อโนชา ปันจ้อย หญิงไทยถูกลักพาตัวไปเกาหลีเหนือ

อโนชา ปันจ้อย หญิงไทยถูกลักพาตัวไปเกาหลีเหนือ
ค่ำคืนหนึ่งในเดือนมกราคม ปี 1965 ชาร์ลส์ เจนกินส์ (Charles Jenkins) จ่าทหารชาวสหรัฐฯ ซึ่งประจำการอยู่ที่ชายแดนเขตปลอดทหารฝั่งเกาหลีใต้ ได้ยกสุราเข้าปากไปหลายยกเพื่อย้อมใจ หลังทราบข่าวร้ายว่าเขาเองตกเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ทหารที่จะถูกส่งไปรบกับเวียดกง  หลังการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามเหนือทวีความรุนแรงจน ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นตัดสินใจเพิ่มกำลังทหารและส่งหน่วยรบภาคพื้นดินเข้าประจำการเป็นครั้งแรก ส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะเข้าสู่ความขัดแย้งครั้งนี้โดยตรง ภาวะดังกล่าวทำให้สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี (ที่สงบลงพักใหญ่แล้ว) ดูดีกว่ากันเยอะ เจนกินส์เมื่อเมามายได้ที่จึงคิดไปตายเอาดาบหน้า ตัดสินใจหนีทัพวิ่งข้ามเขตปลอดทหารไปยังฝั่งเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้เขาสูญเสียอิสรภาพนานเกือบ 40 ปี  ขณะเดียวกันเขาก็ได้รับรู้เรื่องราวที่คนภายนอกยากจะเข้าถึง หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวการ "ลักพาตัว" ชาวต่างชาติของเกาหลีเหนือ และเมื่อเขาได้รับอิสรภาพในปี 2004 ก็ทำให้ญาติ ๆ ของ อโนชา ปันจ้อย สาวไทยที่ไปทำงานต่างประเทศก่อนขาดการติดต่อไปได้ทราบว่า เธอถูกลักพาตัวไปยังเกาหลีเหนือ "เราเคยคิดว่าเธอคงประสบอุบัติเหตุหรือไม่ก็ถูกฆ่าแล้วหาศพไม่เจอ" บรรจง ปันจ้อย หลานชายของอโนชากล่าว (Bangkok Post ความคิดของญาติ ๆ เปลี่ยนไป เมื่อพวกเขาได้เห็นรายงานข่าวชิ้นหนึ่งทางโทรทัศน์เมื่อปี 2005 เป็นข่าวของ ชาร์ลส์ เจนกินส์ ที่ถือภาพถ่ายรูปหนึ่ง ซึ่งในภาพนอกจากเขากับภรรยาชาวญี่ปุ่นที่ถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวไปแล้ว ยังปรากฏภาพของหญิงสาวอีกราย ซึ่งญาติ ๆ เห็นแล้วก็รู้ทันทีว่านั่นคืออโนชา และทำให้พวกเขากลับมามีความหวังที่จะได้พบอโนชาอีกครั้ง (แม้ว่าจนถึงปัจจุบันจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม) จากข้อมูลของ The Diplomat อโนชาเกิดเมื่อปี 1955 ภูมิลำเนาของครอบครัวอยู่ที่สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เธอไปทำงานร้านเสริมสวยและร้านนวดในกรุงเทพฯ หาเงินส่งมาให้ที่บ้านและมักเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านทุก ๆ สามถึงสี่เดือน  จนวันหนึ่งอโนชาเลือกที่จะเดินทางไปทำงานที่มาเก๊า ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้เธอหาเงินได้มากขึ้น และเป็นการเปิดโลกสู่ประสบการณ์ใหม่ ๆ แต่หลังเดินทางไปถึงอดีตอาณานิคมโปรตุเกสในปี 1978 ได้เพียงไม่กี่เดือน เธอก็ขาดการติดต่อกับครอบครัว เรื่องราวของเธอในเกาหลีเหนือในปัจจุบันจึงมาจากแหล่งเดียวนั่นก็คือ เจนกินส์ที่อ้างว่า อโนชาคือเพื่อนบ้านของเขาในเปียงยาง และเธอก็เล่าให้เขาฟังถึงเหตุการณ์ลักพาตัวที่เกิดขึ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม 1978 ว่า ตอนที่เธอถูกบังคับให้ขึ้นเรือของเกาหลีเหนือนั้น เธอออกมากับลูกค้าซึ่งอ้างว่าเป็นไกด์นำเที่ยวทางเรือ โดยถูกจับมาสอนภาษาและวัฒนธรรมให้กับสายลับเกาหลีเหนือ (เหมือนกับชาวต่างชาติอีกหลายราย) มาอยู่เกาหลีเหนือได้ไม่นาน อโนชาก็แต่งงานกับ ลาร์รี อัลเลน แอ็บเชียร์ (Larry Allen Abshier) ชาวอเมริกันแปรพักตร์อีกราย หลังแอ็บเชียร์เสียชีวิตในปี 1983 เธอแต่งงานใหม่อีกครั้งกับนักธุรกิจจากเยอรมนีตะวันออกที่ทำงานให้กับเปียงยาง ครั้งหนึ่งเธอเคยบอกกับเจนกินส์ว่า เธอต้องการเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อกลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง หลังทราบเบาะแสตั้งแต่ปี 2005 ว่าอโนชาน่าจะยังมีชีวิตอยู่ ญาติ ๆ ก็รีบร้องขอให้ทางรัฐบาลไทยเข้ามาช่วยเหลือ  "ผมมั่นใจว่าน้องสาวยังมีชีวิตอยู่ และหวังว่าเธอจะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย" สุคำ ปันจ้อย พี่ชายของอโนชากล่าวกับนักข่าวในปี 2005 (The Japan Times) "ถ้าเธอกลับมาไม่ได้ อย่างน้อยเราก็ต้องการรู้ว่าเธอยังปลอดภัยและสบายดี" สุคำกล่าวเสริม (เขาเสียชีวิตในปี 2015 ด้วยโรคมะเร็ง ก่อนหน้าที่จะได้เห็นอิสรภาพของน้องสาว) แต่ความเคลื่อนไหวจากทางภาครัฐก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน และไม่ค่อยมีการเปิดเผยความคืบหน้ามากนัก ต่างจากองค์กรต่าง ๆ และสื่อของฝั่งญี่ปุ่นที่ยังคงติดตามเรื่องราวของอโนชาอย่างสม่ำเสมอ เพราะถือว่า ครอบครัวของอโนชาต้องเผชิญกับความทุกข์ไม่ต่างจากครอบครัวของเหยื่อชาวญี่ปุ่น รายงานในปี 2016 ของ Bangkok Post ระบุว่า ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ใช้เครื่องมือทางการทูตอย่างเต็มที่แล้วในการติดตามความคืบหน้าในกรณีอโนชา และหลังรวบรวมหลักฐานจนเป็นที่น่าพอใจแล้วก็ได้ยื่นเรื่องสอบถามไปยังเกาหลีเหนือในปี 2014 และทางเกาหลีเหนือก็บอกว่าจะรับเรื่องนี้ไปสอบสวนต่อ  อย่างไรก็ดี แม้เกาหลีเหนือจะเคยยอมรับว่าได้ลักพาตัวชาวญี่ปุ่นไป 13 คนในช่วงทศวรรษ 1970s และ 1980s แต่พวกเขาก็ไม่ยอมรับว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของอโนชา (รวมถึงชาวญี่ปุ่นอีกหลายร้อยคน ซึ่งญาติ ๆ และหน่วยงานนอกภาครัฐเชื่อว่าเปียงยางน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง)  แต่ทั้งนี้ การยอมรับของฝ่ายเกาหลีเหนือก็เกิดขึ้นจากการผลักดันอย่างเต็มที่ของทางญี่ปุ่นที่ต้องการแก้ไขปัญหานี้ โดยในปี 2002 จุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ในขณะนั้น) ได้เดินทางไปยังกรุงเปียงยางเพื่อทำการเจรจากับ คิม จอง-อิล ผู้นำเกาหลีเหนือ ด้วยตัวเอง ก่อนที่เกาหลีเหนือจะขอโทษและตกลงปล่อยตัวชาวญี่ปุ่น 5 คน รวมถึง ฮิโตมิ โซกะ (Hitomi Soga) ภรรยาของเจนกินส์ เป็นผลต่อเนื่องให้เจนกินส์เองได้รับอิสรภาพในกาลต่อมา และทำให้เรื่องราวของอโนชาเป็นที่รับรู้สู่โลกภายนอก (Kyodo News) "มีแต่รัฐบาลไทยที่อยู่ในฐานะที่จะไปเจรจากับเกาหลีเหนือได้ และรัฐบาลไทยก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของพลเมือง ถ้ารัฐบาลไทยไม่พูดอะไรมันก็เท่ากับเป็นการละทิ้งชีวิตของพลเมืองของตนเอง" โทโมฮารุ เอบีฮารา ประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) ซึ่งได้เข้ามาให้การสนับสนุนการต่อสู้ของครอบครัวของอโนชา กล่าวถึงข้อจำกัดในการทำหน้าที่ของตนและหน้าที่ของรัฐบาลไทยกับ Thaipbs World เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2019 ก่อนการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทยและเกาหลีเหนือมีวาระเจรจากันนอกรอบ