ในสายตาคนทั่วไปมักมองมวยปล้ำเป็นกีฬาที่เต็มไปด้วยความรุนแรง หากแต่ความจริงแล้วมวยปล้ำก็เป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่ให้ความบันเทิง หรือ ‘sport entertainment’ เหมือนอย่างที่ ปูมิ-ปรัชญ์ภูมิ บุณยทัต ผู้จัดการทั่วไปของ Gatoh Move Pro Wrestling ให้คำอธิบายไว้ว่า
“ปัญหาอย่างหนึ่งของคำว่า sport entertainment คือคนจะมองแยกเป็น entertainment ไปเลย หรือแยกเป็น sport ไปเลย แต่จริง ๆ แล้วมวยปล้ำคือ sport entertainment และจำเป็นต้องใช้ sport entertainment ร่วมกันนะ”
มวยปล้ำจึงเป็นกีฬาที่มีคิว มีบท มีการฝึกซ้อม และเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง ถึงกระนั้นมวยปล้ำก็มิได้ให้แค่ความสนุกเพียงอย่างเดียว หากเป็นพื้นที่จำลองของสังคม หลีกหนีความจริง และยึดเหนี่ยวจิตใจ
[caption id="attachment_12139" align="alignnone" width="1200"]
ปูมิ-ปรัชญ์ภูมิ บุณยทัต[/caption]
The People: การดูมวยปล้ำตอนเด็ก กับการดูมวยปล้ำตอนโต แตกต่างกันอย่างไร
ปรัชญ์ภูมิ: การดูมวยปล้ำเปลี่ยนไปนะ ตอนแรกเราดูมวยปล้ำเหมือนดูการ์ตูน มีซูเปอร์ฮีโร มีตัวร้าย พอโตขึ้นมาเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมคนต้องยอมเจ็บตัวเพื่อคำว่า entertainment ด้วย เริ่มคิดว่ามันคุ้มค่าหรือเปล่า แน่นอนเราเห็น ฮัลค์ โฮแกน (Hulk Hogan) ที่ดังอยู่แล้ว การเจ็บตัวเขาจึงคุ้มค่า แต่บางคนอย่าง เคิร์ต ฮอว์กินส์ (Curt Hawkins) ที่ปล้ำแพ้มากกว่าร้อยแมตช์ติดต่อกัน เขาทำเพื่ออะไร จากการมองเป็นซูเปอร์ฮีโรในทีวี เราเริ่มมองเขาในเชิงความเป็นตัวบุคคลมากขึ้น เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้จากเวลานะ เราก็พยายามหาคำตอบว่าจริง ๆ แล้วมวยปล้ำให้อะไรกับเรา
The People: บางคนมองมวยปล้ำเป็นกีฬา บ้างก็มองเป็นการแสดง คุณมองมวยปล้ำเป็นอะไร
ปรัชญ์ภูมิ: สำหรับเรามวยปล้ำคือ sport entertainment ตั้งแต่ยุค 90 คำว่า sport entertainment เป็นคำที่ถูกพูดในการจำกัดความมวยปล้ำ เพราะกีฬาอื่นจะแยกระหว่างคำว่า sport เป็นกีฬามีการแข่งขันเพื่อชิงรางวัล ส่วนคำว่า entertainment แยกไปเป็นการละคร การแสดง แบ่งผู้ร้าย-คนดี แต่มวยปล้ำเป็น sport entertainment คือเป็นกีฬาที่เราจะได้รับความบันเทิงไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างกีฬาฟุตบอลมีโอกาสแพ้-ชนะได้เสมอ ไม่มีทางรู้ แต่ต่อให้เราเดาอะไรได้ทั้งหมดในมวยปล้ำ สิ่งที่สมาคมสร้างขึ้นมามีเป้าหมายเดียวคือทำให้คุณบันเทิง มวยปล้ำเป็นกีฬาที่มุ่งหวังให้คุณบันเทิงกับมัน มวยปล้ำจึงเป็นสิ่งที่ทำให้คุณสบายใจ ถ้าเครียด ๆ เปิดมวยปล้ำ เราบันเทิงแน่นอน มันเลยเป็นกีฬาที่แตกต่างจากกีฬาอื่น อย่างน้อยดูรายการสองชั่วโมงเราจะจบด้วยรอยยิ้มแน่นอน
