โจ โลว์ เบื้องหลัง The Wolf of Wall Street และกองทุน 1MDB
หากถามว่า The Wolf of Wall Street และ กองทุน 1MDB กองทุนเพื่อการพัฒนาและการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ของมาเลเซีย มีส่วนที่เชื่อมโยงกันอย่างไร? คำตอบแรกจากสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ทั้งสองกรณีคือเรื่องราวของการหลอกลวงและฉ้อฉล แต่ที่นอกเหนือไปจากนั้น หนังดังของฮอลลีวูดกับเงินจากกองทุนของมาเลเซียก็ยังมาเกี่ยวพันกันอีก โดยมีจุดเชื่อมโยงอยู่ที่ โจ โลว์ (Jho Low) นักธุรกิจผู้มากเส้นสายในยุคของ นาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
ภาพยนตร์เรื่อง The Wolf of Wall Street กำกับโดย มาร์ติน สกอร์เซซี ส่วนผู้อำนวยการสร้างนอกจากสกอร์เซซีเอง และ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ผู้รับบทตัวพระแล้ว พวกเขายังได้แหล่งเงินจาก Red Granite Pictures ซึ่งก่อตั้งโดย ริซา อาซิซ (Riza Aziz) ลูกติดภรรยาของอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัก ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงนักสร้างภาพยนตร์ และเคยมีประสบการณ์เป็นเพียงนายธนาคารระดับจูเนียร์เท่านั้น และหุ้นส่วนของเขา โจอี้ แม็คฟาร์แลนด์ (Joey McFarland) ก็เป็นเพียงนักลงทุนรายย่อยจากเคนตักกี เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจบันเทิงด้วยการจัดคิวการโชว์ตัวของคนดังเช่น ปารีส ฮิลตัน ตามงานปาร์ตี้ต่าง ๆ (ซึ่งเป็นกิจกรรมโปรดของ โจ โลว์) ด้วยเบื้องหลังพื้น ๆ แบบนี้ คนจึงอดสงสัยว่าพวกเขาเอาเงินมากมายในการสร้างภาพยนตร์มาจากไหน?
ฝ่าย โจ โลว์ (เกิดปี 1981) เป็นลูกคนเล็กของครอบครัวนักธุรกิจเชื้อสายจีนบนเกาะปีนัง ซึ่งรายงานของ The New York Times บอกว่า ครอบครัวของเขาถ้าจะว่ากันถึงความมั่งคั่งจริง ๆ ก็แผ่วลงมาระยะหนึ่งแล้ว นับตั้งแต่พ่อของเขาแยกทางกับพันธมิตรทางธุรกิจในช่วงกลางทศวรรษ 90s แล้วก็หายหน้าหายตาไปจากวงการ จนกระทั่ง โจ โลว์ ผงาดขึ้นมาเป็นความหวังของครอบครัว
ในวัยเด็ก โลว์ถูกส่งไปเรียนที่ Harrow โรงเรียนดังและเก่าแก่สำหรับชนชั้นสูงที่อังกฤษ ตอนหลังจึงได้มีโอกาสรู้จักกับ ริซา ลูกติดภรรยานาจิบที่มาเรียนต่อที่ London School of Economics แล้วก็ได้ทำความสนิทสนมกับ รอสมาห์ แมนซอร์ (Rosmah Mansor) แม่ของริซา ซึ่งมาใช้ชีวิตอยู่อังกฤษเป็นระยะเวลาหลายเดือนด้วย
เมื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เขาเข้าเรียนด้านธุรกิจที่ Wharton School of the University of Pennsylvania เขาก็ยังรักษาสายสัมพันธ์ที่บ้านเกิดด้วยการเป็นโต้โผจัดกิจกรรมกลุ่มนักศึกษามาเลเซีย ขณะเดียวกันเขาก็ยังไปสนิทสนมกับลูกหลานชนชั้นนำจากจอร์แดนและคูเวต และได้รับความไว้วางใจให้บริหารเงินให้กับกลุ่มที่เขาเรียกว่า ครอบครัวและมิตรสหายจากตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เขายังเรียนไม่จบ
หลังเรียนจบโลว์ก็กลับมาจับงานธุรกิจในบ้านเกิด เริ่มจากการชักชวนทุนจากตะวันออกกลางให้เข้ามาลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจในภาคใต้ และย่านการเงินใหม่ในกัวลาลัมเปอร์ จากนั้นจึงเริ่มตั้งกลุ่มการลงทุนโดยได้นักลงทุนที่มีทั้งเจ้านายชั้นสูงในมาเลเซียและตะวันออกกลาง แล้วก็เริ่มออกไปขายไอเดียเรื่องกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ซึ่งเป็นการเอาเงินของประชาชนไปลงทุนเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยอาศัยทุนจากรัฐที่มีรายได้จากการขายน้ำมัน
ไอเดียของเขาไปถูกใจสุลต่านแห่งตรังกานู (ตอนนั้นมีฐานะเป็นกษัตริย์ที่หมุนเวียนตามวาระ) แต่ความร่วมมือทางธุรกิจกับองค์สุลต่านก็มีระยะเวลาเพียงสั้น ๆ ก่อนมาเป็นผลสำเร็จจริงจังเมื่อ นาจิบ ราซัก พ่อเลี้ยงของเพื่อนรักได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2009 และกลายมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อกองทุน 1MDB (1Malaysia Development Berhad) ซึ่งนาจิบก็ให้เกียรติมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา
ตัวโลว์เองมิได้มีตำแหน่งแห่งหนอะไรใน 1MDB อย่างเป็นทางการ แต่ในนั้นก็มีคนสนิทของเขานั่งบริหารอยู่หลายคน และเขาเองก็ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหลาย ๆ อย่าง เอกสารทางกระบวนการศาลในอังกฤษปรากฏในปี 2012 ยังชี้ว่าโลว์ทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวแทนในการเจรจาทางธุรกิจให้กับ 1MDB และพบว่ามีการตั้งกิจการค้าร่วมของ 1MDB กับกลุ่มทุนจากซาอุดิอาระเบีย (ซึ่งมีคนสนิทของโลว์นั่งเป็นผู้อำนวยการ) เพื่อซื้อบริษัทในมาเลเซีย (UBG) ซึ่งโลว์มีหุ้นจำนวนมาก
โลว์ในวัยสามสิบต้น ๆ กลายเป็นที่โด่งดังตามไนท์คลับหรูในนิวยอร์กกับการใช้จ่ายมือเติบ รวมถึงการมอบของขวัญราคาแพงให้กับคนดังและดาราดัง อย่าง มิรันดา เคอร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ที่ได้รับของขวัญราคาแพงมากมาย ทั้งภาพเขียนของปิกัสโซ หรือรางวัลออสการ์ของมาร์ลอน แบรนโด (ซึ่งเขาก็ได้คืนข้าวของเหล่านี้ไปแล้วโดยสมัครใจ) รวมไปถึงเงินทุนในการทำภาพยนตร์ The Wolf of Wall Street (Hollywood Reporter)
