Drag Artist คือ ศิลปิน
Drag Artist คือ การสร้างสรรค์
Drag Artist คือ ชีวิต
นี่คือคำกล่าวที่เราได้ยินอยู่บ่อยครั้งในการสนทนากับ กฤตเมธ สีถาน หรือชื่อในวงการแดรกควีน (Drag Queen) ว่า Bunny Be Fly ผู้เข้าประกวดรายการ Drag Race Thailand กับเรื่องราวชีวิตส่วนตัวที่เคยสร้างกำแพงต่อครอบครัว เส้นทางการแต่งแดรกที่เริ่มต้นด้วยเส้นทางคาบาเรต์โชว์ และมุมมองของสังคมซึ่งต้องเรียนรู้ที่จะอยู่บนความแตกต่างให้ได้
“คนเรียนศิลปะมันอยู่กับความแฟนตาซี แม้กระทั่งการเป็นกะเทยยังเชื่อว่ามันมาจากความแฟนตาซีเลย (หัวเราะ)”
พบสัมภาษณ์ที่ไม่มีเรื่องราวแฟนตาซี แต่คือชีวิตจริงที่เขาต้องฝ่าฟันกว่าจะถึงวันนี้
[caption id="attachment_11996" align="alignnone" width="1200"]
กฤตเมธ สีถาน (Bunny Be Fly)[/caption]
The People: รู้ตัวเองว่าชอบผู้ชายตั้งแต่ตอนไหน
กฤตเมธ: จับความรู้สึกได้ตอน ม.ต้น จำได้ว่ากำลังนั่งต่อแถวในวิชาคุณธรรม แล้วอาจารย์ประจำไม่มาสักที ด้วยความง่วงอาจารย์ที่คุมก็บอกให้อิงหลังกัน ข้าง ๆ เป็นเพื่อนที่เราไม่เคยคิดอะไรกับมันเลย พอเอาหน้าไปแนบก็คิดว่า “ทำไมรู้สึกวะ” มันบอกไม่ถูกด้วยนะ ความรู้สึกนั้นมันวูบวาบ เฮ้ย แต่ทำไมกับผู้หญิงเราไม่เป็น ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงชอบมากอด มาจับมือ ทีแรกก็คิดว่า เอาแล้ว ทำยังไงดีวะ เพราะมันมีความต่อต้านข้างในตัว แฟนคนแรกของเราก็เป็นผู้หญิง มันเลยเป็นความกดดันที่พยายามประคองความรู้สึกให้ออกห่างจากตรงนั้น แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้
แรก ๆ เรารู้สึกต่อต้าน ครอบครัวเรามีพี่สาวคนโต พี่ชายคนกลางที่เป็นกะเทย และก็เรา เวลาไปไหนกับครอบครัว คนแถวบ้าน คนนอกบ้านจะชอบพูดว่า “คนกลางเป็นกะเทยใช่ไหม เดี๋ยวคนเล็กก็เป็นกะเทยตาม” นี่ขนาดเราไม่ได้รับแรงตรงนั้นยังรู้สึกเลย เราจึงต่อต้านมัน แต่สุดท้ายพอเข้าช่วงวัยที่เริ่มมีกำหนัด เราก็เริ่มรู้สึกกับผู้ชาย
The People: ตอนนั้นบอกพ่อแม่หรือเปล่า
กฤตเมธ: ไม่ได้บอกเลย กระทั่งเข้ามาอยู่ในรายการประกวด Drag Race Thailand นี่แหละ เหมือนเรามีกำแพงกับพ่อแม่ตลอดเวลา Facebook เราจะไม่รับเพื่อนที่เป็นเครือญาติเลยเพราะเดี๋ยวจะรู้ความลับ ณ วันที่รายการติดต่อมา เราคิดในใจว่า เอ๊ะ เราจะยังกลัวว่าคนอื่นรับเราไม่ได้ หรือเราจะกล้าอยู่กับสิ่งที่เราเลือกจะเป็น เราก็เลยต้องเลือก
กับครอบครัวเราไม่ได้บอกด้วย โดยเฉพาะพี่สาวคนโตที่ไม่ชอบอะไรอย่างนี้มากกว่าพ่อแม่อีก เขาอายุห่างกับเราจนเหมือนเป็นแม่เราอีกคนหนึ่ง แล้วความไม่เห็นด้วยนี้มันเป็นความกดดันสองเท่าตัว หนึ่งคือแรงกดดันจากคนรอบข้างหรือสังคมเพื่อนบ้านที่กดดันพ่อแม่เรา สองคือคำถากถางที่เกิดจากพี่คนกลางที่เป็นสาวประเภทสอง ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้ แต่เรารับรู้อยู่เสมอว่าพ่อแม่รู้ เรื่องอื่นเรากล้าพูดกับพ่อแม่หมด แต่เรื่องนี้เราไม่เคยกล้าเลย เพราะว่าเราแคร์คนในบ้าน ความรู้สึกหรืออารมณ์คนในบ้านมันยิ่งใหญ่มาก
ความกดดันรอบข้างสำคัญมากนะ เรารู้สึกได้เสมอว่าพ่อแม่กดดันกว่าเราเป็นสิบเท่า สิ่งเหล่านี้มันน่ากลัวกว่า ท่านต้องอยู่ในสังคมที่ท่านต้องโดน เราเห็นตั้งแต่เด็ก เข้าใจไหมว่ามันเหมือนตะกอนดินที่ค่อย ๆ นอนตัวแล้วหนาขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามีอะไรไปกะเทาะมันขุ่นทันที
มีรุ่นพี่กะเทยคนหนึ่งพูดกับเราว่า ไม่เป็นไรหรอก ถ้าจะทำให้พ่อแม่อยู่ได้อย่างมีความสุขกับตัวเรา แล้วเราก็ต้องไม่ได้ฝืนตัวเอง ซึ่งพอกลับบ้านไปก็ไม่เคยฝืนตัวเองเลย เป็นธรรมชาติของตัวเองปกติ เพียงแต่อาจจะไม่สามารถวี้ดว้ายหรือแสดงตัวได้อย่างอยู่ในสังคมภายนอก สังคมเพื่อนก็ส่วนสังคมเพื่อน สังคมที่บ้านก็ส่วนสังคมที่บ้าน ใช้รวมกันไม่ได้ แต่เราอยู่ในจุดสมดุล มีดุลยภาพของความสุขด้วย ทำให้เราอยู่ได้มานานถึง 26 ปี โดยไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องการเป็นตุ๊ดเป็นเกย์กับพ่อแม่เลย
The People: คุณได้คุยกับพี่ชายที่เป็นสาวประเภทสองไหม
กฤตเมธ: (คิดนาน) เราปิดกั้นตัวเองจากครอบครัวเลย ฉาบเป็นกำแพงขึ้นมาเลย แต่เราไม่สูญเสียความเป็นตัวเองนะ ฉันก็ใช้ชีวิตปกติเดินถนนเหมือนผู้ชายคนหนึ่ง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น กลับบ้านเป็นตัวเองให้มากที่สุด แต่ก็เคยพยายามส่งสัญญาณ หลายครั้งที่เอาวิกกลับไปบ้าน กลับไปวางต่อหน้าพ่อแม่ แล้วก็รอให้ท่านตั้งคำถามกลับมา แต่เชื่อไหมท่านไม่ถามสักคำเลย หันมามองแล้วก็บอก “อ๋อ มันคงเอาไปใช้กีฬาสี” กลายเป็นพ่อแม่มองโลกในแง่ดีไปอีก กำแพงมันเลยยิ่งสูง ๆ เราก็ไม่กล้าที่เป็นเต็มตัว กลายเป็นว่าครึ่งท่อน ๆ ไปหมด
แต่พอออกรายการ ทุกอย่างมันเฉลยหมด เราก็เลยคิดว่าโอกาสมาถึงแล้ว ทำโอกาสให้ดีที่สุด เราพิสูจน์ตัวเองมามากแล้ว ตอนนี้เราก็โตแล้ว ก็เลยตัดสินใจไปรายการ
วันที่เทปตกรอบของเราออกอากาศ พี่สาวแคปรูปหน้าตอนเราร้องไห้บนเวทีแล้วส่งข้อความมาถามว่า เป็นอะไรเหรอ โอเคหรือเปล่า ทำไมถึงร้องไห้ เขาว่าอะไรเธอหรือเปล่า บอกพี่ได้ไหม ซึ่งจริง ๆ แล้วพี่เป็นคนที่น่ากลัวกว่าพ่อแม่อีกนะ พี่สาวพูดหนึ่งคำออกมาว่า ไม่เป็นไรนะ การแข่งขันมันต้องมีแพ้ มีชนะ อย่าไปซีเรียส อย่าไปจริงจังกับมัน สบายใจไหมตอนนี้ เราก็เลยพูดว่าสบายใจ เราก็ถามว่าดูแล้วรู้สึกยังไง พี่ก็ตอบว่าเฉย ๆ แต่แค่นั้นความรู้สึกเราก็ดีใจละ เราต้องถามเขาเพื่อให้เขาเปิดทางเรื่อย ๆ ส่วนพ่อแม่ไม่มีทางปิดกั้นฉันแน่นอน เพราะพ่อแม่ยังไงก็เปิดรับ ขณะที่พี่สาวคนรองที่เป็นสาวประเภทสองเต็มตัวโทรมาในอีกสองวันต่อมาบอกว่า เปิดรายการให้พ่อดู พ่อพูดชมเราว่าเก่งเนอะ อายุแค่นี้แต่มันไปไกลถึงขั้นออกทีวีแข่งขันกับเขาได้ ไม่เชื่อว่าลูกเราจะมีความสามารถถึงขั้นนี้ นั่นคือสิ่งที่พ่อพูด เชื่อไหมว่าวันนั้นอะไรต่าง ๆ ที่มันใหญ่โตมาก มันหายโล่งไปหมด
เหมือนเราเห็นพระอาทิตย์แค่ครึ่งดวงเพราะมีกำแพงของตัวเรากั้นอยู่ แต่วันนั้นมันสว่างโล่งไปหมด เพราะกำแพงทลายลงแล้วแสงมันสาดไปหมดเลย เราเลยปฏิญาณกับตัวเองว่า ต่อให้ถ้ารับได้ก็ตาม เวลากลับบ้านไปเราก็จะเป็นลูกชายของพ่อและแม่ แค่นั้นเลย
[caption id="attachment_12000" align="alignnone" width="1200"]
กฤตเมธ สีถาน (Bunny Be Fly)[/caption]
The People: ทราบมาว่า ก่อนสมัคร Drag Race Thailand คุณเคยเป็นครูสอนศิลปะมาก่อน?
กฤตเมธ: ใช่ค่ะ ตอนนั้นชีวิตมันผ่านมาหลายขั้นตอน ตั้งแต่ล้มละลายจากการทำฟรีแลนซ์ แต่ก็ไม่เข็ดนะ ยังกลับมาทำใหม่อีกรอบ โดนเพื่อนโกงด้วย ต้องขายทอง ขายสมบัติทุกอย่าง ณ วินาทีนี้เราต้องยอมรับสภาพที่เราเป็น สิ่งแรกที่พ่อแม่พูดกับเราคือ บางทีความอดทนอาจเป็นสิ่งที่ยากเย็น แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดมันทำให้เราได้พัก แล้วทำงานประจำจะได้ไม่ต้องไปต่อสู้อีก ก็เลยมองว่าในวินาทีนั้นเราทำอะไรได้ดี นั่นคือเราสอนคนเก่ง เรามั่นใจ สามารถสอนคนที่วาดรูปไม่เป็นให้วาดเป็นได้ ก็เลยตัดสินใจตระเวนโดยไม่เกี่ยงที่ ไม่เกี่ยงเงินเดือน บันนี่เว้นว่างช่องเงินเดือนไว้เลย นั่นเรื่องของคุณ แต่ต้องเหมาะสมกับความสามารถ
The People: เป็นครูสอนศิลปะอยู่นานไหม
กฤตเมธ: ประมาณปีหนึ่งค่ะ ปีเดียวก็มาสมัครรายการนี่แหละ มันเป็นจุดหักเหที่เราคิดไว้อยู่สมควร เพราะคนที่ไม่อยากอยู่ในระบบ อยู่ไปก็เท่านั้น เราอยู่เพื่อพักในความรู้สึกของเรา พอเราพัก มีประสบการณ์ในการทำงาน เราเรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดที่ว่าเราเจอปัญหาอะไรมา ตอนนี้เราพร้อมจะบินอีกครั้งแล้ว
The People: เริ่มต้นเข้ามาแสดงคาบาเรต์โชว์ได้อย่างไร
กฤตเมธ: เราชอบอะไรก็ตามที่มันแฟนตาซี แล้วลองนึกภาพว่าคาบาเรต์โชว์มันแฟนตาซีขนาดไหน ในความรู้สึกคือ เฮ้ย มันทำได้ยังไงวะ มันเลยเป็นหนึ่งในอิมเพรสชันที่ฝังในหัวเรา พอเราเห็นมาก ๆ ขึ้น สื่อมีผลนะจริง ๆ แล้ว แต่ว่าไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเราไปได้ภายในวันสองวัน ต้องพูดก่อนว่าเรามีตะกอนอยู่ในใจอยู่แล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งมีโอกาสไม่เหนือบ่ากว่าแรง เราก็อยากใส่ชุดสวย ๆ ขึ้นไปยืนแล้วมีแสงไฟส่อง แล้วคาบาเรต์เป็นที่สุดของกะเทยในยุคนั้น เฮ้ย มันสวยว่ะ ทำไมมันดึงดูดเราไปหมดโดยที่เราไม่รู้ตัว พอมีโอกาสทำไมจะไม่ทำ
แต่พอทำมันก็ตะกุกตะกัก คือเราอยากเป็นนักแสดงหญิงแต่ไม่พร้อมที่จะเป็นผู้หญิง เป็นเรื่องของ personality เพราะคาบาเรต์โชว์ในบ้านเรามีแบบแผนเป็นรูปแบบ ทำงานเป็นองค์กรใหญ่ มีระบบตายตัว การอยู่ในระบบนี้ได้เราจะต้องเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ต้องมาเทคยาคุม ไว้ผมยาว ซึ่งเป็นจริตที่ฝืนธรรมชาติตัวเองมากเลยนะ เราไม่ชอบผมยาว
The People: คาบาเรต์กับแดรกควีน มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
กฤตเมธ: คือมันเป็นการพูดแบบรวม ๆ ในความเข้าใจ มันสรุปตายตัวไม่ได้ คำตอบมันกว้างมาก ๆ อย่างสาวประเภทสองหรือสาวข้ามเพศที่อยู่ในคณะโชว์คาบาเรต์ เขาพรีเซนต์ศาสตร์ความเป็นผู้หญิง เป็นความมหัศจรรย์ของการเปลี่ยนแปลงที่แก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุ เราจะเห็นสาวประเภทสองไว้ผมจริง ศัลยกรรมหน้าอกให้เหมือนผู้หญิงจริง มีรูปร่างในชีวิตจริงแบบผู้หญิง
แต่แดรกควีนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนแปลงตัวตน เปลี่ยนแปลงบุคลิก และมันก็มีความ freedom ไม่มี category ด้วยซ้ำ อย่างที่บอกว่าแดรกคือศิลปะ ไม่ใช่เพศไง ผู้หญิงก็เป็นแดรกควีนได้
[caption id="attachment_11997" align="alignnone" width="1200"]
กฤตเมธ สีถาน (Bunny Be Fly)[/caption]
The People: คุณรู้จักศาสตร์การแต่งหน้าแดรกควีนมาจากไหน
กฤตเมธ: ครูพักลักจำค่ะ จริง ๆ มาจาก everyday look ก่อน แล้วเพิ่มหนาขึ้น ดูจาก YouTube บ้าง ศึกษาจากรุ่นพี่บ้าง เรื่องพวกนี้บอกเป็นคำพูดไม่เข้าใจหรอก ต้องเห็นภาพ
ใจความสำคัญคือการเปลี่ยนแปลง อย่าลืมว่าเราเป็นผู้ชายมาก่อน แต่แดรกทุกวันนี้ไม่ใช่เป็นเกย์หัวโปก เป็นผู้ชายที่แต่งเป็นผู้หญิง มีความ contrast เรื่อง figurative (รูปร่าง) หรือผู้หญิงก็แต่งเป็นแดรก แม้แต่ transgender สาวข้ามเพศทุกวันนี้ก็แต่งแดรกก็มี มันจึงขึ้นอยู่กับ personality และ presentation มากกว่า เขาเรียกว่าสู้กันด้วยความสร้างสรรค์
เวลาเราเจอกัน เรามองอะไร มองหน้าถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นลุคบนหน้าจึงเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง มันก็เลยเริ่มจากการแต่งหน้า โบกกลบ figurative ที่เป็นผู้ชาย ทำยังไงก็ได้ให้เป็นผู้หญิง เช่น หน้าผากโหนกคิ้วสูงเราต้องกลบ มันก็เหมือนงานศิลปะที่เขาไม่สนใจที่มา เขาสนใจที่ผลสัมฤทธิ์ของงานว่ามันออกมาแล้วบ่งบอกอะไรมากกว่า
The People: แดรกควีนเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง?
กฤตเมธ: ต้องพูดก่อนว่าการเป็นกะเทย เขาเรียกว่าเพศสร้างสรรค์ เพราะว่ากะเทยมันสร้างทุกอย่างจริง ๆ ซึ่งความสร้างสรรค์มันคือการเอาชนะ อันดับแรกคืออยากเป็นผู้หญิง แต่เราไม่มีกายภาพเป็นผู้หญิง มันเลยต้องเอาชนะ สร้างทุกอย่างขึ้นมาภายนอก
แดรกคือการสร้างสรรค์ค่ะ มันเหนือกว่ากฎของธรรมชาติ อะไรก็ตามที่เป็นผู้ชาย บันนี่ต้องแต่งเป็นผู้หญิง สาวคาบาเรต์จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอยู่แล้ว เช่น ศัลยกรรม ทานฮอร์โมน แต่แดรกคือปล่อยตามธรรมชาติเลยค่ะ แล้วสร้างสรรค์ทุกอย่าง แต่งองค์ทรงเครื่องขึ้นมา แล้วทุกอย่างถูกสร้างใหม่หมดเลย มันคือการใช้สกิลคิด วิเคราะห์ เรียบเรียง แล้วก็ดัดแปลงใหม่หมดเลย ตรงไหนเป็นผู้ชายก็ปรับเป็นผู้หญิง อกใหญ่ก็ดันเอา หรือบันนี่ก็ไฮไลท์เอา ใส่วิกแล้วจะดูเป็นผู้หญิง ทารองพื้นหนา เป็นการตัดทอน เพิ่มเติม ทั้งหมดนี้คือการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นแดรกมันคือศิลปะค่ะ
ทุกวันนี้แดรกกว้างมากจริง ๆ เราตัดสินแดรกเป็นเพศไหนไม่ได้เลย เกย์ก็ทำ ผู้หญิงก็ทำ ทอมก็ทำ ความเป็นเพศใช้เรียกแดรกไม่ได้เลย แดรกเป็นแค่ลักษณะการแสดงออกทางกายภาพอย่างหนึ่ง
[caption id="attachment_11999" align="alignnone" width="1200"]
กฤตเมธ สีถาน (Bunny Be Fly)[/caption]
The People: คุณรู้จักการแต่งแดรกครั้งแรกเมื่อไหร่
กฤตเมธ: ความประทับใจแรกคือคาบาเรต์โชว์ พอเราสนใจจึงมาค้นคว้าอีกทีหนึ่ง และก็มีหนังอยู่สองเรื่องในยุคเด็ก ๆ คือ The Adventures of Priscilla, Queen of the Desert (1994) อีกเรื่องก็คือ To Wong Foo Thanks for Everything, Julie Newmar (1995) ซึ่งเราก็ไม่ได้สนใจจนกระทั่งบรรยากาศมันบิลด์เรา เพราะว่ามีเพื่อนสนิทคนหนึ่งแต่งแดรกไปเรียนทุกวัน ครีเอททุกวัน แล้วไม่ได้ยึดติดในรูปลักษณ์ของความเป็นสตรีเพศ เช่น แต่งหน้าทาปาก ไว้ผม มัดผม แต่ไม่ยัดนม หรือแต่งหน้าทาปากแต่โกนหัวโล้น ใส่ชุดเดรส ข้างล่างเป็นคอนเวิร์สหรือรองเท้าคอมแบท สุดท้ายเราก็หาคำตอบได้ว่าแดรกมันก้าวข้ามคำว่าเพศไปแล้ว มันคือการแสดงออก รสชาติอยู่ที่คนทำ คุณต้องมีความสุขกับรสชาติที่คุณปรุงเท่านั้น
The People: คุณชอบรสชาติแบบไหน
กฤตเมธ: เราอิงจากไอดอลของเรา เป็นนักมวยปล้ำหญิงญี่ปุ่นชื่อว่า มินามิ โตโยตา (Manami Toyota) นางรีไทร์ไปแล้วเมื่อปี 2017 แต่ในยุค 90 คือสวยมาก เป็นภาพจำของเราว่าสวย เก่ง มีความดุ เป็นคาแรคเตอร์เริ่มต้นที่เราชอบ เราไม่อยากเป็นผู้หญิงหวาน เราชอบเป็นผู้หญิงดุ ในขณะที่สังคมวัฒนธรรมไทยคือผู้หญิงต้องเรียบร้อย อ่อนหวาน ผู้หญิงต้องอยู่ในครรลอง สงบเสงี่ยม
แดรกที่มีหลากหลายแบบก็เหมือนคนที่มีหลากหลายประเภท มีคำพูดว่าความงามที่แท้จริงไม่มีอยู่บนโลกใบนี้ บันนี่เชื่อคำนี้มาก เพราะว่าความงามเกิดจากอุดมคติภายใน ล้านคนล้านอุดมคติ คนที่ได้รับการยกย่องว่าสวย เพราะมีอุดมคติหลาย ๆ คนเห็นพ้องต้องกัน แต่ไม่ใช่หมายความว่าอีกคนหนึ่งไม่สวย มันเป็นเรื่องของคุณค่าที่มองลึกลงไปมากกว่ากายภาพหรือรสนิยม
The People: เท่าที่ฟังเหมือนการแต่งแดรกเป็นการทลายกรอบความคิดบางอย่างของสังคมเช่นกัน?
กฤตเมธ: เรียกว่ากบฏเลยก็ได้นะ แรก ๆ บันนี่เองก็ยึดติดว่าผู้หญิงต้องมีหน้าอกนะ เอวคอด ก็แต่งเป็น feminine ไปเลย แต่ทุกอย่างมันคือการแสดงออก คำเดียวเลย “รักที่จะเป็นอะไร” คุณจะเป็นแดรก คุณต้องรักตัวเองก่อน คุณต้องหนักแน่นพอที่จะเป็นตัวคุณเอง เพราะถ้าคุณเองยังต้องให้คนอื่นมาบอกว่าคุณเป็นใคร เดินเส้นทางนี้จะลำบาก จะเหนื่อยเป็นสองเท่า แค่ตัวเองบอกว่าตัวเองเป็นอะไรยังเหนื่อยเลย
The People: เราได้เห็นตัวตนคุณทั้งสองแบบ คุณคิดว่าอันไหนคือตัวตนของคุณเองมากที่สุด
กฤตเมธ: หลายคนจะให้เปรียบเทียบว่าชอบแบบไหนมากกว่ากัน ส่วนตัวบันนี่มองเท่า ๆ กัน บันนี่เชื่อว่าการทำหน้าที่หรือการทำงาน หรือการอยู่กับสิ่งที่เรารักมันไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา ความรับผิดชอบในชีวิตจริงมันก็ต้องมีเช่นกัน
บันนี่ภูมิใจในรูปลักษณ์ของการเป็นชาย เป็นแค่ผู้ชายหน้าจืด ๆ คนหนึ่ง ลักษณะอ้วน ๆ ลงพุง ไม่มีราศีอะไร ไม่มีความพิเศษหรือโดดเด่นอะไร อาจจะดีหน่อยตรงเป็นคนฉลาด ขยัน นั่นเป็นปัจเจกภายในที่คนไม่ได้รู้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราแต่งแดรกปุ๊บ เฮ้ย เราดูโดดเด่น ยืนในกลุ่มแดรกมั่นใจว่าโดดเด่น เป็นที่จับตา ทำให้ทั้งสองลุคขาดกันไม่ได้มากกว่า มันเติมเต็มซึ่งกันและกัน
[caption id="attachment_11994" align="alignnone" width="1200"]
กฤตเมธ สีถาน (Bunny Be Fly)[/caption]
The People: คุณเคยเจอเรื่องกระทบจิตใจในฐานะแดรกคนหนึ่งในสังคมไทยไหม
กฤตเมธ: ของบันนี่เป็นกรณีที่แตกต่างมากค่ะ ปกติเราเห็นเพื่อนถูกถุยน้ำลายใส่ เห็นทัวร์จีนเดินเข้ามากระชากวิก เราไม่เคยโดนด้วยตัวเอง แต่มันเจ็บปวดไปหมดที่เห็นอะไรร้ายแรง
มีครั้งหนึ่งที่สะกิดใจเราที่สุดคือการถูกหยิบยกไปเป็นตัวตลกในสังคมอย่างแท้จริง การถูกหยิบขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการขู่เด็กว่า อย่าร้องไห้เสียงดังนะ เดี๋ยวพี่เขาจะกินตับ พี่เขาตาสีเขียวเพราะไม่รักเด็ก เขาสามารถหักคอหนูได้นะ คือเราเข้าใจในบริบทที่จะปลอบประโลมเด็กที่ไม่รู้ประสา แต่คนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นตัวตลก ใช่ เราเป็นคนตลกที่เอนเตอร์เทนทุกคนได้ แต่เราไม่โอเคที่คุณมามองหรือมาหัวเราะใส่เรา
ทุกคนรักศักดิ์ศรีในความเป็นตัวเองค่ะ รักในความเป็นมนุษย์ บันนี่มีสิทธิ์ตบหน้าทุกคนที่เข้ามากระชากวิกของบันนี่ หรือถ่มน้ำลายใส่บันนี่ มันเป็นการ bully กันทางอ้อม คนอื่นอาจคิดว่าเล่นสนุก แต่ผลกระทบทางจิตใจมันไม่จบตรงนั้น
The People: ถ้าอย่างนั้น ความเข้าใจพื้นฐานที่คุณต้องการจากสังคมคืออะไร
กฤตเมธ: สังคมทุกวันนี้ไม่ได้เข้าใจที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่บนความแตกต่าง ทุกคนต่างกันหมด เขาชอบไม่เหมือนเรา เขาชอบสีแดงแต่เราเกลียดสีแดง เขาผิดไหม ไม่ผิด เขากินเผ็ด เราไม่กินเผ็ด คนกินเผ็ดคือคนเลวเหรอ นี่คือความแตกต่างที่เราต้องเข้าใจและเราต้องปรับตัว เพราะสังคมที่อยู่ร่วมกันมันไม่ใช่แค่ทำตาม แต่ต้องเรียนรู้ นั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
อยากจะฝากสังคมไว้ว่าคือคุณต้องเรียนรู้และรับรู้ว่าบนโลกใบนี้มีอีกมากที่คุณไม่เคยเห็น คุณต้องเข้าใจว่าความชอบหรือพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละบุคคล ไม่ใช่จะเข้าไปวิจารณ์กันอย่างเดียว ไม่มีใครชอบให้ใครมา bully ตัวเขาหรอก
The People: ทุกวันนี้คุณมีความสุขกับอะไรมากที่สุด
กฤตเมธ: ความสุขบันนี่มีอยู่สามอย่างค่ะ ความสุขคือการมีจุดมุ่งหมายของตัวเอง ชีวิตหนึ่งเกิดมาแล้วเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ แล้วอยากทำอะไรก็รีบทำตั้งแต่มีโอกาส เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความสุขให้กับตัวเองก่อน อย่างที่สองคือภูมิใจในศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่ ความสุขจากความภาคภูมิใจในความสามารถ การเลี้ยงชีพตัวเอง การพึ่งตัวเองโดยไม่เป็นภาระของสังคม นี่คือความสุขจากความภาคภูมิใจ อย่างที่สามคือความสุขจากเป้าหมาย สิ่งที่เป็นเป้าหมายของบันนี่คือครอบครัวหรือพ่อแม่ของเรา บันนี่ได้เป็นผู้ให้หลังจากที่ท่านทุ่มเทเพื่อเรามาตลอด พ่อแม่เป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เราย่อท้อหรือยอมแพ้ต่ออุปสรรค เพราะฉะนั้นความสุขคือความสุขในการให้ครอบครัวหรือทำให้พ่อแม่มีความสุขด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา
[caption id="attachment_11993" align="alignnone" width="1200"]
กฤตเมธ สีถาน (Bunny Be Fly)[/caption]