The People: การเป็นกีฬาของมวยปล้ำ มีฟังก์ชันอย่างไรบ้าง เหมือนกีฬาอื่น ๆ หรือเปล่า
ปรัชญ์ภูมิ: เราคิดว่าเป็นกีฬาเลยแล้วกัน เขาต้องฝึกฝนกีฬาไม่ต่างจากนักกีฬาทั่วไปเลย ฝึกหนักมาก ๆ เพราะการมีคำว่า entertainment ต่อเนื่องหมายความว่าต้องมีการดำเนินของเรื่องราว การดำเนินของเรื่องราวหมายความว่านักมวยปล้ำต้องไม่บาดเจ็บ ต้องสามารถปรากฏตัวสัปดาห์หน้าได้ เพื่อให้เรื่องราวมีต่อ ๆ ไป ดังนั้นการฝึกฝนของนักมวยปล้ำมีความเข้มข้นกว่ากีฬาชนิดอื่นด้วยซ้ำ ทั้งยังต้องมีศาสตร์การพูด การ engage กับคนดู ถ้าคุณทำงานสายมวยปล้ำได้ ก็จะสามารถไปทำงานสายอื่นได้โดยที่ไม่ยากเย็น
The People: แล้วส่วนการเป็น entertainment ล่ะ มวยปล้ำทำหน้าที่อะไรบ้าง
ปรัชญ์ภูมิ: มวยปล้ำเป็นสิ่งที่ถูกวางเป็นก้อนกลม ๆ อยู่ แล้วคุณจะจับมันด้วยบริบทใดก็ได้ สำหรับเรามวยปล้ำเป็นเหมือนการสร้างโลกขึ้นมาอีกใบหนึ่ง วางมันอยู่ตรงนี้ แล้วคุณก็มองมวยปล้ำไป เหมือนคุณไปดูคอนเสิร์ตหนึ่งอัน คุณอาจจะชอบแมตช์ความสนุก นักมวยปล้ำทักษะดีมากเลย อาจชอบเรื่องราวเชิงละคร สัปดาห์ที่แล้วคนนี้มาแย่งเมียฉัน สัปดาห์นี้ฉันจะแก้แค้นยังไง มวยปล้ำสามารถหยิบยกอะไรได้มากมาย
ดังนั้นมวยปล้ำคือการหลีกหนีความจริงในระดับหนึ่งนะ คุณอาจจะชอบความเจ็บปวดก็ได้ บางอย่างมันอาจจะขัดต่อขนบธรรมเนียมดั้งเดิม แต่คุณสามารถทำได้อย่างถูกต้อง สามารถบอกได้ว่าอยากเห็นเมียคนนี้มาตบกับเมียคนนี้ เราสามารถพูดได้ในบริบทมวยปล้ำ
The People: การมีคนดี-คนเลวมาการต่อสู้กัน ซึ่งบางครั้งคนดีก็ไม่ได้ชนะเสมอ ฟังดูมวยปล้ำเป็นโลกจำลองบนเวทีเหมือนกันนะ
ปรัชญ์ภูมิ: เห็นด้วยนะ เราอาจถูกปลูกฝังมาว่าคนดีต้องชนะในบั้นปลาย คนไม่ดีต้องเจอผลกรรมเข้าไปสักทางหนึ่ง แต่มวยปล้ำมันเหมือนอะไรที่บอกกับเราว่ามันไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป ต่อให้พระเอกไม่ชนะ แต่พระเอกจะเอาตัวรอดจากความพ่ายแพ้นั้นได้อย่างไร เขาจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรกับบริบทที่กลายเป็นผู้แพ้ จะก้าวกลับขึ้นมาได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ชอบจากมวยปล้ำ มวยปล้ำเหมือนละครเรื่องยาว มันไม่ใช่ว่า จอห์น ซีนา (John Cena) จะแพ้วันนี้แล้วละครจะจบในสองเดือนข้างหน้า เขายังอยู่ในวงการมวยปล้ำต่อไปอีก 10-20 ปี จอห์น ซีนา จะกลับจากคนพ่ายแพ้กลายเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร มวยปล้ำเป็นภาพสะท้อนที่สอนเราตรงนั้น
โลกของมวยปล้ำทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ เราค่อนข้างจริงจังกับคำว่า “โลกอีกใบของมวยปล้ำ” นะ เราอยู่ในวงการมวยปล้ำมานาน สิ่งที่เราสัมผัสได้ชัดเจนคือ ยิ่งรู้สึกว่ามวยปล้ำมันจริงมากเท่าไร เรายิ่งรู้สึกว่าห่างไกลจากมันไปเรื่อย ๆ เช่น นักมวยปล้ำส่วนใหญ่จะมีชื่อในวงการเรียกว่า Ring Name หรือชื่อที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในวงการมวยปล้ำ วันหนึ่งเขาหายไป เลิกปล้ำ หรืออะไรก็ตามแต่ เราแทบไม่รู้ชื่อจริงของเขาด้วยซ้ำ ดังนั้นบางคนในวงการมวยปล้ำจะมีตัวตนอยู่แค่ในโลกของมวยปล้ำเท่านั้น
The People: ทำไมเราต้องเข้าใจว่ามวยปล้ำคือละคร มีบท มีคิว และเป็นการแสดง?
ปรัชญ์ภูมิ: หน้าที่ของมวยปล้ำคือการเล่าเรื่องเรียกว่า story telling
เราไม่ปฏิเสธแล้วกัน มวยปล้ำมันคือ sport entertainment เราปฏิเสธมันไม่ได้แล้วแหละว่า สิ่งที่เกิดกับมวยปล้ำตอนนี้สามารถคิดได้ว่ามันมีสคริปต์ปกป้องอยู่ แต่สิ่งที่คุณไม่ควรคิดเลยคือมันไม่เจ็บ หรือคุณไม่ให้เกียรตินักมวยปล้ำ คำถามที่ถามว่าทำไมมวยปล้ำโกหก ปลอม คุณต่อยห่างกันตั้งฟุตหนึ่ง แล้วทำไมคุณกระเด้งกระดอนเหมือนโดนต่อยจริง ถ้ามองในบริบทมวยปล้ำก็คือการเล่าเรื่องให้ชัดเจน มันก็เหมือนดูละครเรื่องหนึ่งที่มีการจูบปลอม เล่นมุมกล้อง รถชนปลอม ๆ เพื่อให้เรารู้ว่าเขาต้องการสื่ออะไร
ปัญหาเกิดขึ้นจากตรงนี้ การที่คุณคิดว่านักมวยปล้ำไม่เจ็บ ไม่ปวด มันคือการแสดง 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแอบเล่นกันเอง ซึ่งอันตรายถึงแขนหัก ขาหัก เสียชีวิต สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากทัศนะคตินี้ล้วน ๆ คนทั่วไปจะบอกว่าทำไมชอบมวยปล้ำ ไปดูคนต่อยมวยดีกว่าเพราะมันต่อยกันจริงเลย มวยปล้ำโกหก แต่คำว่าโกหกที่เราเห็นในหน้าจอมันผ่านขั้นตอนการคิดมาเยอะมาก ทำอย่างไรให้มันปลอดภัยที่สุด
นักมวยปล้ำหลาย ๆ คนหวังว่ามันจะปลอดภัย แต่มันไม่ปลอดภัยหรอก เราเคยขึ้นเก้าอี้กระโดดลงมาทิ้งศอกแล้วกระดูกแตก นักมวยปล้ำที่อยู่ในค่ายเราผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มาเหมือนกัน แขนหักบ้าง คอหักบ้าง บนเวทีดูเหมือนง่ายนะ แต่ความจริงมันไม่ง่ายเลย อันตราย
[caption id="attachment_12140" align="alignnone" width="1200"]
