พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แผนสละราชสมบัติ สกัดพระเจ้าปราสาททองโมเดล

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แผนสละราชสมบัติ สกัดพระเจ้าปราสาททองโมเดล
การเปลี่ยนรัชกาลในระบอบกษัตริย์นั้นเป็นช่วงที่เปราะบางและอาจก่อให้เกิดการแก่งแย่งอำนาจกันทั้งในหมู่ราชวงศ์และขุนนาง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เองก็ทรงมีประสบการณ์ตรงจากการเปลี่ยนแผ่นดิน เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ผู้เป็นพระราชบิดาสวรรคต พระองค์ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าองค์ใหญ่ ในรัชกาลที่ 2 กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ถือว่าทรงมีศักดิ์สูงสุด แต่ก็ไม่อาจได้ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อที่ประชุมขุนนางพากันยกให้ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ ในรัชกาลที่ 2 กับพระสนมเอกขึ้นเป็นกษัตริย์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ครั้นเมื่อพระองค์ (รัชกาลที่ 4) ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเชษฐาก็มีพระชนมายุ 47 พรรษาแล้ว และด้วยทรงผนวชมาตลอดรัชกาลที่ 3 แม้จะทรงมีพระราชโอรสอยู่สองพระองค์ก่อนที่จะทรงผนวช แต่ทั้งสองพระองค์ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อนพระราชบิดา  พระราชโอรสที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์จึงมีแต่พระราชโอรสที่ประสูติเมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ซึ่งล้วนแล้วแต่ยังทรงพระเยาว์ ในปลายรัชกาลพระองค์จึงทรงเป็นกังวลถึงเรื่องนี้มาก จนเกรงว่าหากพระองค์สวรรคตไปแล้ว จะเกิดการรัฐประหารโดยขุนนางที่เข้มแข็ง ดังเช่นกรณีของออกญากลาโหมที่เป็นขุนนางใหญ่ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมของกรุงศรีอยุธยาหรือไม่?   เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อคราวที่พระเจ้าทรงธรรมสวรรคตนั้น พระองค์มีพระราชโอรสอยู่สามพระองค์ตามลำดับ คือ พระเชษฐาธิราช พระพันปีศรีสิน และ พระอาทิตยวงศ์ บรรดาขุนนางปรึกษากันแล้วได้อัญเชิญพระเชษฐาธิราชในฐานะพระโอรสองค์โตขึ้นครองราชย์ต่อ ฝ่ายพระพันปีศรีสินไม่ได้ราชสมบัติจึงรวบรวมไพร่พลแล้วหนีไปยังเมืองเพชร พระเชษฐาธิราชให้แต่งทัพตามไปจนจับตัวได้ จึงมี "พระกรุณา" (ตามศัพท์ที่ใช้ในพระราชพงศาวดาร) ให้ประหารพระราชอนุชาเสีย ณ วัดโคกพระยาพร้อมกับชาวเมืองเพชรที่เป็นใจติดตามพระราชอนุชา ต่อมาไม่นาน มารดาออกญากลาโหมเสียชีวิตลง ออกญาฯ ก็จัดการศพตามประเพณีปรากฏว่า ขุนนางน้อยใหญ่พากันมาคารวะศพมารดาออกญาฯ อย่างไม่ขาดสาย ข่าวไปถึงพระเชษฐาธิราช ประกอบกับมีขุนนางปล่อย "เฟก นิวส์" ว่า ออกญาฯ เห็นท่าจะคิดการใหญ่เสียกระมัง พระเชษฐาธิราชทรงเชื่อจึงมีรับสั่งให้เตรียมกำลังทหารประจำการในพระราชวัง แล้วให้ไปเชิญออกญากลาโหมมาเข้าเฝ้า ฝ่ายออกญากลาโหมก็น้อยใจนักว่า ทำดีถวายพระราชบัลลังก์ให้กลับไม่เห็นคุณและว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้วเราจะทำตามรับสั่ง" ก่อนถามเหล่าขุนนางว่าเห็นเป็นการใด เหล่าขุนนางตอบรับว่า "ถ้าท้าวพระกรุณาจะทำการใหญ่จริง ข้าพเจ้าทั้งปวงจะเอาชีวิตสนองพระคุณตายก่อน"  ออกญากลาโหมจึงกระทำการเป็นกบฏขึ้นมาจริง ๆ จับพระเชษฐาธิราชไปสำเร็จโทษ แล้วยกพระอาทิตยวงศ์ขึ้นครองราชย์สืบต่อ แต่ขณะนั้นพระอาทิตยวงศ์มีพระชนมายุได้เพียง 9 พรรษาเท่านั้น ครองราชย์ได้เพียง 6 เดือน เหล่าขุนนางก็เห็นว่า กษัตริย์มิได้มีความสามารถจะปกครองบ้านเมืองได้จริง จึงปรึกษากันแล้วยกบัลลังก์ให้ออกญากลาโหม ออกญากลาโหมเห็นมุขมนตรีอ้อนวอนดังนั้นจึงรับแล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็น "พระเจ้าปราสาททอง" จากบทเรียนในประวัติศาสตร์นี้ ทำให้รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นกังวลไม่น้อยว่า หากรัชทายาทของพระองค์ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีเหมือนในอดีตหรือไม่? จนทรงคิดแผนการรับมือเอาไว้ โดยแผนหนึ่งก็คือ พระองค์จะทรงสละราชสมบัติเพื่อให้พระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ในขณะที่พระองค์ยังมีพระพลานามัยแข็งแรงจะได้ช่วยว่าราชการได้  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสพระองค์หนึ่งของรัชกาลที่ 4 ทรงเล่า (ตาม พระนิพนธ์ ความทรงจำ) ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว "The Second King" สวรรคตลง ก็มิได้มีการตั้งวังหน้าขึ้นใหม่ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์จึงขึ้นสู่สถานะรัชทายาทตามราชประเพณีในฐานะพระราชโอรสองค์ใหญ่ แต่ตอนนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้เพียง 13 พรรษา ทำให้รัชกาลที่ 4 ทรงวิตก "ด้วยพระองค์ทรงพระชราพระชันษากว่า 60 ปีแล้ว ถ้าหากเสด็จสวรรคตไปโดยด่วน สมเด็จพระราชโอรสจะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลายังทรงพระเยาว์เห็นว่าจะเป็นการเสี่ยงภัยใหญ่หลวง ด้วยตัวอย่างที่เคยมีในเรื่องพงศาวดาร พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์เป็นอันตรายด้วยถูกชิงราชสมบัติทุกพระองค์ไม่มีพระองค์ใดที่จะอยู่ได้ยั่งยืนสักพระองค์เดียว จึงทรงยับยั้งไม่ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชโอรสเป็นที่รัชทายาท "ตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระราชโอรสเจริญพระชันษาครบ 20 ปี (ในปีระกา พ.ศ. 2416) ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณีแล้ว จะมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน ส่วนพระองค์เองจะเสด็จออกเป็น 'พระเจ้าหลวง' เป็นที่ปรึกษา ประคับประคองสมเด็จราชโอรสไปจนตลอดพระชนมายุของพระองค์ ด้วยเหตุนั้นจึงโปรดฯ ให้สร้างวังสราญรมย์เพื่อเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จออกจากราชสมบัติ และเอาเป็นพระราชภาระทรงฝึกสอนราชศาสตร์แก่สมเด็จพระราชโอรสเองอย่างกวดขันตั้งแต่ปีฉลูมา" สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าว นอกจากนี้ พระองค์ก็ทรงคิดเผื่อไว้ด้วยว่า หากพระองค์ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำหน้าที่นั้นได้ก็จะต้องมีผู้อื่นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ซึ่งในขณะนั้นก็มีแต่เพียงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5) คนเดียว จึงตรัสปรึกษากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ฝ่ายเจ้าพระยาฯ เห็นว่า ถ้าตัวเองต้องเป็นผู้สำเร็จราชการก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบากไม่น้อย เพราะอาจถูกคนสงสัยว่าจะทำการชิงบรรลังก์อย่างพระเจ้าปราสาททองหรือไม่?  ด้วยคำตอบเชิงรับเชิงสู้เช่นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวว่า รัชกาลที่ 4 ทรงหยั่งทราบความคิดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าคงประสงค์จะให้มีวังหน้าขึ้นกีดขวางวังหลวง ซึ่งพระองค์ไม่ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย แต่จะขัดขวางไปก็ไม่เป็นประโยชน์ และทรงดำริว่า อีก 7 ปีพระราชโอรสก็จะมีพระชันษาครบ 20 ปี ก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการ จึงทรงวางเรื่องนี้ไป อย่างไรก็ดี เพียงสองปีหลังจากนั้น รัชกาลที่ 4 ก็ประชวรหนักและเสด็จสวรรคต แผนที่จะสละราชบัลลังก์แล้วเสด็จเป็นพระเจ้าหลวงจึงไม่สามารถสำเร็จได้ และพระราชประสงค์ที่ไม่ต้องการให้มีการตั้งวังหน้าก็ไม่อาจขัดขวางได้ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์พระองค์มีพระชนมายุ 15 พรรษา ที่ประชุมขุนนางเห็นว่าต้องมีผู้สำเร็จราชการแทน และผู้ที่ได้รับตำแหน่งนั้นก็คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เจ้าพระยาฯ จึงตั้งวังหน้าได้ดั่งใจ แม้กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 หนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ร่วมประชุมในคราวนั้น) จะทรงคัดค้านว่า ตำแหน่งพระมหาอุปราชควรให้กษัตริย์เป็นผู้เลือก ไม่ใช่ที่ประชุมขุนนาง-ราชวงศ์ ทั้งนี้ตามราชประเพณีที่เป็นมาโดยตลอด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวว่า เหตุนี้ทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขัดเคือง ว่ากล่าวบริภาษกรมขุนวรจักร์ฯ ต่าง ๆ และทูลถามว่า "ที่ไม่ยอมนั้นอยากจะเป็นเองหรือ" กรมขุนวรจักร์ฯ จึงตอบว่า "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม"  กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ขึ้นเป็นวังหน้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยเหตุประการนี้