แทน โฆษิตพิพัฒน์ ลูกไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อ 'เฉลิมชัย' ผู้ขอสร้างนิยามศิลปินในแบบตัวเอง

แทน โฆษิตพิพัฒน์ ลูกไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อ 'เฉลิมชัย' ผู้ขอสร้างนิยามศิลปินในแบบตัวเอง
"ก็โดนเพื่อนล้อบ่อย โตมาไปโรงเรียนไหน ก็จะโดนบอกให้ทำท่าเหมือนพ่อหน่อย ทำไมหน้าไม่เห็นเหมือนพ่อเลย" ชายหนุ่มหน้าคมที่ข้างหลังของเขาเต็มไปด้วยผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นโดยกลั่นจากประสบการณ์หลายปีที่ผ่านมา เล่ากลั้วเสียงหัวเราะ แทน โฆษิตพิพัฒน์ วัย 25 ปี คือลูกไม้หล่นใต้ต้นของ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. 2554 ที่แม้เขาจะภาคภูมิใจกับการเป็นลูกของพ่อมากเพียงใด แต่อีกด้าน แทนก็แสวงหาที่ทางของตัวเองเพื่อให้พ้นจากเงาร่างความสำเร็จยิ่งใหญ่ของพ่อ แทนริเริ่มก้าวเล็ก ๆ ในเส้นทางศิลปินอย่างเต็มตัวเมื่อไม่กี่ปีก่อน ฝึกฝนและพัฒนาฝีมือตัวเองมาเรื่อย ๆ โดยมีผลงานนิทรรศการศิลปะแบบฉายเดี่ยวครั้งแรกในชื่อ ‘มายา’ อันเป็นนิทรรศการศิลปะที่เขาพยายามถ่ายทอดทั้งเรื่องราวชีวิต ความเชื่อ และตัวตนของตัวเองผ่านผลงานศิลปะ 42 ชิ้น และคลิปวิดีโอกว่าร้อยคลิปที่เขารวบรวมมาตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ก่อนจะนำมาจัดแสดงผ่านแท็บเล็ต 60 เครื่อง ให้ทุกคนได้ชมกันไปเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2562 ที่ Bowen Hall ล้ง 1919   แนวคิดของแทนในการออกแบบนิทรรศการศิลปะ 'มายา' คือการพยายามสะท้อนความจริงอีกด้านของโลกออนไลน์ เมื่อชีวิตตลอดหลายปีของคนคนหนึ่งผูกติดอยู่กับอินเทอร์เน็ตและหน้าจอสี่เหลี่ยมตลอดเวลา เราจะสามารถตัดสินว่ามันเป็นเพียงโลกสมมติในชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร ในเมื่อหลายคนแสดงตัวตนที่แท้จริงในโลกใบนั้นอย่างชัดเจนเสียยิ่งกว่าโลกภายนอกที่พวกเขาอาศัยอยู่ The People ชวนแทนสนทนาถึงการเป็นวัยรุ่นเนิร์ด ๆ ที่ชอบใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ มี เอลวิส เพรสลีย์ ราชาเพลงร็อคแอนด์โรล เป็นไอดอล และเส้นทางการเติบโตในฐานะศิลปิน ที่อุปสรรคใหญ่ของเขาไม่ใช่ฝีมือที่ต้องสั่งสม ทว่ากลับมาในรูปแบบของกำแพงสูงที่สลักเป็นชื่อพ่อของเขาเอง แทน โฆษิตพิพัฒน์ ลูกไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อ 'เฉลิมชัย' ผู้ขอสร้างนิยามศิลปินในแบบตัวเอง The People: แนะนำตัวเองในแบบ 'แทน โฆษิตพิพัฒน์' แทน: สวัสดีครับ ผม แทน โฆษิตพิพัฒน์ ครับ ผมเป็นลูกชายของคนเชียงรายคนหนึ่ง คนที่ชอบใส่เสื้อสีฟ้า ๆ และสร้างวัดร่องขุ่น ผมเป็นคนเงียบ ๆ แต่คนคนนั้น...