ปูมิ-ปรัชญ์ภูมิ บุณยทัต[/caption]
The People: คุณเข้ามาทำงานในวงการมวยปล้ำได้อย่างไร
ปรัชญ์ภูมิ: เราเริ่มจากการเป็นแฟนมวยปล้ำ ชอบมวยปล้ำมาก แล้วลึก ๆ เราอยากรู้จักนักมวยปล้ำ สมัยก่อนเห็นโฆษณา Twitter ว่าสามารถเชื่อมคุณกับศิลปินที่คุณชอบได้ด้วยปลายนิ้ว เราก็เลยซื้อมือถือใหม่มาเพื่อเล่น Twitter พอเราเริ่มชอบมวยปล้ำมาก ๆ ก็เริ่มเขียนบทความ หาข่าวมวยปล้ำมาแปล ช่องโทรทัศน์ไทยช่องหนึ่งเขาต้องการคนที่มีความรู้เรื่องมวยปล้ำมาเป็นโปรดิวเซอร์รายการมวยปล้ำญี่ปุ่น เขาชวนไปให้ข้อมูลก่อน เริ่มไปสัมภาษณ์นักมวยปล้ำ จนได้โอกาสในการพากย์มวยปล้ำ พอพากย์ประมาณ 4-5 สมาคม คนญี่ปุ่นก็เริ่มสงสัยว่าคนพากย์มันเป็นใครนะ ก็เลยมีโอกาสรู้จักกับนักมวยปล้ำ เอมิ ซากุระ (Emi Sakura) จากจุดที่เรากระตือรือร้นในการเข้าหา
ช่วงหนึ่งเขาต้องการออกจากสมาคมมวยปล้ำญี่ปุ่น ก็เห็นว่าในประเทศไทยมีตลาดที่น่าสนใจ ก็เริ่มคุยกันว่าสร้างสมาคมในไทยได้ สมาคม Gatoh Move Pro Wrestling Thailand จึงเกิดจากความรู้สึกว่า “ทำไมถึงไม่มีสมาคมมวยปล้ำในไทย” ตลาดมวยปล้ำค่อนข้างใหญ่มากนะ แต่มันไม่มีนักมวยปล้ำไทยของตัวเองเลย ก็เลยเป็นความคาใจในระดับหนึ่ง
The People: บรรยากาศการก่อตั้งสมาคมมวยปล้ำในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ปรัชญ์ภูมิ: ตอนนั้นเราอยู่ประมาณปี 2553 เป็นช่วงเวลาที่ขอเงินพ่อแม่แหละ แต่มันเป็นช่วงที่ความฝันแข็งแรงที่สุดแล้วในชีวิต เราพูดมาตลอดว่ามวยปล้ำของเราเริ่มขึ้นมาจากจุดที่ต่ำกว่าศูนย์ ไม่มีอะไรเลยแม้กระทั่งเม็ดเงิน ไม่มีสถานที่ มีอย่างเดียวคือคนที่ชอบมวยปล้ำและอาจารย์มวยปล้ำมาจากญี่ปุ่น คุยกันแล้วก็คิดว่าเราอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องทำให้คนสนใจ ก็เลยขออนุญาตยามที่สวนลุมพินีไปปล้ำกันที่นั่น ถ้าเกิดมีคนสนใจก็มาจอยกัน หลังจากนั้นก็ไปสวนเบญจสิริ หลังคอนโดฯ ไปหัวหิน พยายามนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ มันก็เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น
หลายคนเข้ามาหาเราและอยากเป็น อันเดอร์เทกเกอร์ (Undertaker), สโตน โคลด์ (Stone Cold), เดอะ ร็อก (The Rock) กันเลย แต่พอเราบอกว่าคุณต้องฝึกตั้งแต่พื้นฐาน ม้วนหน้าไปเลย 2 เดือน ม้วนหลัง 2 เดือน ร้อยทั้งร้อยก็ไม่อยู่กับเรา ตอนนั้นเม็ดเงินค่อย ๆ หมด เราก็หาเงินกระทั่งแพ็คแซนด์วิซขายริมถนนแถวอุดมสุข อย่างน้อยได้เงินมานิดหน่อยมาต่อยอดก็ยังดี เริ่มเรียนนวดแผนไทย พยายามต่อยอดไปเรื่อย ๆ จนเริ่มรู้สึกท้อ แต่ท้ายสุดความพยายามอย่างหนักหน่วงของเราก็เริ่มเห็นผล เริ่มมีคนเข้ามาสนใจ สื่อใหญ่เริ่มสนใจ และเริ่มได้รับการสนับสนุน เราก็เลยเริ่มจัดโชว์
The People: ผลตอบรับการจัดโชว์ครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง
ปรัชญ์ภูมิ: แย่มาก แย่ที่สุด ครั้งแรกเราใช้สถานที่ที่สุขุมวิท 13/1 ซึ่งมันตรงกับกิจกรรมคาราเต้พอดี ก็ยังพอมีนักเรียนคาราเต้มานั่งดู แต่ครั้งที่สองความจริงก็ปรากฏออกมาแล้ว เรามีคนดูแค่ 6-7 คนเอง เป็นงานฟรีด้วยนะ การจัดโชว์นอกจากจะยากในตัวเราเองแล้ว ยังยากในการบอกคนอื่นว่าทำไมต้องมาดูเราอีก
อย่างแรกยุคนั้นกระแสมวยปล้ำก็ดรอปลงแล้ว ไม่มีรายการโทรทัศน์ฉาย อย่างที่สองคือคนดูมาด้วยความตื่นเต้น อยากเห็นเวทีใหญ่ แต่เราเป็นเบาะ 2x4 เมตรเอง อย่างที่สามนักมวยปล้ำไทยคาแรคเตอร์ยังไม่โดดเด่น การฝึกหนัก ๆ ยังไม่ตอบโจทย์ความพึงพอใจของคนไทยได้อยู่ดี หลายคนหวังว่ามันจะสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เราก็นั่งร้องไห้กันที่เซ็นทรัลเวิลด์ แต่สุดท้ายเราก็ต้องฝึกกันไปเรื่อย ๆ ทำให้มันดีขึ้น ถ้าเรายังไม่หยุด งานหน้ามีคนเพิ่มมาสักคนสองคนก็ยังทำได้กันต่อไป
The People: จากคนดูไม่กี่คน สู่คนดูมากมายระดับเช่าโรงละครในการจัดงาน จุดเปลี่ยนของ Gatoh Move Pro Wrestling คืออะไร
ปรัชญ์ภูมิ: เราไม่ยอมแพ้ในวันที่เราดาวน์ที่สุด เราพยายามคุยกันว่าต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง ปรับปรุงอะไรบ้าง แล้วโชคดีแฟนมวยปล้ำพยายามปรับตัวเข้าหาเรา เราก็พยายามทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับครอบครัว การบอกว่าเป็นครอบครัวของเราใหญ่ขึ้นมันมีคุณค่ามากกว่าการบอกว่าบริษัทเราใหญ่ขึ้น แฟน ๆ ของเราอยู่ตั้งแต่ช่วยเก็บของ ช่วยหาสถานที่ในการจัดโชว์ ช่วยหาสถานที่ในการผลิตสินค้า ทุกอย่างมันเติบโตไปพร้อม ๆ กัน
[caption id="attachment_12141" align="alignnone" width="1500"]
ภาพจาก Gatoh Move Pro Wrestling[/caption]
The People: Gatoh Move Pro Wrestling จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ปรัชญ์ภูมิ: สิ่งที่เราต้องพัฒนาขึ้นมาอีกคือเรื่องการสร้างความเข้าใจของคนในสังคม ธุรกิจมวยปล้ำต้องสร้างความเข้าใจในแง่ทั้งผู้สนับสนุน มวยปล้ำของเราแทบจะไม่มีผู้สนับสนุนเลย เพราะว่าคนยังจำภาพว่ามวยปล้ำคือการแสดง เป็นความรุนแรงที่ไม่น่าให้อภัย เรายังไม่สามารถแก้ไขทัศนคติตรงนี้ของคนทั่วไปได้
ถ้าใครมาดูโชว์จะเห็นว่าความรุนแรงไม่ได้มากไปกว่าการเล่าเรื่อง เหมือนที่เราดูมวยปล้ำในวัยเด็กที่มองเป็นซูเปอร์ฮีโรตัวหนึ่งมาสู้กันต่อหน้า มีคนดีปราบผู้ร้าย แล้วมวยปล้ำจะเติบโตไปได้ไกลกว่าเดิม
The People: ในระดับโลก วงการมวยปล้ำตอนนี้มีความน่าตื่นเต้นอย่างไรบ้าง
ปรัชญ์ภูมิ: ณ ตอนนี้ มันเป็นการแข่งขันของทุกค่ายที่แข็งแรงมาก เรารู้สึกว่า WWE (สมาคมมวยปล้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก) ผูกขาดหลังจาก WCW (อดีตสมาคมมวยปล้ำชื่อดัง) ล่มสลาย และ IMPACT (อีกหนึ่งสมาคมมวยปล้ำ) ยุติลง แต่ตอนนี้เป็นการเติบโตของยุค streaming นะ วงการมวยปล้ำเล็ก-ใหญ่ทั่วโลกมีระบบออนไลน์ของตัวเอง ทำให้ตอนนี้คุณมีทางเลือกกับการดูสมาคมมวยปล้ำเยอะมาก ดังนั้นคนที่บอกว่ามวยปล้ำไม่สนุก เราไม่ค่อยเชื่อ อาจเป็นสมาคมที่คุณติดตามมาตลอดที่มันไม่สนุกหรือเปล่า แต่ยังมีสมาคมอื่น ๆ อีกมากมายให้คุณเลือกดูไม่หมด นี่เป็นสิ่งที่เราตื่นเต้นมาก
สมัยก่อนเราดูมวยปล้ำญี่ปุ่นยากมาก ตอนนี้คุณสามารถกดคลิกเดียวดูทุกอย่างได้เลย และด้วยความที่โลกมวยปล้ำมันเติบโตไปพร้อม ๆ กับอินเทอร์เน็ต สมัยก่อนเราอยากเห็นนักมวยปล้ำญี่ปุ่นไปสู้กับนักมวยปล้ำอเมริกาจัง เพราะมันเป็นเรื่องยากเนื่องจากตลาดค่อนข้างแคบ แต่สมัยนี้นักมวยปล้ำญี่ปุ่นดัง ๆ อยู่ในสายตาของอเมริกาแน่นอน โลกมันแคบลงเพราะอินเทอร์เน็ต โอกาสที่จะเห็น dream match ต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ก็ง่ายขึ้น
The People: เคยมองตัวเองเป็นคาแรคเตอร์นักมวยปล้ำไหม
ปรัชญ์ภูมิ: ไม่เคยหรอก แต่ถามว่าเราชอบแบบไหน เราชอบ แรนดี ซาเวจ (Randy Savage) มันจะมีคำว่า ‘Larger than life.’ สมัยก่อนมวยปล้ำดำเนินแบบนั้น จะไม่เหมือนความเป็นจริง ทั้งพูด ตะโกน โกรธ ร้องไห้ อารมณ์แปรปรวนกับเรื่องง่าย ๆ มีแนวคิดง่าย ๆ ว่าไม่มีเหมือนโลกความเป็นจริง เราชอบแบบนั้น ทุกอย่างที่เกี่ยวกับมวยปล้ำจะ over กว่าชีวิตจริง เพื่อให้คนดูรู้สึกว่านักมวยปล้ำเขาเหนือกว่าเราไปอีกขั้น
สมัยนี้มวยปล้ำพยายามทำให้ดูเป็นปกติมากเกินไป เราไม่ค่อยอินเท่าไร ตัวแมตช์สนุก ๆ แต่เราไม่อยากดูนักคาราเต้สู้มวยปล้ำกับนักเทควันโด เราอยากดูผีดิบสู้กับสิงห์มอเตอร์ไซค์ มนุษย์หมาป่าสู้ซอมบี้ มันน่าจะสนุกมากกว่า
The People: นอกจากอาชีพการงานแล้ว มวยปล้ำให้อะไรคุณอีก
