The Peanut Butter Falcon: “เพื่อนคือครอบครัวที่เราเลือกเอง”
ประโยคข้างต้นอาจธรรมดาเกินจะใช้อธิบายหนัง The Peanut Butter Falcon แต่เมื่อเริ่มและตั้งใจดูจนจบ ประโยคที่ว่ากลับทรงพลังกับใจคนดูอย่างน่าประหลาด โดยหนังเรื่องนี้เล่าถึงเด็กหนุ่มแฟนมวยปล้ำผู้มีอาการดาวน์ซินโดรม ที่ต้องอาศัยในบ้านพักคนชราตามสวัสดิการของรัฐ เพราะไม่มีครอบครัวไหนพร้อมจะรับไปเลี้ยง ซึ่งแม้ว่าการใช้ชีวิตอยู่โดยมีคนดูแล มีเพื่อนคุย และแวดล้อมไปด้วยสิ่งที่คนคนหนึ่งต้องมีต้องใช้เพื่อความอยู่รอด “แซ็ก” เด็กหนุ่มคนนี้ ก็ไม่เคยพอใจกับชีวิตเลย และหวังที่จะออกไปเผชิญโลกภายนอกอยู่เสมอ
เมื่อแซ็กเป็นอิสระ การประคองตัวไปในโลกที่ไม่คุ้นเคยดูจะเป็นภารกิจยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน และท่ามกลางความสับสนนั้น เขาก็ได้พบกับ “ไทเลอร์” ชาวประมงเถื่อนที่ดูไม่เป็นมิตรเท่าไร แต่สุดท้าย ทั้งคู่ก็ตกลงที่จะร่วมทางกัน เพื่อให้ต่างคนต่างไปถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้ โดยคนหนึ่งต้องการพบหน้านักมวยปล้ำไอดอลหนึ่งเดียวในใจและเรียนรู้ที่จะเป็นฮีโรในแบบเดียวกัน ส่วนอีกคนต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่และทิ้งอดีตที่เหลวแหลกไว้เบื้องหลัง
ความพร่องทางใจของทั้งสองตัวละครดูจะเป็นสิ่งที่ดูดจับและเติมเต็มกันและกันได้ดี ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์นี้ก็เชิญชวนคนดูให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหม่ได้ไม่ยาก แม้ว่าครอบครัวที่ว่าจะประกอบไปด้วยคนแปลกหน้าสองคนเท่านั้นก็ตาม แต่ความไม่รู้อดีตซึ่งกันและกันกลับเป็นข้อดีที่ทำให้ตัวละครทั้งคู่ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่กับสิ่งที่มีตรงหน้า ด้วยวิถีคิดแบบคนไม่มีอะไรจะเสีย
“ผมเป็นฮีโรไม่ได้หรอก เพราะผมเป็นดาวน์ซินโดรม”
“ใครบอก”
“โค้ชบอก... ครูบอก...”
“ช่างพวกมันปะไร”
ดาวน์ซินโดรมเป็นกลุ่มอาการทางพันธุกรรมที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการล่าช้า และมีระดับเชาวน์ปัญญาด้อยกว่าอายุจริง ซึ่งที่ผ่านมาฮอลลีวูดมักเลือกนำเสนอตัวละครบกพร่องผ่านนักแสดงที่มีทุกอย่างพร้อมสมบูรณ์ แต่เรื่องนี้กลับเลือกใช้ “แซ็ก ก็อตต์เซเกน” (Zack Gottsagen) วัย 34 ปี ที่มีอาการกลุ่มดาวน์ซินโดรมจริง ๆ มารับบทแซ็ก ช่วยให้เนื้อเรื่องมีมิติขึ้นอีกระดับ ทั้งยังเป็นการประกาศชัดว่า ผู้มีความบกพร่องก็สามารถนำเสนองานศิลป์ ซึ่งในที่นี้คือการแสดง ได้ดีไม่แพ้ผู้ที่สมบูรณ์พร้อมเลย
The Peanut Butter Falcon ทำได้ดีในการพาคนดูเข้าไปไล่เฉดความสัมพันธ์ของสองตัวละครหลักตั้งแต่เย็นชาไปจนอบอุ่น และพอคนดูเริ่มอบอุ่นกับทั้งคู่แล้ว “เอเลนอร์” ผู้ดูแลแซ็กจากบ้านพักคนชรา ก็เข้ามามีบทบาทในครอบครัวนี้ เธอเป็นตัวแทนของความหวังดีในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่แทบจะเป็นขั้วตรงข้ามของหนุ่มชาวประมงไร้กฎเกณฑ์อย่างไทเลอร์ กระนั้น ทั้งสามก็เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในชั่วขณะหนึ่งได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งเกิดอุปสรรคบางอย่างระหว่างทาง
