บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ การช่วยเหลือคนอื่นคือความสุขแบบธรรมชาติ

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ การช่วยเหลือคนอื่นคือความสุขแบบธรรมชาติ
ถ้าให้นึกถึงดารานักแสดงที่แบ่งเวลาทำงานการกุศลช่วยเหลือสังคม แน่นอนว่าชื่อ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ จะขึ้นมาเป็นอันดับแรกของใคร ๆ เสมอ เพราะเขาเป็นดาราที่มีบทบาทการออกช่วยเหลือคนในฐานะอาสาสมัครของมูลนิธิร่วมกตัญญู และทำงานด้านสาธารณกุศลจนได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคมมานานมากกว่า 30 ปี ไม่เพียงอยู่ในวงการในฐานะนักแสดง เขายังมีอีกหนึ่งบทบาทคือการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ปลุกปั้นภาพยนตร์เด็กหลาย ๆ เรื่องให้เฉิดฉายในโรงภาพยนตร์ เช่น ช้างเพื่อนแก้ว (2546), ปัญญา เรณู (2554),กรรไกร ไข่ ผ้าไหม (2557) และล่าสุด ฮักบี้ บ้านบาก (2562) หนังที่สร้างจากเรื่องจริงของทีมรักบี้เด็กน้อยจากต่างจังหวัด ที่มุมานะฟันฝ่ากระทั่งเป็นรองแชมป์ระดับประเทศ นำมาซึ่งภาพยนตร์ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน The People จึงชวนเขาคุยถึงชีวิตนักแสดง การช่วยเหลือสังคม และการกำกับภาพยนตร์เด็ก ซึ่งทั้งหมดคือความสุขของชายที่ชื่อ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ [caption id="attachment_11856" align="alignnone" width="1200"] บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ การช่วยเหลือคนอื่นคือความสุขแบบธรรมชาติ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์[/caption]   The People: เคยได้ยินมาว่า ฝาแฝดมีอยู่ 2 ประเภทคือ ถ้าไม่เหมือนกันหมดเลย ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฝาแฝดบรรลือฤทธิ์เป็นแบบไหน บิณฑ์: ผมว่า 50 : 50 นะ เหมือนกัน 50ต่างกัน 50  ความเหมือนกัน เช่น มีความคิดคล้าย ๆ กัน ชอบช่วยเหลือคน ชอบลักษณะผู้หญิงคล้าย ๆ กัน เรียนหนังสือไม่ฉลาดเหมือนกัน (หัวเราะ) ส่วนความต่างคือรสนิยม เพราะรสนิยมของเอกพันธ์จะมีลักษณะเป็นคนเมือง แต่ผมมีลักษณะเป็นคนต่างจังหวัด มันจะแตกต่างกัน เขาจะค่อนข้างสำอาง เป็นระเบียบ สะอาด พูดมีหางเสียง ไพเราะมาก ตรงข้ามกับผมที่อะไรก็ได้ ออกจากบ้านไม่ต้องใส่เสื้อก็ได้ เอาเสื้อพาดบ่าขี่จักรยานไปไหนมาไหน แต่เขาไม่ได้ ต้องหล่อ สมมติตอนเย็นเรากลับมาจากโรงเรียนพร้อมกัน ผมวิ่งขึ้นบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้าใส่กางเกงขาสั้นตัวเดียว แล้ววิ่งไปเอาแหไปจับปลากลางทุ่งกลางนา แต่เขาต้องใส่กางเกงขาสั้น ใส่เสื้อเชิ้ต ถือไม้เทนนิสไปตีเทนนิส เราต่างกันตรงนี้    The People: รสนิยมที่เหมือนกันที่ว่า รวมถึงผู้หญิงด้วย? บิณฑ์: ใช่ เราชอบผู้หญิงที่คล้าย ๆ กัน บางทีเขาชอบผู้หญิงคนนี้ จีบติด ไทด์ (เอกพันธ์) ก็รู้ว่าเป็นแฟนเรา แล้วเขาก็ลองมาจีบ ผู้หญิงก็ไปกับเขาเลย ผู้หญิงคงเห็นว่าทำไมสองคนนี้มันต่าง เพราะเวลาคุยกับไทด์มันอ่อนโยน โรแมนติกกว่าเรา บางทีเราพาสาวไปที่บ้าน สาวเจอไทด์ที่บ้าน อีกสักอาทิตย์หนึ่งเท่านั้นก็ไปดูหนังกับไทด์แล้ว ช่วยไม่ได้ ตัวเรามันเป็นอย่างนี้ จะให้เราต้องไปเหมือนไทด์ ต้องเรียบร้อย ต้องดูสง่า มันไม่ใช่ผม ใครที่จะรักผมต้องชอบตัวของผม ไม่ใช่ให้ผมมาเปลี่ยนแปลง มันอึดอัด อย่ามารักผมแล้วต้องให้ผมเปลี่ยนแปลงอย่างที่คุณชอบ ผมไม่ทำ   The People: คุณเข้าวงการบันเทิงได้อย่างไร บิณฑ์: การเข้าวงการจริง ๆ ไม่มีความคิดในหัวสมองแม้แต่นิดเดียว ด้วยรูปร่างหน้าตาตอนนั้น ถ้าคุณเห็นหน้าผมตอนเด็ก ๆ คุณจะคิดว่ามันเข้ามาได้ยังไง จับฉลากมาหรือเปล่า แต่ความที่บ้านของผมติดกับโรงหนังเลย เดินประมาณไม่ถึง 200 เมตร แล้วเวลาเรานอนก็จะได้ยินเสียงพระเอกต่อยกับผู้ร้าย มันเร้าอยู่ในหัวใจตลอดเวลา มันเป็นความผูกพันมาตั้งแต่สมัยเด็ก แต่ก็ไม่คิดว่าโตขึ้นอยากจะเป็นดารา  ตอนเข้ามาเรียนหนังสือต่อในกรุงเทพฯ พี่ชายคนโตได้สมัครเป็นลูกจ้างของบริษัทสหมงคลฟิล์ม เขาก็คุยว่ามีน้องฝาแฝดกับทีมงาน เขาก็ให้เอามาเข้าฉากเป็นตัวประกอบซึ่งเป็นอยู่หลายเรื่อง จนผมเริ่มเรียน รด. (นักศึกษาวิชาทหาร) ต้องตัดผมสั้นเกรียน แต่เอกพันธ์ไม่ได้เรียน เขาจึงผมยาว หน้าตาดีกว่าเรามาก เขาก็เริ่มแคสต์โฆษณา ถ่ายนิตยสาร มีชื่อเสียงโด่งดังกว่าเรา พอดีจังหวะที่พี่ คมน์ อรรฆเดช ผู้กำกับหนังบู๊กำลังทำหนังเรื่อง ข้ามากับพระ (2527) สรพงษ์ ชาตรี กับ สมบัติ เมทะนี เล่นด้วยกัน เขาต้องการดาวรุ่งดวงใหม่ ตอนนั้นมีดาวรุ่งส่งไปให้พี่คมน์ ตอนนี้กลายเป็นพระเอกดังหมดเลย เขาก็เลือกพี่ไทด์ เพราะพี่ไทด์หน้าตาดี แต่พี่คมน์บอกว่าต้องตื่นมาตีห้า ต้องวิ่ง ต้องออกกำลังกาย ต่อยกระสอบ ยืนตากแดด ซ้อมคิวบู๊ ขี่ม้า... ไทด์บอกไม่เอา เพราะเขาสำอางไง สุดท้ายพี่คมน์ก็มาเลือกเรา  พอโปรโมทหนังเขาขอว่าต้องแนะนำพระเอกดาวรุ่งดวงใหม่ จะใช้ชื่อ“ท็อป” ตามบัตรประชาชนมันฝรั่งไป ต้องเปลี่ยนชื่อให้เป็นไทย ๆ ดูอย่าง สมบัติ เมทะนี, สรพงศ์ ชาตรี, ไชยา สุริยัน, กรุง ศรีวิไล มีไหมพระเอกคนไหนที่เป็นชื่อฝรั่ง ไม่มี พระเอกในหนังเรื่อง ข้ามากับพระ ชื่อว่า“บิณฑ์ บารมี” แต่ชื่อเราจริง ๆ ชื่อ“ท็อป บันลือฤทธิ์” งั้นก็เอาชื่อพระเอกในหนังมาเลย เป็น“บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” มันคล้องกัน แถม“บิณฑ์” นี้มันแปลว่า ก้อนข้าวบิณฑบาต ก็เลยใช้ชื่อนี้มาตลอด   The People: หลังจากเข้าวงการมาสักพัก ทำไมคุณถึงออกไปทำงานการกุศลกับมูลนิธิร่วมกตัญญู  บิณฑ์: เท้าความก่อน บ้านอีกหลังหนึ่งของผมอยู่ใกล้ ๆ โรงเจ เขาจะมีการเก็บศพไร้ญาติเป็นประจำทุกปีกว่า300-400ศพ เราก็มีโอกาสได้ไปเห็นการทำงานของเขา ตอนนั้นเรายังเด็กอยู่ ก็รู้สึกว่าดีเนาะ เขาไม่รังเกียจเลย และมีอยู่หลายปีที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เขาจะแจกสมุด ดินสอ เสื้อผ้า ให้กับนักเรียนตามต่างจังหวัด เราก็ได้รับของแจกนั้นด้วย ก็นึกในใจว่า ถ้าเราโตขึ้นจะตอบแทนมูลนิธิแบบนี้บ้าง พอได้ทำงานวงการบันเทิง วันหนึ่งเรานั่งเฉย ๆ อยู่กับบ้าน ไม่มีงานถ่าย ก็คิดว่าถ้าไม่มีใครจ้างเราแล้วจะทำงานอะไร แล้ววันหนึ่งเราก็เห็นข่าวว่าตึกถล่มมีคนติดอยู่ภายใน ต้องการความช่วยเหลือมาก ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลยก็ขับรถไปที่โรงหนังเอเธนส์ ถนนพญาไท ไปถึงเขากำลังวุ่นวายตึกถล่ม เราไปถึงคนก็แน่น เจ้าหน้าที่จำหน้าเราได้ว่าเป็นบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ก็ให้เข้าไปช่วย ตอนนั้นตัวเราใหญ่ เล่นกล้าม ก็เดินไปที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ขอค้อนเหล็กมาอันหนึ่ง ทุบตั้งแต่ประมาณทุ่มหนึ่งยันเกือบเที่ยงคืน ทำอยู่ตรงนั้นจนได้ศพแรกออกมา  ตอนนั้นนักข่าวก็ไปเยอะแยะ แต่เขาไม่รู้ว่านั่นคือ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เขาก็บอก“เฮ้ย ไอ้น้อง หันมาเร็ว” เราก็จับศพโดยที่ไม่มีความกลัว เพราะเราชินกับศพมาตั้งแต่ตอนเด็ก นักข่าวก็ถ่ายรูปกันวิ้บแว้บ เรากลับบ้านไปนอนจนกระทั่งตื่นเช้ามา นักข่าวโทรมาถามว่า“เฮ้ยพี่ เมื่อวานใช่พี่รึเปล่า” ผมก็ตอบว่าใช่ ผมไปมา เขาก็ถามเหตุผลว่าไปทำไม ผมก็บอกแค่ว่า พอดีอยู่ว่าง ๆ ผมอยากช่วยคน สักพักมูลนิธิร่วมกตัญญูก็ติดต่อมาบอกว่ามาอยู่ร่วมกตัญญูไหม ผมก็เอาเลย ผมชอบ เราก็ไปเป็นเจ้าหน้าที่ของร่วมกตัญญู และใช้คำว่า“ดารา 1”ปัจจุบันทำมามากกว่า 30 ปีแล้ว ก็ยังคงทำอยู่เรื่อย ๆ เหตุการณ์ใหญ่ ๆ ในบ้านเมืองไม่ว่าจะเกิดอะไรก็แล้วแต่ ทั้งในกรุงเทพมหานคร ในต่างจังหวัด ผมอยู่ช่วยเหลือที่นั่นหมด  [caption id="attachment_11858" align="alignnone" width="1200"] บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ การช่วยเหลือคนอื่นคือความสุขแบบธรรมชาติ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์[/caption]   The People: ทำงานคลุกคลีกับศพหรือคนตาย คุณเคยเจอเรื่องเหนือธรรมชาติไหม บิณฑ์: ไม่เคยเจอเลยจริง ๆ นะ เป็นเพราะ หนึ่ง เขาคงไม่อยากมารบกวนเรา เพราะว่าทุกครั้งที่เราเข้าไปก็จะบอกเขาก่อนว่าผมมาช่วยเก็บร่างนะไม่ได้มีเจตนาร้าย ผมมาช่วยจริง ๆ นะครับ แต่ที่เจอส่วนใหญ่คือในกองถ่ายหนัง ถ่ายละครมากกว่า ซึ่งไม่เกี่ยวกับที่ผมไปเก็บศพเลย อาจเพราะเราเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคน ชอบทำบุญ เขาคงอยากมาขอส่วนบุญบ้าง เช่น มาให้เห็นเป็นตัวบ้าง เป็นวิญญาณบ้าง เป็นสิ่งที่เรารู้สึกบ้าง เคยขนาดกำลังนอน อยู่ ๆ ก็เหมือนมีคนนอนเบียด ผมก็บ้าพูดคนเดียวว่า ผมจะนอน ผมเหนื่อยมากเลย ขอนอนได้ไหม อย่านอนเบียดได้ไหม ผมขอร้อง แล้วก็ไม่มีความรู้สึกเบียดอีกเลย วันรุ่งขึ้นผมก็ปูที่นอนให้เขานอนเลย ไม่ต้องมานอนเบียดผมอีก มันเป็นความรู้สึกนั้นจริง ๆ   The People: ห้อยพระอะไร บอกได้ไหม บิณฑ์: หลวงปู่ทวดคือสุดยอดของการเดินทาง แล้วก็ห้อยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) และ ขุนแผน แค่นั้นเอง   The People: การเปิด Facebook Fanpage บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ช่วยให้คุณเข้าช่วยเหลือคนได้มากขึ้นอย่างไรบ้าง บิณฑ์: การเปิดเพจเริ่มจากการไปช่วยน้ำท่วมปี54 เราไปลุยทุกที่ก็เห็นความยากลำบากของผู้คน บางคนนอนรอความตายอยู่ที่บ้าน บางคนออกซิเจนจะหมด น้ำก็ท่วม เอารถเข้าไปไม่ได้ ต้องใช้เรือเท่านั้น แล้วญาติต้องมานั่งจับมือรอเขาตายไปต่อหน้าต่อตา เรารู้สึกว่ามันหดหู่และอนาถมาก พอน้ำลด ผมสร้างเพจเลย ใช้ชื่อ“บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ใครมีเหตุการณ์หรือรอความช่วยเหลือก็ส่งข้อความบอกผมได้ พอมีคนส่งมาเราก็เริ่มไป วันหนึ่งตื่นมาไม่ทำอะไร ดูหน้าเพจปั๊บ ไปเลย แล้วคนก็เริ่มเข้ามาให้กำลังใจ เข้ามากดไลค์ บางคนก็เข้ามาด่า มันมีหมดเลย   The People: รู้สึกอย่างไรกับภาพลักษณ์ “เทวดาเดินดิน” “ฮีโร” หรือ “นายกฯ คนจน” ที่สื่อหยิบยื่นให้ บิณฑ์: ดีใจนะที่พวกเขาคิดว่าเราสามารถปลดทุกข์เขาได้ เป็นที่พึ่งได้ ก็รู้สึกดีใจ แต่ฉายาพวกเทวดาเดินดินอะไรพวกนี้ ผมว่าไม่ใช่ ผมไม่ใช่ฮีโร สิ่งหนึ่งที่ผมทำงานกับมูลนิธิร่วมกตัญญูถือว่าเป็นหน้าที่ของผมอยู่แล้ว แล้วอะไรที่สามารถช่วยได้ ผมก็จะช่วย อะไรที่ช่วยไม่ได้ ก็พยายามหาคนอื่นที่มีกำลังมากกว่าเข้าไปช่วย เพราะฉะนั้นก็ขอบคุณทุกฉายาที่ตั้งให้ผม แม้แต่ฉายา“พระเอกเก็บศพ”หรือ“พระเอกสัปเหร่อ” ก็ด้วย ผมรู้สึกว่าเรียลดี อาจเป็นคนแรกในโลกก็ได้ เป็นพระเอกและเป็นสัปเหร่อ มันก็เหมือนเยาะเย้ยเรานะ หากินกับศพอะไรประมาณนี้ แต่เราก็ไม่สนใจคำพูดพวกนี้เลย   The People: แสดงว่าคุณเจอคำดูถูกถากถางบ่อยมาก? บิณฑ์: เจอบ่อยมาก คนธรรมดาอย่างเรา ถ้าไม่โดนด่ามันก็ไม่ใช่คน แม้แต่องค์พระปฏิมาก็ยังโดนนินทาเหมือนกัน ฉะนั้นผมรู้สึกเฉย ๆ มาก ใครจะด่าก็ด่าไปเลย ไม่เป็นไร สักวันมันจะย้อนกลับมาหาตัวเองเวลาเดือดร้อนหรืออะไร เขาอาจจะนึกถึงเรา หรือนึกถึงไอ้คนที่ไปช่วยเขา ผมว่าคนที่ชอบผมมีเป็นแสน คนเกลียดมีแค่ร้อย ผมรู้สึกว่ามันเทียบไม่ได้ แต่ถ้าคนเกลียดผมเป็นแสน คนชอบผมแค่ร้อย ผมก็คงอยู่ไม่ได้    The People: ถ้าจะแนะนำให้คนลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนอื่นบ้าง อยากจะแนะนำเขาอย่างไร บิณฑ์: ผมไม่สามารถไปบอกใครได้ครับ มันอยู่ที่จิตสำนึก มีบางคนอยากจะช่วย แต่กลัวว่าจะโดนด่าสร้างภาพ เชื่อไหมว่ามีคนที่ช่วยคนอื่นอยู่เงียบ ๆ จำนวนมากที่ไม่เปิดเผยอะไรเลย แต่ที่เราเปิดเผยเพราะเราเหมือนเป็นสะพานต่อบุญให้คนอื่นด้วย [caption id="attachment_11857" align="alignnone" width="1200"] บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ การช่วยเหลือคนอื่นคือความสุขแบบธรรมชาติ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์[/caption]   The People: คุณรับมือกับความคาดหวังจากคนอื่นที่ต้องการให้คุณช่วยเหลือคนอื่นตลอดเวลาอย่างไร  บิณฑ์: ผมไม่สามารถช่วยได้ทุกเคส บางเคสมันต้องใช้คนของรัฐ บางเคสต้องใช้คนจากองค์กรที่เข้าไปช่วยจริง ๆ ผมได้แค่ช่วยเหลือเบื้องต้น แต่แค่เบื้องต้นรับรองว่าไม่ผิดหวังกับผมแน่นอน เช่น กรณีไฟไหม้ ผมช่วยเป็นแสนเลยนะ เพราะไฟไหม้มันยิ่งกว่าโจรปล้น บางทีก็ช่วยปลูกบ้านให้เขาด้วย   The People: การช่วยเหลือคนอื่นเติมเต็มอะไรในตัวคุณ บิณฑ์: ผมได้ความสุขมาก บางเคสไม่เคยเห็นเงินหมื่นเลยด้วยซ้ำไป เขามือสั่น ทำไมต้องให้เขาเยอะขนาดนี้ บางคนร้องไห้ด้วยความตื้นตัน เรามีความสุขมากที่ได้เห็นภาพอย่างนี้ เรามีความสุขกับทุกครั้งที่เราให้ มีความสุขกับรอยยิ้มของพี่น้องเขาที่มานั่งอยู่ เขามีความสุขกัน เราก็มีความสุขกับเขาไปด้วย นี่คือสิ่งที่ผมอยากได้ การมีเงินเป็น10-20ล้าน คุณไปหาซื้อความสุขแบบธรรมชาติอย่างนี้ไม่ได้หรอก มันเป็นความสุขแบบธรรมชาติมาก    The People: จากนักแสดง คุณก้าวมาเป็นผู้กำกับได้อย่างไร บิณฑ์: เกิดจากประสบการณ์ที่เล่นหนังมามันก็หลายเรื่อง ผ่านผู้กำกับมาก็เยอะ วันหนึ่งจึงอยากเป็นผู้กำกับแบบเขาบ้าง เราไม่ได้เรียนการกำกับ ก็ครูพักลักจำตลอด และคิดว่าถ้าวันหนึ่งเราเป็นผู้กำกับ เราจะให้นักแสดงเล่นเป็นธรรมชาติที่สุด  ผมอยากทำหนังเรื่องกระสือมาก เพราะมันฝังใจมาตั้งแต่สมัยเด็ก คุณพ่อพาไปดูกระสือที่ป่า มีชาวบ้านประมาณ 10-20 คนล้อมกันอยู่ตั้งแต่สองทุ่ม ไอ้เราตอนนั้นประมาณเจ็ดขวบ เห็นแสงเหมือนแสงดาวเหนือ เป็นเขียว ๆ แดง ๆ ลอยไปมาเหมือนในหนัง เราก็กลัวมาก แล้วมันก็ขึ้นสูงแล้วก็ลง ชาวบ้านก็วิ่งตามไปจับ แต่จับไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่รู้ว่ามันคือแสงอะไร ผมจึงเชื่อว่ากระสือมีจริง เคยไปดูมาแล้ว แต่เราไม่เห็นหรอกว่ารูปร่างเป็นยังไง พอมีโอกาสได้สร้างหนังก็เลยสร้าง ตำนานกระสือ (2545) ได้ อุ้ม ลักษณา มาเป็นนางเอก และกระสือของผมไม่เหมือนคนอื่น ปกติกระสือจะถอดคอออกมา แต่กระสือในความเข้าใจของผมจะต้องดิ้นแล้วท้องแตกลากไส้ออกมา หนังก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ตอนเรียนปริญญาตรีก็มาทำหนัง ช้างเพื่อนแก้ว (2546)เพราะฝังใจกับหนังเวอร์ชันอินเดียที่ได้ดู โห ดูแล้วร้องไห้ ก็เลยขอซื้อหนังมาทำแล้วฉายในเมืองไทย ก็ประสบความสำเร็จอีก และกลับมาทำบ่อย ๆ อีกครั้งตอน ปัญญา เรณู (2554)   The People: จุดร่วมอย่างหนึ่งของหนังของคุณคือมักจะทำหนังเกี่ยวกับเด็ก ทำไมถึงชอบทำงานกับเด็ก บิณฑ์: ผมชอบหนังเด็ก เวลาดูหนังเด็กแล้วผมมีความสุข เพราะเด็กไม่มีจริตจะก้านอะไรมากมาย เป็นธรรมชาติของเขา ไม่ค่อยโอเวอร์แอคติง ทำเรื่อง ปัญญา เรณู เพราะว่าไม่เคยเห็นเด็กอีสานแสดงอะไรมาก่อน แต่พอพวกเขามาเล่นหนังกับผม ก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันธรรมชาติมาก เด็กพวกนี้มันเล่นธรรมชาติ หนังผมทุกเรื่องจึงไม่มีดาราดัง ๆ ชอบอะไรเรียล ๆ ที่ดูแล้วสบายใจ  แล้วผมอยากทำให้เด็ก ๆ ได้ก้าวต่อไปเป็นอนาคตของเขา เป็นอาชีพในวงการบันเทิงที่เขาสามารถไปเลี้ยงชีพของเขาได้    The People: ภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ฮักบี้ บ้านบาก (2562) มีแนวคิดมาจากอะไร บิณฑ์: ผมเห็นว่าเด็กพวกนี้มีความสามารถในการเล่นรักบี้ มีความสามารถในการล้มช้างได้ เข้ามาแข่งในกรุงเทพฯ แล้วชนะทีมใหญ่ ทำให้ชื่อเสียงของ บ้านบาก โด่งดัง ก่อนที่จะหดหายไปเหลือแค่เพียงเรื่องเล่าที่อันตรธานหายไป ผมรู้สึกว่ามันต้องสร้างเป็นประวัติศาสตร์ ต้องจารึกไว้ว่าโรงเรียนบ้านบากซึ่งไม่เคยเล่นรักบี้มาก่อนแล้วชนะได้ เพราะฉะนั้นผมจึงมองเห็นเด็กพวกนี้เลยว่า ถ้าเอามาเล่นหนังได้ อะไรมันจะเกิดขึ้น เพราะเด็กในหนังก็ไม่ใช่นักแสดง แต่เป็นนักรักบี้จริง ๆ ของโรงเรียนบ้านบาก ซึ่งเขาก็เล่นได้ ทำกันได้ ผมมองว่านี่คือสุดยอด   The People: หมายความว่า ภาพยนตร์คือการจารึกประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง? บิณฑ์: ครับ เพราะว่าหนังจะอยู่ได้ตลอด คุณจะดูปีไหนก็ได้ หนังเป็นตัวยืนยันว่าเคยมีเรื่องนี้อยู่จริง แล้วหนังเรื่องนี้ก็สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง คุณก็จะรู้จักทีมบ้านบากเพราะมันได้จารึกไว้แล้ว   The People: คนดูหนังเรื่องนี้แล้วจะได้อะไรกลับไปบ้าง บิณฑ์: สิ่งหนึ่งคือความบันเทิง เป็นความสุขเกี่ยวกับหนังของน้อง ๆ แล้วก็เรื่องแรงบันดาลใจ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรอยู่แล้วมีความท้อแท้ ไม่ประสบความสำเร็จ คุณดูหนังเรื่องนี้แล้วจะรู้ว่าต้องมีสักวันที่เป็นของเรา เด็กบ้านบากแข่งมา 3-4 หน แพ้ตลอด แต่เขาไม่เคยท้อ วันหนึ่งเขาก็ชนะขึ้นมา มันสร้างความรู้สึกว่า เฮ้ย กูรู้จักคำว่าชนะแล้ว แล้วเขาก็ต้องเอาชนะต่อไป เขากลับไปฝึก แล้วเขาก็ชนะ แพ้บ้าง ชนะบ้าง ผมจึงคิดว่ามันสร้างแรงบันดาลใจและสร้างกำลังให้กับเรา อีกหนึ่งข้อคิดคือความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าคนในทีมทะเลาะเบาะแว้งหรือเห็นไม่ลงรอยกัน ยังไงทีมมันก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเข้าไปดูแล้วคุณจะได้อะไรมากมาย [caption id="attachment_11860" align="alignnone" width="960"] บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ การช่วยเหลือคนอื่นคือความสุขแบบธรรมชาติ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์[/caption]   The People: คุณเคยบอกว่าจะบวชแล้วไม่สึก แต่สุดท้ายก็กลับมาทำงานในวงการอีกครั้ง เพราะอะไร บิณฑ์: ตอนนั้นผมบวชให้พระองค์ท่านรัชกาลที่9 ซึ่งคาบกับหนัง ทองดีฟันขาว (2560) กำลังจะเข้า ค่ายหนังก็ให้เราไปโปรโมทภาพยนตร์ ตอนนั้นเราไม่อยากสึกเลย แต่เราต้องรับผิดชอบงานที่ทำ มันบังคับจิตใจให้เราสึก เราละอายถ้าไม่รับผิดชอบงาน ก็เลยต้องสึกออกมา   The People: จะกลับไปบวชอีกไหม บิณฑ์: ณ ตอนนี้ผมยังไม่ได้คิดนะ แต่คิดว่าอนาคตข้างหน้ามันก็ไม่แน่ อย่างไรก็ตาม การบวชของผมอาจไม่ใช่การห่มผ้าเหลือง หรือบวชตอนแก่เพื่อเป็นภาระของคนนั้นคนนี้ วัดนั้นวันนี้ แต่เป็นการบวชเงียบ ๆ อยู่ในถ้ำ ไว้ผมยาว นุ่งขาวห่มขาว บวชอย่างนั้นเราสบายใจกว่า ถ้าใจเราปฏิบัติชอบ ปฏิบัติดี อยู่ในศีลในธรรม รักษาศีล5 ทุกวัน เราก็ถือว่าได้บวชแล้ว บางทีดีกว่าพระบางรูปด้วยซ้ำที่บวชในผ้าเหลืองแต่ไม่สามารถถือศีล 5 ได้เลย  คนเราไม่ต้องอะไรมากมายหรอกครับ ไม่จำเป็นว่าคุณต้องห่มผ้าเหลืองแล้วจะถือว่าบวช คุณบวชในใจก็ได้ ถ้าคุณนับถือศีล 5 ได้ทุกวัน ถือว่าคุณสุดยอดมากแล้วจริง ๆ (ยกนิ้ว)