ศาลปกครอง ตัดสิทธิผู้ใหญ่บ้านเคยต้องคำพิพากษา แม้จะได้รับการล้างมลทิน
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นบุคคลที่ตกเป็นเป้าการตรวจสอบของสังคมมากที่สุดคนหนึ่งในสมาชิกคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หนึ่งในประเด็นปัญหาคือ กรณีที่เขาเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย และเอกสารทางศาลในออสเตรเลียระบุว่าเขา "รับสารภาพ" ว่ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการนำเข้าเฮโรอีน และต้องคำพิพากษาลงโทษให้จำคุก 6 ปี (SMH)
เพื่อแก้เกมทางฝ่ายกฎหมายของธรรมนัสจึงได้มอบเอกสารชี้แจงแก่สื่อมวลชนถึงปัญหาดังกล่าวโดยชี้ว่า ร.อ.ธรรมนัสมีคุณสมบัติครบถ้วนในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ด้วยผลของพระราชบัญญัติล้างมลทิน 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2539 และ 2550 ทำให้มลทินของเขาในคดียาเสพติดและโทษทางวินัยหมดไป
"ด้วยผลของกฎหมายของ พ.ร.บ.ล้างมลทินทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มีผลให้ 1.ร.ท.พชร พรหมเผ่า (ชื่อเดิมของธรรมนัส) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลออสเตรเลีย และไม่เคยถูกลงทัณฑ์ทางวินัยคดีขาดราชการ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 2.ร.อ.ธรรมนัสไม่เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 3.ร.อ.ธรรมนัสเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย และไม่เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดตามคำพิพากษาศาล และไม่เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัย ทำให้มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.และการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี" (ไทยโพสต์)
การชี้แจงในลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่าทางฝ่ายกฎหมายของ ร.อ.ธรรมนัสเองก็คงกังวลว่า คำพิพากษาของต่างประเทศอาจมีผลต่อคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย จึงต้องยกเอาพระราชบัญญัติล้างมลทินทั้งสองฉบับมาอ้าง แม้ว่าก่อนหน้านี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะออกมากล่าวว่า ในอดีตเคยมี ส.ส.ต้องคำพิพากษาในต่างประเทศกรณีขนยาเสพติดเข้าฮ่องกง ก็ไม่มีผลกระทบอะไรกับคุณสมบัติ เพราะต้องถือคำพิพากษาของศาลไทยเป็นหลัก
นักกฎหมายไม่น้อยเชื่อในคำอธิบายดังกล่าว แต่ก็น่าสงสัยว่า ถ้า "หัวใจ" และ "หลักการ" ของการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าว อยู่ที่การคัดเลือกผู้ที่มีจริยธรรม ไม่กระทำการอันขัดต่อศีลธรรมและมาตรฐานอันดีของสังคมแล้ว ทำไมถึงไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในความผิดที่ไทยเองก็เห็นพ้องว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและได้บัญญัติห้ามไว้ในกฎหมายเช่นกัน?
