ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ห้องเรียนประชาธิปไตย กับการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ห้องเรียนประชาธิปไตย กับการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ไม่ว่าสังคมในแต่ละช่วงจะดีร้าย เรากำลังสรรเสริญให้กับความดีงาม หรือเศร้าสลดไปกับโศกนาฏกรรม หนึ่งในหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาเป็นสาเหตุ หนีไม่พ้นเรื่อง “การศึกษา” ในความหมายของรากฐานสำคัญที่จะสร้างมนุษย์คนหนึ่งให้มีความสมบูรณ์ในแบบอย่างที่สังคมปรารถนา เมื่อสังคมเปลี่ยนเร็ว การศึกษายิ่งต้องพัฒนารวดเร็วให้เท่าทัน และในกระบวนการพัฒนาการศึกษาภาพใหญ่ มีเรื่องการพัฒนาครูเป็นส่วนประกอบ ในฐานะคนทำงานในหน่วยเล็กที่สุด นั่นคือห้องเรียน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือหนึ่งในครูผู้ร่วมผลักดันการพัฒนาวิชาชีพครูผ่านงาน EDUCA หรือ มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งเป็นการรวมครูทุกรุ่นมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรมทางการศึกษา การนำเสนอ แนวโน้มและทิศทางด้านการศึกษา เพื่อส่งต่อกันด้วยใจที่เปิดกว้าง การสร้างครูที่มีแนวคิดเช่นนี้ นับว่ามีความสำคัญมากในการศึกษาสมัยใหม่ ด้วยตัวนักเรียนเองนั้นมีความหลากหลาย ต่างคนต่างมีความชอบ มีความถนัดกันหลากหลายแบบ บางคนถนัดศิลปะ บางคนถนัดวิทยาศาสตร์ ถนัดการคำนวณ เช่นนี้การวัดผลจึงต้องไม่ใช่แบบใดแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญ ห้องเรียนควรจะเป็นประชาธิปไตย เคารพในสิทธิในเสียงของกันและกัน เคารพในคนคิดต่าง และอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ห้องเรียนประชาธิปไตย กับการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ชุมชนครูที่งาน EDUCA ไม่ใช่การอบรมแบบครั้งเดียวจบ ไม่ใช่การพูดเพื่อให้ครูนั่งฟังเพียงอย่างเดียว แต่เป็นงานที่เชิญ speaker มาแลกเปลี่ยนในประเด็นที่น่าสนใจและร่วมสมัย ขณะที่ครูผู้สนใจก็ลงทะเบียนออนไลน์เพื่อเข้ารับฟังได้ตามความสนใจ เปรียบได้กับตลาดวิชา ตลาดเทคนิค และแหล่งอัพเดทเทรนด์ของการเรียนการสอนที่มีลักษณะเป็น tailor-made (สั่งทำโดยเฉพาะ) ตามความสนใจของครู เชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการศึกษาระดับสากลที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาเนื้อหา และสื่อสารไปยังกลุ่มครูทั่วประเทศ ผ่านการจัดงาน EDUCA ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 12 ปี โดยพัฒนางานจาก Research Based Education Event มาเป็น Education Communication มุ่งสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ของ EDUCA ผมมาร่วมกับ EDUCA กว่า 10 ปี ตอนแรกได้มาเป็น speaker เรื่องอาเซียนศึกษา ที่นี่เปิดโอกาสให้ครูหนุ่มสาวและครูมากประสบการณ์หลายคน ทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติ มาแลกเปลี่ยนถึงหัวข้อการศึกษาที่น่าสนใจ ครูที่ฟังก็ได้แรงบันดาลใจเอาไปศึกษาเพิ่มเติม ฝึกทักษะ เพื่อเอาไปใช้ในห้องเรียนต่อ เกิดความสัมพันธ์แนวราบระหว่างครูที่ต้องการพัฒนาตัวเองไปด้วยกัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากกับครูโรงเรียนขนาดกลางและเล็กเพราะช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดได้ผศ.อรรถพล หรือ “อาจารย์ฮูก” หนึ่งในต้นแบบของครูรุ่นใหม่บอกเล่าให้ฟัง นอกจากการเป็นสมาชิกเครือข่าย EDUCA อาจารย์ฮูกยังเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education) และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย เขาจบครุศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการสอนสังคมศึกษา จากสถาบันเดียวกัน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ห้องเรียนประชาธิปไตย กับการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แรกเริ่มในอาชีพครู อาจารย์ฮูกเริ่มสอนในระดับมัธยมศึกษามาก่อน จนกระทั่งย้ายมาประจำที่คณะครุศาสตร์ เมื่อปี 2540 เข้ามาทันวงคุยเรื่องปฏิรูปการศึกษาพอดี จึงได้ติดตามแนวคิดเรื่องการพัฒนาการศึกษาอย่างใกล้ชิด ทั้งยังได้โอกาสไปทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางตามต่างจังหวัดบ่อยครั้ง ได้เห็นงานในภาคสนาม ได้รับข้อมูลจากประสบการณ์ตรงจากครูที่อยู่นอกเมืองมากมาย อาจารย์ฮูกมักจะใช้พื้นที่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค และใช้งานสัมมนาเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นด้านสังคมและการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ และทุกประเด็นที่อาจารย์ฮูกสื่อสาร ทำให้หลายคนต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องรากฐานของประชาธิปไตยในห้องเรียน ซึ่งอธิบายแบบง่าย ๆ ว่า ครูต้องเลิกผูกขาดการเป็นเจ้าของห้องเรียน แต่ต้องปรับให้เสมอภาคกัน รับฟังความเห็นที่จะพาสมาชิกไปสู่การเรียนรู้ที่ดีที่สุด แม้ว่าการศึกษาจะพัฒนาด้วยหลายองค์ประกอบแตกต่างกัน แต่หลาย ๆ ประเทศจะทุ่มเทกับการดูแลครูใหม่ช่วง 2-3 ปีแรก เพราะนี่คือช่วงเปราะบางที่สุดของคนทำงานครู เมื่อเรียนจบมาสู่โลกการทำงาน การเป็นครูต้องแบกรับความเครียด อยู่กับเด็ก อยู่กับงานที่ต้องประสานกับผู้คนจำนวนมาก ถ้าไม่มีระบบฟูมฟักที่ดีพอ จะมีครูจำนวนหนึ่งหลุดออกจากระบบ ซึ่งทุกประเทศต่างประสบกับปัญหานี้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องลงทุนพัฒนาครูใหม่ อาจารย์ฮูกสนับสนุนแนวคิด PLC ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community) ซึ่งมาจากการรวมตัว รวมใจ รวมพลัง ร่วมมือกันของครู ผู้บริหาร และนักการศึกษาในโรงเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ จากนั้นก็ผลักดันแนวคิด “โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้” (School as Learning Community-SLC) เพื่อร่วมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ การบ่มเพาะให้เด็กไทยพร้อมสำหรับโลกในอนาคต และครูก็ต้องปรับตัวเองให้เป็นผู้เรียนรู้ เปิดกว้าง พร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ และกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ห้องเรียนประชาธิปไตย กับการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่าลืมว่าเป้าหมายของการศึกษาคือการลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงระบบ และในห้องเรียนต้องไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ครูต้องตอบโจทย์ผู้เรียนที่แตกต่างกัน และออกแบบให้ครูรู้จักเด็กมากขึ้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของห้องเรียนเพียงลำพัง เคารพความหลากหลายในห้องเรียน แต่ไม่ละเลยที่จะส่งเสริมความเก่งเฉพาะตัว การศึกษาที่ดีต้องลดความเหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำที่ผมพูดถึงคือความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพ ทั้งในแง่ระบบและในห้องเรียนผ่านการสอบแข่งขัน ตอนนี้โรงเรียนขนาดใหญ่ดึงดูดเด็กเข้าไปเรียนเยอะมาก ส่วนโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีเด็กเข้าเรียนลดลงเรื่อยๆ จนนับเวลาปิดตัวลง ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าโรงเรียนมีที่ว่างพอสำหรับเด็กทุกคน หากแต่ค่านิยมสังคมทำให้นักเรียนกระจุกตัวอยู่ที่โรงเรียนไม่กี่แห่ง เพราะเราไปให้คุณค่ากับโรงเรียนเหล่านั้น แต่ยังมีหลายโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางที่รอให้เรามาสร้างคุณค่า เช่นเดียวกับการสอบแข่งขัน ถึงแม้เราไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของการสอบได้ หากแต่การวัดผลควรจะหลากหลาย เพราะเด็กทุกคนมีความชอบ มีความถนัดแตกต่างกัน ห้องเรียนจึงต้องเป็นประชาธิปไตย เคารพความหลากหลาย ส่งเสริมศักยภาพของเด็กแต่ละแบบ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยมาตรฐานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าทำให้คนที่มีทรัพยากรมากกว่าได้รับโอกาสและความได้เปรียบทางการศึกษา มิเช่นนั้น ช่องว่างระหว่างกลุ่มที่ถือครองต้นทุนทางสังคม กับคนที่ไม่มีกำลัง จะถ่างออกจากกันมากขึ้นทุกที