‘เบตาอิสราเอล’ ชนชาวยิวผิวดำแห่งเอธิโอเปียมาจากไหน? เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา?

‘เบตาอิสราเอล’ ชนชาวยิวผิวดำแห่งเอธิโอเปียมาจากไหน? เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา?

ชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกพบในเอธิโอเปีย ซึ่งภายหลังเรียกตัวเองว่า ‘เบตาอิสราเอล’ (Beta Israel) เป็นหนึ่งในชนเผ่าที่เชื่อกันว่า น่าจะเป็นหนึ่งในชนเผ่าอิสราเอลดั้งเดิมที่สาบสูญไปตั้งแต่หลายพันปีก่อน

  • ตามคัมภีร์ไบเบิล ชาวอิสราเอลดั้งเดิมมี 12 เผ่า เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง เวลาต่อมาจึงเหลือแต่ชาวอิสราเอลในอาณาจักรยูดาห์ ที่เรียกกันต่อมาว่าชาวยิว
  • มีความเชื่อในหมู่ชาวยิวว่า ชนเผ่าที่สูญหายจะถูกพบเจออีกครั้ง
  • ชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกพบในเอธิโอเปีย ภายหลังเรียกตัวเองว่า “เบตาอิสราเอล” (Beta Israel) เป็นหนึ่งในชนเผ่าที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นหนึ่งในชนเผ่าอิสราเอลดั้งเดิมที่สาบสูญไปตั้งแต่หลายพันปีก่อน

“คุณคิดว่าชาวยิวเอธิโอเปียเป็นส่วนหนึ่งของชนชาวยิวหรือไม่?” ยูทูเบอร์ในชื่อ Corey Gil-Shuster ถามคู่รักชาวยิวบนท้องถนน

“แน่นอน” คู่รักทั้งสองคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน

“คุณคิดว่า เรามีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมกับพวกเขารึเปล่า?” Gil-Shuster ถามต่อ ก่อนเสริมว่า “คุณมีผมสีบลอนด์ ขณะที่พวกเขาเป็นคนผิวดำ” (เอาจริง ๆ คนผมบลอนด์ ตาสีฟ้า ก็น่าจะมีรหัสพันธุกรรมที่ต่างจากบรรพชนชาวยิวดั้งเดิมไม่น้อยกว่าคนแอฟริกัน)

“ถ้าพวกเขาบอกว่าตัวเองเป็นยิวซะอย่าง ทำไมจะไม่ได้ล่ะ” คู่รักฝ่ายหญิงตอบ ก่อนที่ฝ่ายชายจะช่วยเสริมว่า “ก็เหมือนชาวคริสต์นั่นแหละที่มีทั้งผิวดำ ผิวขาว มุสลิมก็มีทั้งจากมาเลเซีย หรือจากอ่าว (เปอร์เซีย) แล้วทำไมยิวจะเป็นอย่างนั้นบ้างไม่ได้ล่ะ เราก็มีได้ทุกสีผิวทุกรูปแบบนั่นแหละ”

ตามคัมภีร์ไบเบิล ชาวอิสราเอลดั้งเดิมมีอยู่ด้วยกัน 12 เผ่า หลังการจากไปของโมเสส โยชูวาได้กลายเป็นผู้นำของชาวอิสราเอลและเป็นผู้นำกำลังเข้ายึดดินแดนแห่งพันธสัญญา และก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นอาณาจักร

แต่หลังการจากไปของคิงโซโลมอน อาณาจักรของชาวอิสราเอลได้แตกออกเป็นสองส่วน ตอนเหนืออันเป็นที่มั่นของชาวอิสราเอล 10 เผ่ายังคงภักดีกับราชวงศ์เดิม ส่วนเผ่าทางใต้คือยูดาห์และเบนยามินหันไปภักดีกับเดวิดผู้นำราชวงศ์ใหม่ แยกมาตั้งเป็นอาณาจักรยูดาห์