เส้นทางการเงินในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นปริศนามานาน เพราะการเล่าถึงที่มาของมันเปลี่ยนไปเรื่อย มีแหล่งข่าวสองรายอ้างว่า เคยได้ยินริซาอ้างว่าเงินดังกล่าวมาจากเงินทุนของรัฐ เออร์วิน วิงก์เลอร์ (Irwin Winkler) ผู้อำนวยการสร้างใหญ่อีกรายบอกว่า Red Granite ของริซามีทุนหนุนหลังจากมาเลเซีย และเขาเคยถูกแนะนำให้รู้จักกับนายทุนรายนั้นซึ่งก็คือ โลว์ นั่นเอง โดยวิงก์เลอร์กล่าวว่า อย่างน้อยเท่าที่เขารู้โลว์ก็คือคนที่อยู่เบื้องหน้าของกลุ่มทุนดังกล่าว
ในงานปาร์ตี้เปิดตัวภาพยนตร์เมื่อปี 2013 ก็มีการแนะนำว่าโลว์เป็นเจ้าของเงินทุน ในเครดิตภาพยนตร์ก็มีการขอบคุณโลว์ด้วยเช่นกัน แต่หลังภาพยนตร์เปิดฉายไปได้สักปีหนึ่ง เมื่อมีสื่อพยายามขุดคุ้ยที่มาของเงิน ก็ไม่มีการกล่าวอ้างว่าเงินมาจากฝั่งมาเลเซีย ทางโลว์เองก็บอกว่าเขาไม่ได้จ่ายเงินให้ Red Granite และริซาก็อ้างว่าเงินก้อนใหญ่มาจาก Aabar Investment บริษัทเงินทุนของรัฐบาลอาบูดาบี (แต่ในการพิจารณาคดีในมาเลเซียพบว่าเป็นเพียงบริษัทเก๊จดทะเบียนในบริติชเวอร์จิน)
และในปี 2018 Red Granite ของริซาก็ถูกกล่าวหาในสหรัฐฯ ว่าใช้เงินไปมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ที่ยักยอกมาจากกองทุน 1MDB ซึ่งสุดท้ายทางบริษัทก็ตกลงยอมความจ่ายเงินค่าเสียหายกว่า 60 ล้านดอลลาร์ แม้จะไม่ยอมรับว่ากระทำความผิด (Variety) และในปีต่อมาระหว่างการพิจารณาคดีในมาเลเซีย อัยการยังได้เสนอหลักฐานการโอนเงินจำนวน 9 ล้านดอลลาร์ ในเดือนกันยายน 2012 จากบริษัท Sar Ltd. ของโลว์มาให้ Red Granite
ทั้งนี้ ก่อนที่คดียักยอกเงินกองทุน 1MDB จะเป็นที่อื้อฉาว ในการให้สัมภาษณ์กับ The Star สื่อท้องถิ่นมาเลเซียเมื่อ 2010 โลว์เคยบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับนักลงทุนไม่ได้อยู่แค่การจัดการเรื่องเงินให้ดีเท่านั้น ถ้าหาก "เพื่อน" ของเขาต้องการจองดินเนอร์สุดหรูในที่ที่หาที่นั่งได้ยาก เขาก็จะต้องทำให้สำเร็จแม้ว่านั่นจะไม่ใช่หน้าที่ของเขาโดยตรง และเห็นว่าเขาเป็นเหมือน "คอนเซียร์จ" (concierge - เจ้าหน้าที่โรงแรมที่คอยจัดการเรื่องทุกอย่างให้กับแขกที่พักนอกเหนือจากเรื่องห้องพัก) นั่นจึงทำให้ชื่อของเขาไปปรากฏอยู่ในที่ต่าง ๆ บ่อยครั้ง
ตัวอย่างเช่น การจัดหาอสังหาริมทรัพย์ในย่านหรูหราของสหรัฐฯ ให้กับริซา ซึ่งเขาเข้าไปซื้อก่อนในนามนิติบุคคล ก่อนขายหุ้นในนิติบุคคลนั้นให้ริซา (มันจึงเหมือนเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มิได้มีการเปลี่ยนมือ เพราะเจ้าของในทางเอกสารคือตัวนิติบุคคล) รวมถึงการจัดการต่าง ๆ ในกองทุน 1MDB เช่นการดึง Goldman Sachs ธนาคารเพื่อการลงทุนชื่อดังเข้ามาช่วยในการระดมทุนกว่า 6,500 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนระหว่างปี 2012 ถึง 2013 โดยทางธนาคารได้ค่าธรรมเนียมไป 600 ล้านดอลลลาร์
