สัมภาษณ์ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ House พื้นที่แห่งโอกาสของภาพยนตร์ทางเลือก บนพื้นที่แห่งโอกาสของตัวเอง

สัมภาษณ์ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ House พื้นที่แห่งโอกาสของภาพยนตร์ทางเลือก บนพื้นที่แห่งโอกาสของตัวเอง
House RCA อาจไม่ใช่โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่คนทั่วไปรู้จัก คุณอาจจะต้องเป็นนักดูหนังที่ชอบหาภาพยนตร์ทางเลือกมาดูเป็นประจำ ถึงจะรู้จักและเคยใช้บริการสถานที่แห่งนี้  ด้วยระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา House ทำหน้าที่ตัวเองได้ดีในฐานะพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับภาพยนตร์ทางเลือกมาโดยตลอด ถึงกระนั้นด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่และการเดินทางที่ลำบาก ทำให้สองผู้บริหารตัดสินใจย้ายบ้านจาก RCA สู่บ้านหลังใหม่ House Samyan ที่ Samyan Mitrtown ในวาระที่ House เปลี่ยนนามสกุลจาก House RCA เป็น House Samyan The People จึงชวนสองผู้บริหาร อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ และ จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ มาคุยถึงความผูกพันในพื้นที่เก่า และโอกาสในพื้นที่ใหม่ รวมไปถึงมุมมองต่อวงการภาพยนตร์ในฐานะผู้บริหารโรงภาพยนตร์   [caption id="attachment_12687" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ House พื้นที่แห่งโอกาสของภาพยนตร์ทางเลือก บนพื้นที่แห่งโอกาสของตัวเอง จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ และ อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ[/caption]   The People: 15 ปี ถ้าเปรียบกับอายุคนก็เป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง คุณคิดว่า House เป็นเด็กแบบไหน ชมศจี: ก็เป็นเด็กวัยรุ่นแล้วนะ คาแรกเตอร์คงไม่เหมือนคนทั่วไป น่าจะเป็นเด็กดีที่เกือบ ๆ จะเนิร์ด พงศ์นรินทร์: ผมว่าเด็กกว่านั้น ประมาณ preteen นึกถึง good boy ที่กำลังจะเป็นวัยรุ่น และคิดว่ามันเนิร์ดเลยล่ะ ชมศจี: เกือบ ๆ นะ  พงศ์นรินทร์: เนิร์ดแน่ ๆ  ชมศจี: ไม่เนิร์ดสิ พงศ์นรินทร์: แต่คนชอบดูหนังขนาดนี้ ต้องเนิร์ดหน่อย ๆ (หัวเราะ) บุคลิกคงไม่เหมือนคนทั่วไป เนิร์ด แต่ไม่ถึงขั้นแปลกแยก ไม่ใช่คน anti-social ชอบมองหาอะไรที่แตกต่าง ไม่ขวางโลกหรือเกลียดอะไรไปหมด แค่เขาพยายามหา way ที่แตกต่าง เป็นคนเปิดกว้าง อาจไม่ใช่คนสนุกสนานแบบใครต้องตกหลุมรัก แต่ความจริงเป็นคน friendly ที่เงียบไปบ้าง ชมศจี: เป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดี    The People: การย้ายโรงภาพยนตร์ House จาก RCA มาสู่สามย่าน คุณรู้สึกตื่นเต้นหรือใจหายมากกว่ากัน ชมศจี: เดือนที่แล้วก่อนปิด House RCA เราใจหาย แต่ทุกอย่างมันเป็นช่วงเวลาของชีวิตเนาะ แต่ถ้าถามเมื่อ 3 