พรรคคอมมิวนิสต์จีน กำหนดวันชาติ รำลึกถึงการปฏิวัติที่ยังไม่จบ
"ชาติถูกจินตกรรมขึ้น ก็เพราะว่าสมาชิกของชาติที่แม้จะเล็กที่สุดก็ตาม แม้จะไม่เคยรู้จักเพื่อนสมาชิกร่วมชาติทั้งหมดของตน ไม่เคยเห็นพวกเขาเหล่านั้นทั้งหมด หรือไม่เคยแม้กระทั่งได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของพวกเขาเหล่านั้นก็ตาม กระนั้นในจิตใจของแต่ละคนก็มีภาพพจน์ของความเป็นชุมชนร่วม"
ข้อความข้างต้นมาจาก เบน แอนเดอร์สัน (ฺBen Anderson) นักประวัติศาสตร์เจ้าของผลงาน “ชุมชนจินตกรรม” และก็เป็นชุมชนที่ถูกจินตกรรมขึ้นนี่เองที่ทำให้มวลสมาชิกเชื่อในความเป็นชาติ ยอมถูกเกณฑ์เข้าร่วมสงคราม ยินดีที่จะสู้ ฆ่า และตายในนามของมัน แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลจะมีรูปพรรณไม่ต่างกัน ใช้ภาษาคล้ายกัน (หรือเหมือนกัน) แต่ก็อาจขึ้นชื่อว่าเป็นศัตรูได้หากยึดถือจินตนาการความเป็นชาติที่ต่างกันออกไป
ตัวอย่างเช่นคำให้สัมภาษณ์ของ เจสัน โต ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงวัย 18 ปี ที่ต่อต้านการครอบงำของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งกล่าวว่า "ผมคือคนฮ่องกง ไม่ใช่คนจีนแผ่นดินใหญ่...พวกเราต่างชอบจีน แต่เราไม่ชอบพรรคคอมมิวนิสต์ การปกครองของพวกเขาสร้างแต่ปัญหา" (The New York Times)
อย่างไรก็ดี จินตนาการของคนฮ่องกงที่หวังจะปกครองตนเองขัดกับจินตนาการหลักของจีนคอมมิวนิสต์คือการสร้างความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวของแผ่นดินจีน หรือแผ่นดินอื่นที่อยู่ในเขตอิทธิพลตามจินตนาการของตน ไม่ว่าคนท้องถิ่นจะต้องการหรือไม่ ซึ่งถือเป็นเป้าประสงค์หลักตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์ยังไม่สามารถยึดประเทศจีนได้อย่างเบ็ดเสร็จ
"การยึดเอาดินแดนทั้งหมดที่เสียไปคือหน้าที่ของจีนที่ต้องทำอย่างทันท่วงที และมันไม่ได้หมายถึงการรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยในพื้นที่เพียงใต้กำแพงเมืองจีนเท่านั้น นั่นก็แปลว่า แมนจูเรียก็ต้องยึดคืนด้วย อย่างไรก็ดีเราไม่ได้หมายรวมถึงเกาหลี อดีตอาณานิคมของจีน แต่เมื่อเราปลดปล่อยดินแดนที่เสียไปแล้วจัดตั้งระเบียบใหม่เรียบร้อย และหากชาวเกาหลีต้องการหนีจากจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น เราก็จะมอบความช่วยเหลือให้พวกเขาอย่างเต็มกำลัง เช่นเดียวกับฟอร์โมซา (ไต้หวัน) รวมไปถึง มองโกเลียใน ซึ่งมีประชากรทั้งชาวจีนและมองโกเลีย เราจะสู้เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากที่นั่นและช่วยมองโกเลียในตั้งรัฐปกครองตนเองขึ้น" เหมา เจ๋อตุง บิดาแห่งรัฐจีนคอมมิวนิสต์ ให้สัมภาษณ์กับ เอ็ดการ์ สโนว์ (Edgar Snow) นักข่าวอเมริกัน เมื่อปี 1936 ระหว่างการต่อสู้ขับไล่กองทัพญี่ปุ่น
และก็เหมือนรัฐชาติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติที่จะต้องเชิดชูการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ “ของตน” เป็นหมุดหมายสำคัญในการ “กำเนิดใหม่” ของรัฐชาตินั้น ๆ มาเป็นวันชาติ เช่น รัฐบาลคณะราษฎรเลือกวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จีนคณะชาติก็เลือกการปฏิวัติซินไฮ่ล้มล้างราชวงศ์ชิง (10 ตุลาคม)
ส่วนจีนคอมมิวนิสต์เลือกเอาวันที่พวกเขากำจัดอิทธิพลของจีนคณะชาติจากแผ่นดินใหญ่ได้สำเร็จมาเป็นวันชาติ (1 ตุลาคม) แม้ว่าชัยชนะในครั้งนั้น สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์แล้วยังไม่ใช่ชัยชนะที่เด็ดขาด เพราะยังมีดินแดนภายใต้เขตอิทธิพล (ตามจินตกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์) ยังไม่ยอมรับอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์
และ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน (ซึ่งน่าจะครองตำแหน่งไปตลอดชีวิต หลังมีการยกเลิกการจำกัดวาระในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีลงไปแล้ว) ก็ถือเอาเป็นวาระสำคัญที่จะผนวกเอาแผ่นดินในเขตอิทธิพลเดิมทั้งหมดกลับมาอยู่ใต้อำนาจของปักกิ่งอีกครั้ง และส่งสัญญาณว่ามันจะเกิดขึ้นในยุคที่เขาเป็นผู้นำจีน
"การแบ่งแยกทางการเมืองข้ามช่องแคบ (หมายถึงจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน) ไม่อาจปล่อยให้ยืดยาวส่งต่อรุ่นสู่รุ่น" สี กล่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี การส่ง "ข้อความสู่สหายผู้รักชาติในไต้หวัน" เมื่อต้นปี 2019 (South China Morning Post)
สีกล่าวด้วยว่า “ปัญหาไต้หวันเกิดขึ้นมาเพราะชาติอ่อนแอ แต่มันจะจบลงด้วยการกำเนิดใหม่ของชาติ” ซึ่งสื่อว่าการกลับมาเป็นมหาอำนาจอย่างเต็มภาคภูมิทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหารในยุคของเขาจะทำให้ “ปัญหาไต้หวัน” ยุติลง โดยสียืนยันว่า เขาจะใช้กระบวนการสันติในการรวมชาติจีนและไต้หวัน พร้อมการันตีความเป็นอิสระในการปกครองของไต้หวันภายใต้การปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ โดยขอให้ไต้หวันดู “ฮ่องกง” เป็นเยี่ยงอย่าง
ในขณะเดียวกัน แม้สีจะกล่าวว่า “จีนไม่รบกับจีนกันเอง” แต่เขาก็ย้ำว่า "เราจะไม่ให้คำสัญญาที่จะสละซึ่งการใช้กำลัง และจะรักษาไว้ซึ่งทางเลือกทุกช่องทางที่จำเป็น" ทั้งนี้เพื่อการรวมชาติ (China Daily)
แต่ปีเดียวกันนั่นเอง “ตัวอย่าง” การปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบของไต้หวันอย่าง “ฮ่องกง” เกิดความวุ่นวายอย่างรุนแรงและยาวนานหลายเดือน (เริ่มเมื่อ มิถุนายน 2019 ถึง กันยายน ปีเดียวกันยังไม่ยุติ) เมื่อ “ชาวฮ่องกง” ลุกขึ้นประท้วงใหญ่อีกครั้งเพื่อต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีน ซึ่งจะทำให้ผู้วิจารณ์รัฐบาลจีนตกอยู่ใต้ภัยคุกคามที่รุนแรงยิ่งขึ้น (แม้จะไม่มีกฎหมายฉบับนี้ นักวิจารณ์รัฐบาลจีนก็หายตัวไปอย่างลึกลับก่อนไปโผล่ที่เมืองจีนอยู่หลายครั้ง แต่เมื่อมีแล้วมันก็จะยิ่งง่ายเข้าไปอีก)
จากนั้นการประท้วงจึงขยายตัวขึ้น กลายเป็นการเรียกร้องอิสระในการปกครองตนเองอย่างแท้จริง ด้วยการเลือกตั้ง “โดยตรง” ผู้สมัครไม่ต้องผ่านไฟเขียวจากพรรคคอมมิวนิสต์เสียก่อน
การที่ฮ่องกงตกอยู่ใต้อำนาจจีนมาตั้งแต่ปี 1997 แต่การหลอมรวมให้ชาวฮ่องกงมีสำนึกความเป็นจีนเหมือนกันยังห่างไกลจากคำว่า “สำเร็จ” ความพยายามค่อย ๆ แทรกซึมให้ชาวฮ่องกงยอมรับอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ ปล่อยให้มีการเลือกตั้งที่ต้องผ่านการคัดกรองจากพรรคเสียก่อน ถูกปฏิเสธด้วยเห็นว่าเป็นเพียงประชาธิปไตยเทียมที่การเลือกตั้งยังขึ้นอยู่กับคนกลุ่มเล็ก ๆ ในปักกิ่ง ไม่ใช่เสียงของคนฮ่องกงเอง จีนจึงไม่อาจยกฮ่องกงว่าเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของ 1 ประเทศ 2 ระบบได้
ด้วยเหตุนี้ “การปฏิวัติ” ของจีนจึงยังคงไม่จบลงง่าย ๆ การรวมประเทศกับไต้หวันตามเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะด้วยกระบวนการที่สันติก็ยังคงห่างไกลจากความเป็นจริง วันชาติของจีนที่รำลึกถึงชัยชนะเหนือจีนคณะชาติจึงยังมีจุด “คัน” เล็ก ๆ ที่เกาเท่าไหร่ก็ยังไม่หายเสียที