ก่อนที่ ทิม เลสส์เนอร์ (Tim Leissner) อดีตนายธนาคารของ Goldman Sachs จะออกมายอมรับสารภาพว่าเขาและพนักงานธนาคารบางรายร่วมกันปกปิดหลักฐานการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้งานจาก 1MDB โดย โจ โลว์ คอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง Goldman Sachs กับเจ้าหน้าที่มาเลเซียและกองทุน 1MDB (The New York Times)
ในการพิจารณาคดียักยอกทรัพย์หลายพันล้านดอลลาร์จาก 1MDB (ซึ่งมีจำเลยหลายรายเกี่ยวข้อง) ชาห์รัล อัซรัล อิบราฮิม ฮัลมี (Shahrol Azral Ibrahim Halmi) อดีตซีอีโอรายแรกของ 1MDB ขึ้นให้การต่อศาลว่า โลว์และนาจิบเข้ากันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย ไม่ว่าโลว์ประสงค์จะทำอะไร นาจิบก็จัดการสนองให้อยู่ร่ำไป และนาจิบก็รู้เรื่องราวข้อตกลงสัญญาต่าง ๆ ของ 1MDB เป็นอย่างดี รวมถึงการลงทุนที่สุดท้ายเงินกลับรั่วไหลไปเข้ามือของโลว์ เช่นการวางเงินประกันกว่า 576.94 ล้านดอลลาร์ให้กับ Aabar Investment BVI บริษัทเก๊ที่จดทะเบียนในบริติชเวอร์จิน แทนที่จะเป็น Aabar Investment PJS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ IPIC บริษัทเพื่อการลงทุนด้านพลังงานของรัฐบาลอาบูดาบี (Straits Times)
ฝ่ายโจ โลว์ยืนยันว่าเขา “บริสุทธิ์” แต่ด้วยความที่สื่อเล่นแต่เรื่องสีสันชีวิตที่ดูฟุ้งเฟ้อของเขา ทำให้เขาเป็นที่เกลียดชังจากสังคม ถึงขนาดมีคนทำหุ่นของเขาแห่ประจานกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ มันจึงเหมือนเขาถูกสังคมตัดสินไปแล้ว และยืนยันว่า การดำเนินคดีต่อตัวเขาโดยรัฐบาลมหาเธร์ (ที่ได้อำนาจเพราะชูเรื่องปราบโกง) ถือเป็นคดีการเมือง เพราะความใกล้ชิดของเขาและอดีตนายกฯ นาจิบ ทำให้เขาไม่มีทางที่จะได้รับการพิจารณาคดีตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม
"ผมขอกล่าวชัด ๆ ว่า ผมบริสุทธิ์ หากมองย้อนกลับไป ผมอาจจะทำอะไรที่ต่างจากคนอื่น ๆ ก็เหมือนกับคนหนุ่มอายุน้อย แต่ความผิดพลาดใด ๆ ที่ผมทำก็มิได้เท่ากับความเสียหายที่ร้ายแรงและกว้างขวางอย่างข้อกล่าวหาที่มีต่อตัวผม และผู้ที่ต้องการจะกล่าวโทษผมก็พากันเพิกเฉยข้อเท็จจริงพื้นฐานมากมายที่มีให้เห็น ผมสร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นมาเพื่อฉายให้เห็นถึงหลักฐานเหล่านี้ และเพื่อนำเรื่องจริงที่ถูกปิดกั้นมาเผยแพร่
"ผมขอแค่ทุกคน ศาล อัยการ และสาธารณชนช่วยเปิดใจ จนกว่าหลักฐานทั้งหมดจะปรากฏสู่ที่แจ้ง" โจ โลว์ กล่าวในจดหมายแนะนำเว็บไซต์ Jho-Low.com ที่เขาทำขึ้นแก้ต่างข้อกล่าวหาในระหว่างที่เขายังอยู่ระหว่างการหลบหนีคดี