น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก “สุกี้ MK” แบรนด์สุกี้ที่เรียกได้ว่ายืนหนึ่งของเมืองไทยมาหลายปี แต่รู้ไหมว่า “MK” มีที่มาอย่างไร และทำไมถึงชื่อ “MK”?
เมื่อนึกถึงสุกี้ MK สิ่งที่ลอยเข้ามาในความคิดลำดับแรก ๆ ของหลายคน น่าจะเป็นร้านสีแดง-เขียว หม้อไฟฟ้า บรรดาผักและหมูที่เรียงมาในถาดคอนโดสีแดงซ้อนกันเป็นตั้ง กับพนักงานที่บริการอย่างรวดเร็ว (แถมบางทียังมีเต้นให้เราดูอีกต่างหาก) แต่การจะทำให้เกิดภาพจำทั้งหลายเหล่านี้มีเบื้องหลังที่ไม่ง่าย ต้องอาศัยความใส่ใจในรายละเอียด ซึ่งคนที่มีส่วนสำคัญในการปั้นสุกี้ MK ให้ครองตลาดบ้านเราได้ก็คือ ฤทธิ์ ธีระโกเมน
ฤทธิ์ จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนข้ามรั้วไปลานเกียร์ จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า เกียรตินิยมอันดับ 2 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชีวิตส่วนตัวแต่งงานกับ ยุพิน ลูกสาวของ ทองคำ เมฆโต แต่เดิมทองคำทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งที่สยามสแควร์ ซอย 3 มีเศรษฐินีชาวฮ่องกงนามว่า มาคอง คิง ยี (Makong King Yee) เป็นเจ้าของ ซึ่งนี่เองคือจุดกำเนิดของชื่อ “MK”
ปี 2505 คิง ยี ย้ายไปอยู่บอสตัน สหรัฐอเมริกา จึงขายร้านให้ทองคำดำเนินกิจการต่อ เมนูอาหารที่ส่วนใหญ่รสชาติถูกปากลูกค้า ทำให้ร้านของทองคำก้าวหน้าด้วยดี ต่อมา สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เจ้าของเซ็นทรัลกรุ๊ป ชักชวนทองคำให้มาเปิดร้านอาหารไทยที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว เกิดเป็นร้าน “กรีน เอ็มเค” ในปี 2527 ช่วงนี้เอง ยุพิน ลูกสาวของทองคำเข้ามาช่วยกิจการ และมีลูกเขยคือ ฤทธิ์ ที่ขณะนั้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของ ซีเอ็ดยูเคชั่น ซึ่งเป็นธุรกิจร้านหนังสือ เข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่ง
จุดเปลี่ยนมาถึง เมื่อสัมฤทธิ์เห็นว่าทั้งยุพินและฤทธิ์มักจะมาเตรียมร้านอาหารตั้งแต่เช้าตรู่ ทั้งที่กว่าร้านจะเปิดก็สาย เขาชื่นชมความขยันของทั้งคู่และมีไอเดียอยากจะเปิดร้านสุกี้ในห้าง ซึ่งยุคนั้นยังไม่มีในย่านลาดพร้าว จึงชวนให้ครอบครัวนี้เปิดร้านสุกี้เพิ่มอีกร้านหนึ่ง
เวลานั้นในครอบครัวไม่มีใครเห็นด้วยเลย แม้แต่ฤทธิ์เองก็ตาม เพราะไม่มีใครมีประสบการณ์ทำร้านสุกี้ แต่ทองคำและยุพินต้องการเดินหน้าโครงการนี้ สุดท้ายร้านสุกี้ MK ก็เกิดขึ้นในปี 2529 บนพื้นที่เช่า 1,000 ตารางเมตรของห้าง ฤทธิ์จึงต้องงัดกลเม็ดมาบริหารธุรกิจร้านสุกี้ที่ไม่เคยทำมาก่อนให้ติดตลาด
