เบ. เจ. ฮาบีบี อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กับ 17 เดือนประวัติศาสตร์ ปูทางเอกราช “ติมอร์ตะวันออก”
“จงเพิกเฉยต่ออาภรณ์อันเวอร์วัง จงทิ้งโลกอันวุ่นวายไว้เบื้องหลัง เก็บเกี่ยวความจริงและปัญญา ส่งต่อความรักและสันติภาพเพื่อคนรุ่นต่อไป”
บาคารุดดิน ยูซุฟ ฮาบีบี (Bacharuddin Jusuf Habibie) หรือ เบ. เจ. ฮาบีบี (B. J. Habibie) ประธานาธิบดีคนที่สามของอินโดนีเซีย ถึงแก่อสัญกรรมด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ในวัย 83 ปี เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 ซึ่งก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิต มีภาพวิดีโอการสวมกอดระหว่างเขาที่นอนป่วยในวาระสุดท้ายก่อนสิ้นลมหายใจ กับ ซานานา กุสเมา (Xanana Gusmao) อดีตประธานาธิบดีคนแรกของติมอร์ตะวันออก และผู้นำเรียกร้องเอกราชของติมอร์ตะวันออกเมื่อครั้งยังอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซีย
ฮาบีบีเป็นใคร สำคัญอย่างไรต่ออินโดนีเซีย และทำไมผู้นำทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเกิดใหม่อย่างติมอร์ตะวันออก ถึงให้ความเคารพต่อบุคคลท่านนี้ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต?
(คลิปจาก https://www.youtube.com/watch?v=BiXF3KWxCzw&fbclid=IwAR3ZL01jrNpVIk-0ZLwk_3Lcb-Z4I5CgpDw3U5VCD8EgOiAAe7WA-7lwqDU)
ชื่อของ ฮาบีบี อาจไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ ด้วยความที่เขาดำรงตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีของอินโดนีเซียเพียง 17 เดือน ระหว่าง ค.ศ.1998-1999 แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระยะเวลาที่ดูเหมือนสั้น กลับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดช่วงหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของอินโดนีเซียเลยก็ว่าได้ เพราะฮาบีบีเป็นบุคคลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายให้เกิดขึ้นในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สำคัญของประเทศ
ย้อนดูประวัติของฮาบีบี เขาเกิดเมื่อปี 1936 ในตอนใต้ของเกาะสุลาเวสี ก่อนที่อินโดนีเซียจะเป็นเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ เขามีพ่อเป็นชาวโกรออนตาโลอัน (Gorontalon) กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในพื้นที่ และแม่ชาวชวาจากเมืองยอกยาการ์ตา หลังจบการศึกษาในประเทศ ฮาบีบีไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมการบินในเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี จากนั้นก็ทำงานกับบริษัทด้านธุรกิจอากาศยานในเยอรมนี และเป็นอาจารย์สอนด้านวิศวกรรมการบินด้วย ในปี 1974 เขาได้รับเชิญจาก ประธานาธิบดีซูฮาร์โต (Soeharto) ให้เข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาล เพื่อดูแลการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของประเทศ
เมื่อซูฮาร์โตประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ปี 1998 หลังถูกกดดันจากการประท้วงของนักศึกษาและประชาชนที่ไม่พอใจระบอบการปกครองอำนาจนิยมของเขาที่ดำรงมา 32 ปี และล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 ที่ส่งผลกระทบต่ออินโดนีเซียอย่างรุนแรง ฮาบีบี ในฐานะรองประธานาธิบดีก็ขึ้นรับตำแหน่งแทน
