27 ก.ย. 2562 | 18:05 น.
“ฉันจะต่อสู้เพื่อผู้อพยพ ชาวลาติโน่ และสิทธิของพวกเขา ฉันรู้สึกว่านั่นคือหน้าที่ของฉัน”
ในปี 2019 คามิล่า คาเบโย่ (Camila Cabello) คือนักร้องที่ทั้งประสบความสำเร็จและน่าหมั่นไส้ที่สุดในโลกในเวลาเดียวกัน เธอมีทั้งเพลงฮิตติดอันดับหนึ่งบิลบอร์ดชาร์ต มีชื่อเสียง เป็นไอดอลของใครหลายคน และที่สำคัญ ทุกการปรากฏตัวในครึ่งปีหลังเป็นต้องมาพร้อมกับ ชอว์น เมนเดส (Shawn Mendes) นักร้องหนุ่มที่เป็น ‘เพื่อนชายคนสนิท’ ที่ทำให้หญิงสาวจากทั่วโลกต้องอิจฉาไปตาม ๆ กัน แต่หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 16 ปีก่อนหน้านั้น ไม่ได้มีสัญญาณอะไรว่าเธอจะมาถึงจุดนี้ได้เลยสักนิด
คามิล่า คาเบโย่ เมื่อวัย 6 ขวบ คือเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ จากคิวบา ที่สะพายกระเป๋าเป้ยืนข้างแม่ของเธออยู่ที่ชายแดนสหรัฐฯ โดยที่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่รออยู่ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เมื่อเด็กหญิงคามิล่าโตขึ้นในเมืองใหญ่ที่ผู้คนต่างพูดคนละภาษากับเธอ เธอคือ ‘ผู้อพยพ’ ที่ครอบครัวไม่เคยมีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย และเป็นครอบครัวที่หลายคนยังมองว่าจะเข้ามาเป็นภาระของประเทศในอนาคต
เรียกได้ว่าแม้สังคมของสหรัฐฯ จะรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมอยู่ตลอดเวลา แต่ยังมีคนจำนวนมากที่เกลียดชังผู้อพยพ โดยเฉพาะผู้อพยพที่มาจากประเทศแถบลาตินอเมริกา จนถึงขั้นมีกลุ่มต่อต้านผู้อพยพอย่าง FAIR และ CIS ที่เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กหญิงคามิล่ามีเป้าหมายเดียวในชีวิตคือตั้งใจเรียนให้ได้ทุนจนจบเพื่อหางานที่มั่นคง ซึ่งอาชีพนักร้องไม่เคยอยู่ในสมองของเธอเลย
หากแต่สวรรค์คงดลใจให้เธอได้ลองทำอะไรที่เธอไม่เคยคิดจะทำมาก่อน คามิล่าในวัย 15 ปี ตัดสินใจว่าของขวัญวันเกิดเดียวที่เธอต้องการคือขอให้แม่ขับรถไปส่งเธอออดิชันเข้ารายการ The X Factor แต่เมื่อไปถึง ทีมงานกลับไม่ให้คามิล่าออดิชันอย่างที่เธอหวังไว้ เนื่องจากมีผู้เข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก คามิล่าตกเป็นผู้แข่งขันตัวสำรอง แม้ทุกอย่างจะดูไม่เป็นไปตามที่เธอคิด แต่คามิล่ากลับไม่ได้ยอมแพ้แค่นั้น เธอทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้ไปยืนต่อหน้ากรรมการบนเวที
“ฉันยืนกรานจะออดิชันให้ได้ ความดื้อนั้นคงมาจากสายเลือดคิวบาของฉัน”
หลังจากวันนั้น สายเลือดคิวบาที่ทำให้เธอต้องอดทนจากความยากลำบากและคำดูแคลนของคนรอบข้างมาโดยตลอด กลับเปลี่ยนชีวิตของเธอจากหน้ามือเป็นหลังมือ
คามิล่า คาเบโย่ กลายเป็นที่รู้จักในฐานะดาวเด่นของวง Fifth Harmony เธอและเพื่อนร่วมวงอีก 4 คนพากันกวาดรางวัลตั้งแต่อัลบั้มเดบิวต์ ไม่ว่าจะกี่เพลงต่อกี่เพลงที่ปล่อยออกมา ล้วนกลายเป็นเพลงติดหู เรียกยอดเข้าชมกว่าหลายร้อยล้านครั้งใน YouTube จุดเริ่มต้นในสายอาชีพของเธอกำลังไปได้สวย จนกระทั่งเธอขอยุติการเป็นสมาชิกวงในเดือนธันวาคมปี 2016