ปรัชญ์ภูมิ: มวยปล้ำทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างเป็นไปได้ เรายังเชื่ออะไรแบบนี้นะ เราเป็นคนค่อนข้าง sensitive และต้องการอะไรในการยึดเหนี่ยวชีวิต เรารู้สึกว่ามวยปล้ำคือที่ที่เรา... อยากทำอะไรก็สามารถทำได้ ในวงการมวยปล้ำเราสามารถแต่งตัวเป็นอะไรก็ได้ สามารถกลายเป็นเสือ กลายเป็นมังกร กลายเป็นอะไรก็ได้ ในบางขณะชีวิตก็ต้องการการปลดปล่อยอะไรแบบนั้น
มวยปล้ำอาจไม่ได้ให้อะไรกับเรามากมายก่ายกอง แต่สิ่งที่สำคัญคือมวยปล้ำดึงความทุกข์จากเราไปเยอะมาก มวยปล้ำทำให้เรารู้สึกอยากเป็นคนที่ดีขึ้น ในฐานะคนทำงานมวยปล้ำเราอยากให้คนรู้สึกว่ามวยปล้ำมีคุณค่า สิ่งที่ทำให้เราชอบมวยปล้ำคือมันทำอะไรกับคนได้จริง ๆ เช่น เรื่องของประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลก เขาแพ้สงครามจากอเมริกาที่ทิ้งระเบิดใส่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็ใช้วิธีเอาคนอเมริกันมาแพ้ให้กับนักมวยปล้ำญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นก็มีกำลังใจขึ้นมา กรณีนี้ทำให้รู้สึกว่ากีฬาที่เราดูเพื่อความสนุกเฉย ๆ มันมีผลระดับชาติเลย เราจึงอยากให้คนทั่วไปได้มองมวยปล้ำในมุมที่เราเห็นบ้าง
ตอนนี้เราได้แรงบันดาลใจจากมวยปล้ำมากมาย แม้กระทั่งการเอาตัวรอดจากวันที่เราดำดิ่งที่สุดกับชีวิต นักมวยปล้ำหลายคนก็เป็นตัวอย่าง เป็นไอดอลให้กับเรา มันเลยทำให้มวยปล้ำเป็นสิ่งที่พิเศษสำหรับเรา
The People: คุณยังทำแฟนเพจ “มนุษย์มวยปล้ำ” แต่ทำไมเพจของคุณมีแต่รูปศิลปินไอดอลญี่ปุ่น
ปรัชญ์ภูมิ: มวยปล้ำเป็นตลาดที่แคบมาก ๆ เราทำเพจมวยปล้ำเพราะต้องการพูดในเชิงมนุษย์ว่ามีอะไรบ้าง เราอยากให้คนอื่นเห็นมวยปล้ำนอกเหนือจากการเห็นนักสู้สองคนมาตีกัน เห็นว่ากว่าคนคนหนึ่งจะขึ้นเวทีมันผ่านอะไรบ้าง หรือการสู้บนเวทีเหล่านี้เขาเจ็บตัวเพื่ออะไร เห็นว่าเขาพยายามทุกอย่างในชีวิตเพื่อไปอยู่ในหน้าจอ การดูมวยปล้ำของคุณจะเปลี่ยนไป คุณจะรู้สึกกับมันมากขึ้น เห็นคุณค่ามากขึ้น
ทีนี้กลับเข้ามาว่าทำไมเพจของเราถึงมีรูปไอดอลเยอะ เพราะเรารู้สึกว่าการดึงคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นแฟนมวยปล้ำเข้ามารู้จักกับมวยปล้ำ คือการให้ข้อความบอกกับเขาว่า มวยปล้ำมันไม่ได้แคบขนาดนี้ คนที่คุณชอบหรือคนที่คุณชื่นชม เขาก็ชอบมวยปล้ำเหมือนกัน และเขาเคยได้อะไรจากมวยปล้ำเหมือนกัน สมัยก่อนไอดอลบางคนรู้สึกว่างอแงมากเลย แต่พอได้ดูมวยปล้ำก็มีกำลังใจนะ เราก็เลยอยากเล่าเรื่องมวยปล้ำผ่านปากของหลาย ๆ คน เพื่อให้คนอ่านเลือกจะเชื่อใครก็ตาม และมันก็ทำให้มวยปล้ำมีคนชอบมากขึ้น
[caption id="attachment_12137" align="alignnone" width="960"]
ปูมิ-ปรัชญ์ภูมิ บุณยทัต[/caption]