หลายคนคงรู้กันดีว่าเป็นคนเสียงดัง พ่อผมชื่อ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ครับ (ยิ้ม) The People: ชีวิตวัยเด็กของคุณเป็นแบบไหน แทน: ตอนเด็กผมไม่สนิทกับใครเลย ผมมีเพื่อนแค่ 2-3 คนเอง ที่โรงเรียนผมก็เป็นเด็กที่ชอบอยู่คนเดียว ฝึกวาดรูปอะไรไปอย่างนี้ ส่วนใหญ่ผมจะมีเพื่อนบนอินเทอร์เน็ตเยอะกว่า เวลาวาดรูปอะไรก็ไม่เคยเอาไปให้พ่อแม่คอมเมนต์เลย ผมจะเอาไปแชร์กับคนที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเจอกันมาก่อน แล้วให้เขาช่วยคอมเมนต์งานเรามากกว่า ตอนนั้นผมไม่เคยโชว์รูปให้คนในโลกแห่งความจริงดูเลยนะ แม้แต่พ่อแม่ด้วย ความรู้สึกตอนนั้นคือเพราะเขารู้ว่าเราเป็นใคร ซึ่งพอเขารู้ว่าเราเป็นใคร หรือเป็นลูกใคร มันจะมีมาตรฐานขึ้นมาในใจเขาเลย ผมเลยชอบใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนโลกออนไลน์มากกว่า พอผมชอบเล่นอินเทอร์เน็ต รู้จัก YouTube ก็เสิร์ชหาอะไรแปลก ๆ ดู แล้วก็ไปเจอเอลวิส เพรสลีย์ ตอนนั้นรู้สึกว่าเขาเท่มากเลย ผมอยากเป็นอย่างเขามาก เหมือนเป็นไอดอลของเราเลย เด็กคนอื่นจะมีพวกสไปเดอร์ แมน, ซูเปอร์ แมน เป็นไอดอลใช่ไหม แต่ของผมเป็นเอลวิส ตอนนั้นผมวาดรูปเขาไว้เยอะมาก เริ่มหัดร้องเพลง เล่นดนตรีอะไรต่าง ๆ ก็เพราะเขา The People: แสดงว่าคุณสนใจงานศิลปะตั้งแต่ตอนนั้น? แทน: ผมสนใจมาตั้งแต่เกิดแล้ว เพราะผมโตมากับวงการนี้ โตมาแบบตอนเย็นเจอ art collector ตอนเช้าก็เจอพวกศิลปินทั้งหลาย พ่อแม่ผมก็วาดรูปเป็น ส่วนผมก็โตมาโดยที่รู้ตัวเองว่าวาดรูปได้ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะมาวาดเป็นจริงเป็นจังหรือทำเป็นอาชีพอะไร ตอนเรียนมหาวิทยาลัยผมเลือกเรียนภาพยนตร์ด้วยซ้ำ ไม่ได้เรียนด้านศิลปะ [caption id="attachment_12715" align="alignnone" width="1200"] แทน โฆษิตพิพัฒน์ ลูกไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อ 'เฉลิมชัย' ผู้ขอสร้างนิยามศิลปินในแบบตัวเอง แทน และผลงานบางส่วนที่จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ 'มายา'[/caption] The People: การเติบโตขึ้นมาในฐานะลูกชายของ 'เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' เป็นอย่างไร แทน: ก็โดนเพื่อนล้อบ่อย (หัวเราะ) โตมาไปโรงเรียนไหน ก็จะโดนบอกให้ทำท่าเหมือนพ่อหน่อย ทำไมหน้าไม่เห็นเหมือนพ่อเลย โดนเก็บมาเลี้ยงหรือเปล่า ก็จะเป็นโทนนี้ ทุกวันนี้ก็ยังมี แบบ..นี่ลูกชายอาจารย์เฉลิมชัยนี่นา ส่วนตัวก็ชินครับ ก็ขำกับมัน แต่ก็มีกดดันนิดหน่อย จริง ๆ ก็ไม่หน่อย เยอะมากเลย เพราะว่ามันมีตัวเปรียบเทียบมาก่อน อย่างเมื่อก่อนตอนผมวาดรูปใหม่ ๆ ก็จะมีคนบอกว่า จะได้เท่าพ่อหรือเปล่าเนี่ย หวังว่าจะได้เท่าพ่อนะ ตอนเด็ก ๆ ก็เหมือนกัน ตอนยังทำอะไรไม่เป็นก็มีคนมาบอกว่าโตแล้วต้องเป็นอย่างพ่อนะ ต้องให้ดีกว่าพ่อ ก็มีมาตลอดครับ แต่เราก็เอาความรู้สึกกดดันพวกนี้มาใช้ได้หลายทาง ทั้งทางที่ใช้แล้วดี กับใช้แล้วไม่ดี ผมก็เคยใช้แบบไม่ดีมาเยอะ ประมาณครึ่งชีวิตได้ ซึ่งตรงนั้นมันก็ทำให้สุขภาพจิตเราไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พอโตขึ้นมาเราถึงรู้ว่าชีวิตทุกชีวิตมันไม่มีใครไม่กดดัน เพื่อนเราก็เป็นกันทุกคน ก็เลยลองเปลี่ยนมาใช้ให้มันดีบ้าง The People: การไปเรียนต่อที่อังกฤษตั้งแต่เด็ก หล่อหลอมชีวิตคุณอย่างไร  แทน: ผมไปตั้งแต่อายุ 13-14 ถ้าถามตอนนี้ก็รู้สึกว่ามันเด็กเกินไปนะ ตอนนั้นก็อ่อนแอ เป็นลูกคุณหนูมากเลย (หัวเราะ) เราเคยโตมาแบบที่พ่อแม่ทำให้ทุกอย่าง เราเป็นครอบครัวที่อบอุ่น พอไปอยู่อังกฤษแรก ๆ ก็ช็อคเหมือนกัน รู้สึกว่า เออ ต่อจากนี้ต้องอยู่กับตัวเองแล้ว ซึ่งเหตุผลที่พ่อส่งไปก็เพราะแบบนี้ล่ะ เราติดสบายมากเกินไป พ่อจะบอกผมตลอดว่าชีวิตเราต้องผ่านความลำบาก เขาก็เลยส่งผมไปอังกฤษ แรก ๆ ก็ปรับตัวไม่ค่อยได้ครับ ยากมาก พูดภาษาอังกฤษก็ยังไม่ค่อยเป็น มันก็เหงา แต่หลัง ๆ ก็เริ่มสนุกขึ้น เพราะได้เจอเพื่อนแปลก ๆ เพื่อนที่มีความหลากหลายเยอะ โดยเฉพาะสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมเคยมีรูมเมทที่ชอบเก็บกระดูกสัตว์มาทำเป็นตุ๊กตาวางไว้ในห้อง แล้วก็มีคนที่ไม่จำกัดเพศของตัวเอง บางวันอยากเป็นผู้ชายก็แต่งตัวแบบผู้ชาย บางวันอยากเป็นแบบผสมผสานก็แต่งตัวแบบผสมผสาน ซึ่งผมก็ต้องจำให้ได้ว่าถ้าเป็นแบบนี้ ๆ เขาอยากให้เราเรียกเขาว่าอะไร  แทน โฆษิตพิพัฒน์ ลูกไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อ 'เฉลิมชัย' ผู้ขอสร้างนิยามศิลปินในแบบตัวเอง The People: ทำไมถึงเลือกเรียนด้านภาพยนตร์ แทนที่จะเป็นด้านการวาดภาพที่คุณก็ชอบ แทน: ผมเลือกเรียนด้านนี้ที่ Kingston University ตอนนั้นคิดว่าการเรียนฟิล์มฝึกเราได้หลายอย่าง ทั้ง ภาพ เสียง แล้วก็ศิลปะ รู้สึกว่าคุณต้องเก่งทุกด้านถึงจะทำฟิล์มได้ แต่ฟิล์มที่ผมเรียนค่อนข้างเป็นแนวอินดี้หน่อย ๆ ซึ่งสนุกดีเหมือนกัน จริง ๆ ตอนนั้นก็ยังชอบวาดรูปอยู่ หนังเกือบทุกเรื่องที่ผมทำก็ยังต้องมีเกี่ยวกับการวาดรูป คือวาดรูปแล้วก็เอาไปทำเป็นหนัง คล้าย ๆ แอนิเมชัน หรือว่า กรีน สกรีน อะไรอย่างนี้ จริง ๆ ที่เลือกเรียนฟิล์ม ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่อยากเหมือนพ่อ ไม่อยากซ้ำเขา แต่พอโตขึ้นมาเรารู้จักศิลปะมากขึ้น ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ว่าศิลปะมันไม่ได้มีแค่เส้นทางเดียว เราอยากเป็นอะไรของเราก็ได้ ไป ๆ มา ๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองแปลกกว่าพ่ออีก (ยิ้ม) หลังเรียนจบผมฝึกงานอยู่ที่โน่นนิดหน่อยแล้วก็กลับมาฝึกงานกับคนไทย ซึ่งสไตล์การทำงานแตกต่างกันค่อนข้างมาก ผมต้องปรับตัวพอสมควร เพราะผมยังพูดภาษาไทยไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ แต่ก็สนุกดี ตอนนั้นผมทำพวกกองถ่าย ทั้งทำหนัง ทำรายการ แล้วก็ทำสารคดี ได้ไปเที่ยวเกือบทุกจังหวััด ก่อนจะออกมาสมัครเป็นทหารเกณฑ์อยู่ที่เชียงราย 6 เดือน ซึ่งพ่อก็สนับสนุนนะ The People: ได้อะไรจากการเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ แทน: ได้เยอะเลย มันยิ่งกว่ามหาวิทยาลัยอีก รู้สึกว่าถ้าผมไม่ได้ผ่านตรงนั้นก็ไม่รู้เลยว่าตอนนี้จะเป็นยังไง มันทำให้ผมกล้าที่จะทำอะไรที่ใหญ่โต กล้าที่จะไม่กลัว เพราะเมื่อก่อนกลัวมาก อันนี้ก็ทำไม่ได้ อันนี้ก็แรงไม่พอ พอไปเป็นทหารก็เหมือนเพิ่มพลัง เพิ่มความกล้า พอออกมาผมบอกพ่อเลยว่า ผมอยากเป็นศิลปิน อันนั้นสำหรับผมมันคือสิ่งที่ยากมาก ตอนนั้นจำได้เลยว่าขึ้นรถไปแล้วก็บอกพ่อว่า 'แทนพอแล้วนะกับไอ้งานกองถ่าย แทนอยากจะเป็นศิลปินเหมือนพ่อ' ตอนนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกมาเป็นยังไง แต่เราก็เลือกแล้ว พอบอกพ่อเสร็จ ตัวเราเหมือนปลดล็อค มันโล่ง มันเดินหน้าต่อได้  [caption id="attachment_12717" align="alignnone" width="1200"] แทน โฆษิตพิพัฒน์ ลูกไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อ 'เฉลิมชัย' ผู้ขอสร้างนิยามศิลปินในแบบตัวเอง ส่วนหนึ่งของผลงานของแทน ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ 'มายา'[/caption] The People: หลังจากบอกไปแล้ว คุณพ่อแสดงออกอย่างไร แทน: เขาก็งงไปเลยตอนแรก ๆ หลังจากนั้นเขาก็ซื้อสี ซื้ออุปกรณ์ มาให้เราลองฝึกเต็มไปหมด แต่ไม่ได้สอนนะ คือตอนแรกเขาจะสอน แต่ผมบอกว่าไม่เอา ไม่อยากจะเหมือนพ่อ เราอยากเป็นแบบของเรา มันต้องห้ามเหมือน ตอนนั้นก็เครียดเลย คือเอาง่าย ๆ ธรรมชาติผมเป็นคนเครียดมาก ๆ กับเรื่องงาน ความคาดหวังมันสูงมากครับ ตอนนั้นพยายามที่จะวาดรูปไม่ให้เหมือนพ่อ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้เหมือนใคร แต่การวาดรูปก็มีมาเป็นพันปีแล้ว มันก็ยากที่จะไม่เหมือนไง เราก็เลยต้องเอาอะไรของตัวเองที่ไม่เหมือนคนอื่นมาโชว์ ผมเชื่อมาตลอดนะว่าที่ตัวเองไม่ค่อยมีเพื่อนเพราะเราแปลก ก็เลยพยายามเอาความแปลกพวกนั้นมาอยู่ในผลงานของเรา พยายามถ่ายทอดมันออกมาในภาพวาดที่หวังว่ามันจะไม่เหมือนใคร The People: ที่บอกว่าไม่อยาก ‘เหมือนพ่อ’ ในที่นี้หมายถึงอะไร แทน: เหมือนพ่อก็คือ...พ่อเขาจะเป็นคนละเอียด ถ้าใครดูงานศิลปะเป็นจะรู้เลยว่าพ่อผมใส่ใจกับงานมาก เขาจะซ่อมอยู่นั่นล่ะ ซ่อมลาย ซ่อมอะไรของเขาไปเป็นอาทิตย์ ทั้งที่บางทีทำไม่กี่วันก็อาจจะเสร็จแล้ว เขาเป็นคนละเอียด แต่ผมจะเป็นคนที่เอาแต่อารมณ์ใส่เข้าไป ไม่ต้องถูกต้องก็ได้ แต่ขอให้ดูแล้วคนคิดต่อไปเรื่อย ๆ งานของพ่อผมจะเป็นศิลปะที่ดูแล้วเข้าใจเลยว่ามันคืออะไรมากกว่า The People: นิทรรศการเดี่ยว (มายา) คือการแสดงออกถึงตัวตนของคุณเลยหรือเปล่า แทน: ใช่ครับ 'มายา' เป็นงานที่พยายามสื่อความเป็นตัวผมออกไป ตัวผมที่ไม่ได้มีเพื่อนเยอะในชีวิตจริง ส่วนใหญ่จะมีเป็นเพื่อนทางออนไลน์ที่ชอบอะไรเหมือนกับผม ที่ใช้คำว่า 'มายา' ก็เพื่อล้อกับความคิดเดิม ๆ ที่บอกว่าโลกพวกนี้มันเป็นโลกปลอม แต่ที่จริงมันก็เป็นสิ่งที่เราสร้างมาเองทุกอย่าง ผมมีเพื่อนที่คุยกันมาเป็น 10 ปีแบบไม่เคยเห็นหน้า เขาลงทุนขับรถเป็น 10 ชั่วโมงเพื่อมาดูงานผมที่นิวยอร์ก เราก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ไม่ได้เป็นพิษภัยอะไรเหมือนที่ข่าวชอบออกว่าจะต้องโดนปล้น โดนจี้ อะไรแบบนั้น ที่ผมทำงานนี้ออกมาก็เพราะอยากแสดงแง่ดี ๆ ของสื่อสมัยใหม่ว่าทุกวันนี้เป็นยังไงบ้าง [caption id="attachment_12718" align="alignnone" width="1200"] แทน โฆษิตพิพัฒน์ ลูกไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อ 'เฉลิมชัย' ผู้ขอสร้างนิยามศิลปินในแบบตัวเอง มุมหนึ่งในนิทรรศการศิลปะ 'มายา'[/caption] The People: ก่อนหน้านี้คุณก็เคยจัดแสดงงานศิลปะของตัวเองมาก่อน แล้วคราวนี้ต่างกันอย่างไร แทน: ตอนนั้นผมจัดเล็ก ๆ จัดรวมกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน ก็ตื่นเต้นแต่ไม่มีอะไรมาก เพราะว่าเราก็ยังรู้สึกว่างานยังไม่เต็มที่ ยังกลัว ๆ อยู่ เราเห็นลายเส้นเราก็รู้เลยว่ามันกลัว แต่คราวนี้งานเรามีคอนเซปต์ชัดเจนแล้ว การวาดก็ภูมิใจในตัวเองแล้วถึงมาแสดงครั้งนี้ มันก็จะไม่มีความรู้สึกแบบ โอย...อยากแก้ อยากเอาใหม่ อะไรแบบนี้จะไม่มีแล้ว ผลงานที่ผมนำมาจัดแสดงมีงานวาด 42 ชิ้น ที่ผมใช้เวลารวบรวมมาตลอด 2 ปีกว่า ๆ ตั้งแต่ผมยังเครียด ๆ กับการวาดรูปใหม่ ๆ จนถึงตอนที่ผมสบายใจกับการวาดรูปแล้ว ผมก็พยายามจะเอาประสบการณ์ ความคิด แล้วก็ตัวของผมมาอยู่ในงานให้มากที่สุด อย่างห้องแท็บเล็ตก็ได้ไอเดียจากการที่ผมอยากจำลองชีวิตประจำวันของผมเอง รวมถึงคนอีกหลายคนที่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างในชีวิตมันกลายเป็นสี่เหลี่ยมไปหมด ทั้งพวกโทรศัพท์ หรือพวกหน้าจอทีวี เราอยากจะรู้จะเห็นอะไรเราก็เข้าไปในนี้ ที่เลือกใช้แท็บเล็ตก็เพราะอยากจะเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้คนที่ไม่ได้สนใจงานศิลปะได้เข้ามาดูงานผม