[caption id="attachment_12451" align="aligncenter" width="1600"] Fifth Harmony[/caption]คามิล่าเริ่มต้นบทใหม่ในชีวิตในฐานะนักร้องเดี่ยว และแม้จะมีคนจำนวนมากสนับสนุนเธอด้วยเหตุผลที่ว่าคามิล่ามีความสามารถที่จะไปได้ไกลกว่าคนอื่นในวง แต่มีคนอีกไม่น้อยเช่นกันที่เห็นว่าเธอ ‘ดังแล้วแยกวง’ หรือ ‘ทิ้งเพื่อน’ ดูเหมือนว่าทุกคนจะโยงการตัดสินใจของเธอเข้ากับชื่อเสียงไปเสียหมด แต่สำหรับเธอแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องการจริง ๆ จากการตัดสินใจครั้งนั้น คืออิสรภาพในการได้ทำดนตรีในแบบของตัวเอง ดนตรีแบบ ‘ลาติน่า’
“ฉันอยากทำเพลงที่เป็นตัวฉันเอง และทำให้ฉันแตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นกำลังทำอยู่”
แต่การเริ่มต้นไม่ได้ง่ายสักเท่าใดนัก คามิล่าใช้เวลาหลายเดือนแต่งเพลง ‘Havana' ที่มาจากชื่อเมืองเกิดของเธอในคิวบา โดยพยายามผสมผสานระหว่างดนตรีสไตล์คิวบากับดนตรีร่วมสมัยให้ลงตัวที่สุด แต่ทางค่ายกลับไม่ได้เห็นด้วยกับทิศทางใหม่ของเธอนัก
“ทุกคนบอกฉันว่า นั่นไม่ใช่เพลงที่เหมาะจะเปิดในวิทยุ มันช้าไป หรือบางคนก็บอกว่า ‘มันก็เจ๋งดีนะ แต่ว่าคนคงไม่ชอบฟังเพลงแบบนี้ แค่คนลาติโน่ที่ชอบฟังเพลงแบบนี้’ แต่ฉันก็บอกว่าลองใช้เพลงนี้แหละ แล้วมาดูกันว่าจะเป็นยังไง”
แม้ว่าแทบจะไม่มีใครเชื่อว่าดนตรีแบบลาติน่าจะเป็นที่นิยมได้ คามิล่ากลับต่อสู้จนเพลงนี้ได้เป็นเพลงโปรโมตอัลบั้ม และเธอยังใช้มิวสิควิดีโอของเพลงนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นลาติน่าในหลาย ๆ แง่มุม ตั้งแต่การเลือกใช้ภาษาสเปนซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาหลักของประเทศแถบลาตินอเมริกา และการใส่ละครในช่วงต้นก่อนเริ่มเพลง ที่คามิล่าเข้าไปเจอคนรักมีความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทของเธอ แต่แล้วกลับพบว่าจริง ๆ แล้วคนที่เธอเห็นเป็นพี่น้องฝาแฝดของเขา และสุดท้ายจบลงด้วยการถูกขอแต่งงาน ความดราม่าโอเวอร์แอคติ้งและพล็อตที่เปลี่ยนอารมณ์ในเสี้ยววินาที สะท้อนลักษณะของเทเลโนเบล่า (Telenovela) หรือละครน้ำเน่าแบบลาติน่าได้เป็นอย่างดี และคามิล่าได้กล่าวถึงการใส่วัฒนธรรมลาติน่าทั้งหมดในเพลงนี้ว่า
“ฉันทำเพื่อคุณยายของฉัน ฉันอยากให้เธอได้รู้สึกถึงวัฒนธรรมของเราในดนตรีของฉัน”
คามิล่าพาเพลง ‘Havana’ ติดอันดับ 1 บิลบอร์ดชาร์ต ทำให้เธอประสบความสำเร็จในฐานะนักร้องเดี่ยว และเธอยังคงความเป็นเอกลักษณ์แบบลาติน่าในเพลงของเธออยู่เรื่อย ๆ โดยมีเพลง ‘señorita’ เป็นอีกหนึ่งเพลงสร้างปรากฏการณ์ให้วัฒนธรรมลาติน่ากลายเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก
นอกจากจะใช้เพลงเผยแพร่วัฒนธรรมแล้ว คามิล่ายังใช้พื้นที่ในฐานะศิลปินเพื่อช่วยเหลือชาวลาติโน่อยู่ทุกโอกาสที่เธอจะทำได้ คามิล่าจับมือกับนักดนตรีชื่อดังอย่าง เซดด์ (Zedd) จัดคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อบริจาคเงินให้กับสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (American Civil Liberties Union) เพื่อช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพของชาวลาติโน่ในอเมริกา
“ฉันกำลังร่วมมือกับสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน เพื่อบริจาคเงินทั้งหมดที่ฉันได้ให้กับผู้คนที่มีความฝันอย่างครอบครัวของฉันที่อพยพมาที่ประเทศนี้ และฉันคิดว่าพวกเราชาวลาติโน่ควรจะต่อสู้เพื่อกันและกัน”
นอกจากนี้ คามิล่ายังใช้เวที Grammy Award 2018 เพื่อกล่าวถึงโปรแกรม Deferred Action for Childhood Arrival (DACA) ที่เคยคุ้มครองเด็กผู้อพยพให้ได้มีโอกาสเรียนหนังสือและมีสิทธิอื่น ๆ แต่โดนโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยกเลิกไปว่า
“ฉันมาอยู่บนเวทีนี้ได้ เพราะพ่อแม่ของฉันที่ไม่มีอะไรติดตัวมาเลยนอกจากความหวัง พวกเขาทำให้ฉันเห็นว่าการทำงานอย่างหนักและไม่ยอมแพ้เป็นอย่างไร ฉันภูมิใจกับการเป็นผู้อพยพชาวคิวบา-เม็กซิกัน จากตะวันออกของฮาวานา ที่ได้มีโอกาสมายืนอยู่บนเวที Grammy Award และฉันคิดว่าพวกเราควรต่อสู้เพื่อให้โอกาสเด็กเหล่านี้เช่นกัน”
[caption id="attachment_12452" align="aligncenter" width="520"] ชอว์นและคามิล่า[/caption]1 ปีให้หลังบนเวทีเดียวกัน คามิล่าได้ใช้เพลง Havana ที่เธอแสดงร่วมกับ ยัง ทัก (Young Thug), ริคกี้ มาร์ติน (Ricky Martin) และ เจ บัลวิน (J Balvin) เพื่อต่อต้านนโยบายสร้างกำแพงระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยหนังสือพิมพ์ที่ เจ บัลวิน ถือบนเวทีมีชื่อว่า La Verdad (ลา เบร์ดาร์ด) ซึ่งแปลว่าความจริง และหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์นั้นพาดหัวว่า ‘สร้างสะพาน ไม่ใช่สร้างกำแพง' เป็นการบอกว่าพวกเราควรอยู่ด้วยความรัก ไม่ใช่ความเกลียดชัง
เรียกได้ว่า คามิล่า คาเบโย่ คือตัวอย่างของคนที่มีความอดทน เข้มแข็ง และคอยยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งที่เธอเชื่อ และหนึ่งในความเชื่อนั้นคือการที่ชาวลาติโน่ควรจะมีจุดยืนในสังคมอย่างภาคภูมิ เธอใช้ตลอดเส้นทางการเป็นศิลปินของเธอเป็นตัวแทนของชาวลาติโน่เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม และปกป้องสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ สำหรับเธอแล้ว เราควรปฏิบัติต่อมนุษย์ทุกคนบนพื้นฐานของความเท่าเทียมไม่ว่าพวกเขาจะมาจากไหนหรือชาติอะไรก็ตาม
“ฉันยืนหยัดกับคำว่า ‘รัก’ เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าฉันจะไม่ทนกับความเกลียดชัง การเหยียดสีผิว หรือการแบ่งแยกใด ๆ ทั้งสิ้น”
เรื่อง: จิดาภา กนกศิริมา
ที่มา:
https://www.seventeen.com/celebrity/movies-tv/news/a44357/camila-cabello-interview-x-factor-rejection/ https://www.univision.com/univision-news/culture/camila-cabello-speaks-about-the-power-of-being-latina https://www.rollingstone.com/music/music-features/camila-cabello-on-debut-album-this-sounds-like-me-and-only-me-127303/ https://www.theguardian.com/music/2018/oct/12/camila-cabello-i-got-to-create-myself-again-i-didnt-have-to-be-this-shy-girl https://www.billboard.com/articles/news/dance/7751434/zedd-welcome-aclu-benefit-concert-interview https://omny.fm/shows/wodsfm-on-demand/camila-cabello-donating-havana-proceeds-to-aclu https://www.youtube.com/watch?v=2DB0c1fOWBc https://www.teenvogue.com/story/camila-cabello-grammys-2019-performance-trump-border-wall https://twitter.com/camila_cabello/status/762060840199655424?lang=en