20 ก.ย. 2562 | 16:15 น.
มิวสิคัลอันดับ 1 ของโลก เดอะ ไลอ้อน คิง (The Lion King) ได้มาเปิดการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย ในเดือนกันยายนนี้ ณ โรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ซึ่งนี่นับเป็นโปรดักชั่นบรอดเวย์ครั้งที่ 25 ที่เปิดแสดงเป็นภาษาอังกฤษ (พร้อมคำบรรยายภาษาไทย)
เดอะ ไลอ้อน คิง มิวสิคัล เป็นการแสดงโปรดักชั่นระดับยักษ์ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยได้สร้างมาตรฐานใหม่ด้านงานศิลป์ให้กับวงการละครเวที ไม่ว่าจะทั้งเรื่องเวที เครื่องแต่งกาย และการออกแบบท่าเต้น ที่สื่อถึงภาพของทุ่งหญ้าสะวันนาอันกว้างใหญ่ของแอฟริกา โดยละครเพลงเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดนตรี ภาษา และศิลปะของชาวแอฟริกัน อีกทั้งนี่ยังเป็นการแสดงที่มีผู้ชมเข้าชมมาแล้วกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก และในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ก็เป็นคิวของประเทศไทยที่จะได้รับชมละครเวทีเรื่องนี้
ตัวโชว์เปิดตัวได้อย่างงดงามและสุดอลังการ เราจะได้เห็นสัตว์นานาชนิดบนเวทีเดียวกันทั้งเจ้าป่าอย่างสิงโต เสือ ม้าลาย ยีราฟ หรือแม้กระทั่งนกเรียกได้ว่าตัวโชว์จะพาทุกคนหลุดเข้าไปในทุ่งหญ้าสะวันนาอันกว้างใหญ่ของแอฟริกาได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่โชว์เริ่มต้นขึ้น องก์แรกของโชว์จะเล่าเรื่องราวของ มุฟาซา ราชาแห่งเจ้าป่าผู้ยิ่งใหญ่กับลูกสิงโตจอมซนของเขาอย่าง ซิมบ้า ว่าที่ราชาคนต่อไป โดยบทเรียนพ่อสอนลูกที่ซิมบ้าได้เรียนรู้จากผู้เป็นพ่อคือวัฏจักรชีวิตที่ทุกคนล้วนเกิดแก่เจ็บตาย และมีหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองเสมอ
ด้าน สการ์ น้องชายของมุฟาซาผู้หวังจะขึ้นเป็นเจ้าป่าแทน ก็เปรียบเหมือนกับด้านมืดของคนในชีวิตจริง ที่ทุกคนล้วนแต่มีความต้องการและปรารถนาในสิ่งต่าง ๆ เสมอ แม้ว่าสิ่งนั้นจะแลกมาด้วยความไม่ถูกต้องก็ตามที
ตัวโชว์ถ่ายทอดความสวยงามของ เดอะไพรด์แลนด์ ผ่านโปรดักชั่นที่อลังการมากจริง ๆ ทั้งเรื่องของฉากบนเวที ที่ใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่นแสงสีและโดยเฉพาะเสียงสร้างบรรยากาศให้ทุกคนนึกถึงภาพของทุ่งหญ้าสะวันนาอันกว้างใหญ่และความสวยงามของวัฒนธรรมแอฟริกัน หลายคนอาจจะเคยจินตนาการว่าถ้า เดอะ ไลอ้อน คิง กลายมาเป็นละครเวที มันก็คงหนีไม่พ้นการที่เอาคนมาใส่เป็นชุดสัตว์เดินสี่ขาเหมือนเสือหรือใช้สลิงดึงขึ้นไปบนฟ้าให้เหมือนนก ซึ่งถ้าคุณกำลังตีความโชว์นี้แบบนั้นผมคงต้องบอกว่าผิดแล้ว
นักแสดงทุกคนที่มารับบทในมิวสิคัลเรื่องนี้ต้องเรียนรู้ธรรมชาติของสัตว์ที่ตนจะมาเล่นเสียก่อน ทั้งเรื่องของลักษณะนิสัยและท่าทาง ซึ่งแม้นี่คือการเอาคนมาเล่าเรื่องผ่านสัตว์ต่าง ๆ แต่ในมุมหนึ่งตัวโชว์ก็พยายามจะสื่อให้เห็นว่ามนุษย์กับสัตว์ก็ไม่ต่างกัน เราจะสังเกตได้จากฉากต่อสู้ของซิมบ้าและสการ์ ที่ทั้งสองใส่หน้ากากเสือและใช้ดาบฟาดฟันกันแทนที่จะเป็นคนเดินสี่ขาแต่งตัวเป็นสัตว์และกัดกันเหมือนเสือจริงๆ
อีกทั้งในองก์ที่สองเราจะได้เห็นถึงความสวยงามของวัฒนธรรมแอฟริกันที่หลายคนไม่เคยได้เห็น เช่นภาษาหรือการเต้นท้องถิ่น รวมถึงชุดแต่งกายพื้นเมืองของคนแอฟริกันที่มากไปด้วยสีสัน เราจะเห็นถึงความตั้งใจของโชว์ที่นักแสดงทุกคนจะเต้นไม่พร้อมกัน นั่นแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของสัตว์จริง ๆ
ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคงเป็นเรื่องของดนตรีประกอบที่ถือว่าถ่ายทอดจิตวิญญาณของความเป็นแอฟริกันได้อย่างเต็มเปี่ยม ทำนองที่สวยงามบวกกับจังหวะขัด ๆ หรือซิงโคเพชั่น (Syncopation) แบบดนตรีแอฟริกัน กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้มิวสิคัลเรื่องนี้สมบูรณ์แบบ (ขอยกย่องผู้อยู่เบื้องหลังเพลงเหล่านี้ไล่ตั้งแต่ เลโบ เอ็ม, มาร์ก แมนซินา, เซอร์ทิม ไรซ์, เซอร์เอลตัน จอห์น และฮานส์ ซิมเมอร์)
ตลอดทั้งโชว์จะมีการใส่มุกที่เข้ากับสภาพสังคมไทย เป็นการเซอร์ไพรส์คนดูอยู่หลาย ๆ ช่วง ซึ่งแม้ตัวบทอาจจะไม่แข็งแรงหรือมีชั้นเชิงมากนัก แต่ถ้ามองตามในสิ่งที่โชว์พยายามจะนำเสนอให้เห็น คุณจะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ทั้งหมดล้วนแต่เป็นวัฏจักรของชีวิตที่สอนให้เราเติบโตและเข้าใจความหมายของการมีชีวิตอยู่นั่นเอง