กาลต่อมา (ศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล) อาณาจักรอิสราเอลทางตอนเหนือถูกพวกอัสซีเรียตีแตก ชาวบ้านถ้าหลบหนีไม่ทันก็ถูกจับตัวไปเป็นเชลยและค่อย ๆ ถูกกลืนกลายจนเสียอัตลักษณ์ความเป็นชาวอิสราเอล จากนั้นเรื่องราวของชาวอิสราเอลทั้ง 10 เผ่าก็สูญหายไปจากประวัติศาสตร์ เหลือไว้แต่ชาวอิสราเอลในอาณาจักรยูดาห์ ที่เรียกกันต่อมาว่าชาวยิว

แต่ความเชื่อที่ว่า สักวันหนึ่งชนเผ่าที่สูญหายจะได้ถูกพบเจออีกครั้งก็ยังคงมีอยู่มากในหมู่ชาวยิว และชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกพบในเอธิโอเปีย ซึ่งภายหลังเรียกตัวเองว่า “เบตาอิสราเอล” (Beta Israel) ก็เป็นหนึ่งในชนเผ่าที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นหนึ่งในชนเผ่าอิสราเอลดั้งเดิมที่สาบสูญไปตั้งแต่หลายพันปีก่อน

เบตาอิสราเอล แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า House of Israel หรือ วงศ์อิสราเอล เดิมทีเคยถูกเรียกว่า ฟาลาชา (Falasha) หมายถึง คนนอก คนเร่ร่อนไร้แผ่นดิน พวกเขาเชื่อว่า เผ่าของตนคือทายาทสายตรงของคิงโซโลมอนของอิสราเอลกับควีนแห่งชีบา ราชินีจากอาณาจักรในอาระเบียใต้เพราะผู้นำของพวกเขา จักรพรรดิเมเนเลกที่ 1 แห่งเอธิโอเปีย (Menilek I) คือโอรสของทั้งคู่

แต่เรื่องราวดังกล่าวมิได้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล หากอยู่ใน เกแบรแนแกสต์ (Kebra Nagast) วรรณกรรมท้องถิ่นของเอธิโอเปียที่น่าจะเขียนขึ้นหลังศตวรรษที่ 13  ซึ่งเล่าเรื่องราวรากเหง้าของราชวงศ์โซโลมอนแห่งเอธิโอเปีย ราชวงศ์ที่นับคือศาสนาคริสต์ซึ่งสิ้นสุดลงในยุคของจักรพรรดิไฮลี เซลาสซี หลังการปฏิวัติเมื่อปี 1974
...
อย่างไรก็ดี หลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับการมีอยู่ของชาวยิวในเอธิโอเปียก่อนศตวรรษที่ 14 นั้นหาได้ยากนัก แต่ก็มีนักวิชาการที่สันนิษฐานว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมยิวอาจมีอยู่ก่อนบ้างในดินแดนแถบนี้ก่อนที่อาณาจักรคริสเตียนแห่งอักซุมจะขึ้นมามีอำนาจ ในขณะเดียวกันหากจะว่ากันด้วยเรื่องของพันธุกรรม เบตาอิสราเอล ก็ดูจะผูกพันใกล้ชิดกับชนพื้นเมืองเอธิโอเปีย (ชาวอะโก - Agaw) ยิ่งกว่าชาวยิวในตะวันออกกลาง

และจากการวิเคราะห์วรรณกรรมของชาวเบตาอิสราเอล นักวิชาการกลับพบว่า งานวรรณกรรมของพวกเขาทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือมุขปาฐะ มีความผูกพันใกล้ชิดกับวรรณกรรมของคริสเตียนออร์ทอดอกซ์แห่งเอธิโอเปียมากกว่าชาวยิวในส่วนอื่นของโลก จนทำให้รากเหง้าของพวกเขาถูกต้องสงสัยยิ่งขึ้นไปอีกว่า พวกเขาเป็นยิวจริง ๆ หรือไม่?

ในงานเรื่อง The Enigma of Beta Esra'el Ethnogenesis. An Anthro-Historical Study ของ จอน แอบบิงก์ (Jon Abbink) นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ที่มีหัวข้อวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบนพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกาโดยเฉพาะเอธิโอเปีย แสดงให้เห็นว่า พัฒนาการด้านอัตลักษณ์ทางการเมือง สังคมและศาสนาของกลุ่มเบตาอิสราเอล มาปรากฏชัดก็ในช่วงยุคกลาง (หลังราชวงศ์โซโลมอนซึ่งอ้างว่าตนสืบสายจากจักรวรรดิอักซุมโบราณขึ้นมามีอำนาจในศตวรรษที่ 13) มากกว่าช่วงเวลาใด

ยุคประวัติศาสตร์ของเอธิโอเปีย เริ่มขึ้นในราวศตวรรษที่ 2 ของคริสตกาล เมื่อจักรวรรดิอักซุม (Aksum) ได้ถือกำเนิดขึ้นทางตอนเหนือของเอธิโอเปียในปัจจุบัน มันเป็นอาณาจักรคริสเตียนที่มีอายุยืนยาวมาจนถึงศตวรรษที่ 10 ก่อนที่จะค่อย ๆ เสื่อมอำนาจและล่มสลายไป อาณาจักรแซกเว (Zaqwe) ของชาวอะโก (ซึ่งเป็นคริสเตียนเช่นกัน) จึงได้ขึ้นมามีอำนาจแทน 

แต่อาณาจักรแซกเวก็มีอายุอยู่ได้ไม่นาน (ราว 120 ปี) ราชวงศ์โซโลมอน (เป็นชนอีกกลุ่มที่เรียกกว่า อัมฮารา - Amhara - เป็นชนที่มีภาษาอยู่ในกลุ่มภาษาเซมิติก) ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้สืบสายที่แท้จริงแห่งจักรวรรดิอักซุมและสามารถย้อนสาแหรกไปได้ไกลถึงคิงโซโลมอนและควีนแห่งชีบา ก็ได้ทำลายอาณาจักรแซกเวของชาวอะโกลงในศตวรรษที่ 13

จะเห็นได้ว่า อาณาจักรแซกเวของชาวอะโกนั้นเปรียบได้กับคนนอกที่เข้ามาแทรกอำนาจของชาวอัมฮารา เกแบรแนแกสต์ ที่เป็นเหมือนพงศาวดารของราชวงศ์เอธิโอเปียจึงเขียนให้บรรพกษัตริย์ของพวกเขาคือผู้ที่ได้รับบัญชาจากสวรรค์ที่แท้จริง เป็นอิสราเอลที่สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากคิงโซโลมอน และตำนานบอกเล่าท้องถิ่นยังกล่าวเสริมด้วยว่าควีนแห่งชีบาเมื่อเดินทางกลับจากอิสราเอลยังได้นำตัวพวกช่างฝีมือกลับมาด้วย และคนกลุ่มนี้ก็คือพวก “ฟาลาชา” 

อัตลักษณ์ของชาวฟาลาชามาปรากฏชัดขึ้นในยุคนี้ ความขัดแย้งของคนสองกลุ่มถูกบันทึกไว้ในเกแบรแนแกสต์ ด้วยเนื้อเชิงประวัติศาสตร์ผสมกับตำนาน และเรียกขานชาวฟาลาชาว่าเป็น “ยิว” ซึ่งนักวิชาการหลายรายเชื่อว่า คำว่ายิวที่ถูกใช้ในงานประพันธ์ของเอธิโอเปียจริง ๆ ไม่ใช่ว่าคนกลุ่มนั้นคือชาวยิวที่นับถือศาสนายูดาห์ แต่เป็นการสื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นศัตรูของคนกลุ่มหลักที่ถือศาสนาคริสต์ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกกดขี่ริดรอนสิทธิอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ กลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลกับจารีตประเพณีของชาวฟาลาชาเป็นอย่างมากก็คือ ชาวคริสต์ที่ต่อต้านอำนาจของราชวงศ์โซโลมอน (ไม่ว่าจะด้วยการตีความที่ต่างกันในทางศาสนา ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ หรือเห็นว่ากษัตริย์วางตนไม่อยู่ในทำนองคลองธรรม ซึ่งงานประพันธ์ของชาวเบตาอิสราเอล เองก็ยกย่องชาวคริสต์กลุ่มนี้) และลี้ภัยมาอยู่กับพวกเขา ช่วยจัดระเบียบแบบแผนจารีตประเพณีให้กับชาวฟาลาชา ทำให้ชาวฟาลาชามีจารีตประเพณีที่ “ต่าง” จากชาวคริสต์ส่วนใหญ่ในเอธิโอเปีย มีบางส่วนที่สอดคล้องกับโทราห์ของชาวยิว แต่ก็มีอิทธิพลของธรรมเนียมคริสต์ปะปนอย่างเช่นการครองสมณเพศ (ซึ่งไม่ปฏิบัติกันในหมู่ชาวยิว) 

ด้วยบริบทที่ชาวเบตาอิสราเอลใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวตัดขาดจากโลกภายนอกนานหลายร้อยปี มันจึงยากจะบอกว่า พวกเขานิยามความเชื่อที่แท้จริงของเขาว่า เป็นคริสต์หรือยิว เพราะกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยเป็นหลักคือคู่ขัดแย้งซึ่งเป็นชาวเอธิโอเปียส่วนใหญ่ที่นับถือคริสต์ และทั้งคู่ต่างก็เคลมว่าตนเป็นชนที่ถูกเลือกโดยพระเจ้าที่แท้จริงทั้งคู่

ทฤษฎีรากเหง้าของชาวเบตาอิสราเอล จึงมีทั้งความเชื่อที่ว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากชาวยิวโบราณจริง ๆ หรือจะเป็นชนพื้นเมืองที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมยิวโบราณผ่านการติดต่อค้าขายหรือแต่งงาน หรือจะเป็นชนพื้นเมืองที่ถือคริสต์มาแต่เดิม แต่ถูกกีดกัน ขับออกจากศาสนาด้วยความขัดแย้งทางเชื้อชาติ หรือการตีความทางศาสนา แล้วคนนอกทั้งชาวยิว และชาวตะวันตก (ที่เข้ามาในยุคแห่งการสำรวจและล่าอาณานิคม) บังเอิญมาพบเข้าในภายหลังแล้วเข้าใจผิดคิดไปว่าพวกเขาเป็นยิว เพราะมีธรรมเนียมที่ต่างจากชาวคริสต์ทั่วไปในเอธิโอเปีย 

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อพวกเขาได้รู้จักยิวในโลกภายนอก อัตลักษณ์ยิวกระแสหลักจึงได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในหมู่เบตาอิสราเอล และในปัจจุบันชาวเบตาอิสราเอลได้รับการยอมรับว่าเป็นยิวที่แท้จริงอย่างกว้างขวางและนั่นทำให้พวกเขาสามารถอพยพหนีความยากลำบาก หรือเพื่อเดินทางกลับไปยังดินแดนแห่งพันธสัญญาตามความเชื่อไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอิสราเอลได้

ปัจจุบันจำนวนประชากรส่วนใหญ่ของเบตาอิสราเอล หรือชาวยิวแห่งเอธิโอเปียจึงอยู่ที่อิสราเอลมากกว่าที่เอธิโอเปีย หลังกลุ่มแรบไบที่มีอิทธิพลทางความเชื่อในหมู่ชาวยิวยอมรับว่าพวกเขาคือชาวยิวจริง ๆ และรัฐบาลอิสราเอลก็เห็นว่ากฎแห่งการกลับถิ่นฐานของชาวอิสราเอลนั้น ชาวเบตาอิสราเอลก็มีสิทธิด้วย การอพยพครั้งใหญ่จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษ 1970s (แต่ก็แน่นอนว่า ยังมีชาวยิวบางส่วนที่ไม่ยอมรับว่าเบตาอิสราเอลเป็นยิวจริง ๆ และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติระหว่างชาวยิวด้วยกันเองในอิสราเอลก็ยังคงมีอยู่) 


เรื่อง: อดิเทพ พันธ์ทอง

ภาพ: ชาวยิวเชื้อสายเอธิโอเปีย ขณะเดินทางอพยพมาถึงอิสราเอลในปี 1985