นอกจากเรื่องรสชาติและความสะอาดที่ร้านอาหารพึงมีแล้ว ฤทธิ์เห็นว่าการกินสุกี้ที่มีหม้อน้ำเดือดบนเตาแก๊สอยู่ตรงหน้าอาจไม่ปลอดภัย เขาจึงอาศัยพื้นฐานความรู้วิศวกรรมไฟฟ้าที่มีติดตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการลงมือออกแบบเตาไฟฟ้าสำหรับหม้อสุกี้ด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะทำสำเร็จเป็นเจ้าแรกในตลาดไทยที่นำเตาไฟฟ้ามาใช้ต้มสุกี้แทนเตาแก๊สเมื่อปี 2539
เรื่องที่สองที่กลายเป็นซิกเนเจอร์ของสุกี้ MK คือ ฤทธิ์สังเกตว่าการเสิร์ฟวัตถุดิบอาหารบนจานเปลแบบดั้งเดิมนั้นกินพื้นที่บนโต๊ะมาก และอาจมีการวางซ้อนกันทำให้อาหารปนเปื้อน เขาไม่รอช้า ลงมือตัดกระดาษออกแบบจานใส่อาหารแบบใหม่ โดยได้แรงบันดาลใจจาก “คอนโดมิเนียม” ผสานกับปิ่นโตของไทยและเบนโตะของญี่ปุ่น นั่นคือประหยัดพื้นที่แนวราบ และใช้พื้นที่ในอากาศบนแนวสูงแทน ไอเดียของฤทธิ์ออกมาเป็นถาดวางอาหารคอนโดที่เราคุ้นเคยกันดี แถมยังใส่รายละเอียดเล็ก ๆ อย่างการทำมุมให้โค้งมนเพื่อสะดวกต่อการล้าง และใช้สีแดงเพื่อทำให้สีเลือดจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ดูไม่น่ากลัว พร้อมกับทำให้อาหารน่ากิน
[caption id="attachment_11687" align="aligncenter" width="640"]
ฤทธิ์ ธีระโกเมน และลูกสาวคือ ทานตะวัน ที่เข้ามาช่วยผู้เป็นพ่อดูแลกิจการสุกี้ MK[/caption]
การมาถึงของสุกี้ MK ที่ค่อย ๆ ขยายสาขาไปเรื่อย ๆ และการคิดหาอะไรแปลกใหม่มาใส่ธุรกิจ ทำให้แบรนด์ MK เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคจนแซงหน้าสุกี้ร้านอื่นในยุคนั้น แต่ฤทธิ์ก็ไม่ประมาท เขายังเน้นหัวใจหลักคือการคิดในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อพัฒนาบริการและบริหารต้นทุน
ตัวอย่างเช่น การหั่นผักให้เกือบขาดเพื่อให้ผักยังดูสวยและให้ฉีกง่ายก่อนลงหม้อ ออกแบบกาน้ำจิ้มที่มีใบพัดด้านล่างเพื่อให้พนักงานกวนน้ำจิ้มไม่ให้นอนก้นก่อนเทเสิร์ฟ เปลี่ยนจากมะนาวเสี้ยวเป็นน้ำมะนาวสดเพื่อคำนวณต้นทุนได้ง่าย นำเครื่อง PDA มาใช้เพื่อให้การสั่งอาหารและการคิดเงินรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไปจนถึงการปรับขนาดซองไม้จิ้มฟัน แม้จะประหยัดได้แค่ซองละ 1 สตางค์ แต่เมื่อรวมทุกสาขาแล้ว ปีหนึ่งก็ลดต้นทุนไปได้หลักแสนบาท และเมื่อถึงยุคที่ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น สุกี้ MK ก็ปรับตัวด้วยการทำแผ่นกระดาษปูโต๊ะที่พิมพ์ข้อมูลสาระน่าสนใจต่าง ๆ รวมทั้งใบเสร็จที่มาพร้อมการคำนวณปริมาณสารอาหารแบบรายโต๊ะ
พนักงาน เป็นอีกเรื่องที่ฤทธิ์ให้ความสำคัญอย่างมาก เขามองว่าหัวใจสำคัญของร้านอาหารคือผู้ให้บริการ ดังนั้นจึงพยายามคัดกรองพนักงานและจัดอบรมอย่างเป็นระบบ พนักงาน MK ต้องปฏิบัติตามวัฒนธรรมองค์กร 14 ข้อที่ฤทธิ์วางไว้ เช่น ใส่ใจและแคร์ความพึงพอใจของลูกค้าอยู่เสมอ ต้องมีอัธยาศัยไมตรีดีเยี่ยม ทำงานร่วมกันเป็นทีมเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ฯลฯ “วิธีอบรมพนักงานของเราเข้มงวดจนมีบางส่วนไปต่อไม่ไหว ต้องถอยออกไปจากครอบครัวเอ็มเค” ฤทธิ์ เคยกล่าวไว้
เขามักไปตรวจเยี่ยมพนักงานในร้านเพื่อให้กำลังใจ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ถือว่าหนักที่สุดคือหน่วยล้างจาน แต่ละปีเขามักจะเขียนจดหมายส่งถึงพนักงานด้วยตนเองในการจ่ายโบนัสประจำปี บางปีอาจเลือกเขียนส่งเฉพาะบางตำแหน่ง เช่น แคชเชียร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและเมื่อพนักงานรู้สึกดีก็จะทำงานได้ดีด้วย
เมื่อมองภาพใหญ่แล้ว บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มีฤทธิ์นั่งเป็นประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มี 9 แบรนด์ในมือ เช่น MK, Yayoi, ณ สยาม, เลอ สยาม ฯลฯ ขยายตัวไปถึง 638 สาขาทั้งในไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว ฯลฯ ส่วนผลประกอบการ อ้างอิงจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2558-2561 เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป เติบโต 4-6% ทุกปี และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ระหว่าง 12.4-14.9% โดยปี 2561 บริษัทมีรายได้ 1.72 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 2.57 พันล้านบาท สำหรับรอบครึ่งปีแรกของปี 2562 บริษัททำรายได้ไปแล้ว 9 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท
ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจขาลง แถมยังมีคู่แข่งเป็นร้านอาหารจำนวนมาก ฤทธิ์ยังคงสู้ด้วยการลงทุนต่อเนื่อง เขาตั้งเป้าจะมีสาขาเพิ่มอีก 50 สาขารวมทุกแบรนด์ในพอร์ต พร้อมต่อยอดไปสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ประเดิมที่การขนส่งแบบเย็น (cold chain) ที่ MK ถนัดอยู่แล้วจากการบริหารจัดส่งวัตถุดิบไปกว่า 600 สาขา
“เราทำเอ็มเค เริ่มต้นคิดว่าอยากทำร้านอาหารดี ๆ สักที่ ไม่ได้คิดเรื่องขนาดและความใหญ่ของธุรกิจ ทำดี ๆ ใครมาก็ชม อาหารก็ดี บริการก็ดี คิดแค่นั้นแหละ ไม่คิดอะไรมากกว่านั้น...แต่วันนี้มันไปไกลเกินความคาดหมายของเรา” คือคำบอกเล่าของ ฤทธิ์ ผู้ปลุกปั้นธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นจากแม่ยายให้เติบใหญ่ด้วยมันสมองและสองมือของเขา จนเป็นอาณาจักรสุกี้หมื่นล้านอย่างทุกวันนี้
ที่มา
https://www.mkrestaurant.com/th/history
http://investor-th.mkrestaurant.com/management.htm
นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2014
https://www.sanook.com/news/813587/
https://missiontothemoon.co/structure-of-life/
https://www.prachachat.net/asian-100/news-257304
เรื่อง: Synthia Wong
ภาพ: เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป