‘มันเป็นใคร’ พี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ เจ้าของค่าย Smallroom) ก็ยังแย้งว่า จะเอาชื่อเพลงนี้จริง ๆ เหรอ มันดูฮาร์ดคอร์มากเลยคำว่ามันเป็นใคร
นะ: แต่ถ้าพูดถึงบริบทมันถูกต้อง เพราะว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องเพื่อนกับเพื่อน แล้วก็มันเป็นการแสดง คือ ฉันกับเธอมันดูกลาง ๆ มาก การจะแสดงว่าเราสนิทกับใครสักคนมาประมาณหนึ่งแล้ว คำว่าฉันกับแก คำว่าแก มันดูฟังแล้วรู้เลยว่าคือเพื่อนกันจริง ๆ นอกจากกูกับมึง แน่นอนคำว่าแกมันดูสนิทกันประมาณหนึ่งแล้ว ดังนั้นถ้าเราใช้คำว่าแกลงไปได้ เราจะสื่อให้คนฟังได้เลยว่าเราสนิทกับคนนี้ โดยที่ไม่ต้องบอกว่า เฮ้ย เราคบกันมานานรู้จักกันมานานหลายปี ไม่ต้องเขียนลงไปเลย เราจะเข้าใจกันไปเองเลย
The People: อัลบั้มที่สามจะมีการใส่คำฮิต ๆ แบบนี้ลงไปในเพลงอีกบ้างไหม
นะ: มีครับ แต่ต้องบอกก่อนเลยว่าไม่ได้ตั้งใจ จริง ๆ มันเป็นแค่การไม่อยากใช้คำซ้ำกับเพลงทั่วไปเท่านั้นเอง ไม่ได้หมายความว่าเพลงนี้มันยังขาดคำฮิตว่ะ ไม่ได้เกิดจากกระบวนการคิดแบบนั้น คือถ้าผมจะใส่คำว่าท้องฟ้า ดวงดาว คิดถึงเธอ ก็ได้ แต่ว่ามันมีอีกเป็นล้านเพลงที่ใช้คำนี้ มันเกิดจากไม่อยากใช้คำเหล่านี้ ก็เลยหันมาใช้คำที่เราสร้างขึ้นมาเอง อย่างเช่น “ถ้าพรของฉันที่จะให้ไป ศักดิ์สิทธิ์กว่าพระอาจารย์ที่ใด จะขอให้เธอมีพลังรู้ความในใจ” ในเพลง ‘อาวรณ์’ คือไม่มีเพลงรักเพลงไหนใช้คำที่มีพระอาจารย์มาแน่ ๆ
เพียว: พระอาจารย์ไม่น่ามาสวด
โต้ง: อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ
The People: แต่ละคนชอบเพลงไหนของตัวเองมากที่สุด
เพียว: ชอบ ‘เพื่อนพระเอก’ เพราะว่าลึก ๆ ผมก็แอบชอบดนตรีนิว แจ็ก อยู่ มันจะเป็นจังหวะที่มีความสวิงเวลาเราเล่นเบส มันจะไม่ straight ซึ่งพอมันไม่ straight มันก็ค่อนข้างจะถูกจริตผมด้วย
นะ: ผมชอบ ‘อาวรณ์’ เพราะเป็นเพลงที่มีรายละเอียดเยอะมาก อย่างที่บอกมันเกิดขึ้นจริง ๆ คือตอนเดโมแรก มันอยู่ในระดับต่ำกว่า ถ้าเทียบกับ ‘มันเป็นใคร’ คนที่ไม่รู้รายละเอียดอาจจะไม่เข้าใจ อาจจะบอกว่ามันก็เท่ากันนี่ คือเพลง ‘มันเป็นใคร’ ตอนทำ ไลน์คีย์บอร์ดมันถูก playback ไปที่เทป แล้วก็เอาเทปกลับเข้ามาในคอมพ์ เพื่อที่จะได้ texture ของเสียง synth ที่มันผ่านเทปมา มันจะได้ดู retro มากกว่านั้น แต่ว่า ‘อาวรณ์’ มันไม่เท่าเพราะว่าผมไม่ได้ทำอย่างนั้น ผมขยันไม่เท่า ผมก็เลยต้องใส่รายละเอียดให้กับเพลงนี้มาก ๆ ดังนั้นเสียงทุกอย่าง ยกตัวอย่างคร่าว ๆ แล้วกัน ไอ้เสียง lead เมื่อก่อนมันจะมีเสียงที่ชื่อว่า ซิต้า ที่พวกโซล 70s จะชอบใช้กัน แบบวง The Stylistics, หรือ The Jackson 5 แต่ผมหาไม่ได้ ไม่มีขาย ผมเลยใช้วิธีแบบ 90s ชอบใช้กัน คือตัดเสียงแล้วเอามา tune ขึ้น tune ลง เหมือนกับเพลงฮิปฮอปชอบใช้กัน ผมก็จะตัดมาจากเพลงของ The Stylistics แล้วก็เอามา tune เป็นเสียง lead แล้วก็มี sample อีก 2-3 เพลง ในท่อน intro แล้วก็ท่อน solo จะเป็นเพลง ‘Happy Birthday’ แบบ reharmonization ใหม่ เอามาใส่ chord ใหม่ คือทำดีเทลให้มาสู้ ‘มันเป็นใคร’ ให้ได้ เพราะว่ารู้อยู่แก่ใจว่าเราขยันไม่เท่า ดังนั้น 'อาวรณ์' จะเป็นเพลงที่มีรายละเอียดเยอะมาก
โต้ง: ‘เป็นเพราะฝน’ ครับ เพราะเป็นเพลงที่รู้สึกว่าเล่นยากสุด ผมเลยต้องขยันกับเพลงนี้มากตอนนั้น
The People: ด้วยความที่เรา represent ความเก่า มีสินค้าเป็นเทปคาสเซ็ท ในโลกที่อะไรเหล่านี้มันเริ่มตายไปแล้ว พวกคุณมีแนวคิดกับสิ่งนี้อย่างไร
เพียว: จริง ๆ ตอนที่เริ่มทำคาสเซ็ท ตอนนั้นเราออกเพลงใหม่มา 3 เพลง ‘เพื่อนไม่จริง’, ‘เวลาเธอยิ้ม’, ‘พบกันใหม่’ แล้วเราก็ไปเล่นงานหนึ่งชื่อว่าเห็ดสด จัดโดยฟังใจ เราทำประมาณ 70 กว่าม้วนได้ ไปขายที่งานนั้น ซึ่งในนั้นก็จะมีเพลง ‘ปล่อยให้ตัวฉันไป’ ของ moving and cut ที่เราเอามาเล่นไว้ ซึ่งไม่มีใครสามารถหาฟังได้นอกจากคนที่ซื้อเทปม้วนนั้นกลับไป คนก็จะมาโพสต์ถามว่าอยากฟังเพลงนี้มาก ๆ เลย จะสามารถฟังเพลงนี้ได้จากไหน
นะ: แสดงว่าคนที่เคยฟังเพลงนี้นอกจากคนที่ไปไลฟ์ จะมีแค่ 70 กว่าคน
เพียว: แต่คนอีกเยอะแยะที่เข้ามาถามว่าอยากได้เพลงนี้มาก ทำยังไงดี เรารู้สึกว่าสะใจที่เพลงเราเพลงนี้ไม่อยู่บนเน็ตเว้ย หาฟังยาก ตำนานมาก มีไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้ฟัง เราก็เลยรู้สึกว่าคิดยังไงกับการทำแบบนี้ ตอนแรกเราแค่อยากทำให้มัน remind ถึงยุคนั้นจริง ๆ ต่อมาคือสะใจนิดหนึ่งที่ไม่สามารถเอาข้อมูลตรงนี้ออกไปเผยแพร่ที่อื่นได้
นะ: อีกอย่างหนึ่งก็คือ streaming มันเข้ามา เราห้ามมันไม่ได้อยู่แล้ว เหมือนตอน vinyl แล้วก็มี CD เข้ามา สะดวกกว่าเยอะ พกพาง่าย พอมา Walkman แล้วก็มี mp3 เราก็ห้ามมันไม่ได้อยู่แล้ว ผมว่ามันจะทำให้ physical กลายเป็นเปลี่ยนสถานะมากกว่า เปลี่ยนมิติจากเอาไว้ฟังกลายเป็นของสะสม มีค่าเป็นงานศิลปะมากขึ้น ค่ามันถูกเพิ่มไปอีกด้านหนึ่ง
The People: อนาคตของวงคือการย้อนกลับไปหาเสียงเก่า ๆ แบบนี้ตลอดไปหรือเปล่า
นะ: ใช่ครับ จุดยืนของเราอยู่ที่ sound เก่า เครื่องดนตรีเก่า แต่ว่าทิศทางเราอาจจะเล่นทางอื่นได้หลายทาง อาจจะเป็นแนวใหม่ก็ได้แต่ถูกเล่นมาจากเครื่องดนตรียุคเก่า texture ของเสียงดนตรีมันจะเก่า แต่ว่าอาจจะเป็นแนวสมัยนี้ก็ได้ ไม่ผิดอะไร
The People: เรียกว่าเป็นวงรุ่นใหม่ที่วิ่งสวนทาง วิ่งย้อนทางเพลง ได้ไหม
นะ: ใช่ครับ วิ่งย้อน แต่ว่าเราไม่เชิงย้อนนะ เราย้อนไปจุดหนึ่งแล้วอยู่ที่เดิม เราไม่ได้ย้อนไปอีก กระแสดนตรีมันไปข้างหน้า เราไม่ได้ทวนไปนะ เราจะอยู่ตรงนี้ ตรงที่เราชอบ คลิกกันเมื่อปี 2013-2014 แนวที่เราฟังร่วมกัน ฟิวชั่นแจ๊ส ฟังก์ ที่มีซินธ์ป๊อป อาร์แอนด์บี ส่วนผสมประมาณนี้ไม่ไกลกันมาก
The People: ถ้าย้อนเวลากลับไปได้แต่ละคนอยากจะย้อนกลับไปทำอะไร
นะ: จะย้อนไปบอกแม่ว่าอย่าเพิ่งขายของเล่น เมื่อก่อนมีของเล่นที่เด็กอเมริกันมีเยอะมาก เหมือนใน Stranger Things เลย ผมจะมีแบบเขา ตู้ pinball แต่ตอนนี้มันถูกขายถูกบริจาคไปหมดแล้ว ย้อนไปบอกว่าอย่าเพิ่งขายนะ เป็นพร็อพได้ดีเลย
เพียว: ย้อนไปเมื่อคืนครับ จะหลับให้เร็วขึ้นครับ
โต้ง: ถ้าย้อนไปได้ก็คงจะไม่หัดกินเหล้าแล้วกันครับ
เพียว : กินเหล้านี่หัดกันด้วย
POLYCAT กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกใน “LEO Presents Polycat I Want You Concert” วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม และวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายนนี้ที่ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.facebook.com/polycatband และ www.facebook.com/smallroommusic