ด้านหนึ่ง ไม่มีใครในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยมีความคาดหวังเลยว่า ฮาบีบีจะทำอะไรที่ต่างไปจากซูฮาร์โต เนื่องด้วยว่าเขาอยู่ใต้ร่มเงาและอิทธิพลของซูฮาร์โตมาเป็นเวลานาน ส่วนอีกด้าน บรรดาชนชั้นนำในเครือข่ายเดิมที่มีซูฮาร์โตเป็นแกนกลางก็เชื่อว่า การขึ้นมาของฮาบีบีจะช่วยลดแรงกดดันและประคับประคองสถานะเดิมของบรรดาชนชั้นนำทางการเมืองต่อไปได้
แต่ทั้งสองฝ่ายกลับคาดการณ์ผิด ฮาบีบีเลือกทำหลายเรื่องสำคัญที่หลายคนคาดไม่ถึง
ในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็นแบบแผนและรัดกุม เนื่องด้วยการเข้าไปอยู่ในแผนฟื้นฟูตามระเบียบของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในฐานะลูกหนี้ ฮาบีบีให้อำนาจของผู้ว่าการธนาคารกลางมีอิสระในการบริหารเต็มที่ ซึ่งต่างจากที่ผ่านมา
ในทางการเมือง ฮาบีบีดึงพรรคการเมืองอื่นเข้ามาร่วมงานบริหารร่วมกับพรรคโกลข่าร์ (Golkar) ซึ่งผูกขาดการบริหารภายในช่วงการปกครองอันยาวนานของซูฮาร์โต ในคณะรัฐมนตรีเพื่อการปฏิรูปพัฒนา (Kabinet Reformasi Pembangunan) ที่เขาตั้งขึ้น มีการปล่อยนักโทษการเมือง ผ่อนคลายกฎระเบียบที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ลดจำนวนที่นั่งในสภาที่จัดไว้ให้กับคนในกองทัพ (ต่อมาในปี 2000 สมัยประธานาธิบดีอับดุล ระห์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid) ที่นั่งในสภาของคนในกองทัพก็ถูกยกเลิก) ยุบกระทรวงข้อมูลข่าวสาร สั่งการดำเนินคดีคอร์รัปชันกับลูกชายของซูฮาร์โต ผ่านกฎหมายส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารมากขึ้นตั้งแต่ระดับล่างสุด ต่อมาหลังจากเขาลงจากตำแหน่ง การกระจายอำนาจนั้นขยายตัวไปอย่างกว้าง มีการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นโดยตรงในทุกระดับ ซึ่งได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการเป็นประชาธิปไตยในอินโดนีเซียจนถึงทุกวันนี้
อินโดนีเซียในขณะนั้นอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปเพิ่งเริ่มต้น เศรษฐกิจยังย่ำแย่ ที่ทางของกองทัพยังไม่ชัดเจนในวันที่ไม่มีซูฮาร์โตเป็นประธานาธิบดี มีนายทหารที่อยากเห็นการปฏิรูปกองทัพ และฝ่ายที่อยากให้กองทัพคงสถานภาพเดิมไว้
ช่วงเวลาเดียวกัน ขบวนการเรียกร้องเอกราชติมอร์ตะวันออก ที่ต้องการปลดแอกตัวเองจากการเป็นจังหวัดที่ 27 ของอินโดนีเซีย ก็เคลื่อนไหวชัดเจนในทางการทูตกับต่างประเทศเพื่อกดดันอินโดนีเซีย
เดิมทีนั้น ชนชั้นทางการเมืองอินโดนีเซียมีความเห็นพ้องร่วมกันอยู่พอสมควรว่า จะให้อำนาจปกครองตนเองกับติมอร์ตะวันออกในฐานะส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย มีการเจรจาในระดับนานาชาติหลายครั้งเกี่ยวกับอนาคตของติมอร์ตะวันออก บทบาทขององค์การสหประชาชาติในเรื่องนี้เริ่มมีมากขึ้น
ในคณะรัฐมนตรีของฮาบีบี มีหลายคน (โดยเฉพาะรัฐมนตรีฟากพลเรือน) ที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดครองติมอร์ตะวันออก และสนับสนุนข้อเสนอเรื่องการลงประชามติ
ช่วงต้นปี 1999 มีการประชุมเรื่องความเป็นไปได้ที่ยอมให้มีการลงประชามติในคณะรัฐมนตรี ฮาบีบีต้องเผชิญกับคำถามเรื่องติมอร์ตะวันออกในหลายโอกาสที่มีการพบปะกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศ และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ทั้งในและนอกอินโดนีเซีย ทั้งที่ตัวเขาเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับติมอร์ตะวันออกน้อยมาก ฮาบีบีเป็นเทคโนแครตในสายวิศวกรรม เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ เขามองไม่เห็นว่าการลงทุนทางการเมืองเพื่อการยึดครองดินแดนนั้นสามารถสร้างจุดคุ้มทุนได้อย่างไร ซึ่งต่างจากกองทัพที่มองประโยชน์การยึดครองชัดเจน