การที่ตัวละครหลักในเรื่องไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่ไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่มเติมมาก เป็นอีกองค์ประกอบที่ทำออกมาได้น่าดูเหลือเกิน คือเลือกบอกเท่าที่ต้องรู้ นอกเหนือจากนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องใส่ใจ ซึ่งเมื่อเรื่องดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง กลับกลายเป็นว่าตัวละครที่ผุกร่อนจริง ๆ คือตัวละครที่ได้เผชิญโลกมาแล้วต่างหาก และความไม่สมบูรณ์ที่ชัดเจนนั้น ไม่ใช่อาการดาวน์ซินโดรมของแซ็กด้วยซ้ำ แต่คือคนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ อย่างไทเลอร์ อย่างเอเลนอร์ และคนเหล่านี้ก็ต้องการการดูแล ประคับประคอง และเยียวยา ไม่ต่างจากผู้ต้องได้รับการอนุบาลช่วยเหลือเท่าไรเลย
หนังเรื่องนี้ทำให้ธีม “มิตรภาพ” มีหัวใจอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งการจัดวางโครงเรื่อง การแคสต์นักแสดง และการเล่าเรื่อง ทั้งที่ประเด็น “เพื่อนต่างจริต” หรือ เพื่อนที่ไม่น่าคบหากันได้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะนำมาเล่า แต่ความไร้เดียงสาของตัวละครหนึ่ง ความซับซ้อนในตัวละครหนึ่ง และความเป็นระเบียบของตัวละครหนึ่ง กลับเกาะกุมกันได้ดี จนคนดูพร้อมจะรักและเอาใจช่วยพวกเขาทั้งหมด ตั้งแต่ครอบครัวนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างด้วยซ้ำ
คนคนหนึ่งจะมอบอะไรให้ใครได้บ้าง และคนคนหนึ่งขอมอบอะไรให้ตัวเองได้บ้าง ทั้งสองคำถามเกิดขึ้นในหัวเรื่อย ๆ เมื่อหนังดำเนินไป ซึ่งไม่ว่าทางเดินในชีวิตของคนดูจะตรงกับตัวละครไหนหรือไม่ ใกล้เคียงเท่าไร แต่กลับปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของสมการความสัมพันธ์คล้าย ๆ กันนี้ เราต่างพบเจอผู้คนในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เราต่างเก็บคนเหล่านั้นไว้ในชีวิต แม้จะไม่ได้มีอะไรที่เหมือนกัน และเราต่างทุ่มเทให้กับอะไรสักอย่างจนหมดหัวใจ เหมือนว่าพรุ่งนี้เราจะไม่ได้ทำแบบนั้นอีกแล้ว นั่นคือความพิเศษของ The Peanut Butter Falcon ที่สามารถยกเอาโลกของคนดูเข้าไปวางคู่ขนานกับเส้นเรื่องที่หนังกำลังเล่าอยู่ได้
ถ้าหัวใจของคนเราเปรียบเป็นแก้ว และความรักที่ใจเรารู้สึกได้เปรียบเป็นน้ำ หนังเรื่องนี้ก็คงจะท่วมล้นออกมาจากหัวใจคนดูได้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่โลกนี้แทบไม่มีใครหยิบยื่นความหวังดีอย่างหมดจดให้แก่กันแล้ว และการว่าร้ายเสียดสีกับคนไม่รู้จักดูจะเป็นทักษะที่ง่ายดายขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้คน (ที่รู้สึกว่าตัวเอง) ไม่มีหัวใจ กลับมามีหัวใจอีกครั้ง และคนที่มีหัวใจอยู่แล้ว มีหัวใจที่พองฟู ใหญ่ขึ้นอีกนิด
The Peanut Butter Falcon ไม่ต่างกับการกอดแน่น ๆ ที่ไม่คาดหวังการกอดตอบ เป็นความอบอุ่นที่ทุกคนสมควรได้รับ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง หรือแม้แต่อย่างน้อยสักครั้งในชีวิต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณผู้อ่านจะเปิดโอกาสให้หนังเรื่องนี้ได้กอดคุณบ้าง เพื่อที่คุณจะได้ใช้ชีวิตด้วยหัวใจที่ใหญ่ขึ้น มีความรักให้ตัวเองและคนรอบข้างได้มากขึ้นด้วย
/กอดแน่น ๆ จากคนเขียน
.
เรื่อง: นรณฏฐ ไชยคำ