และเพื่อปิดช่องโหว่การตีความในอนาคตว่า คำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็มีผลต่อคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ทางทีมกฎหมายของ ร.อ.ธรรมนัสจึงยกพระราชบัญญัติล้างมลทินทั้งสองฉบับขึ้นมาอ้าง แต่ข้ออ้างดังกล่าวก็อาจจะไม่สามารถปิดช่องโหว่ได้ทั้งหมด
เพราะในอดีตศาลปกครองไทยเคยตัดสินว่า การล้างมลทินไม่ได้มีผลเป็นการล้างคำพิพากษา หากแต่เป็นการล้างโทษให้ผู้ที่เคยต้องโทษ ซึ่งก็แปลว่า ความผิดที่เคยทำไว้หาได้ถูกล้างไปด้วย เพียงแต่ถือว่า ไม่เคยได้รับโทษตามความผิดนั้นเท่านั้น
จากข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขแดงที่ 415/2557 มีหญิงรายหนึ่ง (ขอเรียกในคราวต่อไปว่า อ.) ลงสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ แต่กลับถูกนายอำเภอแจ้งว่าเธอขาดคุณสมบัติ เนื่องจากมีประวัติต้องคดีอาญาในข้อหาเป็นเจ้ามือจำหน่ายสลากกินรวบ (หวยเถื่อน) แต่ อ. แย้งว่า เธอเคยต้องคำพิพากษาดังกล่าวจริงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ปี 2550 ศาลตัดสินให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท รอการลงโทษไว้ 1 ปี
แต่เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 มีผลให้ อ. ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาข้างต้นได้รับการล้างมลทิน จึงไม่ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457
อย่างไรก็ดี นายอำเภอกลับเห็นว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินไม่ได้ล้างความผิดอย่างที่ อ. อ้าง เลยวินิจฉัยว่า อ. ขาดคุณสมบัติ อ. จึงอุทธรณ์คำสั่งของนายอำเภอไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ผู้ว่าฯ ก็ยกคำอุทธรณ์อีก เธอจึงต้องไปฟ้องกับศาลปกครอง
ในการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ศาลเห็นพ้องกับ อ. ว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินช่วยล้างทั้งโทษและความผิดให้กับผู้ต้องคำพิพากษา จึงสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของนายอำเภอ และเพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ว่าฯ ที่ให้ยกอุทธรณ์ของ อ. แต่นายอำเภอ และผู้ว่าฯ สู้คดีต่อ
ศาลปกครองสูงสุดให้ความเห็นถึงกรณีโดยยก มาตรา 12 (11) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ขึ้นมาพิจารณา และลงความเห็นว่า "กฎหมายกำหนดแต่เพียงว่าเป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิด ก็ถือว่ามีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว แม้จะมิได้มีการลงโทษตามคำพิพากษาดังกล่าว"
และพระราชบัญญัติล้างมลทิน พ.ศ. 2550 ในมาตรา 7 ก็ระบุว่า การล้างมลทินตามมาตรา 4 (ผู้ต้องโทษในความผิดต่าง ๆ ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้พ้นโทษไปก่อน) และ มาตรา 5 (ผู้ถูกลงโทษทางวินัยก่อนวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อน) ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการล้างทลทินในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น
ในขณะเดียวกัน กฎหมายล้างมลทินก็มิได้บัญญัติให้ลบล้างการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ถูกลงโทษ หรือล้างมลทินว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดไว้
ศาลปกครองสูงสุดจึงให้ข้อสรุปว่า "การล้างมลทินตามพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยถูกลงโทษ แต่มิได้มีผลเป็นการลบล้างคำพิพากษาว่าได้มีการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ถูกลงโทษด้วย ดังนั้น ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดว่าด้วยการพนัน หรือกฎหมายอื่น ๆ ตามมาตรา 12(11) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 จึงไม่ได้ประโยชน์จากการล้างมลทิน ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ในอันที่จะอ้างสิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านได้"
ในส่วนผลของพระราชบัญญัติล้างมลทินต่อการกระทำความผิดในอดีตของ อ. นั้นศาลเสริมว่า "เมื่อพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 ผู้ฟ้องคดีจึงได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยถือว่ามิเคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น แต่พฤติกรรมหรือการกระทำความผิดซึ่งศาลจังหวัดศรีสะเกษได้มีคำพิพากษาว่า ผู้ฟ้องคดีได้กระทำความผิดฐานความผิดเป็นเจ้ามือหวยสลากกินรวบ พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ยังคงอยู่
“กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการพนัน ผู้ฟ้องคดีจึงมีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา 12 (11) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 และทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว"
กล่าวโดยสรุปก็คือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ กำหนดไว้ว่า ลำพังบุคคลที่ "ต้องคำพิพากษา" ในคดีบางลักษณะอย่างเช่น คดีการพนัน คดีป่าสงวน อาวุธปืน ยาเสพติด หรือการพนัน แม้จะไม่เคยได้รับโทษจำคุกจริง ๆ ก็ถือว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามที่จะเป็นผู้ใหญ่บ้านได้แล้ว เหมือน อ. ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แต่ยังไม่ได้ติดคุกจริง ๆ เพราะโทษจำคุกศาลให้รอลงอาญาไว้
ส่วนพระราชบัญญัติล้างมลทินนั้น ศาลปกครองสูงสุดชี้ว่า กฎหมายฉบับนี้ "ล้างแต่โทษ" คือถือว่า บุคคลนั้นไม่เคยต้องโทษ แต่ไม่ได้ล้างคำพิพากษาว่า บุคคลนั้นเคยกระทำความผิด คำพิพากษานั้นจึงยังคงอยู่ กฎหมายไม่ได้ย้อนเวลาไปล้างความผิดที่ผู้ต้องคำพิพากษาได้กระทำไว้แต่อย่างใด
ในเมื่อพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่าต้อง "ไม่เคยต้องคำพิพากษา" ในคดีการพนันมาก่อน อ. จึงไม่ได้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทิน
กลับกัน หากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่เขียนว่า "ไม่เคยต้องโทษ" ในคดีการพนันมาก่อน เช่นนี้แล้ว นักการเมืองที่เคยต้องคำพิพากษาในคดีการพนันและติดคุกจริงมาก่อน ย่อมได้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทิน และไม่ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ใหญ่บ้าน (ในขณะที่ อ. ไม่ต้องรอล้างมลทินก็มีสิทธิ เพราะแม้จะต้องโทษจำคุก แต่โทษนั้นรอลงอาญาไว้ จึงถือได้ว่าไม่เคยต้องโทษ)
หากมาดูรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในเรื่องที่ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรีตามมาตรา 160 นั้น นอกจากจะต้อง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตาม (4) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตาม (5) และลักษณะต้องห้ามอื่น ๆ เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ใน (7) ยังระบุว่าต้อง
"ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท” ด้วย
ซึ่งก็แปลว่า ถ้าบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาในคดีความผิดที่เกิดจากการกระทำโดยเจตนาซึ่งมีโทษจำคุกสูงกว่า 1 เดือน หรือโทษปรับเกิน 10,000 บาทแล้ว ต่อให้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุด หรือถึงที่สุดแล้ว ศาลให้รอการลงโทษไว้ ผู้นั้นก็มีคุณสมบัติต้องห้ามทันที
หากเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ยกมาข้างต้น หาก (สมมติ) ว่า ข้อเท็จจริงคือ ก. เคยต้องคำพิพากษาในคดียาเสพติดและถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี ต่อมาได้มีการออกกฎหมายล้างมลทินออกมาด้วยข้อความเช่นเดียวกับ พระราชบัญญัติล้างมลทิน พ.ศ. 2550 แล้ว ก. ย่อมมีลักษณะต้องห้ามที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (7) อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะกฎหมายล้างมลทินเช่นนั้นไม่อาจล้างความผิดของ ก. ได้
อย่างไรก็ดี ร.อ.ธรรมนัสไม่ใช่ อ. และไม่ใช่ ก. เพราะ ร.อ.ธรรมนัสไม่เคยต้องคำพิพากษาของศาลไทย หากเกิดการพิจารณาคดีตรวจสอบคุณสมบัติของเขาขึ้นมา ถ้าตุลาการผู้มีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัสไม่ยอมรับฟังคำพิพากษาของศาลออสเตรเลียเสียอย่าง เขาย่อมไม่มีปัญหาคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรีแต่อย่างใด และทีมกฎหมายของ ร.อ.ธรรมนัสก็ไม่จำเป็นต้องอ้างพระราชบัญญัติล้างมลทินทั้งสองฉบับขึ้นมาให้เสียเวลา
เว้นเสียแต่ ตุลาการเกิดเห็นขึ้นมาว่า ผู้ต้องคดีอาญาในความผิดร้ายแรง ไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดขึ้นที่ใดของโลก หากความผิดนั้นมีอยู่ในกฎหมายไทยและบุคคลผู้กระทำผิดนั้นเป็นคนไทย เมื่อต้องคำพิพากษาในต่างประเทศแล้ว ก็ควรนำมาใช้พิจารณาร่วมในกรณีคุณสมบัติในการรับตำแหน่งรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญด้วย ตรงนี้คุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัสอาจมีปัญหาขึ้นมาทันที ถ้าหากตุลาการผู้มีอำนาจวินิจฉัยเกิดเห็นตามศาลปกครองสูงสุดด้วยว่า การล้างมลทิน ล้างได้แต่โทษ แต่ล้างความผิดที่บุคคลดังกล่าวได้ทำไว้ไม่ได้