แต่ยิ่งนานวันเข้า ราคาทางการทูตที่ต้องจ่ายในกรณีติมอร์ตะวันออกนั้นสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอินโดนีเซียอย่างมาก ตลอด 24 ปีของการยึดครอง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการสังหารประชาชนโดยกองทัพอินโดนีเซียเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง มีผู้คนเรือนแสนล้มตาย ทำให้ติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดที่ติดอันดับยากจนข้นแค้นที่สุด เรื่องราวต่าง ๆ ถูกเผยแพร่ออกสู่ภายนอกมาขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นแรงกดดันที่หนักหน่วงและยากในการจัดการมากขึ้นตามลำดับ
ในที่สุด ฮาบีบีก็ประกาศให้ชาวติมอร์ตะวันออกกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองว่าจะเลือกอยู่กับอินโดนีเซีย หรือแยกตัวเป็นเอกราช โดยมีองค์การสหประชาชาติเข้าไปจัดการลงประชามติในวันที่ 30 สิงหาคม ปี 1999
ก่อนถึงการลงประชามติ มีการเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซียเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งมีประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกไปออกเสียงกว่าร้อยละ 80 จากจุดนั้นกองทัพเองประเมินอย่างมั่นใจว่า นั่นคือดัชนีที่สำคัญอันบ่งชี้ว่าชาวติมอร์ตะวันออกส่วนใหญ่ยังอยากอยู่กับอินโดนีเซีย ซึ่งกองทัพคาดว่าน่าจะมีมากกว่าร้อยละ 75 เลือกลงคะแนนเพื่อเลือกอยู่กับอินโดนีเซีย
ไม่ว่าการประเมินนั้นจะถูกต้องแม่นยำหรือไม่ ความจริงทางประวัติศาสตร์คือ ช่วงที่มีการเลือกตั้งทั่วไปนับแต่การยึดครองติมอร์ตะวันออก จำนวนผู้ใช้สิทธิของจังหวัดที่ 27 นี้จะอยู่ในระดับที่สูงเสมอ และคะแนนก็จะถูกส่งมาถึงเมืองหลวงก่อนใคร ๆ แม้จะอยู่ห่างไกลก็ตาม ทั้งหมดนั้นเป็นไปด้วยกลไกของกองทัพอินโดนีเซียที่ยึดกุมและจัดการภาคส่วนต่าง ๆ ในติมอร์ตะวันออกอย่างเต็มที่
เมื่อการนับคะแนนสิ้นสุดลง ทุกอย่างก็เป็นไปในทางตรงข้าม ประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกมากกว่าร้อยละ 78 เลือกจะขอเป็นเอกราชจากอินโดนีเซีย นับตั้งแต่การลงทะเบียนเลือกตั้งจนถึงหลังการประกาศผล ความรุนแรงและการข่มขู่จากฝ่ายสนับสนุนอินโดนีเซียซึ่งนำโดยกลุ่มทหารบ้านติดอาวุธโดยกองทัพอินโดนีเซียนั้น ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนเกิดเป็นการทำลายล้างอย่างมโหฬาร ด้วยการเผาบ้านเรือนและไล่ล่าประชาชนที่สนับสนุนเอกราช มีผู้ลี้ภัยเรือนแสนต้องหนีจากบ้าน
กองทัพอินโดนีเซียถูกโจมตีอย่างหนักทุกทิศทางจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แรงกดดันเพื่อให้กองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติเข้าไปยุติความรุนแรงนั้นหนักหน่วงมากขึ้น ในที่สุดฮาบีบีก็ตัดสินใจรับข้อเสนอให้กองกำลังรักษาสันติภาพของเข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อยในติมอร์ตะวันออก
มันเป็นช่วงเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ หลังจากวันที่ 30 สิงหาคม ที่น่าวิตกอย่างยิ่ง การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ของฮาบีบีได้ช่วยหยุดยั้งการเข่นฆ่าไม่ให้ลุกลามบานปลายไปมากกว่านั้น แน่นอนว่า นายทหารหลายคนในกองทัพอินโดนีเซียไม่พอใจการตัดสินใจของเขาอย่างมาก
การสร้างความวุ่นวายหลังลงประชามตินั้น มีเป้าหมายที่จะล้มผลการลงประชามติเลือกเอกราชของชาวติมอร์ตะวันออกให้เป็นโมฆะ ยั่วให้ ฟาลินติล (Falintil) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อเอกราชของติมอร์ตะวันออกตอบโต้ให้เกิดการสู้รบ และนั่นจะทำให้กระบวนการลงคะแนนทั้งหมดต้องพังไป ฝ่ายฟาลินติล เลือกจะไม่ตอบโต้เพื่อรักษาผลประชามตินั้นไว้ ยอมจำใจเห็นเพื่อนร่วมชาติต้องตายต่อหน้า แน่นอนมันเจ็บปวดอย่างมากในฐานะนักรบอย่างพวกเขา
เช่นนั้นเเล้ว การที่เราเห็น ซานานา กุสเมา ผู้นำเรียกร้องเอกราชและประธานาธิบดีคนแรกของติมอร์ตะวันออก เดินทางมาเยี่ยมฮาบีบีก่อนสิ้นลมหายใจนั้น มันมีความหมายที่มากกว่าความรู้สึกขอบคุณในการตัดสินใจของฮาบีบีเรื่องการจัดลงประชามติ สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ฮาบีบีให้คุณค่าและความหมายกับ ราคาค่างวดแห่งอิสรภาพ (Price of Freedom) ของชาวติมอร์ตะวันออก การตัดสินใจในเรื่องนี้ บ่งบอกว่า ฮาบีบีไม่อยากให้ชาวติมอร์ตะวันออก ต้องจ่าย Price of Freedom ด้วยชีวิตอีกแล้ว เพราะพวกเขาได้จ่ายมันมามากเกินไปแล้ว
เมื่อติมอร์ตะวันออกแยกตัวเป็นอิสระ เขาก็ลาออกจากตำแหน่งในปลายปี 1999 ขณะที่อินโดนีเซียก็เดินเข้าสู่การปฏิรูปทางการเมืองและกระบวนการเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่และชัดเจน พร้อม ๆ ไปกับการสร้างชาติของติมอร์ตะวันออกที่ถือกำเนิดขึ้นด้วยประชาธิปไตย และประกาศเอกราชเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2002
ช่วงบั้นปลายชีวิต ฮาบีบีมีบทบาทสำคัญเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยและการศึกษา เขามักจะกล่าวถึงการพัฒนาประเทศที่ต้องส่งเสริมบทบาทของคนรุ่นใหม่เป็นสำคัญ ขณะที่คนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซียมีภาพจำที่ค่อนข้างบวกกับฮาบีบี อัตชีวประวัติของเขาและภรรยาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2012 จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่มีคนดูมากที่สุดในประเทศตลอดกาล
ในภาพเขียนที่แขวนไว้ ณ บ้านพักของฮาบีบีที่เยอรมนี ซึ่งจิตรกรได้วาดภาพของเขาในฐานะเป็นตัวละครหนังตะลุงมองขึ้นไปยังแสงสว่างที่ส่องลงมา พร้อมคำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาอินโดนีเซียซึ่งแปลความได้ว่า...
“จงเพิกเฉยต่ออาภรณ์อันเว่อวัง จงทิ้งโลกอันวุ่นวายไว้เบื้องหลัง เก็บเกี่ยวความจริงและปัญญา ส่งต่อความรักและสันติภาพเพื่อคนรุ่นต่อไป”
ที่มา
จอห์น จี. เทย์เลอร์ .ติมอร์ตะวันออก เส้นทางสู่เอกราช (EAST TIMOR THE PRICE OF FREEDOM) ฉบับแปล โดย สิทธา เลิศไพบูลศิริและ อรพรรณ ลีนะนิธิกุล. 2558. กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
Bacharuddin Jusuf Habibiee. Human Rights, Democracy And The Development of Human Resources, And Technology Toward a New World Secure Society . 2002. Jakarta: Habibie Center
https://tirto.id/beda-cara-habibie-dan-jokowi-selesaikan-konflik-timor-timur-papua-ehW2?fbclid=IwAR33Je8gi0LshH3weUFLLP-WAXb6wlSK51OfwBSw0h8s39Qi2EtChSAb0nM
https://www.kompas.com/tren/read/2019/09/15/150000365/kedekatan-xanana-gusmao-dan-habibie-dianggap-makar-hingga-referendum?page=all&fbclid=IwAR0RNPdjUiw0s2sJOi5tXDQQ-z3G9whPo_sGJG4tc8onhTdxsAXy_g4cuZU
เรื่อง: สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ บรรณาธิการแปล “ติมอร์ตะวันออก: เส้นทางสู่เอกราช”