วันก่อน เราตื่นเต้นนรกเลย เพราะทุกอย่างเหมือนเราทำบ้านใหม่จริง ๆ ตรงนี้ยังไม่เสร็จ ตรงนั้นยังไม่ใช่ ก็ต้องแก้ต้องเพิ่มส่วนต่าง ๆ ความตื่นเต้นมันมาพร้อมกับความรู้สึกว่าแล้วคนที่ใหม่จะชอบเราไหม จะได้ประสบการณ์เดิมอย่างที่เราอยากให้ไหม จะได้สิ่งใหม่ ๆ ที่เราเพิ่มขึ้นมาไหม แล้วสิ่งที่เราทำมันจะดีหรือไม่ดี ความตื่นเต้นอยู่ในช่วงนี้มากกว่า พงศ์นรินทร์: เหมือนกันเลย พูดตรง ๆ ตอนแรกก็ไม่รู้สึกนะ เรารู้กันว่าจะต้องมาทำที่นี่กันประมาณ 2 ปีแล้ว และก็ไม่ได้คิดว่าเราจะเลิก เราแค่เหมือนย้ายโรงเรียน แต่มารู้สึกว่าใจหายตอนจะปิดแล้วจริง ๆ นั่นแหละ ประมาณ 2 อาทิตย์ก่อนจะปิดจริง ๆ ก็รู้สึกว่า อ๋อ...มันใจหายนี่หว่า ชมศจี: ใช่ พอการปิดมันเริ่มจริงจัง เริ่มวางแผนแล้วว่าจะเอาอะไรออก จะเก็บอะไรไว้ เพราะเราต้องคืนพื้นที่เขา แล้วเราจะจัดการบ้านที่แล้วยังไง คือเหมือนเราย้ายบ้านจริงจัง บ้านเดิมมันไม่ใช่ของเราอีกต่อไป เพราะจะกลายเป็นของคนอื่นแล้ว เราต้องเคลียร์ทุกอย่าง ตอนนั้นแหละเป็นช่วงแห่งความใจหายอย่างหนัก แม้จะตัดสินใจไปแล้วก็ตาม   The People: เห็นศักยภาพพื้นที่สามย่านอย่างไรบ้าง ชมศจี: หลัก ๆ คือโลเคชัน การตัดสินใจวันนั้นคือเราไม่ได้คิดจะย้ายบ้านเลย พื้นทื่อื่นมาชวนเราก็อาจไม่มานะ ถ้าไม่ใช่โลเคชันที่ดีขนาดนี้ แล้ว 15 ปีที่ผ่านมาเราก็พอใจกับ RCA มาก เราชอบมันมาก มันเป็นพื้นที่แรกที่ทำ แล้วเรามีความทรงจำกับมันมากมาย แต่สิ่งที่ประชาชนพูดกับเรามาตลอดคืออยากมาจัง แต่มายากมากเลย คำนี้มันมี repeat ตลอดเวลา 15 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้ เราฟังมาก็รู้สึกว่ามันหนัก   พงศ์นรินทร์: ดังนั้นพอมีทางเลือกในการอยู่ในพื้นที่ที่ดีขึ้น การเดินทางที่สะดวกขึ้น มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจย้าย เอาเป็นว่ามีส่วนแบบ 90% เลย ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย มันคือเรื่องนี้เลย    The People: 15 ปีที่ผ่านมา มีประสบการณ์และความทรงจำใดที่คุณรู้สึกอิ่มเอมกับมันที่สุด ชมศจี: สำหรับเชิงธุรกิจ มันคือประสบการณ์ในการตัดสินใจของเราตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ มันไม่ใช่ธุรกิจจัด แต่เป็น passion นำสุด ๆ เราแค่อยากทำ และทำยังไงให้ได้ใน budget ที่เรามี House จึงเป็นเหมือนวิชาหนึ่งของอุ๋ยในการทำงาน พงศ์นรินทร์: เรารู้สึกว่ามันเป็นความภูมิใจ ทุกวันนี้ 15 ปีผ่านไป ผมภูมิใจกับมันมาโดยตลอด แต่มันยากจะตายในการอธิบายให้คนอื่นฟังว่าเราทำอะไรอยู่ House คืออะไร เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีคนมากมายเดินเข้ามาสามย่านมิตรทาวน์ แล้วถามว่าที่นี่คืออะไรอยู่เลย ชมศจี: ด้วยคาแรกเตอร์ที่เราสร้างเป็นบ้านด้วย มันก็ยากที่จะอธิบาย หน้าบ้านเราก็ไม่มีคำว่า cinema ด้วย เราจึงต้องยอมรับว่าคนไม่รู้จัก House แบบที่เรารู้จัก กว่า 80% ของคนที่เดินเข้ามาไม่ได้รู้จักเราเลย 15 ปีที่ผ่านมาเขาไม่รู้ว่ามี House RCA อยู่ที่นั่น มันเป็นสิ่งที่เราเริ่มเรียนรู้ด้วยซ้ำ แต่เราไม่ได้เปลี่ยนคาแรกเตอร์ เราไม่สามารถสร้างหน้าบ้านแล้วก็เขียนว่าโรงหนังให้ชัด ๆ ขนาดนั้น เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา พงศ์นรินทร์: (หันไปหาชมศจี) หรือเราควรทำวะ เป็น instruction ว่า 1 2 3 4 5 (หัวเราะ) ชมศจี: มันก็ไม่ใช่ นึกออกปะ (หัวเราะ) เราอาจยังไม่ถึงจุดนั้น แต่สำหรับอุ๋ยรู้สึกว่ายังอยาก save ให้ House มีคาแรกเตอร์แบบนี้ แต่สุดท้ายทุกคนที่เดินเข้ามาแล้วจะรู้จักเราเอง   The People: คนไม่รู้จัก House กว่า 80% เลยหรือ พงศ์นรินทร์: เกือบ ๆ ครับ ผมรู้สึกว่าธรรมดานะ แต่เป็นความธรรมดาที่ถ้ายังอยู่ที่เก่า คงต้องทำอะไรอีกเยอะเลย ชมศจี: การย้ายมาสามย่านก็รู้สึกดีที่จะทำให้คนรู้จักเราเยอะขึ้น แต่อีกใจก็รู้สึกใจหายนิด ๆ ว่าทำมา 15 ปี คนรู้จักเราไม่ถึง 20% เลยเหรอ พงศ์นรินทร์: เราค่อนข้างจะ niche มาก ๆ แต่อย่างที่อุ๋ยบอก การย้ายบ้านก็สะท้อนความจริงว่าเรายังต้องทำอะไรอีกเยอะจังเลย เพื่อให้บ้านเราดีกว่านี้    The People: ที่บอกว่าต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นเยอะมาก มีอะไรบ้าง ชมศจี: โจทย์แรกคือจำนวนโรงมากขึ้นเป็น 3 โรง จากที่เดิมที่มีแค่ 2 โรง คือช่วงหลังมานี้เรารู้ว่าโรงหนังของเราไม่พอ มีหนังที่อยากฉายแต่ไม่ได้ฉายเยอะมาก พอโรงเยอะขึ้น คอนเทนต์หนังของเราก็เยอะขึ้น ขนาดสัปดาห์แรกของสามย่านเรายังมีหนังที่อยากฉายอีกตั้งหลายเรื่องนะ แต่ไม่มีโรงให้ฉายแล้ว สิ่งที่คุยกันอยู่ตลอดคือคอนเทนต์มีเยอะมาก แต่ว่ามันไม่มีสถานที่ให้โชว์ ไม่มีที่ให้ฉาย เราจึงพยายามเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้ได้มากที่สุด พงศ์นรินทร์: นอกจากนี้เราจะเพิ่มโปรแกรมพิเศษเช่นหนังคลาสสิก พยายามให้มีทุกเดือน จะเป็นหนังที่คนดูชอบ เคยดู หรือโตไม่ทันที่จะดู เราจะฉายหนังเหล่านั้น เพราะฉะนั้นคอนเทนต์โรงหนังจะยังมีเหมือนเดิม แต่จะขยายให้เข้มข้นและหลากหลายมาก ชมศจี: การเลือกก็จะเหวี่ยงนิดหน่อย ตั้งแต่ Tokyo Story (1953) จนถึง โหด เลว ดี (1986) เพราะฉะนั้นเรายังคงคอนเซปต์เดิมคือฉายหนังที่เราชอบ เราไม่แคร์อะไร แต่เราก็เข้ากันได้  พงศ์นรินทร์: เราอาจมีเทศกาลภาพยนตร์ปีละ 3 ครั้ง แล้วจะกลับมาขยันทำเหมือนตอนแรก เนื่องจากเรายังเป็นคอนเทนต์เดิม บรรยากาศเดิม communication เดิม สุดท้ายมันก็แค่ย้ายบ้าน แล้วสภาพหน้าตา RCA เป็น indoor หน่อย ๆ ที่สามย่านก็จะเป็นกระจก สว่าง ดูเป็น outdoor เพดานสูงขึ้น โอ่อ่าขึ้น แต่เป็นความโอ่อ่าที่อบอุ่นเหมือนเดิม [caption id="attachment_12686" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ House พื้นที่แห่งโอกาสของภาพยนตร์ทางเลือก บนพื้นที่แห่งโอกาสของตัวเอง อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ และ จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ[/caption] The People: การย้ายบ้านมาที่ใหม่ คุณต้องการคนดูกลุ่มไหน พงศ์นรินทร์: ต้องการทุกคนนั่นแหละ คนกลุ่มเดิมเราคงไม่ทิ้งเขาหรอกในเมื่อเขารู้จักเราแล้ว เราชอบกันแล้วคงไม่ทิ้งกัน แต่คนใหม่ ๆ ก็สำคัญ คอนเซปต์เราอยากให้คนส่วนใหญ่มีประสบการณ์อื่นในการดูหนังว่าในวงการไม่ได้มีหนังเฉพาะที่เห็น ๆ กันอยู่ เราอยากสร้างทัศนคตินี้กับคนอยู่ ดังนั้นถ้า House ยิ่งเข้าถึงคนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี เขาควรจะรู้ว่าการดูหนังมีทางเลือกในชีวิตมากกว่านั้น เราชอบไอเดียนี้  คืออย่าเพิ่งด่วนสรุปอะไรในชีวิต มันยังมีอีกเยอะ และ House ก็คือตัวแทนของไอเดียนั้น ดังนั้นยิ่งคนรู้จักเรามากเท่าไหร่ ยิ่งเข้าถึงคนมากเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องดี ชีวิตคนเรามันเศร้านะถ้าเขาคิดว่าตัวเองไม่มีทางลือก ชมศจี: ชีวิตทุกคนมีทางเลือก เราอยากให้คนมาได้ประสบการณ์ใหม่ในการดูหนัง สุดท้ายแล้วจะชอบไม่ชอบมันแล้วแต่เขา แต่เราดีใจที่เขาได้ลอง นั่น complete แล้ว    The People: House เป็นส่วนหนึ่งในตลาดภาพยนตร์อินดี้มาตลอด 15 ปี เรามองตลาดตรงนี้อย่างไรบ้าง พงศ์นรินทร์: เรื่องอินดี้ เรื่องแมสอะไรที่เราพูดกันอยู่ จริง ๆ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้ ถ้าเริ่มจากคำว่า niche พอมันได้รับรู้มาก ๆ แล้วเกิดความนิยม คุณก็จะเรียกมันแมสแล้ว ทั้ง ๆ ที่มันคือ product เดิมเลยนะ ฉะนั้นตัว product มันไม่ค่อยเกี่ยวหรอกว่าเป็นอะไร เช่น ร้านอาหารเพิ่งเปิดวันนี้แล้วมันอร่อย อีก 10 ปี มันอาจเป็นร้านแมสก็ได้ ฉะนั้นคำว่าแมสกับอินดี้ผมว่ามันไม่ค่อยสำคัญ และเส้นกั้นก็บางสุด ๆ ชมศจี: ทุกวันนี้สิ่งที่แตกต่างไปคือรสนิยมของผู้บริโภคด้วย คนกล้าลองมากขึ้น กล้าเข้าไปรู้จักอะไรใหม่ ๆ พงศ์นรินทร์: เพราะพฤติกรรมปัจจุบันคนจะแสวงหาสิ่งใหม่กันอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมีเครื่องมืออย่างโซเชียลมีเดียที่เขาไถไปวัน ๆ เขาก็จะเริ่มสนใจร้านที่ไม่รู้จัก ถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาไม่สนใจลองนะ แต่วันนี้มันมีแนวคิดว่าฉันจะลอง ฉันไปรู้จักมันหน่อย ไอ้สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สังคมเราเป็นมาหลายปีแล้ว ทำให้คนไม่ลำบากใจที่จะไปรู้จักอะไรใหม่ ๆ  ยกตัวอย่าง Parasite (2019) ถามว่าเป็นหนังอินดี้ไหม เป็นอินดี้แน่นอนเพราะหนังพูดภาษาเกาหลีที่ไม่ได้ใช้ในบ้านเรา แต่ผ่านไป 3 วันคนดูมากขึ้นจนเต็มโรงเลย พอตัวหนังมันทำงาน มันก็ทำเงิน ผมว่าสัก 15 ปีที่ Parasite ทำแบบนี้ไม่ได้หรอก ด้วยความเติบโตของตลาดที่เกิดจากมุมมองของคนที่เปลี่ยนไป เขามีใจในการเปิดรับอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น