ดินไร้แดน (Soil without Land) สำรวจการต่อสู้ของไทใหญ่ผ่านมุมมองปัจเจกชน

ดินไร้แดน (Soil without Land) สำรวจการต่อสู้ของไทใหญ่ผ่านมุมมองปัจเจกชน
[caption id="attachment_11783" align="alignnone" width="1500"] ดินไร้แดน (Soil without Land) สำรวจการต่อสู้ของไทใหญ่ผ่านมุมมองปัจเจกชน ดินไร้แดน (Soil without Land)[/caption]   ไทใหญ่ 101   ดินไร้แดน (Soil without Land) (2562) เป็นหนังสารคดีสัญชาติไทยซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชาวไทใหญ่ หนังเข้าฉายแบบจำกัดโรงตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2019 ซึ่งมีผู้ชมไม่มากนัก และถูกถอดจากโรงฉายที่กรุงเทพฯ อย่างรวดเร็ว ผิดกับที่เชียงใหม่ ซึ่งรอบที่ผมดูมีผู้ชมเกือบเต็มโรงโดยส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ทำให้หนังอยู่ในโปรแกรมนานกว่าที่อื่น  ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะหนังที่ดูเหมือนมีเนื้อหาและประเด็นที่ ‘เฉพาะทาง’ เรื่องนี้ ที่จริงแล้วมีความเป็น ‘สากล’ มากกว่าที่คิด และยังเข้ากับประเด็นร้อนในสังคมโลกตอนนี้อย่างการประท้วงของชาวฮ่องกงที่มีต่อรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อต่อต้านการลิดรอนเสรีภาพและเรียกร้องสิทธิในการปกครองตัวเอง  ดินไร้แดนเป็นผลงานกำกับของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ซึ่งในเครดิตใช้คำว่า “บันทึกโดย” (Documented by) แทนคำว่า “กำกับโดย” (Directed by) เขาเป็นผู้กำกับสารคดีที่มักพาผู้ชมไปสำรวจชีวิตของคนชายขอบในพื้นที่ห่างไกลแถวชายแดนซึ่งได้รับความอยุติธรรม เช่น ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) (2556) ที่สำรวจชาวบ้านบริเวณเขาพระวิหารในช่วงเวลาที่สถานที่ดังกล่าวได้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมือง, สายน้ำติดเชื้อ (By the River) (2556) ที่สำรวจชาวบ้านกะเหรี่ยงในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี ซึ่งแหล่งน้ำในหมู่บ้านปนเปื้อนตะกั่วมีพิษจากบริษัททำเหมืองแร่ ดินไร้แดนพาผู้ชมไปสำรวจคนไทใหญ่ซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐฉาน (Shan State) ที่อยู่ทางตะวันตกของพม่าและอยู่ติดภาคเหนือของไทย รัฐฉานเป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุดคือไทใหญ่ พวกเขาเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรม, ประเพณี, ภาษา, ประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง ในปี 1958 พม่าเคยลงนามในสนธิสัญญาปางโหลงเพื่อให้ชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานของพม่ามีอิสระในการปกครองตนเอง แต่พม่ากลับไม่ทำตามข้อตกลงและส่งกองทัพเข้ายึดครองรัฐฉานโดยมีชนกลุ่มน้อยถูกฆ่า, ทำร้ายร่างกาย, ข่มขืนเป็นจำนวนมาก ทำให้ไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ต้องจับอาวุธเพื่อป้องกันตัวเอง รวมถึงต่อสู้เพื่อเอกราชและแผ่นดินที่พวกเขาอยู่ ชื่อหนังอย่างดินไร้แดน หรือภาษาอังกฤษ Soil without Land สามารถบอกถึงคอนเซปต์ของหนังได้อย่างคร่าว ๆ กล่าวคือดิน (Soil) คือสสารที่จับต้องได้แบบรูปธรรม ส่วนแดน (Land) คือสิ่งสมมติในเชิงนามธรรมซึ่งมาจากแนวคิด ‘รัฐชาติ’ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19  รัฐชาติคือการรวบรวมกลุ่มคนที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องเชื้อชาติ, ภาษา, วัฒนธรรม และศาสนา มาอยู่ในขอบเขตบริเวณเดียวกัน ซึ่งใช่ว่าทุกความแตกต่างจะได้รับการยอมรับ บางแผ่นดินถึงแม้จะถูกครอบครองโดยกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมประเพณีของตัวเองมานาน แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้กลายเป็นชาติหรือได้รับสิทธิในการปกครองตัวเอง แถมบางทียังถูกเจ้าของประเทศกดขี่ เห็นได้จากไทใหญ่ที่ถูกกดขี่จากพม่ามานาน แม้หนังจะเอื้อให้ใส่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์หรือสังคมการเมืองลงไปได้เต็มที่ แต่สไตล์หนังของนนทวัฒน์ไม่ได้เน้นที่การเจาะลึกข้อมูลแบบเข้มข้นหรือสัมภาษณ์ subject มากมายหลากหลาย (หนังของเขามีเพียง #BKKY (2559) เรื่องเดียวที่ใช้สไตล์สัมภาษณ์แบบ talking head) แต่เป็นการสำรวจประเด็นเรื่องราวผ่านมุมมอง ความคิด และความรู้สึกของ subject หลัก ๆ เพียงหนึ่งคน รวมถึงสังเกตบรรยากาศของผู้คนและสถานที่นั้น ๆ แบบห่าง ๆ ไม่คลุกวงใน  มีหลายช่วงที่หนังให้ความรู้สึกล่องลอยเหมือนความฝัน มีหลายจังหวะที่หนังให้ความรู้สึกเหมือนบทกวี ส่งผลให้หนังมีสัดส่วนของการเป็นสารคดีทดลองมากกว่าสารคดีเจาะลึกข้อมูล ซึ่งชวนให้คิดถึงภาพยนตร์เรื่องกระเบนราหู (Manta Ray) (2562) ที่เพิ่งเข้าฉายในโรงก่อนหน้านี้ไม่นาน หนังทั้งคู่ล้วนพูดถึงคนไร้รัฐและผู้ลี้ภัยโดยถ่ายทอดแบบนามธรรมและมีความเป็นบทกวี - ซึ่งน่าสังเกตว่าหนังไทยที่พูดถึงปัญหาสังคมมักจะออกมาเป็นรูปแบบนี้มากกว่าหนังที่ลุยชัด ๆ ตรง ๆ แบบหนังของผู้กำกับ ไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) นั่นทำให้ผู้ชมที่คาดหวังว่าจะได้ดูหนังที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาแบบตรง ๆ, อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือการเมืองแบบเข้มข้น, สัมภาษณ์เจาะลึกทุกประเด็น, ตามไปถ่ายฉากสู้รบจนลูกกระสุนเฉี่ยวกล้อง ฯลฯ อาจรู้สึกผิดหวัง แต่ถ้าใครที่เป็นแฟนหนัง slow cinema ประเภทซึมซับบรรยากาศน่าจะรู้สึกพอใจ จุดเด่นที่ปฏิเสธไม่ได้ของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ความทุ่มเทของผู้กำกับในการพาผู้ชมไปสำรวจดินแดน ซึ่งไม่ค่อยมีคนนอกได้ไปเยือนและแทบไม่เคยถูกถ่ายทอดลงในหนังมาก่อน ด้วยความที่มันอยู่ห่างไกล, เดินทางลำบาก, เป็นพื้นที่ขัดแย้งซึ่งมีการสู้รบ, มีความ sensitive เพราะเป็นพื้นที่กองทัพซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ทำให้ยากแก่การขออนุญาตถ่ายทำ จากบทสัมภาษณ์ของนนทวัฒน์ในสื่อต่าง ๆ ทำให้ทราบว่าเขาใช้เวลาเข้าออกพื้นที่เพื่อถ่ายทำนานถึง 3 ปี โดยได้สร้างความสนิทสนมเพื่อให้เกิดความเชื่อใจกับทั้งทหารชั้นผู้น้อยและผู้ใหญ่ในกองทัพจนสามารถเข้าไปถ่ายทำได้ แม้หลายแห่งจะเป็นสถานที่ส่วนตัว  นอกจากการพาไปสังเกตการณ์ หนังยังมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับไทใหญ่แบบคร่าว ๆ ผ่านเสียงบรรยายของ subject ในหนัง ในแบบที่เรียกได้ว่าถือเป็นหลักสูตร “ไทใหญ่ 101” สำหรับผู้อยากรู้เบื้องต้น ซึ่งเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้ที่สนใจอยากรู้เพิ่มเติมไปค้นคว้าข้อมูลภายหลัง (ถือเป็นเรื่องย้อนแย้งเพราะถึงแม้จะเป็นปัญหาในพื้นที่ซึ่งอยู่ติดไทย แต่คนไทยกลับไม่ค่อยรู้ถึงข้อมูลสักเท่าไร)   [caption id="attachment_11784" align="alignnone" width="1140"] ดินไร้แดน (Soil without Land) สำรวจการต่อสู้ของไทใหญ่ผ่านมุมมองปัจเจกชน ดินไร้แดน (Soil without Land)[/caption]   ตามติดชีวิตวัยรุ่นทหาร - จาก ‘ปัจเจกชน’ สู่ ‘ส่วนรวม’   เอกลักษณ์อีกอย่างของหนังนนทวัฒน์คือการที่หนังเริ่มต้นจากการถ่ายทอดชีวิตและมุมมองในแบบ ‘ปัจเจกชน’ ของ subject ซึ่งเป็นคนธรรมดาหนึ่งคน ก่อนที่จะตามติดเขาไปสำรวจโลกและสถานการณ์ที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าตัวเขาเอง  subject หลักของหนังได้แก่ จายแสงล่อด วัยรุ่นไทใหญ่ซึ่งหลบหนีเข้าเมืองมาทำงานอยู่ในบาร์คาราโอเกะที่เชียงใหม่ หนังในช่วงแรกได้พาไปสำรวจชีวิตประจำวันของเขาอย่างตอนที่นอนหลับในห้อง, กินข้าว, ทำงานในบาร์, กินเบียร์พูดคุยกับเพื่อน ๆ ฯลฯ โดยมีบรรยายเป็นเสียงสัมภาษณ์ที่ผู้กำกับชวนเขาคุยเรื่องส่วนตัว ทั้งเรื่องชีวิต, ประวัติความเป็นมา, ความทรงจำ, ความฝันในอนาคต ฯลฯ จากในเมือง หนังได้ตัดภาพไปสถานที่ซึ่งแตกต่างจากเดิมอย่างป่าในรัฐฉาน เมื่อเขาถูกเกณฑ์ทหารตามกฎที่ว่าชายไทใหญ่ทุกคนจะต้องเป็นทหารในกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่อย่างน้อย 5 ปี (หรือจะเลือกเป็นทหารยาวถึง 25 ปีก็ได้) หนังพาผู้ชมไปเห็นภาพการฝึกทหารและชีวิตความเป็นอยู่ในค่ายทหารกลางป่าของจายแสงล่อดและทหารไทใหญ่คนอื่น ๆ, พิธีสวนสนามและพิธีมอบเกียรติบัตร, งานวันชาติของชาวไทใหญ่ ฯลฯ หนังได้ติดตามเขาตั้งแต่วันที่เริ่มฝึกทหารไปจนถึงวันที่การฝึกเสร็จสิ้น และเขาต้องออกไปประจำการที่ป้อมค่ายต่าง ๆ จากเสียงบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวของ ‘ปัจเจกชน’ ในช่วงต้น เมื่อเข้าสู่ช่วงที่เขาเป็นทหาร เสียงที่ได้ยินในหนัง ทั้งเสียงของจายแสงล่อดและเสียงพูดของนายทหารคนอื่น ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นเรื่องของสังคมการเมืองของไทใหญ่ ทั้งเรื่องอุดมการณ์, ประวัติศาสตร์, ความเจ็บปวดจากการถูกกดขี่, ความจำเป็นในการจับอาวุธต่อสู้ ฯลฯ  ถือเป็นการแสดงว่าหนังได้เปลี่ยนจากเรื่องราวของ ‘ปัจเจกชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง’ ในช่วงแรก กลายเป็น ‘เรื่องของการเมืองซึ่งทุกคนถูกลดทอนให้เป็นหนึ่งหน่วยที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนอุดมการณ์เหล่านั้น’ เช่นเดียวกับจายแสงล่อดที่เปลี่ยนจากวัยรุ่นทั่วไปกลายเป็นทหาร แต่ถึงกระนั้นในช่วงที่เขาเป็นทหาร ก็ยังมีช่องว่างให้ความเป็นปัจเจกชนได้ปลดปล่อย เช่น การที่เขาเต้นรำกับเพื่อน ๆ ในคอนเสิร์ตไทใหญ่, ดูหนัง, ฟังเพลง, กระโดดเล่นน้ำ, สังสรรค์พูดคุย ฯลฯ รวมถึงการที่เขาใช้โทรศัพท์บันทึกภาพถ่ายของแม่ที่ตายไปแล้ว ซึ่งซีนเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าภายใต้ความเป็น ‘หน่วยการเมือง’ เขาก็ยังคงเป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีความทรงจำอันเจ็บปวดและต้องการแสวงหาความสุขในชีวิต จะเห็นได้ว่าหนังเรื่องนี้สามารถจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ตามติดชีวิตวัยรุ่น’ แบบเดียวกับหนังอย่าง #BKKY ของนนทวัฒน์ รวมถึงหนังอย่าง Final Score ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2550), Where We Belong ที่ตรงนั้นมีฉันหรือเปล่า (2562), หน่าฮ่าน (2562)  ฯลฯ เพียงแต่จายแสงล่อดดูจะมีชีวิตที่ยากลำบากและไร้ความมั่นคงแน่นอนยิ่งกว่าตัวเอกในหนังเหล่านั้น  ด้วยความที่เป็นคนไร้รัฐ ทำให้เขาไม่มีตัวตนในประชาคมโลก, ไม่ได้รับสวัสดิการแบบที่คนในรัฐอื่น ๆ พึงได้รับ, หางานที่มั่นคงรายได้ดีทำได้ยาก กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้มีไทใหญ่จำนวนมากข้ามฝั่งไปอยู่ไทยเพื่อไปเรียน, ทำงาน, รักษาพยาบาล รวมถึงคลอดลูกที่นั่น เพราะหวังว่าเด็กที่เกิดมาจะมีโอกาสได้สัญชาติไทย  เขาไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก ถ้าไม่ได้เป็นทหารก็ต้องเป็นผู้ลี้ภัย - ผู้ลักลอบหนีเข้าประเทศอื่น ๆ แบบผิดกฎหมาย เขาไม่อาจไปตามหาความฝัน ค้นหาตัวเอง หรือใช้ชีวิตแบบซ่าให้สุดขั้วในแบบที่โฆษณาขายสินค้าวัยรุ่นมักพร่ำบอก ชะตากรรมของเขาถูกกำหนดโดยคนรุ่นเก่า และมีแนวโน้มว่าเขาจะต้องส่งภารกิจไปให้คนรุ่นหลังต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนภารกิจการกอบกู้เอกราชของเขาก็ยากที่จะสำเร็จลุล่วง ส่วนหน้าที่ในแต่ละวันของเขาอย่างการเฝ้าป้อมก็ดูว่างเปล่าราวกับบทละคร Waiting for Godot - ซึ่งความว่างเปล่าและความหมดหวังในการต่อสู้กับระบบที่ใหญ่กว่า ดูจะเป็นความรู้สึกที่วัยรุ่นไทยที่อยู่ในช่วงการเมืองไร้ทางออกอย่างในตอนนี้คุ้นเคยดี   [caption id="attachment_11782" align="alignnone" width="960"] ดินไร้แดน (Soil without Land) สำรวจการต่อสู้ของไทใหญ่ผ่านมุมมองปัจเจกชน ดินไร้แดน (Soil without Land)[/caption]   แสงไฟในความมืดมิด   แม้ที่ผ่านมาจะมีการทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกองทัพพม่ากับชนกลุ่มน้อย อีกทั้งพม่าก็เพิ่งมีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่สถานการณ์ต่าง ๆ กลับไม่มีวี่แววจะดีขึ้น เพราะรัฐบาลของอองซานซูจียังคงถูกครอบงำโดยกองทัพ (แถมยังมีข้ออ้างในการทำอะไรได้มากขึ้นเพราะถูกฟอกตัวว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว - ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากไทย) ส่วนชนกลุ่มน้อยก็ยังคงถูกกดขี่และโดนโจมตีเรื่อย ๆ ซึ่งหนทางในการต่อสู้ของพวกเขาก็ไม่เห็นทางชนะง่าย ๆ เพราะกองทัพอีกฝ่ายล้วนเพียบพร้อมด้วยกองกำลังและอาวุธเหนือกว่าไทใหญ่อย่างมาก  แต่เราก็สามารถตีความได้ว่าหนังยังคงมองโลกในแง่ดีจากในช่วงท้ายเรื่อง เพราะท่ามกลางความมืดยังคงมีแสงสว่างจากไฟฉายของจายแสงล่อดส่องมาที่ผู้ชม ส่งผลให้ค่ำคืนนั้นไม่มืดมิดเกินไปนัก