แล้วก็ได้ไอเดียอะไรกลับไป ซึ่งพอจบนิทรรศการนี้แล้วก็จะเอาแท็บเล็ตไปบริจาคต่อ The People: ผ่านมาหลายปีแล้วนับจากที่คุณประกาศชัดว่าอยากเป็นศิลปิน จนถึงตอนนี้คุณชัดเจนในการเป็นศิลปินของตัวเองแล้วหรือยัง แทน: ก็ชัดเจนว่าอยากจะเป็นนะ แต่ผมยังไม่เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินหรอก ยังอีกไกลกว่าที่ผมจะใช้คำว่าศิลปินได้ เพราะผมยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนา แต่ก็กำลังพยายามอยู่ครับ จริง ๆ ตั้งแต่วันที่บอกพ่อว่าจะเป็นศิลปิน เหมือนปัญหาทุกอย่างที่ผมเคยคิดมา สร้างมาในหัว มันหายไปหมด ก็มีความสุขมากเลยครับตอนนี้ [caption id="attachment_12719" align="alignnone" width="1200"] แทน โฆษิตพิพัฒน์ ลูกไม้ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อ 'เฉลิมชัย' ผู้ขอสร้างนิยามศิลปินในแบบตัวเอง ผลงานของแทน ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ 'มายา'[/caption] The People: อิทธิพลของคำว่า 'ลูกอาจารย์เฉลิมชัย' ยังมีผลกับคุณอยู่ไหม แทน: ยังไงก็มีอยู่แล้วครับ เพราะเราเป็นคนอย่างนี้ได้ก็เพราะพ่อเรา ที่เราเงียบอย่างนี้ก็เพราะมันคอนทราสต์กับพ่อ พ่อผมเสียงดังแต่ผมเงียบไง (ยิ้ม) แต่ถ้าเป็นเรื่องงานศิลปะ อย่างที่บอกว่าผมพยายามไม่เก็บตัวเอง ที่จริงก่อนจะตัดสินใจจัดงานนี้ ผมคุยกับศิลปินหลายคนมาก เขาก็แนะนำอะไรหลายอย่างมา แต่เพราะว่าศิลปินแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย เราจะไปฟังคนอื่นมากก็ไม่ได้ ผมเลยกลับมาบ้านแล้วก็คิดว่า เอาเถอะ มือมันจะพาเราไปไหนก็ช่างมัน สุดท้ายก็ออกมาเป็นมายา ที่เป็นเรื่องอะไรที่ส่วนตัว และมาจากอดีตของตัวผมเอง The People: ในอนาคต แทน โฆษิตพิพัฒน์ อยากเติบโตไปเป็นศิลปินแบบไหน แทน: ก็อยากเป็นศิลปินสมัยใหม่ เป็นศิลปินสไตล์ตัวเอง ศิลปินที่อยากทำอะไรที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ผมพยายามไม่เก็บตัวเอง เพราะไม่เชื่อที่หลายคนชอบบอกผมว่าศิลปะต้องห้ามเปลี่ยน เพราะว่ามันเป็น signature ผมคิดว่าศิลปะต้องตามคนสร้าง คือคนเราเปลี่ยนไปตลอดเวลาอยู่แล้ว เราจะมาทำให้งานของเราเหมือนกันตลอด 20-30 ปี ก็ไม่ใช่ เคยมีคนพูดกับผมว่าเขาอยากจะสนับสนุนผม เพราะเขาเชื่อว่าผมจะทำงานใหม่ ๆ ที่มันยังขาดไปในประเทศไทยได้ พอได้ยินอย่างนี้ก็รู้สึกดีครับ เมื่อก่อนผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายมากเลย คิดว่าถ้าตามพ่อแล้วทุกคนจะส่ายหัว แล้วก็ไม่มางานผม แต่ตอนนี้ได้แรงสนับสนุนก็ตื่นเต้นครับ ได้ฟีดแบคจากคนที่ไม่รู้จักด้วย ทั้งคนจีน หรือคนที่มาเดินงานเราว่าเขาชอบงานเรา ก็เหมือนมีแรงทำต่อไปแล้ว