ถามตัวเองดู วัน ๆ ไถมือถือดูเจอเรื่องใหม่ทั้งนั้นนะ คุณไม่ได้มองหาเรื่องเก่า คุณอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ แต่คุณไม่ได้รู้สึกรังเกียจเรื่องใหม่หรอก คุณสร้างพฤติกรรมนี้ให้ตัวเองทุกวัน วันละกี่ชั่วโมงก็ไม่รู้ ดังนั้นผมว่ามันคือคำตอบว่าทำไมตลาดอินดี้เติบโต    The People: ความสนุกในการบริหารโรงภาพยนตร์ House คืออะไร ชมศจี: ถ้าเป็นที่สามย่านคือการจัดการ การได้ปรับปรุง การมีโอกาสย้ายมาที่นี่ มันเป็นความท้าทายเหมือนเป็นการเริ่มต้นจากศูนย์ สร้างทีมใหม่ ดีไซน์ใหม่ อุ๋ยสนุกในเชิง operation ได้หาหนังแปลกประหลาดมาฉายแล้วคนชอบ สุดท้ายเราก็พยายามสร้างประสบการณ์ให้คนชมแล้วมีความสุขที่สุด  พงศ์นรินทร์: มันไม่ใช่ความสนุก ไม่รู้ว่าใช้คำว่าอะไรนอกจากมันคือ “สิ่งที่ใช่” มันคือสิ่งที่เราอยากทำ ถามว่าสนุกไหม มันก็สนุกสนานมากมาย แต่เราก็ไม่สนุกสนานกับอะไรมากมายเหมือนกัน มันเต็มไปด้วยสุข เต็มไปด้วย success แต่ก็เต็มไปด้วยไม่ success มันไม่มีอะไรที่มีความสุขแล้วไม่มีปัญหาหรอกครับ ปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของงาน และก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากทำให้สำเร็จ ชมศจี: ไม่มีใครทำอะไรแล้วมันสำเร็จไปหมดหรอก พงศ์นรินทร์: เวลาส่วนใหญ่คือเวลาแห่งความเครียดด้วยซ้ำ แต่มันเป็นสิ่งที่ใช่ไง เรายอมเหนื่อยยอมเครียดกับเรื่องแบบนี้ ถ้าเทียบเคียงกับชีวิต คุณก็ไม่อยากมีปัญหาหรอก แต่คุณหนีไม่ได้เพราะมันเป็นช่วงชีวิตคุณเว้ย อันนี้มันก็เหมือนกัน ในมุมการทำ House คือความสุขแบบนั้น มีความสุขกับความทุกข์ ซึ่งต้องขอบคุณมันมาก ๆ ที่สอนเรา ทำให้เรารู้ว่าคิดอะไรผิด-ถูกบ้าง   The People: คาดหวังอะไรกับ House Samyan บ้าง ชมศจี: ย้อนกลับไป 15 ปีที่แล้ว อุ๋ยยังเด็ก ยังไม่มีวุฒิภาวะพอ ก็เลยทำทุกอย่างด้วย passion ล้วน ๆ ตลอด 15 ปีของ House RCA เราจะเรียนรู้กับสิ่งที่เราตัดสินใจ ความคาดหวังวันแรกที่ทำ House คือหวังให้คนมาดูเยอะ ๆ อยากให้มัน success แถมเราไม่ได้มองตัวเองว่า niche ขนาดนั้น เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเสพได้ เป็นโจทย์ตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว วันนี้เราแค่อยากให้ที่นี่ fulfill เรา มันยังคงเป็น goal แรกและ goal เดิมอยู่ พงศ์นรินทร์: goal เดิมครับ หวังรวยมาโดยตลอด ไม่เคยหวังอย่างอื่นเลยนอกจากหวังรวย (หัวเราะ) ผมกับอุ๋ยมีความคิดเหมือนกันข้อหนึ่งเลย คือมันต้อง success ตั้งแต่ day 1 อยู่แล้ว เราย้ายมาที่นี่ก็หวังว่าจะอยู่ได้อย่างดีขึ้น คนเดินทางสะดวกขึ้น เราถึงยอมย้ายจากสถานที่แห่งความรัก ความทรงจำ ความผูกพันที่มีตลอด 15 ปีอย่าง RCA ก็หวังว่าคนจะ engage มันได้ง่ายขึ้น    [caption id="attachment_12685" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ House พื้นที่แห่งโอกาสของภาพยนตร์ทางเลือก บนพื้นที่แห่งโอกาสของตัวเอง อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ และ จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ[/caption]   The People: อยู่ในตลาดภาพยนตร์มานาน มีหนังหลากหลายประเภท คิดว่าหนังแบบไหนที่ทำงานโดนใจคนดู พงศ์นรินทร์: โห... ถ้ารู้ก็รวยแย่ดิ (หัวเราะ) ไม่มีใครรู้หรอกครับ มันไม่มีคำตอบตายตัว ชมศจี: คุณพ่ออุ๋ย (เสี่ยเจียง - สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) มักพูดว่าการทำหนังคือการเล่นพนัน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ไม่ว่าจะเป็นหนังอาร์ทหรือหนังแมสก็ตาม ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ทุกอย่างมันคือการ bet ประมาณหนึ่ง พงศ์นรินทร์: ไม่ประมาณหนึ่งแหละ เราว่ามันคือ bet ล้วน ๆ ผมเลือกหนังให้ House มาประมาณ 10 ปีแล้ว เรื่องสุดท้ายที่เลือกแล้วแป้กก็เป็นหนังสูตรสำเร็จทั้งนั้น  ชมศจี: เพราะไอ้เรื่องก่อนหน้านี้มันสำเร็จ คนทำก็คิดว่ามันจะต้องได้อีก แล้วก็ทำหนังออกมาซ้ำ ๆ สุดท้ายคนดูไม่ได้เลือกหนัง ท้ายที่สุดแล้วมันเป็นความท้าทายของคนทำคอนเทนต์ คนหาคอนเทนต์ และคนเลือกคนเทนต์นะว่าจะทำยังไงให้เสิร์ฟคนดูในช่วงที่เขาอยากดูจริง ๆ    The People: แล้วในวงการภาพยนตร์ไทยล่ะ คุณมองภาพยนตร์อินดี้อย่างไรบ้างที่กำลังเติบโตและเริ่มปรากฏตัวบนเวทีใหญ่ต่างประเทศแล้ว ชมศจี: เป็นการเพิ่มขึ้นที่ดีสำหรับ House ถ้าไปดูไลน์อัพ House 2-3 ปีหลัง หนังไทยกลุ่มนี้เป็นหนังคอนเทนต์หลักของเราประมาณหนึ่ง เราเปิดกับคนกลุ่มนี้มาก ๆ นี่เป็นสิ่งที่เราอยากฉายด้วย พื้นที่เราก็เปิดให้คนทำภาพยนตร์ไทยด้วยเหมือนกัน เราว่ามันคือการเติบโตแบบเดียวกัน ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เข้ามา คนก็มองหาสิ่งใหม่ ๆ มองหาสิ่งแปลก ๆ ที่ไม่ใช่ typical ทั่วไป วงการหนังไทยอินดี้ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน พงศ์นรินทร์: เป็นเรื่องดี เราจะได้เห็นงานที่หลากหลายขึ้น มีบุคลากรที่เพิ่มขึ้น การทำหนังเรื่องหนึ่งทำให้มีโปรไฟล์เพิ่มขึ้นเนอะ วันก่อนมีเด็กมาสัมภาษณ์ผมเรื่องนี้ว่า “คิดยังไงกับการที่โรงภาพยนตร์ในประเทศไทยผูกขาดการฉายหนัง แล้วทำให้หนังไทยอิสระไม่เติบโต” ผมก็บอก เดี๋ยวครับ มันไม่มีการผูกขาดอยู่แล้วครับ มันไม่มีกฎหมายอะไรที่ห้ามคุณทำโรงหนังนะ ที่มันมีโรงหนังอยู่ไม่กี่เจ้าก็เป็นเพราะว่ามันอาจเป็นธุรกิจที่ไม่น่าลงทุนมากพอสำหรับคนอื่น ๆ หรือเปล่า  ชมศจี: เขาอาจจะมองว่าทำอสังหาฯ ดีกว่าก็ได้ พงศ์นรินทร์: ข้อที่ 2 คือ ไม่มีโรงหนังไหนไม่อยากฉายหนังที่ได้เงิน หนังอะไรได้เงินเขาฉายทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นหนังไทยอิสระอาจทำเงินไม่มากพอก็ได้ ที่ว่าทำเงินไม่มากพอมันก็เป็นด้วยเหตุปัจจัยมากมาย เช่น ตัวหนังเองอาจไม่ได้เชื้อเชิญทุกคนให้ดูแล้วชอบ อาจมีความส่วนตัวสูงก็ได้ พอเป็นอย่างนั้นก็อาจไม่ทำเงิน เอาจริง ๆ ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ชอบหนังแบบนั้น โรงหนังไหนมันก็ฉาย ที่พูดมานี่คือจะบอกว่า ถ้าอยากให้หนังไทยเติบโตจริง ๆ ก็ดูกันเยอะกว่านี้หน่อยสิ มันก็จะเติบโตกันได้จริง ๆ ซึ่งต้องดูในโรงภาพยนตร์ด้วยนะ ถ้าอยากจะสนับสนุนกันจริง ๆ    The People: แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของไทยคือเรื่องลิขสิทธิ์ การดูของเถื่อนนะ ซึ่งต้องยอมรับว่ารุนแรงระดับหนึ่งด้วย? พงศ์นรินทร์: ไม่อยากยอมรับ ไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็ไม่ควรยอมรับ ผมว่าไม่มีใครชอบโดนขโมยหรอก ไม่มีใครชอบโดนปล้น ไม่มีใครชอบการเอาของไปใช้โดยไม่บอก ถ้าคิดอย่างนั้นได้มันก็จะเป็นพื้นฐานชีวิต เป็นความเชื่อของคนปกติ ให้เกิดการอยู่ร่วมกับคนในสังคม มันควรจะเป็นอย่างนั้นไม่ใช่เหรอ เราไม่ควรแฮปปี้กับการเฉี่ยวชนโดยไม่ขอโทษหรือเปล่า แล้วทำไมคุณถึงยังโหลดเถื่อนกันล่ะ มาดูในโรงสิ   The People: ถ้าให้เดา คุณคิดว่าทำไมคนทั่วไปถึงยังโหลดเถื่อนอยู่ พงศ์นรินทร์: สมมติตอนนี้เวลาตี 2 ถ้าคุณติดไฟแดงอยู่ในสี่แยกที่ไม่มีรถ ไม่มีคนอะไรเลย คุณจะฝ่าไฟแดงหรือเปล่า ถ้าคุณตอบคำถามตัวเองได้ คุณก็จะตอบได้ว่า ทำไมเขาถึงยังโหลดกันอยู่   The People: แต่สี่แยกไฟแดงก็มีกล้องวงจรปิดนะ? พงศ์นรินทร์: ก็อาจจะไม่โดนไง บางคันอาจฝ่าโดยไม่คิดเลย เพราะความรู้สึกเขาคิดว่ามันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น    The People: แล้วระบบสตรีมมิงแบบถูกลิขสิทธิ์ที่เข้ามาล่ะ มีผลอะไรกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ไหม พงศ์นรินทร์: อะไรที่มันเป็นหนังได้มีผลกับโรงภาพยนตร์ตลอด ธุรกิจโรงหนังเคยถูกตั้งคำถามเมื่อ 10 ปีที่แล้วเมื่อโลกมีวิดีโอ ผมจำได้มีบทความที่เป็นที่ฮือฮามากว่าโรงหนังต้องตายแน่นอน แล้วตอนนี้วิดีโออยู่ไหน ต่อมาก็มีวีซีดี ชมศจี: ตอนนี้วีซีดีอยู่ไหนนะ พงศ์นรินทร์: มันมีผลกระทบกับโรงหนังมาโดยตลอดแหละ แต่ส่วนมากมันแพ้ เพราะการดูหนังในโรงเป็นพฤติกรรมแปลกแยกเฉพาะตัว คนอะไรจะอยากออกจากบ้านมานั่งเงียบ ๆ ในสถานที่มืด ๆ รวมกับคนข้าง ๆ นั่งกับใครก็ไม่รู้ แต่เขาก็ทำอย่างนั้นกันมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ชมศจี: การดูหนังเป็น experience คนละแบบ ให้ experience คนละแบบ พงศ์นรินทร์: ทีนี้สตรีมมิงคือมีเดียใหม่ที่เกิดขึ้นมา แต่เขาคงไม่สตรีมมิงกันนอกบ้าน อาจจะมีบนรถ บนบีทีเอสก็ว่าไป แต่มันไม่ได้ทำหน้าที่แย่งกับโรงหนัง มันคงไม่มีใครมานั่งสตรีมมิงโดยที่หนังเรื่องนั้นอยู่ในโรงหนัง ตอนนี้ House กำลังฉาย Birds of Passage (2018) อยู่ คงไม่มีใครสตรีมมิงมานั่งดูข้างๆ โรง มันมีแค่ดูหรือไม่ดู สตรีมมิงมีผลกับพฤติกรรมกับคนที่บ้านมากกว่า ทีวีได้รับผลกระทบกับสตรีมมิงมากกว่าแน่ ๆ มันเป็นพฤติกรรมที่เขาจะเลือกใช้ในเวลาว่าง   [caption id="attachment_12683" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ House พื้นที่แห่งโอกาสของภาพยนตร์ทางเลือก บนพื้นที่แห่งโอกาสของตัวเอง จ๋อง – พงศ์นรินทร์ อุลิศ และ อุ๋ย – ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ[/caption]   The People: สุดท้ายในฐานะเด็กอายุ 15 ที่เพิ่งย้ายบ้านมายังสามย่าน คุณจะแนะนำตัวให้คนอีก 80% รู้จักคุณอย่างไร ชมศจี: มันเป็นการบ้านหลัก ๆ และหนัก ๆ ของเราเลยนะ คือการตอบคำถามเดิมที่วันนี้ก็ยังตอบไม่ได้ คือคำถามว่า “โรงหนังเราฉายหนังแบบไหน” มัน define สั้น ๆ บรรทัดเดียวเป็นไหม... ไม่เป็น พงศ์นรินทร์: ไม่มีทาง ชมศจี: เราดีไซน์มันไม่ได้จริง ๆ แต่สุดท้ายเราต้องพยายามทำให้คนมาทดลองโรงหนังเรา มาหา experience ที่เรากำลังจะบอก แต่สุดท้ายจะพยายาม define ยังไงมันสั้น ๆ ว่า เราเป็นโรงหนังที่ฉายหนังแบบนี้แหละ เป็นหนังที่คุณอาจจะหาดูไม่ได้จากที่อื่นนะ หนังเหล่านั้นมันมารวมตัวอยู่ที่นี่ ซึ่งอาจเป็นหนังที่คุณจะชอบ พงศ์นรินทร์: นี่สั้นแล้วใช่ไหมเนี่ย ชมศจี: ไม่รู้สิ มันยากนะ 15 ปีที่แล้วมันยากยังไง 15 ปีนี้มันก็ยังยากอย่างนั้น แม้โลเคชันมันจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม พงศ์นรินทร์: แนะนำตัวเองเหรอ (นิ่งคิด) ไม่รู้ว่ะ ต้องช่วย ๆ กันกระจาย  มันแปลกตรงนี้ ตรงนี้บอกว่าจะแนะนำ แต่บางทีมันพูดไม่ออก เพราะทำไมกับหนังคุณถึงคิดมากจังเลย อย่างอื่นในชีวิตคุณกลับพร้อมเปิดรับเวลาเจอสิ่งที่น่าสนใจ พฤติกรรมชีวิตเราเป็นแบบนั้น เราเจอร้านอาหารเพิ่งเปิดก็ไปลองกิน เจอห้างใหม่เปิดก็ลองไปเดินกัน ความคิดแบบนั้นแหละเป็นเรื่องดีจังเลย แล้วไอ้โรงหนังที่นี่ก็เหมือนกัน เป็นประสบการณ์ใหม่ที่อยากให้คุณได้ลองเหมือนกัน ชมศจี: สุดท้ายที่เราพูดกับทุกสื่อ คือต้องช่วยกันบอกหน่อยในสิ่งที่เราอยากทำ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ หรือหนังที่เรากำลังเอามาฉาย สุดท้ายเราแค่อยากให้คนเข้ามาแล้วลองเข้าไปดูหนังสักเรื่องหนึ่ง เราก็พยายามจะสื่อสารไปว่าเราไม่ได้ยากขนาดนั้น เราไม่ได้เนิร์ดขนาดนั้น  พงศ์นรินทร์: เนิร์ด คนชอบอะไรลึก ๆ มันเนิร์ดแน่นอน  ชมศจี: (หันไปทางพงศ์นรินทร์) เราไม่ได้เนิร์ดขนาดนั้น ต้องลอง สุดท้ายมันต้องลอง  พงศ์นรินทร์: (หันไปทางชมศจี) อย่าไปนึกภาพเด็กแว่นหนาเตอะสิ หมายความว่าใครที่ชอบอะไรลึก ๆ มันเนิร์ดทั้งนั้นแหละ ชมศจี: เรารู้สึกว่าไม่นะ ไม่ใช่คนแบบนั้น พงศ์นรินทร์: แต่เราว่าเนิร์ด บอกได้เลย ชมศจี: ไม่ได้เนิร์ดขนาดนั้นนะ [caption id="attachment_12688" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ House พื้นที่แห่งโอกาสของภาพยนตร์ทางเลือก บนพื้นที่แห่งโอกาสของตัวเอง House Samyan[/caption]